การสร้างความเสมอภาคไม่เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ ‘ความร่วมมือ’ คือสิ่งหนุนเสริมช่วยให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย อย่างบทบาทของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ร่วมทำงานกับ กสศ. มีกลไกการทำงานกระจายลงไปถึงชุมชน ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ช่วยฉายภาพบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นรากลึกของสังคมเชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ และการเมืองด้วย ทำไมระบบการเมืองถึงเป็นแบบอุปถัมภ์ เพราะว่าประชาชนทั่วไปไม่มีที่พึ่ง ทำไมมีคำพูดว่า มีส.ส. ที่ดี คือส.ส. ที่ฝากลูกเข้าเรียน เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกจะเข้าโรงเรียนอย่างไรถ้าไม่มีคนฝาก ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางสังคม จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไปถึงรากของปัญหา ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยถอยลง” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า คิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมีทุกมิติและมีความซับซ้อนขึ้น เมื่อก่อนอาจบอกว่า ความเหลื่อมล้ำ คือคนจนที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่ภายหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เราเห็นว่า คนจนที่ไม่ได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีโอกาสเหลื่อมล้ำได้ ช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ 3-4 เดือน ไม่คิดว่าช่างตัดผมจะเดือดร้อน ไม่เคยคิดว่าเด็กมาจากครอบครัวยากจนที่มีอาหารสมบูรณ์ดีที่สุดจากมื้อโรงเรียน แต่โรงเรียนปิดเด็กไม่ได้รับประทานอาหาร
“ที่สำคัญ ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน คำถามว่า เรามองปัญหานี้ชัดหรือไม่ เช่น ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เราพบว่า มีทั้งเด็กยากจน เด็กที่มีปัญหาจากแม่เลี้ยงเดี่ยว รวมถึงเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากตายาย โอกาสกล่อมเกลาไม่เหมือนอยู่กับพ่อแม่ นี่คือความแตกต่างใน ศพด. แต่ถ้าทดสอบไปไกลกว่านั้น เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่เราเรียกว่า เด็ก LD (การเรียนรู้บกพร่อง) เด็กเหล่านี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ้าทดสอบจะรู้ว่าเขามีความบกพร่องในการเรียนรู้ และเปอร์เซ็นต์ในอุบัติการณ์นี้ค่อนข้างสูงในสังคมไทย นั่นแปลว่า ที่เราคิดว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนขาดโอกาสแล้ว ยังมีอะไรที่ลึกซึ่งกว่านั้นที่เราควรคิดถึง” ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นใส่แว่นสายตา มีเครื่องเอกซเรย์ลงลึกขึ้น จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีชั้นเดียวมีหลายชั้น ทั้งด้าน สุขภาพ ความเป็นอยู่ เช่น วันนี้เรารายงานผู้สูงอายุมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไปเบิกเบี้ยผู้สูงอายุ แต่เราไม่รู่ว่า ผู้สูงอายุอีกจำนวนเท่าไหร่ต้องเลี้ยงหลานพิการ ไม่รู้หรอกผู้สูงอายุมีบ้านอาศัยเป็นของตนเอง หรือบ้านพักอาศัยก็ผุพัง ฉะนั้น หลักคิดสำคัญขององค์กรท้องถิ่น คือการได้เห็นปัญหาด้วยการสัมผัสจริง องค์กรท้องถิ่นเป็นองค์กรที่จะเข้าใจสภาพปัญหาได้ดีกว่าราชการ
“ราชการอาจบอกได้ว่ามีคนจนกี่คนในหมู่บ้าน แต่เราจะบอกได้มากกว่านั้น คนจนในหมู่บ้านกี่คนกู้เงินแล้วจะคืน หรือกู้แล้วมีโอกาสไม่คืน เพราะเราจะรู้ถึงอุปนิสัย นี่คือ ต้นทุนทางสังคมที่ท้องถิ่นมีเหนือกว่าระบบราชการ คำถามคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกมิติ ทุกชุมชน เราหาเจอไหม เรามีความเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน” ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า คำถามต่อไปการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร คือไม่ได้แปลว่าให้ทุกคนได้เท่าเทียมกัน มันเป็นไปไม่ได้ แต่การแก้ปัญหาคือ การทำให้คนมีความแตกต่างกันน้อยๆ อะไรที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน ทุกคนพึงได้เท่ากัน
ทั้งนี้ ในเรื่องความเหลื่อมล้ำมี 2 เรื่อง
- การสร้างโอกาส คือการเปิดว่าเรามีบริการอะไรที่ให้ทุกคนได้รับในฐานะที่ทุกคนเป็นสมาชิก หรือประชาชนในพื้นที่ของเรา
- ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ แต่การเปิดโอกาสอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะการเปิดโอกาสยังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการเข้าถึง
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ยังตั้งคำถามว่า “เด็กจบประถมทุกคนมีสิทธิ์เรียนมัธยมใช่ไหม ตอบว่า ใช่” แต่ทำไมเด็กถึงไม่ได้เรียนมัธยมได้ทุกคน เพราะความสามารถในการใช้โอกาสนั้นไม่เท่ากัน นี่คือเลนส์ที่เราต้องส่องลงลึกถึงปัญหาว่า เด็กที่ไม่สามารถใช้โอกาสได้มีปัญหาอะไรบ้าง
ฉะนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเรื่องของการเปิดโอกาส และทำให้เกิดความสามารถในการใช้โอกาส จำเป็นต้องเติมทรัพยากรบางอย่างลงไป เช่น ระดับประเทศมีกองทุนเพื่อการกู้ยืมทางการศึกษา หรือ กยศ. ทุกคนมีสิทธิ์เรียนแต่ไม่มีปัญญาเรียนจึงต้องมีกองทุน เช่นเดียวกับท้องถิ่นต้องคิดแบบนี้ วันนี้เราต้องการมองปัญหาสองอย่าง มองปัญหาในการสร้างโอกาสที่เสมอภาคทั่วถึง และการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถใช้โอกาสได้
เรื่องที่สอง จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับตัว รวมถึงท้องถิ่นก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น การเรียนออนไลน์อย่างไรให้มีหลักประกันคุณภาพทางการศึกษา
ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโควิด-19 ถูกขยายภาพซับซ้อนขึ้น เชื่อมโยงทุกมิติ ทำให้เห็นโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่ชัดเจน เช่นเรียนออนไลน์ พบว่า เด็กส่วนไหนเข้าถึงและไม่ถึงต้องสร้างฟรีอินเตอร์เน็ต ต้องทำให้อินเตอร์เน็ตชุมชนที่นอกจากอยู่แค่โรงเรียน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ต้องขยายออกไปให้มากขึ้น
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวด้วยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น ต้องปรับวิธีการทำงานใหม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ต้นทุนทางสังคมของไทยมีมูลค่าสูงมาก นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่าอาสาสมัคร (อสม.) และอีกหลายเรื่อง เราสามารถบริหารจัดการผ่านกลไกอาสาสมัคร จึงอยากเชิญชวนองค์กรท้องถิ่นกลับมาใช้พลังอาสาสมัครมากขึ้น ต้องกลับมาใช้พลังกลุ่มสตรี เยาวชนมากขึ้น ด้วยความเอื้ออาทรให้เกิดความยั่งยืน
“ในเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม ผมไม่เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่นใด จะปรารถนาให้เด็กรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เชื่อว่า องค์กรท้องถิ่นใดจะให้ลูกหลานได้รับการเรียนการสอนผ่านสื่อไม่มีคุณภาพ ตรงนี้จึงเป็นความรับผิดชอบทางสังคมที่องค์กรท้องถิ่นจะทำเพื่อลูกหลานอนาคต” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ย้ำว่า ทำไมท้องถิ่นควรให้ความสำคัญการจัดการศึกษา อันดับแรกท้องถิ่นมีต้นทุนทางสังคมที่ดีในการจัดการศึกษา เพราะรู้ปัญหา รู้ลักษณะเด็ก การศึกษาท้องถิ่นเบื้องต้นต้องเป็นการศึกษาเพื่อความเสมอภาคในโอกาส ถัดจากนั้นถ้าจะทำเรื่องความเป็นเลิศก็ต่อเมื่อพื้นฐานการศึกษาต้องดีก่อน
ต้นทุนท้องถิ่นเรามีศักยภาพ มีความยืดหยุ่นในการออกแบบหลักสูตรการเรียการสอน มีอัตลักษณ์ มีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นอย่างไร การเรียนรู้ดีที่สุดคือเรียนรู้จากโลกความจริง เอาสภาพปัญหาชุมชนเป็นแล็ปในการเรียนรู้ของนักเรียน
“ผมเชื่อว่าการศึกษาคือ การจัดการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด และยึดปรัชญา EDUCATION FOR ALL และ FOR ALL EDUCATION การศึกษาสำหรับทุกคน ไม่ได้อยู่เฉพาะโรงเรียนอยู่ในหลายพื้นที่ ส่วน FOR ALL EDUCATION หลายเรื่องทำให้กระบวนการเรียนรู้ได้ทั้งหมด ปัจจุบันนี้ท้องถิ่นได้ทำเรื่องการศึกษาแก้เหลื่อมล้ำโดยไม่รู้ตัว เช่น กทม.มีโครงการอาหารเช้าให้นักเรียน หรือ การจัดการเรียนเสริม การจัดการเรียนผู้ด้อยโอกาส ล่าสุด อปท.ประกาศท้องถิ่นผลงานดีเด่นปี 63 มีท้องถิ่นทำเรื่องส่งเสริมการศึกษาดีเด่นถึง 48 แห่ง นั่นแสดงว่า สถ.เห็นการศึกษามีความสำคัญ ซึ่งท้องถิ่นสามารถทำได้อีกหลายอย่าง”
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า วันนี้ กสศ. ทำอะไรหลายอย่างในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และการได้มาร่วมมือกับสถ. เป็นการสานพลัง จากนี้องค์กรท้องถิ่นต้องกลับไปคิดว่าให้บริการทั้งหมดครอบคลุมทุกคน ทุกมิติทุกความซับซ้อนหรือยัง ท้องถิ่นต้องทำในสิ่งที่เรียกว่าลงลึก กลับไปค้นหารายละเอียดแต่ละกลุ่ม ว่าใครมีปัญหาอะไรที่ต้องเติม คิดว่าเทคนิคพวกนี้ กสศ. และ สถ. สนับสนุนซึ่งกันและกันได้
“ผมอยากเห็นเป้าหมายการศึกษาของท้องถิ่น สองเรื่อง การศึกษาเพื่อความเสมอภาค ทำให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ใกล้เคียง หรือต่างกันน้อยหน่อย เมื่อพัฒนาระดับหนึ่ง เราสามารถทำให้ความเป็นเลิศ กับการตอบโจทย์เตรียมการศึกษา ในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องการไม่เหมือนกัน เช่น บริเวณชายแดน อ.แม่สอด อาจต้องการเรียนภาษาหนึ่ง หรือจังหวัดเชียงราย อาจเรียนภาษาจีน ตอบโจทย์ภูมิสังคม ที่เราดีไซน์ได้” ศาสตราย์วุฒิสาร กล่าวยกตัวอย่าง
ทั้งนี้ การศึกษาท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา การสร้างระบบสนับสนุนที่เอื้ออำนวย แน่นอนงบประมาณสำคัญ แต่กฎระเบียบก็สำคัญ สถ.จะช่วยคลายความตรึงส่วนนี้ได้ โดยมีการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม เรื่องของงบประมาณ และสร้างองค์ความรู้ใหม่
“บทบาทสำคัญขององค์กรท้องถิ่น คือการพิสูจน์ไห้ได้ว่าเราคือหน่วยงานสำคัญในการช่วยลดปัญหาความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสของคน และความสามารถของคนในทุกมิติ โดยเฉพาะการศึกษา ถ้าแก้ปัญหานี้จะถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ ในอนาคต ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและรวมพลังท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่และพัฒนาท้องถิ่นต่อไป เพื่อสร้างเกียรติภูมิของท้องถิ่นไทย” ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวทิ้งท้าย