ก้าวสู่ปีที่ 2 ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ยกระดับคุณภาพ ขยายประตูโอกาสอาชีวศึกษา​​

ก้าวสู่ปีที่ 2 ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ยกระดับคุณภาพ ขยายประตูโอกาสอาชีวศึกษา​​

หากสามารถทำเรื่องคุณวุฒิวิชาชีพได้ หรือสามารถเทียบเคียงได้ ก็จะมีโอกาสในการทำงานไม่ใช่แค่กับบริษัทไทย แต่ยังรวมถึงบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เพราะบริษัทต่างชาติจะดูเรื่องมาตรฐาน ถ้าเราทำให้มาตรฐานเป็นสากลได้ ก็จะมีประตูกว้างขึ้นสำหรับการศึกษาสายอาชีพ

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงนับเป็นอีกหนึ่งในความพยายามของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการมอบโอกาสให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และต้องการเรียนต่อในสายอาชีพ โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องถึงปัจจุบันมีนักศึกษาทุนรวม 2 รุ่น จำนวน 4,700 คน ใน 40  จังหวัด

ในอีกมิติหนึ่งทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงยังมีเป้าหมายที่จะ​ช่วยพัฒนาคุณภาพสถาบันอาชีวศึกษา ให้ก้าวไปสู่ระดับแนวหน้าในอาเซียน ควบคู่ไปการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลก และตอบโจทย์งานในตลาดแรงงานในยุค 4.0

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. อธิบายถึงทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงว่า เป็นทุนที่แฝงสองเรื่องเข้าไว้ด้วยกันคือ เรื่องแรกเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากลำบาก ได้เรียนต่อสายอาชีพ หรืออาชีวะศึกษา ซึ่ง กสศ. จะช่วยได้เพิ่มอีกประมาณ 1% ในแต่ละรุ่น จากเดิมที่มีเด็กเพียงแค่ 5% ที่มีโอกาสเรียนต่อสูงกว่า ม.6  

เรื่องที่สอง กสศ. อยากให้การเรียนสายอาชีวะตอบโจทย์ของประเทศด้วยจึงต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นเริ่มตั้งแต่การแนะแนวประชาสัมพันธ์ทำงานเชิงรุกให้น้องๆ เห็นคุณค่าของการเรียนสายอาชีพมากขึ้น ไปจนถึงการเข้าไปคัดเลือกนักศึกษาทุน เรื่อยมาจนถึงเรื่องการดูแลช่วยเหลือเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบจึงมีความสำคัญ เพราะเด็กอาชีวะเป็นเด็กวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่หลากหลาย บางคนมาจากครอบครัวที่เปราะบาง​​

“เรื่องระบบการเรียนการสอนก็อยากให้มีระบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยกำลังต้องการคนที่หลากหลายสาขามากขึ้น อาชีวศึกษาก็น่าจะมีบทบาทในการทำหลักสูตรใหม่ๆ เช่น Data Science หรือ เรื่องดิจิทัล ซึ่งอาชีวะศึกษามีศักยภาพที่จะทำเรื่องนี้ได้”​

 

เสริมหลักสูตรระยะสั้น
ตอบโจทย์นายจ้าง รองรับความเปลี่ยนแปลง

จากบทเรียนของ “สเปน” ซึ่งมีความก้าวหน้าเรื่องการปฏิรูปอาชีวศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้พบว่าการจะให้กระทรวงศึกษาปฏิรูปหลักสูตรเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาในการปรับ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การออกหลักสูตรระยะสั้นมากๆ เสริมเข้าไป เป็นหลักสูตรสองเดือนจบ ที่ตอบโจทย์นายจ้าง และรองรับความเปลี่ยนแปลง สามารถทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอให้หลักสูตรเปลี่ยนเราก็อาจนำแนวทางของสเปนมาใช้ให้น้องๆ ได้ทักษะใหม่ๆ ทันทีไม่ต้องรอหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียว  

ปัจจุบัน กสศ. ได้จัดงบอุดหนุนให้แต่ละวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นบาทต่อทุน ต่อปี เพื่อให้ใช้ในภารกิจต่างๆ ดังที่กล่าวมา โดยจะเห็นที่ผ่านมาวิทยาลัยหลายแห่งมีการสร้างนวัตกรรมหลักสูตร เช่น เกษตรนวัต หรือ Smart Farming ที่ทางวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือกับหลายบริษัททั้ง ซีพี เบทาโกร สหพัฒนฯ ​โดยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 พบว่าหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ แต่อุตสาหกรรมการเกษตรแทบไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นถ้ามีโอกาสพัฒนาจับคู่องค์ความรู้ ​ทำให้อาชีวะเข้มแข็งเรื่องการเกษตร เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งภาพรวมของประเทศทำการเกษตร ถ้าทำให้เป็น Smart Farming ทำเป็นอาชีพได้ก็ยิ่งดี

 

ขยายหลักสูตรเรียน 2 ประเทศ 2 วุฒิการศึกษา

คล้ายกับเรื่องของขนส่งระบบราง ซึ่งเริ่มต้นมีบางวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือกับจีน โดยเรียนที่ไทยหนึ่งปี เรียนที่จีนหนึ่งปี จบมาจะได้สองวุฒิการศึกษา แต่น่าเสียดายที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไม่ได้ไปเรียนที่จีนตามแผน ตรงนี้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และยังจะมีการพัฒนาขยายความร่วมมือไปในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น ด้านการเกษตร ที่จะทำเป็นความร่วมมือในลักษณะคล้ายกันนี้กับ จีน และ ไต้หวัน โดยใช้โมเดลเรียนไทยหนึ่งปี และเรียนต่างประเทศหนึ่งปี เป็นหลักสูตรนำร่องในทำนองเดียวกัน

 

สร้างมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ
เพิ่มทางเลือก “อาชีวะ” โกอินเตอร์

นอกจากนี้ จากโจทย์ที่ทางผู้จัดการ กสศ.​ ตั้งเป้าจะพัฒนาคุณภาพอาชีวะศึกษาให้ไปถึงระดับอาเซียน หรือไปถึงระดับอินเตอร์เนชันนอลได้ยิ่งดีนั้น ​เรื่องหนึ่งที่มองไว้คือ เรื่องของการมีคุณวุฒิมาตรฐานต่างประเทศ เช่น BTEC ที่มี 5 ระดับ หากจบระดับสามจะสามารถทำงานทั้งในอังกฤษ หรือประเทศอื่นได้ การมีคุณวุฒิวิชาชีพทำนองเดียวกันนี้ จะทำให้น้องๆ ไปได้กว้างและไกลขึ้น

“หากสามารถทำเรื่องคุณวุฒิวิชาชีพได้ หรือสามารถเทียบเคียงได้ ก็จะมีโอกาสในการทำงานไม่ใช่แค่กับบริษัทไทย แต่ยังรวมถึงบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย เพราะบริษัทต่างชาติจะดูเรื่องมาตรฐาน ถ้าเราทำให้มาตรฐานเป็นสากลได้ ก็จะมีประตูกว้างขึ้นสำหรับการศึกษาสายอาชีพ ขณะนี้ประเทศไทยยังมีคุณวุฒิวิชาชีพมีแต่ในโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ระบบ BTEC ของอังกฤษ ซึ่งสถาบันอาชีวศึกษาที่เป็นระดับนานาชาติในประเทศไทยน่าจะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องขององค์ความรู้ซึ่งเป็นแนวทางที่ กสศ. กำลังมองอยู่”

 

ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม
ด้วยการเพิ่มนวัตกรรมใหม่

ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวอีกว่า​ ตั้งใจจะเพิ่มความร่วมมือระบบการสอนแบบทวิภาคีในวิทยาลัยเพิ่มเติม โดยเน้นไปยังนวัตกรรม Data Science หรือ Digital ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่จะขยายเพิ่มเติมหรืออาชีวศึกษาที่เด่นเรื่องยานยนต์ ก็อาจจะไม่ได้เน้นไปที่เครื่องยนต์แบบเดิม แต่ไปเน้น Autonomous Vehicle (AV) หรือ Electric Vehicle (EV) มากขึ้นเป็นการต่อยอดที่มองอุตสาหกรรมเดิมแต่เพิ่มนวัตกรรมเข้าไป

ทั้งหมดนี้ เป็นทิศทางการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นสำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่สอง