นอกจากจะเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ยังเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งมองเห็นความสำคัญของโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในหลายประเด็น
“โครงการของกสศ. สามารถสร้างประโยชน์สองระยะด้วยกัน โดยระยะสั้นจะเกิดประโยชน์กับระดับชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดการมีงานทำ เกิดสัมมาชีพที่หลากหลาย ทั้งที่อยู่บนฐานทรัพยากร หรือวัฒนธรรมของพื้นที่ เช่น เรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทรัพยากรด้านการเกษตร อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง หรือการซื้อขายบริการที่ฐานชุมชนนั้น และจะเกิดนวัตกรรมอาชีพใหม่ๆ ที่แต่เดิมคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี หรือ แม้แต่งานช่างบริการที่อยู่ใกล้ๆ แล้วคนมองข้าม เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ ซ่อมรถไถ ซ่อมแผงโซลาเซล ประปา ไฟฟ้าในบ้าน ฯลฯ”
นพ.พลเดช กล่าวถึง สถาบันวิชาชีพที่ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยปกติจะสอนนักเรียนนักศึกษาที่จบจะไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน สถานประกอบการใหญ่ๆ แต่จะไม่นึกถึงอาชีพในชุมชน ฉะนั้นการถ่ายทอดทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานของกสศ. จะทำให้เกิดการจ้างงาน ตำแหน่งต่างๆ จะถูกคิดขึ้นเอง
โครงการของกสศ.สร้างประโยชน์ระยะยาวทำให้เกิดการสร้างบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นช่าง หรืองานบริการ อาชีพสมัยใหม่ในพื้นที่ ซึ่งพวกเขามีศักยภาพที่จะต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ได้อีกด้วย เพราะนอกจากพวกเขาใช้วิชาชีพทำมาหากินได้แล้ว แต่ว่าในฐานะประเทศชาตินั้น พลเมืองของเราจะมีศักยภาพสามารถพัฒนางานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านออกมาอย่างหลากหลาย
นพ.พลเดช ยกตัวอย่าง กรณีร้านค้าในประเทศญี่ปุ่นมีสิ่งประดิษฐ์เล็กๆน้อยๆ ออกมาจำหน่ายสร้างมูลค่า ทำให้ย้อนกลับมาดูฝีมือช่างในท้องถิ่นของไทยก็สามารถประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นตนเองได้และสามารถสร้างมูลค่าในอนาคต
“สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ เราก็ทำได้ผมนึกถึงเวลาไปหมู่บ้านพบช่างหัตถกรรม ทำเกวียนเล็กๆ ตุ๊กตา น้ำตก อุปกรณ์การเล่นของเด็ก คนเหล่านี้มีหัวช่างในสายเลือดอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเชื่อมต่อระบบตลาดเพื่อแปลงให้เป็นมูลค่า ถ้ากสศ. ทำแบบนี้ เราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นคนไทยทั่วแผ่นดินและถ้าเราไปติดตามผลงานต่อ จะเกิดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์แบบชาวบ้านขึ้นใหม่อีก” นพ.พลเดช กล่าว
นพ.พลเดช เสนอว่า นอกจาก กสศ. ดำเนินการในเรื่องการให้ทุนทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อีกด้านทำงานร่วมมือเชิงวิจัย วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเช่น ม.นเรศวร ขอนแก่น เชียงใหม่ รวมถึง สกสว. เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ในชุมชนได้รับการส่งเสริมสนับสนุน เพราะที่ผ่านมา สถาบันต่างๆ จะมองข้ามไปหมด จะนึกถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศและภายในสถาบันเอง
จากประสบการณ์ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง นพ.พลเดช มองบริบทของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอาชีพว่า ความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นในเชิงเครือข่าย ถ้ามีความรักสามัคคีชุมชนก็จะมีความเป็นปึกแผ่น กลุ่มก้อน คำว่าชุมชนเข้มแข็งก็คือองค์กรชุมชนเข้มแข็ง ความเข้มแข็งสะท้อนออกมาจากตัวขององค์กร ตัวองค์กรก็คือการรวมตัวกันของคนที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเรียนรู้และมีการจัดการ สำคัญคือต้องมีการจัดการ มีการแบ่งหน้าที่กัน
“การจะไปสนับสนุนให้เกิดพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานอย่างไร ต้องดูเรื่องความสมดุล เพราะในขณะนี้การลงทุนด้านการศึกษา มีการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาแบบตามอัธยาศัย 3 ส่วนใหญ่ กองทุนกสศ.สนใจทั้งในและนอกระบบ ในระบบพบว่าเด็กนักเรียนบางคนอยู่ไกล ขาดแคลนปัจจัย มีการให้ทุนช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ออกจากระบบ”
สำหรับโครงการทุนการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน นพ.พลเดช เห็นว่า เป็นเรื่องดี
ที่เน้นสัมมาชีพที่สามารถทำได้ในชุมชนและในท้องถิ่นนั้น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงจังหวัด โดยเฉพาะการฝึกเพิ่มพูนทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ขึ้นภายในชุมชน
“ทักษะการทำงานต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึง ทักษะในการเป็นแรงงาน บริการในด้านนั้นๆ เช่น เลี้ยงเด็กอ่อน ดูแลผู้สูงอายุ ก็มีทักษะที่เป็นแรงงานทั่วไป กับทักษะการเป็นแรงงานที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้นอาชีพที่ไปฝึกหรือให้ทุนก็ต้องมีขนาดที่แตกต่างกันไป แล้วมีแหล่งที่เราจะต้องไปเป็นพาร์ทเนอร์ ผมเห็นการให้ทุนของเด็กที่ไปทำควบคู่กันระหว่างฝ่ายอาชีวะศึกษากับสถานประกอบการ พวกช่างปะผุซ่อมทำสีรถ เป็นการฝึกในทักษะที่เฉพาะเจาะจงแล้วก็ต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการ”
ไม่เพียงแต่ความรู้ด้านทักษะแรงงาน แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วก็ทำให้ต้องหันมาใส่ใจความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งนพ.พลเดช เห็นว่า เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร หรือไอที ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นเรื่องดีที่โครงการทุนอาชีพและนวัตกรรมฯของกสศ.ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ และกำหนดเป็นหนึ่งที่ต้องมีในหลักสูตรการฝึกอบรมอาชีพของหน่วยพัฒนาอาชีพต่างๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุน
“ทักษะด้าน Data Processing ด้านไอที แอปพลิเคชันต่างๆ ก็เป็นทักษะอย่างหนึ่ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการนำดิจิทัลเข้าไปช่วยเศรษฐกิจชุมชน การตลาดซื้อขายทางออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มต่างๆ คนที่สนใจในด้านนี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่งในยุคนี้”
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า กลไกของ กสศ. เป็น Change Agent (ตัวแทนการเปลี่ยนแปลง) ของกระบวนการปฏิรูปการศึกษาไทย กองทุนนี้ถูกตั้งขึ้นมาด้วยความคาดหวังของอีกส่วนของสังคมที่อยากเห็นเป็น Change Agent ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งยากและทำไม่สำเร็จสักที ดังนั้นโครงการต่างๆ ของกสศ.ทั้งโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ก็เป็นนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง