ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ภาคการค้า ภาคบริการ การขนส่ง ธุรกิจท่องเที่ยว หลายส่วนต้องหยุดชะงัก หลายส่วนชะลอการดำเนินงาน ส่งผล กระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยเองคาดการณ์ว่าภาวะเช่นนี้จะยังคงดำรงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค
เมื่อเมืองซึ่งเคยเป็นความหวังของการประกอบอาชีพได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ผู้คนจำนวนมากหวนคืนภูมิลำเนา การพัฒนาอาชีพจากฐานชุมชนจึงเป็นความหวัง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองเห็นว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มการถูกเลิกจ้างจากโควิด-19 มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น การใช้ชุมชนเป็นฐานกับการพัฒนาอาชีพจะเป็นคำตอบสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืน
“หลายๆ พื้นที่ หลายๆ โครงการที่กสศ. ให้เข้าไปสนับสนุนการใช้ชุมชนเป็นฐาน แต่อยู่ที่ผู้นำชุมชน หรือคนที่ขอโครงการ มีกระบวนการคิด แล้วทำให้ทุนที่ได้รับหมุนได้หลายรอบ ไปสู่หลายคน หลายครอบครัว เป็นลักษณะของการให้ทุนและส่งต่อ รวมทั้งการเชื่อมโยงและการสร้าง จะทำให้เงินเข้าไปสู่กระบวนการผลิตหลายรอบ เกิดการหมุนเวียน มีสินค้าเกิดขึ้น แทนที่เงินทุนของโครงการจะหมุนรอบเดียว แต่หมุน 3 รอบ สร้างงาน สร้างโอกาส ทำให้คนรู้สึกว่าอย่างน้อยๆ ชุมชนเป็นที่พักพิงที่ให้โอกาสกับเขาได้ เป็นเรื่องที่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตในขณะนี้ได้”
ศ.ดร.สมพงษ์ อธิบายถึงหลักการของโครงการฯ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนเป็นที่พึ่งของผู้ได้รับผลกระทบได้ว่า การใช้ชุมชนเป็นฐานเป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่ในระบบ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ทุกคนมาร่วมกันออกแบบ วิเคราะห์ชุมชนแล้วก็ก้าวเดินไปสู่อาชีพที่ชุมชนต้องการได้
“แนวคิดดังกล่าวนี้สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจากจุดเล็กๆ ขยายตัวและเปลี่ยนผ่าน และกลุ่มคนที่เข้ามาก็มีความหลากหลายขององค์ความรู้และทักษะชีวิต เพราะฉะนั้นการใช้ชุมชนเป็นฐาน จึงเป็นคล้ายๆ กับจุดรวมพลเมืองที่มาจากความแตกต่างหลากหลายของคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ หลาย Generation มาช่วยกันแบ่งปัน พูดคุย ร่วมกำหนดหลักสูตร เพราะฉะนั้นการใช้ชุมชนเป็นฐานจึงมีการวิเคราะห์ชุมชนก่อน ว่าสถานการณ์ในชุมชนขณะนี้เป็นอย่างไร ต้องการอะไร อยากจะฝึกอบรมอะไร อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร”
แนวคิดและกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดสิ่งที่ ศ.ดร.สมพงษ์ เรียกว่า ‘Passion (ความหลงใหล) แห่งการเรียนรู้’ ด้วยองค์ประกอบของผู้ร่วมโครงการที่มาจากหลายฝ่าย เมื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ทำให้เกิดการทบทวนตนเอง กลับไปดูองค์กร ไปดูหลักสูตรตัวเอง ปรับเปลี่ยนหลักสูตร
“ผมยกตัวอย่างวิทยาลัยชุมชนแห่งหนึ่งบอกว่า ต้องกลับไปปรับหลักสูตรให้ตรงความต้องการของคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่าง มันไม่ใช่เป็นความรู้สำเร็จ การประเมินผลที่เอาตัวผลเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ เป็น Passion ของการกลับไปทบทวน เกิดชุดความคิดใหม่ เกิดหลักสูตรที่ดีขึ้น ผมคิดว่านี่คือการสร้าง Passion และจินตนาการทางการศึกษาที่เป็นมูลค่าครั้งยิ่งใหญ่ของการปฎิรูปการศึกษาไทย”
ในฐานะประธานกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ ซึ่งกว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้เดินทางลงพื้นที่ เยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนทั่วประเทศ ศ.ดร.สมพงษ์ ให้แนวคิดว่า การใช้ชุมชนเป็นฐาน ข้อมูลและการยึดโยงกับเรื่องอาชีพคือการตอบโจทย์ที่ดีที่สุด เพราะถ้าคนมีการเรียนรู้ และมีอาชีพทำ และรักถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง นี่คือความมั่นคงทางสังคมที่ดีกว่าในอดีตซึ่งมองข้ามและทำลายชุมชน ปล่อยให้องค์ความรู้ที่สะสมและมีอยู่มากมายค่อยๆ เลือนจาง แล้วสุดท้ายจะไม่มีคนรับช่วง
“จุดเล็กๆ ที่เรากำลังทำงานมันเริ่มเห็น อย่างเช่นชุมชนเล็กๆ ที่อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลิตเกษตรอินทรีย์ มีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า แล้วก็มีคนตกงานไปรับส่งผัก อีกที่หนึ่งคือเชียงใหม่ อ.กัลยานิวัฒนา มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้มา สามารถทำให้เกิดการสร้างงาน ปลูกผัก เกิดการจ้างงานในเรื่องของการหาแหล่งน้ำ การดูแลผู้สูงอายุ คือเขาใช้เงินกับงานที่ถูกกับความถนัด ความสนใจของลูกบ้าน เงินไม่มากแต่สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ นี่คือโจทย์สำคัญที่เราต้องเคารพในชุดความคิด ชุดการจัดการให้เขาดำเนินการไปเพื่อจะได้รู้สึกว่าตอบโจทย์ให้กับชุมชนเขาได้”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การสร้างต้นแบบของการพัฒนาที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการและตอบสนองชุมชนได้อย่างแท้จริง
“ผมอยากให้รัฐบาลส่วนกลางได้มาดูเรื่องพวกนี้ เพราะนี่คือเรื่องราวและชุดข้อมูลที่จะช่วยปรับแต่งตัวนโยบายให้เข้าที่เข้าทาง แล้วลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องลงไปสู่ความต้องการที่แท้จริง เรากำลังจะลงพื้นที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา จะไปถอดบทเรียนโดยเฉพาะเรื่องเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน ที่เชียงใหม่การใช้ชุมชนเป็นฐานจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์ุ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะเห็นเรื่องความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม เรื่องโครงสร้าง เรื่องระบบอำนาจ แต่การใช้ชุมชนเป็นฐานจะโยงไปกับเรื่องของการศึกษาที่ไปกับวัฒนธรรม ผมคิดว่า นี่คือคำตอบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่” ศ.ดร.สมพงษ์ เสนอแนวทางเพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป