กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิโกมลคีมทอง ดำเนินโครงการ ‘เปิดโลกอาสา พัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม’ ด้วยกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ สร้างการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ในระดับชั้น ปวส. มุ่งเสริมสร้างทักษะสังคม ทักษะชีวิต และเปิดหัวใจแห่งการเป็นผู้ให้
หว่าน ‘แนวคิด’ จิตอาสา
‘การเปิดโลกอาสา’ คือการปูแนวคิดโดยพาน้องๆ ลงพื้นที่ชุมชน ไปเจอกับชาวบ้าน แล้วกลับมาถอดบทเรียนว่าเขามองเห็นอะไร ได้รับอะไรกลับมา จากนั้นจึงปั้นโครงการขึ้นมาจากความสนใจในปัญหาต่างๆ ที่เขารู้สึก ดังนั้นประเด็นหลักของทุกโครงการจึงเกิดจากการออกแบบด้วยตัวของน้องๆ เอง
‘ครูแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ดูแลโครงการ เผยว่ากว่าจะถึงวันนี้ที่เกิดโครงการจิตอาสาดีๆ มากถึง 31 โครงการ จากน้องๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงกว่า 550 คน ในจุดเริ่มต้นทางมูลนิธิฯ ได้วางเป้าหมายร่วมกับ กสศ. ในการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านการทำงานจิตอาสาให้กับน้องๆ โดยเน้นใจความสำคัญคือ ‘ความเข้าใจประเด็นปัญหาในการทำงานจิตสาธารณะ’ และ ‘เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม’
กิจกรรมการทำงานจะถูกออกแบบเป็น 4 หน่วยประกอบกัน เริ่มจากครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการ ‘เปิดโลกอาสา’ คือการปูแนวคิดโดยพาน้องๆ ลงพื้นที่ชุมชน ไปเจอกับชาวบ้าน แล้วกลับมาถอดบทเรียนว่าเขามองเห็นอะไร ได้รับอะไรกลับมา จากนั้นจึงปั้นโครงการขึ้นมาจากความสนใจในปัญหาต่างๆ ที่เขารู้สึก ดังนั้นประเด็นหลักของทุกโครงการจึงเกิดจากการออกแบบด้วยตัวของน้องๆ เอง
“เราพยายามให้เขาตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่เรื่องการจัดการขยะอย่างเดียว แต่ต้องรู้ว่าปัญหาขยะในประเทศเรามีความซับซ้อนอย่างไร เมื่อเห็นภาพรวมแล้วถึงจะออกแบบเรื่องการจัดการขยะ หรือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก เขาก็ต้องเข้าใจว่ามันเกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำด้วยสาเหตุใด คือ เขาต้องเข้าใจโครงสร้างของปัญหา แล้วสามารถสร้างเครื่องมือที่เชื่อมโยงการจัดการระหว่างต้นทางถึงผลลัพธ์ได้”
เมื่อความเข้าใจแนวคิดจิตสาธารณะหยั่งรากลงแล้ว ก็จะไปสู่กิจกรรมถัดไป คือ ‘ค่ายแกนนำ’ น้องๆ จะได้ฝึกเขียนโครงการและวางแผน ออกแบบวัตถุประสงค์ของตัวเองแล้วบอกได้ว่ากิจกรรมที่จะทำตอบโจทย์อย่างไร จะแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างไร ซึ่งตรงนี้เขาจะได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ก่อนไปสู่การ ‘ลงมือปฏิบัติ’ คือ นำโครงการไปทำกิจกรรมในพื้นที่ ได้รู้จักการบริหารเงินทุน บริหารคน นำทักษะการสื่อสารไปใช้กับคนในพื้นที่จริง
ถึงหน่วยสุดท้ายคือ ‘ถอดบทเรียน’ เขาจะเอาชุดประสบการณ์มาสังเคราะห์กันว่าโครงการทำให้เขาได้เรียนรู้อะไร เจอกับปัญหาอะไร ต้องแก้ไขอย่างไร แล้วอะไรคือความสำเร็จ และสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ตรงจุดนี้เขาก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าผลที่ได้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตอนเขียนโครงการได้หรือไม่
“การพบกันในวันนี้ แต่ละสถาบันเขาจะได้มานำเสนอโครงการที่ไปทำกันมา ในรูปแบบ ‘นิทรรศการที่มีชีวิต’ ให้คนที่มาชมสามารถมีส่วนร่วม ทำกิจกรรม ได้เล่นเกม ทำเวิร์คช็อปกัน สิ่งที่เราได้เห็นก็จะเป็นคล้ายๆ คอนเซปต์โครงการเปิดโลกอาสาของแต่ละสถาบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ตั้งแต่ภาคเหนือที่เน้นเรื่องการจัดการขยะ ภาคอีสานเป็นเรื่องการพัฒนาชุมชน ภาคกลางที่เด่นๆ คือการลงพื้นที่นำความรู้เข้าไปช่วยซ่อมแซมเครื่องยนต์ให้ชาวบ้าน ทางใต้เน้นเรื่องการปลูกป่าชายเลนและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนภาคตะวันออกก็มีการสร้างรถสำหรับเก็บกวาดขยะตามชาดหาด” ครูแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ กล่าวสรุป
นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นต้นแบบให้ชุมชนหรือสถาบันอื่นได้
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวถึงโครงการฯ ว่า กิจกรรมเปิดโลกอาสาฯ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 แต่ทุกวิทยาลัยก็สามารถทำโครงการจนสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมนี้จะลุล่วงไปไม่ได้หากไม่มีอาจารย์จากสถาบันต่างๆ เป็นที่ปรึกษาและดูแลโครงการตั้งแต่วันแรก
“สิ่งที่เห็นคือนักศึกษาสามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและแนะนำของอาจารย์ในฐานะที่ปรึกษา นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ชั้น ปวส. ที่หลังจากปีการศึกษานี้ก็จะเรียนจบ โดยได้สร้างผลงานดีๆ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันออกไปเอาไว้ อีกทั้งหลายโครงการยังพร้อมส่งต่อการดำเนินงานในระยะยาว ขณะที่การเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม คือสิ่งที่จะบ่มเพาะให้เด็กๆ มีทักษะที่พร้อมเข้าสู่โลกของการทำงาน หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นับเป็นความสำเร็จของ กสศ. ที่ได้เห็นนักศึกษาเติบโตทางความคิดในด้านการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีวิธีการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งสถาบันอื่นสามารถนำไปต่อยอด หรือใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชน หรือสถาบันของตนเองได้”
เป็นบทเรียนที่แสดงถึงการเติบโตขึ้นอีกขั้นของน้องๆ นักศึกษาทุนฯ
นพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า ผลของกิจกรรมที่นำมาแสดงทำให้รู้สึกภูมิใจกับนักศึกษาทุกคน ที่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก หลายคนมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งหากม้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของน้องๆ ที่บางคนต้องผ่านเรื่องราวหลากหลาย เคยมีความท้อแท้ต่ออุปสรรค แต่พอเขาได้มีโอกาสเข้ามาเรียน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ จนถึงวันนี้ที่ใกล้ถึงเวลาจะเรียนจบ เขามองว่าปัญหาที่เข้ามาไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต นั่นแสดงว่าเวลาที่ผ่านมา ครู อาจารย์ ได้ช่วยให้แนวคิดและดูแลจนน้องๆ คิดได้ คิดเป็น พร้อมเผชิญกับอุปสรรคและหาหนทางแก้ไข เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอีกขั้นหนึ่ง
กิจกรรมดีๆ ที่จะส่งต่อถึงน้องๆ รุ่นต่อไป
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า ดีใจที่ได้เห็นนักศึกษาได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาสร้างเป็นโครงการดีๆ ซึ่งกระจายไปทุกภูมิภาค ผลลัพธ์ของงานที่นำมาแสดงกันในวันนี้ได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตผ่านบทเรียนของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นแรก ขณะที่ปีการศึกษานี้มีน้องๆ รุ่น 2 เข้ามาสมทบจนกลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกเด็กทุนกว่า 4,700 คน
“อยากฝากถึงน้องๆ ว่าเราทุกคนคือ ครอบครัวเดียวกัน ดังนั้นต้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งเพื่อนดูแลเพื่อน หรือพี่ดูแลน้อง กสศ. อยากให้ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่เป็นความฝันหรือเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จ พร้อมไขว่คว้าทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา หวังว่ากิจกรรมเปิดโลกอาสาที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะส่งต่อไปถึงนักศึกษาทุนรุ่นต่อๆ ไป และเป็นสิ่งที่มาช่วยเติมเต็มให้น้องๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและสังคมที่จำเป็นนอกเหนือจากสิ่งที่ได้รับจากการเรียน”
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค