ไอเดียหนึ่งที่เราพยายามพูดคุยมาตลอด นั่นคือ การจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาไม่ควรเป็นแบบเดิม ในลักษณะได้เท่ากันหมดทั้งประเทศ ซึ่งตรงกับที่กสศ.ได้วิจัยเรื่องบัญชีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาไว้เช่นกัน
“ทำไมหลายโรงเรียนยังขาดแคลน ทำไมองค์กรภาคธุรกิจเอกชนให้การบริจาคนักเรียนผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ทำไมผู้รับยังไม่ลดลง ทำไมยังมีโรงเรียนที่ไม่ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา ฯลฯ”
หลากหลายคำถามที่ผู้คนในสังคม ต่างตั้งข้อสงสัยต่อสภาพการณ์ศึกษาของไทยที่ไม่ได้รับความเสมอภาคอย่างยั่งยืน
ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ถ่ายทอดมุมมองผ่านเครื่อข่ายสื่อเพื่อชุมชน(เชียงใหม่) ต่อประเด็นคำถามเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ
อีกบทบาทหนึ่งของดร.ศุภโชค คือคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสู่การเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
อดีต ดร.ศุภโชค คือนักศึกษาคุรุทายาทรุ่นแรกของประเทศ ส่วนปัจจุบันเป็นประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ
ทำไมเด็กในพื้นที่ชายขอบยังถูกลืม ?
ดร.ศุภโชค บอกว่า วันนี้ปัญหาการศึกษาของบ้านเมืองเราโดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางห่างไกลจากศูนย์กลางก็ยังไม่ได้หนีหายไปไหน ใน พ.ศ. นี้ เราไม่น่าจะอยู่ในยุคสมัยที่มีบางโรงเรียนรอดพ้นสายตาของการเข้าไปช่วยเหลือ การจ่ายงบประมาณ การสนับสนุนการมีการศึกษาที่ดีอย่างที่เห็นในข่าวบ่อยๆ คือถ้า 30-40 ปีก่อนหน้าอาจพอจะเข้าใจได้ว่า บางโรงเรียนมันอยู่พ้นสายตาจริงๆ แต่ตอนนี้เรายังเห็นว่าเด็กในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ห่างไกล แทบจะถูกลืม มันเป็นไปได้อย่างไร
“จริงๆ แล้วทุกโรงเรียนได้รับการช่วยเหลือ แต่เวลาเราช่วยเหลือ บ้านเราช่วยแบบเรตเดียวกันทั้งประเทศ โรงเรียนที่มีศักยภาพสูง อยู่ในเมือง อันนี้ต้นทุนต่ำ เด็กเพียบพร้อมมาจากบ้าน ผู้ปกครองมีพ่อมีแม่ครบ มีเงินมีทอง มีฐานะ เก็บตังค์ได้ด้วย ค่าเทอมก็เก็บไป รัฐก็ให้เท่ากับโรงเรียนที่อยู่ชายแดน เก็บเงินไม่ได้ เด็กไม่มีข้าวกิน ไม่มีชุดนักเรียนใส่ รัฐให้เรตเท่ากัน เพราะฉะนั้นถามว่า มีโรงเรียนไหนที่ไม่ได้ตังค์ไหม ไม่มีหรอก เพราะรัฐจ่ายตังค์ไง เพียงแต่ว่าเงินที่เราลงไปให้เขามันไม่พอดีกับปัญหาเขา เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่มีปัญหาเยอะ ห่างไกล ต้นทุนต่ำ มันจะต้องหาวิธีช่วยเขา จริงๆ แล้ว รัฐบาลก็พยายามคิด กลุ่มโรงเรียนที่เฝ้ามองกันอยู่สามกลุ่มที่ห่วงกัน” ดร.ศุภโชค จำแนกกลุ่มโรงเรียนสามกลุ่มไว้ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง คือโรงเรียนพื้นที่สูง ในพื้นที่ทุรกันดาร โรงเรียนที่การเดินทางยาก ไปไกลๆ อยู่กับชนเเผ่า มีเด็กเคลื่อนตัวบ้าง เด็กอพยพบ้าง เด็กข้ามมาจากฝั่งพม่า ฝั่งชายแดนบ้าง บางคนก็ยังไม่มีสถานภาพของการเป็นคนไทย อันนี้คือกลุ่มโรงเรียนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มโรงเรียนพื้นที่เกาะ ที่เกาะก็มีเกาะทันสมัยอย่างภูเก็ต สีชัง เกาะช้าง ไม่ต้องห่วง แต่ก็มีเกาะที่ไม่ดัง เกาะที่เป็นโรงเรียนเล็กๆ กว่าจะได้ทรายสักลังหนึ่ง ผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่า พี่เขาบริจาคม้าหินอ่อนให้หนู หนูไม่กล้าปฏิเสธเขา ทำไมเหรอ ค่าเรือขนแพงกว่าค่าหินอ่อน อันนี้ก็เป็นประเด็นให้ผู้บริหารได้ขบคิดอีกเหมือนกัน คนช่วยก็คิดอีกแบบหนึ่ง คนที่อยากได้ก็เกรงใจ แต่ว่ามาพร้อมกับปัญหา มาพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาอีก อันนี้คือกลุ่มโรงเรียนพื้นที่เกาะ พื้นที่สูงผมมีตัวเลขอยู่ 1,190 โรง ยังไม่อัพเดทนะครับ ส่วนพื้นที่เกาะประมาณ 123 โรง
กลุ่มที่สาม อันนี้ก็เปราะบางเหมือนกัน เป็นโรงเรียนชายแดนของจังหวัด สมมุติว่าอยู่ลำพูน หรือเพชรบูรณ์ แล้วไปอยู่ชายแดน เป็นโรงเรียนเล็กๆ ไกลๆ กว่าจะเดินทางมาประชุม มาเยี่ยมเยือน มาพัฒนากันแต่ละครั้งก็ลำบาก ทีนี้ทุกโรงเรียนที่ว่ามา รัฐจะสนับสนุนแน่ๆ เลยคือ งบรายหัว งบอุดหนุน งบอุดหนุน ก็อย่างที่เรารู้กัน 1,800, 2,500, 3,500, 3,800 ถ้าจำไม่ผิด
งบต่อหัว แบบนี้โรงเรียนที่ใหญ่เขาก็จะได้เงินเยอะ เพราะว่ารายหัวเขาเยอะ แต่ว่าโรงเรียนที่เล็ก ก็จะได้เงินน้อย บางโรงเรียนมีนักเรียน 20 กว่าคน ชาวบ้านก็ไม่ยอมยุบ ถ้ายุบเด็ก 20 คนนั้นไม่มีที่เรียนแน่ ผมตีไปว่า ได้ประมาณห้าหกหมื่น ทั้งปีเขาต้องใช้เงินพัฒนาอยู่แค่นั้น แต่เทียบกับอีกโรงหนึ่ง ได้เงินสองสามล้าน มันก็ต่างกันแล้ว
เพราะฉะนั้นต้นทุนในการทำงานก็ต่างกัน โรงเรียนเหล่านี้ต้องหาเงินด้วยการไประดมทรัพยากรในพื้นที่ หาคนไปบริจาคสร้างนั่นสร้างนี่ เพื่อที่จะให้โรงเรียนเรามีความพร้อม และทำให้การศึกษามีคุณภาพด้วยตนเอง
“ครูคะ ทำไมปีที่แล้วหนูยังได้กินข้าวกลางวัน ปีนี้หนูทำไมไม่ได้กิน”
ดร.ศุภโชค สะท้อนสภาพปัญหาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า โรงเรียนๆ หนึ่ง เขาจะได้รับเงินสนับสนุนจากแบบไหน อย่างไรบ้าง
หนึ่ง เงินสนับสนุนรายหัวนักเรียน เป็นเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สอง เงินอุดหนุนเพื่ออาหารกลางวัน อันนี้ได้เฉพาะเด็กปฐมวัย อนุบาล-ป.6 ก็จะได้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันรายหัว หัวละ 20 บาท เท่ากับจำนวนนักเรียน เขาคำนวณให้อยู่ที่ประมาณ 200 วันต่อปี เพราะเราเปิดเรียนกันประมาณ 200 วันต่อปี อันนี้ก็ให้โรงเรียนไปซื้อกับข้าวเลี้ยงเด็ก ถ้าโรงเรียนใหญ่เขาก็มีคนเยอะเนาะ เหมือนเราไปขายในเมืองใหญ่ๆ เราก็ได้กำไรเยอะ ราคาไม่สูง
ถ้าโรงเรียนเล็ก เด็กแค่ 20 คน วันละ 400 บาท เลี้ยงเด็กไป ทั้งข้าว ทั้งกับข้าว มันก็ค่อนข้างที่จะพูดไม่ออก บางโรงเรียนที่ยากจน เด็กจบ ป.6 แล้วขึ้น ม.ต้น เราไม่สามารถให้อาหารเด็กได้ เพราะระเบียบเขาให้ดูแลถึงแค่ ป.6
เด็กก็จะมาถามว่า ครูคะ ทำไมปีที่แล้วหนูยังได้กินข้าวกลางวันอยู่ ปีนี้หนูทำไมไม่ได้กิน หนูเลื่อนชั้นแล้วแต่หนูไม่ได้รวยขึ้นนะคะ นี่ก็เป็นดราม่า เป็นเรื่องที่ผมได้ยินบ่อย เด็กผมเองแหละเขามาถาม ซึ่งเป็นช่องว่างที่เรายังเอื้อมไปไม่ถึง ดูแลไปไม่ถึง
สาม เงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี รัฐบาลจะควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญอยู่สองสามเรื่อง คือเสื้อผ้านักเรียน อันนี้ให้แจกกับเด็ก ซึ่งโรงเรียนรวยๆ เขาก็ได้นะ โรงเรียนบนดอยเขาก็ได้รับเท่ากัน แล้วก็ให้เป็นค่าหนังสือ ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมพวกนี้ก็ออกแบบให้โรงเรียนเอาไปใช้ ดูแลเรื่อง ICT บ้าง เรื่องการศึกษาแหล่งเรียนรู้ เดินทางพาเด็กไปทัศนศึกษาอะไรบ้าง เอาเป็นค่ายเพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการบ้าง กิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด อะไรอย่างนี้ที่เขาให้ไป ก็เป็นอีกก้อนหนึ่งที่โรงเรียนได้รับตามรายหัวเหมือนกัน
ที่เหลือก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาตามนโยบาย เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องการให้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายเรื่องเช่าต่ออินเทอร์เน็ตให้โรงเรียน ก็จะมีปัญหาในการจัดการนิดหน่อย บางช่วงไหลลื่นดี เพราะว่ากระจายอำนาจให้โรงเรียนคัดเลือก บริษัทที่สัญญาณดีที่สุดมาติดตั้ง มีอยู่ช่วงหลังที่เขาพยายามรวบไปทำเอง รวบไปเพื่อประหยัดงบประมาณ เพื่อจะเซฟค่าใช้จ่าย ก็กลายเป็นช่องว่างไปอีก เพราะว่าบางพื้นที่ ไม่มีสัญญาณ ทำให้บ่นกันอยู่หลายโรงเรียนเหมือนกันว่า จ่ายอย่างเดิมน่ะดีแล้ว ให้โรงเรียนทำเถอะ แต่นี่รัฐพยายามประหยัดงบประมาณ แล้วใช้กลไกระบบงบประมาณให้โปร่งใส ประหยัดโปร่งใส แต่มันไม่ fit กับปัญหา
บางโรงเรียนมีเด็กพักนอนเขาก็จะมีงบเด็กพักนอนให้ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องทำแผนพัฒนาตัวเอง แล้วก็ตั้งงบประมาณไว้ เช่น อย่างผมต้องการห้องประชุม ผมก็ต้องเสนอไปว่าต้องการห้องประชุมแบบนี้ๆ แต่ทีนี้ โรงเรียนเขาเสนอทุกโรงครับ ซึ่งเงินที่รัฐบาลมีไม่พอที่จะซัพพอร์ตทุกโรงเรียนในปีเดียว ก็เรียงลำดับไป มามันก็เกิดปัญหาในการจัดการอีก บางทีก็เรียงด้วยความจำเป็น ความเดือดร้อนจริงๆ บางทีก็เรียงไปด้วยความสัมพันธ์แปลกๆ คิวฉันก่อน ใครก่อนใครหลัง พวกนั้นก็เป็นปัญหา จึงทำให้โรงเรียนหลายโรงที่พยายามต่อสู้ก็รู้สึกว่า ไม่มีความหวังแล้ว บ้านพักครู อยู่อย่างนี้ไปก่อนนะ ห้องน้ำเอาอย่างนี้ไปก่อนลูก ขอปรับปรุงซ่อมแซมก่อน แล้วก็ได้งบมาไม่สูงเท่าไร อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องนี้ใช้งบประมาณเยอะก็ได้ครับ เพราะประเทศเรามีโรงเรียนมาเป็นร้อยปี บางโรงเรียนก็ชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว อาคารโรงเรียนผมอายุ 30 ปียังมีเลยเพราะฉะนั้นมันก็จะมีการmaintenance เกิดขึ้นค่าใช้จ่ายแบบนี้แหละที่โรงเรียนจะต้องแบกภาระคอยดูแลให้มันเรียบร้อยอยู่เสมอ
คำถามต่อเนื่องก็คือ แล้วที่เราเห็นว่า โรงเรียนต้องทำผ้าป่าเอง ต้องทำโน่นเอง นี่เอง เงินหมวดอื่นๆ ที่ว่า เขาอนุญาตให้โรงเรียนหามาได้จากแหล่งไหนอย่างไรบ้าง ก็จะมีเงินบำรุงการศึกษาครับ เงิน บกศ. อันนี้จะต้องขออนุญาตจากเขตพื้นที่ แล้วก็คณะกรรมการข้างบนเพื่อขออนุญาตจัดเก็บ โรงเรียนดังๆในกรุงเทพฯ ที่เขาเก็บค่าเทอมได้ เขาจะเขียนลิสต์มาเลย ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าจ้างบริการคอมพิวเตอร์ที่มากกว่าระดับปกติ ค่าสารพัดที่เขาจะดูแล บางโรงเรียนก็มีค่าห้องแอร์ด้วย มีค่าไฟค่าแอร์อะไรไป อันนี้เขาเก็บเงินได้จากผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็พร้อมจ่าย อยากให้ลูกอยู่โรงเรียนดีๆ ถ้าเป็นข้าราชการก็ใช้สิทธิเบิกคืนได้ เพราะว่าเก็บเงินตามระเบียบราชการ แต่อย่างโรงเรียนที่ผมดูอยู่ ไม่มีปัญญาจะเก็บหรอกครับ เขาไม่มีตังค์จ่าย เราต้องให้บริการฟรีไปเลย เพราะฉะนั้นเราไม่มีงบส่วนนี้
ข้อแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนชายขอบ
ดร.ศุภโชค ยกข้อเปรียบเทียบว่า ข้อแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมือง โรงเรียนใหญ่ที่เขาเก็บค่าเทอมได้ กับโรงเรียนชายแดนชายขอบ ระหว่างประเทศไทยเสียกรุงเมื่อไร กับหน่อไม้อยู่ตรงไหน อะไรสำคัญกว่า ต้องบอกว่า เธอถนอมหน่อไม้ยังไงให้เก็บไว้ได้นานแล้วก็ราคาดี อันนี้ต้องสอนประเภทนี้ เธออย่าทำลายป่าเดี๋ยวเธอไม่มีข้าวกิน น้ำบ้านเธอแห้งเธอปลูกผักไม่ได้นะ ผมต้องไปสอนเรื่องแบบนี้มากกว่าที่จะเอาเรื่องทางวิชาการที่เด็กในเมืองเขาเรียนรู้กัน
ฉะนั้น การแก้ปัญหามันไม่ใช่การมองแค่ว่าจะทำอะไรก่อนหลังเท่านั้น แต่มันมีเรื่องต้องพิจารณาร่วมกันอีกหลายปัจจัย มีระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ไอเดียหนึ่งที่เราพยายามพูดคุยมาตลอดก็คือจริงๆ แล้ว กสศ. ก็รับแนวคิดนี้ไปนะครับ เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่มันไม่ใช่แบบเดิม แบบเดิมที่ผมว่าก็คือการได้เท่ากันหมดทั้งประเทศ
กระตุ้นรัฐปรับวิธีคิดงบอุดหนุนการศึกษา
ไอเดียหนึ่งที่เราพยายามพูดคุยมาตลอด นั่นคือ การจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาไม่ควรเป็นแบบเดิม ในลักษณะได้เท่ากันหมดทั้งประเทศ ซึ่งตรงกับที่กสศ.ได้วิจัยเรื่องบัญชีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาไว้เช่นกัน
“ตอนนี้ กสศ. หยิบเรื่องนี้ คือ เรื่องทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน เมื่อก่อนรัฐบาลจะวางไว้ร้อยละ 40 ของนักเรียนทั้งประเทศ และวิธีการให้ของเขา ถ้าโรงเรียนไหนมีนักเรียน 100 คนก็ให้ไป 40 คนทันทีนะ โดยไม่สนใจว่าโรงเรียนนั้นอยู่ในเมือง หรืออยู่ชายแดน ซึ่ง กสศ. ก็หยิบเรื่องนี้เรื่องแรก ชอบใจมากเลย เพราะยิงเป้าถูก เงินมาลงถูกเป้าน่ะ เพราะโรงเรียนที่เขามีร้อยหัวเขาก็อาจได้ร้อยหัวเลยก็ได้ถ้าเขายากจนทั้งโรงเรียน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ บางโรงอาจไม่ได้สักคน เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่เราคัดกรอง อันนี้น่ะดีขึ้น งบปัจจัยพื้นฐานก็ดีขึ้น งบช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษที่ กสศ. ทำอยู่ก็ดีขึ้น
ผอ.โรงเรียนจากพื้นที่สูง สื่อสารไปถึงภาครัฐว่า ถ้าเป็นไปได้อยากจะสะกิดคิดก็คือเรื่องงบอุดหนุนกับงบเรียนดี 15 ปี หรืองบอาหารกลางวัน งบนม คืองบลักษณะนี้เราจะปรับเปลี่ยนวิธีการที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรเพื่อให้มันตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ ถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกไม่ได้ ผิดระเบียบ งั้นจบ ก็บอกทำไมไม่เปลี่ยนระเบียบ ก็เป็นเรื่องใหญ่ ดูๆ แล้วไม่น่าจะมีความหวังกับการเปลี่ยนกฎกติกาลักษณะนี้ พอทำงานระยะหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายโรงก็เริ่มหมดหวัง เขาก็เริ่มมาช่วยเหลือตัวเอง คนที่เป็นนักพัฒนาหน่อย รู้จักคนเยอะ ก็เชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา มาช่วยพัฒนา ปรับนั่น ปรุงนี่ คุยกับผู้ประกอบการบ้าง จริงๆ ก็เป็นไอเดียที่ดีให้ผู้ประกอบการ
เสนอไอเดีย “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งบริษัท”
ดร.ศุภโชค กล่าวต่อไปว่า เคยคิดกับเพื่อนว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีสามหมื่นโรง แต่บริษัทในประเทศไทยมีเป็นแสน ถ้าเขาทำ CSR หนึ่งโรงเรียนหนึ่งบริษัท จับคู่แต่งงานกัน คงมีคนเลี้ยงดูปูเสื่อโรงเรียนจำนวนมาก อันนี้เป็นไอเดียที่คุยเล่นๆ สมมุติผมเป็นเจ้าของโรงงานสักโรงงานหนึ่งแล้วผมก็จับโรงเรียนนี้ไว้ เอาไปเลยการพัฒนา แถมให้ บอกมาเลยว่าจะใช้อะไร แต่ให้ทุกปี มันก็จะมีพาร์ทเนอร์คอยช่วย แล้วการบริจาคแบบที่ผ่านๆ มา
“ถ้าในความคิดผม หลายๆ แห่ง เขาก็ช่วยเยอะ แต่บางทีเขาก็ช่วยแบบอยากตักข้าวให้กิน อยากเลี้ยงไอติม มันก็ไม่ยั่งยืน มันควรจะทำอะไร มันควรจะผ่านองค์กรไหน มาเป็นตัวกลางเชื่อมไหม เพื่อให้การบริจาคนั้นไปสัมพันธ์กับการจัดการของโรงเรียนอย่างยั่งยืน คือเลี้ยงข้าวมันก็หมด สองหมื่นวันนี้ เลี้ยงข้าวอิ่มแต้ (อิ่มแน่ๆ) แต่ใจจริงเราอยากจะซ่อมห้องน้ำเหลือเกิน แต่คนให้เขาอยากเลี้ยงข้าวน่ะ เขาเห็นเด็กกินแล้วมีความสุข บางทีผู้บริจาคเขาก็จะมีวิธีคิดแบบนี้ เขาอยากจะให้กับมือ อยากแจกเสื้อผ้า อยากแจกผ้าห่ม ผมเห็นก็แจกทุกปีน่ะ เออ แต่ก็ประสบภัยหนาวกันทุกปี บางคนก็เกณฑ์มาด้วยนะ เกณฑ์มารับ แต่ว่าคนให้เขาก็เจตนาดี ถ้าคิดว่าจะแก้อย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดการให้ที่มันตรงเป้าหน่อย”
จะจัดการอย่างไรดี ? ข้อที่หนึ่ง mindset ของคนให้ก่อนนะ ? ถ้าต้องการให้เพื่ออยากจัดประเภทกลุ่มที่เขาอยากทำบุญ อยากจะให้อาหาร เราก็ตั้งกองไว้ให้จัดไปให้โรงเรียนที่เขาที่เดือดร้อน ตอนนี้โรงเรียนที่อยู่บนดอยไม่ค่อยมีคนไปเดินทางยาก แต่โรงเรียนที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เจ้าภาพกฐินไม่ขาดสาย เดินทางง่าย แต่กับอีกโรงเรียนหนึ่ง อยู่ติดชายแดน เดินทางยาก ไกลไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ร้อน แล้ง มันต้องมีตัวเชื่อมกลางที่จะเป็นคนกระจายทรัพยากรตรงนี้ให้กับโรงเรียนอย่างเหมาะสม ภายใต้กลุ่ม ภายใต้ชมรม ภายใต้การขับเคลื่อนอะไรก็แล้วแต่ที่เราจะเป็นตัวกลางให้ แล้วถ้าคนให้บางคนบอกอยากจะเปลี่ยนหลังคาให้มาเลย มาเปลี่ยนหลังคาให้ เดี๋ยวเราหาโรงเรียนที่พังๆ ให้ บางคนอยากทาสี เดี๋ยวหาให้ ตรงนั้น ตรงนี้ แต่เราจะต้องมีคนกลางที่เก็บข้อมูลข่าวสารที่มันอัปเดทเสมอๆ เรียกว่าเจอปุ๊บใช้ปั๊บ ไม่มีการลักไก่ ไม่มีการใครมือยาวสาวได้สาวเอา ไม่มีคอนเนคชั่นอะไรอย่างนี้ ให้มันเป็นธรรม ถ้ามีระบบนี้เกิดขึ้น เด็กโรงเรียนก็พัฒนาได้ไว ทรัพยากรที่จะเข้ามาหาโรงเรียน ได้ช่องทางที่เขาจะวิ่งเข้าโรงเรียนก็ไม่ว่า เขาก็ให้ตรงจุด บางท่านก็ให้ไม่ตรงจุด หรือบางที่ได้รับเยอะเกินก็จะกระจายให้บางโรงที่ไม่เคยได้รับเลย สภาวะปกติพื้นที่ชายขอบก็ยากลำบากเป็นทุนเดิมไม่น้อย