อยากเชิญชวนประชาชนทุกคนที่อยากพัฒนาประเทศเข้ามาสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น เพราะจะเป็นวิธีการเปลี่ยนอนาคตของประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น
ด้วยความเชื่อที่ว่า “การศึกษา” เป็นกลไกที่แทบจะสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ในหลายมิติ ทำให้ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เดินหน้าปลุกปั้น “StartDee” แอปพลิเคชัน ด้านการศึกษา ที่จะเป็นอีกทางเลือกให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการศึกษาในแบบที่แต่ละคนต้องการ
ไอติม มองว่า หากมองในสามมิติ มิติแรกเศรษฐกิจจะเติบโตสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะที่จะหางานในอนาคตได้ ซึ่งงานกำลังจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย การศึกษาจึงสำคัญที่จะต้องรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ทัน
ในมิติที่สองประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนไม่รวยสูงมาก สิ่งที่น่าห่วงคือความเหลื่อมล้ำตรงนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วิธีเดียวที่จะหยุดการส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากรุ่นต่อรุ่นคือทำให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะเกิดจากครอบครัวไหนเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้
“การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมต้องเพิ่มการเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันยังห่างไกลอยู่”
ในมิติที่สาม “การเมือง” เราเป็นประชาธิปไตยไม่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้คือการช่วยปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยตั้งแต่ในห้องเรียน ครูเปิดให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แปรสภาพเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่เขาได้รับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“การศึกษาเลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาหลาย ๆ ปัญหา เลยทำให้ผมที่เคยทำงานการเมือง มีเป้าหมายอยากพัฒนาประเทศ เมื่อพักงานการเมืองลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ก็มองว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างไรได้บ้างจนมาตกผลึกเรื่องการศึกษา”
สร้างการศึกษาที่ดีในมือถือ
อุดช่องโหว่ในระบบปัจจุบัน
ไอติม อธิบายว่า การที่มาทำสตาร์อัพเรื่องการศึกษานั้นเข้าใจบทบาทของตัวเองดี ถ้าการศึกษาดี SartDee ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ในวันที่การศึกษายังมีดีและปัญหาการศึกษาเรื้อรังมายาวนาน ไม่อยากที่จะอยู่เฉย ๆ อะไรที่พอจะช่วยได้ในฐานะภาคเอกชนก็อยากช่วย
เครื่องมือหนึ่งคือเรื่องเทคโนโลยี ในวันที่เด็กเข้าถึงสมาร์ทโฟน หากนำการศึกษาที่ดีไปอยู่ในสมาร์ทโฟน ก็จะทำให้ไม่ว่าเด็กคนนั้นได้รับการศึกษาที่ดีหรือไม่ดี หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาดีหรือไม่ อย่างน้อยเขาก็ยังเข้าถึงการศึกษาที่ดีในมือถือ เป็นการอุดช่องโหว่ปัญหาในระบบปัจจุบัน
การขับเคลื่อนประเทศ
ต้องพึ่งพา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ถามว่าทำไมไม่ควรปล่อยให้การแก้ไขปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องของรัฐเพียงอย่างเดียว ไอติม ตอบว่า การที่ประเทศจะขับเคลื่อนได้ต้องพึ่งกลไก 3 อย่าง คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม ยิ่งถ้าภาครัฐยังมีความเชื่องช้าในการตอบสนองกับปัญหาที่เป็นอยู่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมก็น่าจะเข้ามามีบทบาทช่วยกันตรงนี้
จากจำนวนผู้ใช้กว่า 3 แสนคนแสดงให้เห็นว่า มีนักเรียนหลายคนที่มีความกระตือรือร้นในการหาช่องทางการเรียนรู้ จากที่ได้ลองสอบถามเด็กที่มาใช้ StratDee หลายคนบอกว่าเขาเคยเข้าไปเสิร์ชหาดูบทเรียนตามยูทูปบ้าง หาเจอบ้างไม่เจอบ้าง จึงเป็นที่มาที่เราอยากสร้าง StartDee ที่ถ้าเขาเสิร์ชหาใน Youtube ไม่เจอ แต่ถ้าเข้ามาใน StartDee เขาจะเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกหัวข้อทุกบทเรียนที่เรียนในห้องเรียนได้ เพราะเด็กบางคนเรียนในห้องไม่เข้าใจ ไม่กล้าถาม StartDee จึงเป็นเหมือนตาข่ายรองรับให้นักเรียนที่อาจไม่ได้รับการสอนที่ดีในโรงเรียน
คืนเวลาให้คุณครู
เพิ่มเวลาฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ทำงานเป็นทีม
สำหรับคำถามว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้หรือไม่ ไอติม วิเคราะห์ว่า ทั้ง “ได้” และ “ไม่ได้” ในมุมที่ “ได้” คือทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น เพราะอัตราเด็กที่มีมือถืออยู่ที่ 86 % และกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดก็มีอัตรามือถืออยู่ที่ 79% แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นอีกเยอะเช่นอินเตอร์เน็ตซึ่ง StartDee จับมือกับ AIS ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับคนที่ใช้ StartDee
ตรงนี้เราสามารถคืนเวลาให้กับคุณครูได้ แทนที่คุณครูจะบรรยายเนื้อหา 1 ชม. ก็อาจให้เด็กไปดูมาก่อน แล้วในห้องก็ทำกิจกรรม ฝึกทำงานเป็นทีม ฝึกแสดงความคิดเห็น ฝึกวิเคราะห์ ซึ่งระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมายังขาดหายไปมาก
เพิ่มความ “ยืดหยุ่น” ทางการศึกษา
ให้เด็กได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตรงกับความต้องการ
ไอติม บอกด้วยว่า มิติที่ยากที่สุดคือการนำเทคโนโลยีมาสร้างการเรียนรู้ แบบเพอซอนอลไลเซชั่น หรือการเรียนรู้เนื้อหาที่ดัดแปลงให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน เช่นผู้เรียนที่เก่งเลขอยู่แล้วก็จะเจอเนื้อหาที่ยากขึ้น หากยังตอบคำถามผิดก็จะเจอเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานก่อน เราพยายาทำให้เป็น Netflix ทางการศึกษาคนที่ชอบซีรีส์เกาหลี ก็จะเจอซีรีส์เกาหลีคนที่ชอบหนังฝรั่งก็จะเจอหนังฝรั่ง
“ตรงนี้เป็นการให้เขาเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนของแต่ละคน มีความยืดหยุ่นซึ่งสำคัญมาก ระบบการศึกษาปัจจุบันเขาเลือกอะไรไม่ได้เลย อย่างแรกตารางเรียนเขาแน่นมาก ต่อมาเขาถูกบีบบังคับให้เลือกสายวิทย์ สายศิลป์ มีความยืดหยุ่นน้อยมากว่าเขาอยากเรียนอะไร”
แต่ในมุมที่มองว่าอาจแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา “ไม่ได้” คือตราบใดที่นักเรียนทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็จะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างเด็กที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ในอนาคตหากตัวเลข 14% ของเด็กที่ยังไม่มีมือถือค่อยๆ ลดลงก็หวังว่าปัญหาจะคลี่คลายไปด้วยตัวของมันเองในอนาคต
การแก้ไขปัญหาการศึกษา
หลายปัญหาในสังคมก็จะคลี่คลายได้
การศึกษาเป็นอุตสาหกรรมที่บางคนอาจจะมองข้าม เพราะการเปลี่ยนการศึกษาแล้วกว่าจะเห็นผลใช้เวลานาน เทียบกับการไปสร้างถนน เราเห็นผลเลยว่ามีถนนเกิดขึ้น แต่การศึกษาอาจจะเห็นผลไม่ชัดตอนแรกและนานมากกว่าจะเห็นผล
แต่อยากเชิญชวนประชาชนทุกคนที่อยากพัฒนาประเทศเข้ามาสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น เพราะจะเป็นวิธีการเปลี่ยนอนาคตของประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น ระบบการศึกษาไทยผลิตอนาคตประเทศปีละ 1 แสนคน ถ้าเปลี่ยนกระบวนการตรงนี้ได้ก็จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะ แข่งขันต่างชาติ แข่งขันกับเทคโนโลยี แข่งขันกับหุ่นยนต์ ในการหางาน ก็จะช่วยกระจายโอกาสสร้างความเท่าเทียม หลายปัญหาในสังคมก็จะคลี่คลายได้
“พูดง่ายๆ การศึกษาอาจจะดูไม่น่าเซ็กซี่ในการเข้ามาแก้ปัญหาทางการศึกษา และนานกว่าจะเห็นผล แต่ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”
กสศ. กับ StartDee มีเป้าหมายเดียวกัน
คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ไอติม เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำงานกับ กสศ. ตั้งแต่ช่วยเริ่มต้นของ StratDee ซึ่งเรามีเป้าหมายตรงกันคือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สิ่งแรกคือเราอยากทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่าเด็กที่มาใช้ แอปพลิเคชั่นเรามาจากกลุ่มไหนบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจได้ว่ากลุ่มที่เข้าถึงเราเป็นเด็กที่มีรายได้น้อยจริงหรือเปล่า
ทั้งนี้ เรามีความร่วมมือทางด้านข้อมูลกับ กสศ. โดยเราไม่ได้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กแต่ละคน แต่เราใช้ข้อมูลรายโรงเรียนดูว่าโรงเรียนที่เข้ามาใช้แอปพลิเคชั่นเรามีสัดส่วนเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเด็กที่ใช้ StartDee มาจากกลุ่มไหนบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นลด ไม่ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำ
กสศ.ช่วยคัดกรองกระจายทุนให้ถึงมือเด็กตรงจุด
นอกจากนี้ มีหลายองค์กรที่อยากสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กที่เข้ามาใช้ StartDee ไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก 200 บาทต่อเดือน กสศ. ก็จะเข้าคัดกรองกระจายทุนเหล่านี้ให้ถึงมือเด็กที่ตรงจุด ทำให้ทุนนี้ไปถึงเด็กที่มีความต้องการจริงและช่วยติดตามนักเรียนทำให้มั่นใจว่าทุนเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับนักเรียนที่ได้รับไป
“จากการทำงานของ กสศ หวังว่าจะทำให้คนหันมาความสำคัญของการศึกษามากขึ้น และเห็นความเหลื่อมล้ำที่มันกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใครที่จะพอจะทำอะไรได้ตอนนี้ ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลดความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก “ ไอติม กล่าวทิ้งท้าย