เสียงแห่งความภูมิใจ โครงการพัฒนาอาชีพฯ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

เสียงแห่งความภูมิใจ โครงการพัฒนาอาชีพฯ ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ความตั้งใจของ กสศ. ที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของคนทุกกลุ่ม ด้วยการใช้ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับผลกระทบจาก COVID-19 ชุมชนจึงยิ่งมีความสำคัญในฐานะพื้นที่รองรับผู้คนที่หลั่งไหลกลับภูมิลำเนา เพื่อกลับมาสร้างคุณค่าที่เกิดจากการหลอมรวมของคนหลายรุ่น เกิด ‘อาชีพ’ และ ‘นวัตกรรม’ ใหม่ๆ ที่เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมจากคนรุ่นหนึ่งมาผสมผสานกับความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีของคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งจะได้ผลผลิตที่นำความเข้มแข็งและความภูมิใจกับมาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นี่คือหลากเรื่องราวที่บอกเล่าบนเวที ‘จากภูผาสู่มหานที ชีวิตดีเพราะเรามีกันและกัน’ ซึ่งยืนยันถึงความสำเร็จของโครงการ ‘ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ โดยตัวแทนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 ภาค ได้มีโอกาสนำเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในชีวิต จากความยากลำบากเมื่อวันวานสู่การยืนหยัดได้ด้วยตนเองในวันนี้ มาถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ

 

เขียนอนาคตใหม่ให้ทอดยาวด้วยผ้าเขียนเทียน

‘คุณทิพ’ ทิพวดี ยศโสทร จากกลุ่มแม่บ้านบ้านคอดยาวเพื่อฟื้นคืนงานฝีมือ ‘ผ้าเขียนเทียน’

‘คุณทิพ’ ทิพวดี ยศโสทร ตัวแทนจาก กศน. ภูซาง จ.พะเยา สตรีชาวม้งผู้รวมกลุ่มแม่บ้านบ้านคอดยาวเพื่อฟื้นคืนงานฝีมือ ‘ผ้าเขียนเทียน’ อันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของชุมชนบ้านคอดยาว เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชนนอกเหนือจากการทำไร่ ซึ่งก่อรายได้เพียงปีละครั้ง แต่โครงการก็ประสบปัญหาจนต้องหยุดชะงัก จนได้เข้ามาร่วมกับ กศน. ภูซาง และสามารถพาผ้าเขียนเทียนไปเปิดตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้สำเร็จ

“พวกเราอยากทำให้ผ้าเขียนเทียนที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม ให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ตั้งใจให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านคอดยาวของเรา แต่ลงมือทำกันได้สักพัก ทางกลุ่มก็ต้องประสบปัญหา คือ ขาดความรู้ ทักษะ และที่สำคัญ คือ ไม่มีงบประมาณสนับสนุน”

แต่หลังจากได้รับการส่งเสริมความรู้และพัฒนาอาชีพโดยศูนย์ กศน. อ.ภูซาง ไอเดียในการดัดแปลงงานที่มีเอกลักษณ์ชุมชนให้เกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ เพื่อไปสู่ตลาดใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น

“องค์ความรู้สำคัญ คือ การอบรมเทคนิคการขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการนำเสนอสินค้าให้น่าสนใจ ซึ่งทำให้งานของพวกเราสามารถไปถึงคนได้ทั่วประเทศและตลาดต่างประเทศ หรือในช่วงที่เกิด COVID-19 เราก็มามุ่งเน้นที่ตลาดออนไลน์ ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี”

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด คือ ความภูมิใจที่พวกเราหารายได้เข้าบ้านได้ ชุมชนของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน และที่สำคัญ คือ คนในชุมชนเห็นความสำคัญของความรู้และการศึกษามากขึ้น เพราะเห็นแล้วว่านำมาต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมให้เชื่อมโยงกับตลาดได้จริงๆ

 

ต้นกล้าของชีวิตที่งอกงาม

ป้าสาย คัดชาญ จากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

“พวกเราต้องเจอภัยแล้งมายาวนานจนแทบไม่มีหนทางทำกิน” เรื่องราวของ ‘ป้าสาย’ คัดชาญ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย จ.บุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งของคนอีสานที่ปักหลักทำเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ และได้ต่อสู้กับสภาวะแห้งแล้งและความล้มเหลวมาหลายครั้ง จนวันหนึ่งที่เธอเข้าร่วมโครงการสร้างปัญญาฝึกทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพ ชีวิตของป้าสายก็เริ่มเปลี่ยนแปลง

ป้าสายเล่าว่าปี 2561 เป็นปีที่ต้องเจอกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต ทำนาไม่ได้ งานรับจ้างอื่นๆ ก็ไม่มี เมื่อหมดทางทำกินก็ต้องกู้ยืมจนเป็นหนี้ราวสามหมื่นบาท

จนปี 63 ก็มีความเปลี่ยนแปลงเข้ามาในชีวิต ป้าสายได้รับการชวนเข้าร่วมในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย ซึ่งสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่อยู่ในวัยมากกว่า 60 ปี ทุกคนไม่มีความรู้ ไร้ประสบการณ์อื่นนอกเหนือจากการทำนา ทางศูนย์จึงพาทุกคนไปดูงานในต่างถิ่น แล้วเตรียมกลับมาเริ่มต้นโครงการเกษตรใหม่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันกับที่เกิดวิกฤต COVID-19

“เราเริ่มจากปลูกมะเขือเป็นร้อยต้น ใจก็กังวลว่าจะขายได้ไหม แต่เขาก็แนะนำว่าให้ปลูกไม้ใหญ่ไปด้วย เราก็ทำ จากนั้นทางศูนย์ยังเอากล้าพันธุ์มาให้อีกเรื่อยๆ แล้วเขาก็ช่วยเอาที่เราปลูกไว้ไปขาย มีรายได้ก้อนแรก 700 บาท ก็เริ่มมีกำลังใจ จึงหันมาปลูกต้นไม้ต่อไปอีกหลายชนิด แล้วปลูกผักด้วย”

อยู่ๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่ามีกินมีใช้มากขึ้น เพราะเราใช้เงินน้อยลงด้วยอาหารการกินก็เก็บเอาจากที่เราปลูก ส่วนที่ขายก็เอาไปขายได้ เราก็ฝากเงินกับสหกรณ์ไปเรื่อย วันหนึ่งก็ได้เงินพอไปใช้หนี้เกือบหมด ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขขึ้น แล้วเราพบว่าเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเข้าร่วมโครงการ มันทำให้ภูมิใจว่าถึงอายุมากแล้วแต่เราสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้”

 

โอกาสของผู้ฝันอยากมีอาชีพ

‘คุณแอน’ ส่งศรี ต๊ะปัญญา จากโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนตาก

อีกตัวแทนจากโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนตาก ผู้เป็นกระบอกเสียงของผู้บกพร่องทางการได้ยิน ‘คุณแอน’ ส่งศรี ต๊ะปัญญา ผู้มีความฝันอยากดูแลตนเองและครอบครัวให้ได้ จากที่ไม่เคยทำอาชีพใดมาก่อน

คุณแอนจบ ม.6 จากโรงเรียนโสตศึกษา จ.เชียงใหม่ จากนั้นกลับไปช่วยงานแม่ที่บ้าน แต่เธออยากเรียนรู้และอยากทำงาน จึงเข้าร่วมฝึกทักษะการนวดแผนไทยหลักสูตร 150 ชั่วโมง แม้ต้องเจอกับอุปสรรคด้านการสื่อสารแต่เธอได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์และเพื่อนๆ ประกอบกับความพยายามตั้งใจ จึงจบหลักสูตรได้สำเร็จ แล้วในช่วงวิกฤต COVID-19 คุณแอนก็นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาหารายได้เล็กน้อยจากลูกค้านวดในชุมชน แล้วนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง

คุณแอนเล่าว่าเธอมีความฝันอยากเรียนต่อในหลักสูตรนวดแผนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 300 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มเติมความรู้พัฒนาอาชีพต่อไป และขอบคุณโครงการที่ทำให้เธอมีโอกาสพบช่องทางในการประกอบอาชีพได้ในที่สุด

 

โครงการฝึกอาชีพสร้างกำลังใจให้อยากกลับไปเรียนอีกครั้ง

น้องปอน ธีระธาดา รสเจริญ จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช

กลุ่มเป้าหมายจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ‘น้องปอน’ ธีระธาดา รสเจริญ เด็กเรียนผู้ก้าวพลาดเดินทางผิดจนต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ และต้องจำใจเข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพ แต่ท้ายที่สุดการได้กลับมาเรียนรู้พัฒนาทักษะอาชีพ ก็ทำให้ปอนเชื่อมั่นในตัวเองอีกครั้ง และตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนหนังสือให้จบ

“ผมเคยขึ้นเวทีประกวดทักษะวิชาการมานักต่อนัก ทำไมต้องมาปูกระเบื้อง” ปอนเผยถึงความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่าต้องเข้าร่วมฝึกอาชีพในหลักสูตรปูกระเบื้อง แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อได้คุยกับอาจารย์และเพื่อนๆ ใจเขาจึงเปิด และได้ลองเรียนรู้อย่างตั้งใจ จนในที่สุดเขาก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน พร้อมนำความตั้งใจหนึ่งออกไปด้วย

“ประสบการณ์การฝึกอาชีพสอนผมว่า ขนาดเรื่องที่เราไม่ชอบ เมื่อเราได้ลองเปิดใจทำ ตั้งใจกับมัน เราก็สามารถทำให้ออกมาดีได้ ขณะที่การเรียนหนังสือ คือ พื้นฐานที่เรามีแท้ๆ ทำไมเราจะเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ พอคิดได้แล้วผมจึงกลับมาเรียน และอยากขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้ได้บทเรียนเพื่อนำมาต่อยอดชีวิต ได้กลับมาเป็นผมคนใหม่ในวันนี้”

เหล่านี้ คือ บทเรียนและกำลังใจที่กลุ่มเป้าหมายทุกคนอยากส่งไปยังสังคม ว่างานที่เริ่มจากการใช้ชุมชนเป็นฐาน สามารถส่งผลที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา ให้ยืนหยัดได้ด้วยโอกาส และมีหนทางใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค