ระยะเวลา 51 ปีในแวดวงการเมืองของคุณ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวได้ว่าผ่านการทำหน้าที่ทางการเมืองมาแล้วแทบทุกบทบาท ทั้งนายกรัฐมนตรีผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหาร ถึง 2 ครั้ง ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติ 2 ครั้งเช่นกัน รวมทั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีว่าการอีก 7 กระทรวง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการช่วงปี 2526 – 2529 ซึ่งได้ริเริ่มนโยบายเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาในหลายๆ เรื่อง
ในโอกาสเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ระบบ iSEE 2.0 : Edtech เพื่อพัฒนานโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา”
ซึ่งสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภา คุณชวนได้ย้อนความทรงจำให้เห็นถึงความพยายามของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญสืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันช่วง 3 ปีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณชวนได้ทำโครงการกระจายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหากย้อนไปเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน สถานการณ์ความยากจนในขณะนั้นกล่าวได้ว่ารุนแรงกว่าปัจจุบันมาก ในสมัยนั้นอัตราการศึกษาต่อชั้นม.1 ไม่เกินร้อยละ 40 ซึ่งต่างกับปัจจุบันมาก โดยเฉพาะการเตรียมเด็กก่อนปฐมวัย ซึ่งโรงเรียนอนุบาลมีเพียงจังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น เด็กในหมู่บ้าน ในตำบลไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนอนุบาล จะมีเพียงลูกพ่อค้าในเมืองเท่านั้น จึงทำให้ต้องผลักดันนโยบายจัดตั้งอนุบาลชนบทขึ้นมา
“สมัยนั้นท่านนายก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านสนับสนุน รัฐมนตรีท่านอื่นก็ค้านบอกว่าคุณภาพมันไม่ถึง เราก็ยอมรับว่าคุณภาพมันไม่ถึง แต่ว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กบ้านนอก เด็กในหมู่บ้านก่อนจะเข้าป.1 มีการเตรียมตัวเรียน เพราะเด็กในเมืองพอเข้าป.1 อย่าว่าแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ เลยครับ A B C ก็จะอ่านออกแล้ว เด็กในหมู่บ้านสมัยนั้นผมชี้แจงว่าภาษากลางยังฟังไม่ออกเลย แล้วจะไปเอาความพร้อมได้อย่างไร ในที่สุดพล.อ.เปรมท่านสนับสนุน ท่านเป็นคนบอกว่า รัฐบาลอยากเห็นเรื่องอย่างนี้”
การสนับสนุนของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น สามารถจัดตั้งอนุบาลชนบทได้ถึง 2,000 ห้องเรียนทั่วประเทศ โดยใช้โรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะนโยบายต่อมาในการกระจายโอกาสทางการศึกษา สมัยที่คุณชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็คือ การเปิดโรงเรียนมัธยมในอำเภอต่างๆ เพิ่มขึ้น จากเดิมจะมีเพียงอำเภอละ 1 แห่ง ก็กระจายไปจัดตั้งยังตำบลใหญ่
แม้ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมจะมีเกือบทั่วถึงทั้งหมดแล้ว แต่สิ่งที่คุณชวนให้ความสำคัญ คือ ต้องมาพร้อมคุณภาพทางการศึกษาด้วย ไม่เพียงแต่คุณภาพการศึกษาเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คุณภาพชีวิตของนักเรียน จากปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
คุณชวน ยกตัวอย่างกรณีจังหวัดตรังเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 36,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 21,000 บาท ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่รายได้ครัวเรือนลดลง เพราะอิงอยู่กับราคายางพารา เมื่อยางราคาตกก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้ได้เลย รายได้ก็ลดลงมาจนน่าตกใจ เพราะฉะนั้นการที่กสศ. มีเครื่องมือที่จะช่วยให้รู้ข้อมูลแต่ละครัวเรือนว่าเป็นอย่างไร
โครงการ iSEE 2.0 ของกสศ. จะช่วยทำให้มีเครื่องมือรู้ลึกไปถึงเด็กในแต่ละครัวเรือนว่าสภาพเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้มากขึ้น
ผมเรียนท่านผู้จัดการกสศ. ว่าขอสนับสนุนเรื่องโอกาส เพราะว่าพวกเราก็มาจากโอกาสนั่นแหละ ผมก็เด็กต่างจังหวัด ถ้าไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือผมก็คงเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพื่อนรุ่นเดียวกับผมเรียนเก่งกว่าผม แต่ว่าในที่สุดก็ออกมาเพื่อรับจ้างกรีดยาง รับจ้างวันละไม่กี่บาท เพราะว่าไม่มีโอกาสได้เรียน ฉะนั้นโอกาสการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งต้องพยายามให้โอกาส ผมสนับสนุนโครงการอะไรก็ตามที่ให้โอกาสแก่เยาวชน
นอกเหนือจากนโยบายซึ่งได้ริเริ่มเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว เมื่อมีโอกาสดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัยช่วงปี 2535 – 2544 ได้ผลักดันนโยบายสำคัญด้านการกระจายโอกาสทางการศึกษาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการขยายมหาวิทยาลัยไป 11 จังหวัด และตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
“การตั้งเงินกยศ. ขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้เรียน เพราะเราก็ฐานะส่วนตัวไม่ค่อยพร้อมที่จะเรียน แต่อาศัยว่าประเทศนี้มี วัด มีศาสนาพุทธอยู่ก็เลยทำให้เรามีโอกาสได้อยู่วัดประหยัดค่าใช้จ่าย ได้กินข้าววัดเป็นหนี้บุญคุณชาวบ้านที่เขาใส่บาตรและเป็นหนี้บุญคุณศาสนา แต่วัดไม่มีมากพอให้เด็กทุกคนอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้โอกาสเด็กเยาวชนของเรา มีมติครม.เมื่อมิถุนายน 2538 ขยายมหาวิทยาลัยไป 11 จังหวัด โดยให้มหาวิทยาลัยแม่ดูแลซึ่งทั้ง 11 จังหวัด ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไปได้ดี”
คุณชวน กล่าวอีกว่า ถึงแม้จะมีมหาวิทยาลัยไปอยู่ประตูบ้าน แต่หากฐานะทางบ้านไม่พร้อมก็เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาต่อ จึงได้เกิดนโยบายกยศ. ซึ่งเริ่มจากงบประมาณ 3,000 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันกยศ. มีเงินทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท และเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือเยาวชนไม่กี่หมื่นคน ปัจจุบัน มีเยาวชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนกยศ. ถึงกว่า 6 ล้านคน
อีกนโยบายหนึ่งที่ออกมาในรัฐบาลคุณชวน คือ “นมโรงเรียน” นักเรียนทุกคนได้ดื่มนมเพื่อพัฒนาการด้านร่างกาย
“ความจริงแล้วผมก็ภูมิใจว่านอกจากอนุบาลชนบทแล้ว ผมก็เป็นคนที่ให้เด็กได้ดื่มนมทุกคน ซึ่งก็มีผลมาก ศาสตราจารย์ในโรงพยาบาลบอกผมว่าคนไทยสูงขึ้นเฉลี่ย 11 เซนติเมตรจากนโยบายให้เด็กได้ดื่มนม ซึ่งคงไม่ทุกคนที่จะสูงขึ้นนะครับ แต่เราเห็นได้ชัดคือเรามีนักวอลเลย์บอลหญิง ซึ่งใครจะนึกว่าสตรีไทยจะมีสรีระสามารถที่จะไปแข่งวอลเลย์บอลกับบราซิล กับรัสเซีย กับจีน กับอเมริกาได้ ซึ่งเป็นผลพวงหนึ่งจากพัฒนาเรื่องของร่างกาย เรื่องของความพร้อมทางโภชนาการ”
อย่างไรก็ตามคุณชวนมองว่า ในแง่ของสังคมที่เศรษฐกิจผันแปรขึ้นลงลง ทำให้คนที่เคยมีฐานะยากจน ยิ่งประสบปัญหามากขึ้นไปอีก จึงจำเป็นที่จะต้องดูว่าบุตรหลานของคนกลุ่มนี้มีโอกาสได้เรียนอย่างไร
“ผมฟังท่านผู้จัดการกสศ. อธิบายให้ฟัง หมายถึงว่า ระดับย่อยสามารถลงไปได้ทุกหมู่บ้านและโรงเรียน ผมคิดว่าโครงการประเภทนี้ลึกลงไปจากอดีต ถ้าลงได้ถึงขนาดนี้แสดงว่าเราไปแก้ปัญหาถึงตัวบุคคล โดยแต่เดิมนั้นมองในเชิงโครงสร้างไปทั้งระบบไม่ได้ไปเจาะจงคนใดคนหนึ่ง ภาพรวมผ่านไปแล้วและมาถึงตัวบุคคลได้เป็นเรื่องดีมาก” คุณชวนกล่าวชื่นชมระบบ iSEE 2.0 และย้ำว่าพัฒนาการของการให้โอกาสเยาวชนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นเมื่อกสศ.ได้สนับสนุนลึกลงไปกว่าเดิม ลงไปดูกลุ่มคนเล็กๆ ที่เสียโอกาสถือว่าเป็นการทำให้การกระจายโอกาสนั้นมีความสมบูรณ์ขึ้น
“ผมพร้อมสนับสนุนและขอขอบคุณท่านผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่ทุกระดับนะครับ ขอให้ผลงานท่านปรากฏรูปธรรมและสามารถทำให้เยาวชนจากครอบครัวที่ยากจนเป็นพิเศษได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง ซึ่งคนเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองต่อไปในอนาคต ขอขอบพระคุณท่านอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ”