คำถามที่ทุกคนสงสัย ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาเพียงพอแล้วหรือยัง ที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณอย่างไร เงินทุนมาจากไหน ไหลไปทางไหน และส่งผ่านไปถึงตัวเด็กหรือไม่ แล้วเหตุใดคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยจึงปรากฏออกมาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
หากมองในแง่การลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรทราบกระแสรายรับ-รายจ่าย ผลกำไร-ขาดทุน เพื่อจะประเมินได้ว่า ที่ผ่านมาเราเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ‘โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ’ (National Education Accounts: NEA) โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดทำขึ้นเพื่อตอบคำถามข้างต้น
ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้พยายามตอบคำถามว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาเพียงพอแล้วหรือยัง งบประมาณที่ใช้ไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง เงินถูกจัดสรรไปยังสถานศึกษาและตัวเด็กนักเรียนเป็นจำนวนเท่าใด และสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใด
คำตอบถัดจากนี้จะช่วยคลี่ให้เห็นเส้นทางการใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษา จากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ อย่างน้อยที่สุดงานวิจัยชิ้นนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อจะอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่สั่งสมมานาน
อะไรคือข้อค้นพบที่สำคัญจากการวิจัย
ระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาที่เราจัดทำขึ้น เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้การประเมินผลทำได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของภาครัฐที่มาจากส่วนกลางเพียงแหล่งเดียว โดยระบบสารสนเทศออนไลน์ที่เราจัดทำไว้ในเว็บไซต์ https://research.eef.or.th/nea/ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการดูตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบและยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
จากการรวบรวมข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2561 พบว่า รายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 816,463 ล้านบาท ขณะที่ปี 2551 อยู่ที่ 560,479 ล้านบาท และหากพิจารณารายจ่ายต่อหัวต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนที่ลดลง
ถามว่าประเทศไทยลงทุนกับการศึกษามากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้วถือว่าไทยมีสัดส่วนการลงทุนมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งมากกว่ากลุ่มประเทศ OECD ที่มีการลงทุนอยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP
การลงทุนด้านการศึกษาของไทยถือว่าไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ ฉะนั้นประเด็นที่ว่าประเทศไทยลงทุนเพียงพอหรือไม่นั้น จึงไม่ใช่โจทย์ที่ต้องกังวล หากแต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเงินที่ใช้ไปนั้นเกิดประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ผลการจัดทำระบบบัญชีรายจ่ายการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันภาครัฐมีส่วนในการสนับสนุนด้านการศึกษามากถึง 3 ใน 4 ของรายจ่ายทั้งหมด และกล่าวได้ว่ารัฐค่อนข้างให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษา เห็นได้จากการตั้งงบประมาณที่สูงเป็นอันดับ 1 คือร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดินนับตั้งแต่มีแผนปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542
เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในด้านใด
จากภาพรวมการลงทุนทั้งหมด 816,463 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินของภาครัฐ 618,427 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทุ่มให้กับการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 303,759 ล้านบาท คือระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย กิจกรรมการใช้จ่ายที่มากที่สุดคือ การผลิตนักเรียนและบัณฑิต คิดเป็นรายจ่ายสูงสุดถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะครูซึ่งเป็นหัวใจหลักในการผลิตนักเรียน ฉะนั้นสัดส่วนรายจ่ายสำหรับครูจึงค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ บุคลากรครูราว 3 ใน 4 ยังได้รับเงินค่าตอบแทนและค่าวิทยฐานะระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ คิดเป็นเงินกว่า 40,000 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามระบบข้าราชการ
จะเห็นว่าอาชีพครูไม่ได้น้อยหน้าอาชีพอื่น ในแง่ของค่าตอบแทน เงินเดือน ค่าวิทยฐานะ เงินบำนาญ รวมถึงความมั่นคงในอาชีพ ฉะนั้นทุกๆ ปีจึงมีคนสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการครูเป็นจำนวนมาก เพราะมีการให้ค่าตอบแทนสูง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลประเมินสมรรถนะระบบการศึกษาไทยกลับยังอยู่ในระดับต่ำ คือลงทุนมาก แต่ประสิทธิภาพต่ำ โดยเฉพาะในรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Internation Institute for Management Development: IMD) ชี้ว่า การจัดการศึกษาของไทยยังไม่สามารถใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก
ประเด็นก็คือ แม้รัฐจะลงทุนค่อนข้างมาก แต่ปรากฏว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนในเขตเทศบาลจะมีคุณภาพสูงกว่าโรงเรียนนอกเขตเทศบาล หรือถ้าเด็กอยู่ในจังหวัดที่มีฐานะดีกว่า คะแนนเฉลี่ยก็จะสูงกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สังคมรับรู้ร่วมกันมานาน
ถ้าดูข้อมูลเชิงลึกจะเห็นอีกหลายมิติ เช่น ในโรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพการเรียนและผลสอบโอเน็ตจะต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ฉะนั้นผู้ปกครองที่มีฐานะจึงนิยมให้บุตรหลานเข้าโรงเรียนขนาดใหญ่ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กมักจะหดตัวลงเล็กลงไปอีก ผลก็คือโรงเรียนขนาดเล็กต้องมีภาระในการดูแลเด็กที่มีฐานะยากจน ขณะที่คุณภาพการศึกษาก็แย่ลงไปเรื่อยๆ
เราคงไม่อยากให้โรงเรียนเหล่านี้กลายเป็นแหล่งรวมของเด็กด้อยโอกาส หรือเด็กที่มีความเปราะบางสูง ขณะที่ต่างประเทศไม่ว่าเด็กจะรวยหรือจนก็เรียนโรงเรียนเดียวกันได้ เพราะเป็นโรงเรียนในพื้นที่ แต่ในประเทศไทย คนรวยก็หนีไปโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐที่มีขนาดใหญ่
พองบประมาณของรัฐลงไปถึงระดับโรงเรียนแล้ว มีสัดส่วนการใช้จ่ายอย่างไร
ถ้าเปรียบเทียบเงินลงทุนด้านการศึกษา 100 บาท ซึ่งเป็นเงินของภาครัฐ 76 บาท เงินก้อนนี้จะไปอยู่กับโรงเรียนรัฐ 69 บาท โรงเรียนเอกชน 13 บาท อีกส่วนหนึ่งคืองบกลางทาง 7 บาท ที่ต้องใช้หล่อเลี้ยงเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ในฐานะหน่วยงานบริการเชิงนโยบาย และอื่นๆ
เงิน 69 บาทที่ไปถึงโรงเรียน จะถูกจัดสรรเป็นเงินเดือนครู ค่าจ้างบุคลากรต่างๆ ส่วนที่เหลือคือเงินที่จะนำไปพัฒนาการเรียนการสอนก็น้อยลงตามลำดับ
ปัจจุบันเราจ้างครูเยอะมาก เกือบ 400,000 คน ถามว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีเยอะแค่ไหน ปัจจุบันก็เกือบ 1 ใน 4 ของข้าราชการทั้งประเทศ ฉะนั้นครูจึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในแง่งบประมาณของภาครัฐ ถ้าสามารถวางแผนบริหารจัดการครูได้ รัฐก็จะมีงบประมาณไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้
ที่ผ่านมารัฐมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง
เราพบว่างบประมาณรายจ่ายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 18,683 ล้านบาท ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างทั่วถึง และให้กลุ่มเด็กยากไร้ด้อยโอกาสได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยเหลือครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร
ทุกวันนี้การระดมทุนด้านการศึกษาทั้งจากท้องถิ่นและภาคเอกชนมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการระดมทรัพยากรในด้านอื่น เช่น ด้านการทำนุบำรุงศาสนา หรือการบริจาคให้โรงพยาบาล ฉะนั้นอาจจะมีการรณรงค์ให้ท้องถิ่น เอกชน หรือคนทั่วไปให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น ปัจจุบันมีทางช่องทางการสนับสนุนผ่าน กสศ. ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ได้
หากพิจารณาตัวเลขบัญชีรายจ่ายอีกส่วนหนึ่งคือ รัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการเรียนฟรีเป็นจำนวนไม่น้อย ในปีงบประมาณ 2561 รัฐมีการลงทุนมากถึง 124,238 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเรียนฟรี 84,679 ล้านบาท นมโรงเรียน 13,839 ล้านบาท และอาหารกลางวัน 25,720 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 124,238 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ลงไปถึงตัวเด็กนักเรียนโดยตรง และจ่ายให้เด็กทุกคนเท่ากัน
คำถามสำคัญก็คือ ความเหลื่อมล้ำตรงนี้จะบรรเทาลงได้อย่างไร และรัฐบาลจะมีวิธีจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้อย่างไร ปัจจุบันเริ่มมีการพูดกันว่าอัตราเงินอุดหนุนน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะผ่านมา 10 กว่าปี มีอัตราเงินเฟ้อกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้ารัฐจะเพิ่มเงินอุดหนุนก็ควรพิจารณาด้วยว่าจะจัดสรรอย่างไรให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด
เมื่อสักครู่เรากกล่าวถึงงบประมาณ 124,238 ล้าน ที่รัฐบาลให้ทุกคนเท่ากัน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องอุดหนุนค่าชุดนักเรียนให้กับคนรวย ทั้งที่คนจนมีความต้องการมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแนวนโยบาย ถ้ามองว่าเป็นสิทธิของทุกคน ก็ยากจะแยกแยะได้ อาจต้องปรับเปลี่ยนระเบียบข้อกฎหมาย หรือให้สละสิทธิ์ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นไปได้ยาก
อีกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อตำราเรียน จะเห็นว่ามีการจัดซื้อทุกปี มีแบบเรียนใหม่ทุกปี พอสอบเสร็จแล้วก็กองทิ้งไว้เต็มโรงเรียน ไม่ได้เอาไปใช้ต่อ ถามว่ามีความจำเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า เรื่องนี้ก็คงต้องมาทบทวนกันอีกครั้งว่าทำอย่างไรจึงจะใช้งบประมาณได้คุ้มค่ามากขึ้น
การกระจายงบประมาณไปยังแต่ละจังหวัดมีความเท่าเทียมและทั่วถึงไหม
ในอดีตเราไม่เคยมีข้อมูลรายจ่ายการศึกษาระดับจังหวัด ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้นำเสนอให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น โดยพบว่าเงินรายจ่ายต่อหัวในระดับจังหวัดมีความแตกต่างกันพอสมควร ในระดับประถมศึกษาการกระจายทรัพยากรค่อนข้างทั่วถึง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ระดับมัธยมยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มากนัก เหตุผลเพราะภาครัฐจะเน้นอุดหนุนเฉพาะมัธยมต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ ส่วนมัธยมปลายก็ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ปกครอง หากครัวเรือนไหนฐานะไม่ดีก็อาจต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน
ในภาพรวมถือว่าไทยลงทุนสูงมาก แต่ทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
จะเห็นว่าแม้เราลงทุนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังมีความเหลื่อมล้ำปรากฏในพื้นที่ต่างๆ อยู่ คำถามก็คือจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ
เราพบว่าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่มาจากสาเหตุหลักคือ การกระจายทรัพยากรครู ถ้าอยากให้ช่องว่างลดลง เรามีข้อเสนอว่าควรมีการบริหารจัดการครูทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะการจะย้ายครูไปยังพื้นที่ต่างๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
อีกกรณีที่ทำได้คือ ปัจจุบันเนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กันดารห่างไกลมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้รัฐบาลควรให้ความสนใจ เพราะเป็นโรงเรียนที่รองรับเด็กด้อยโอกาสในสัดส่วนสูง แต่ก็เป็นภาระด้านงบประมาณด้วยเช่นกันในการที่จะทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพและมีครูที่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างเต็มรูปแบบ
ข้อเสนอของรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการที่พยายามสร้างเครือข่ายโรงเรียนในระดับตำบลก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบริหารทรัพยากรร่วมกัน แต่โจทย์สำคัญคือ จะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน ถ้าชุมชนร่วมใจและสามารถบริหารทรัพยากรร่วมกันก็มีโอกาสสำเร็จได้ ฉะนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย การบริหารอัตรากำลัง การจัดสรรทรัพยากรครู และการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง
อีกส่วนคือ รัฐควรสร้างอำนาจต่อรองกับโรงเรียนเอกชนให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โรงเรียนเอกชนมีประสิทธิภาพในการบริหารสูงกว่า ฉะนั้นต้องผลักดันให้เกิดกลไกการแข่งขัน เพื่อให้โรงเรียนเกิดคุณภาพ เพราะถ้าโรงเรียนรัฐมีคุณภาพด้อยกว่า สุดท้ายเด็กก็จะย้ายไปเอกชนมากขึ้น
ใช่หรือไม่ว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งในการจัดสรรทรัพยากรคือ ขาดการติดตามตรวจสอบ ขาดความรับผิดรับชอบ
จุดหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ แนวคิดในจัดการกระจายงบประมาณและความรับผิดชอบไปยังระดับพื้นที่หรือเขตพื้นที่การศึกษาให้มากขึ้น โดยส่วนกลางต้องลดบทบาทจากการเป็นผู้ใช้จ่ายงบประมาณไปสู่การทำหน้าที่เป็นผู้กำกับติดตามโครงการต่างๆ ขณะที่การทำงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่จะสามารถตอบสนองปัญหาได้ดีกว่า แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นว่ามีการประเมินผลที่ชัดเจนว่าใช้เงินคุ้มค่าจริงหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับแนวคิดนี้คือ การกระจายทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สอดคล้องตามความจำเป็น ปัจจุบันไทยใช้หลักเกณฑ์เดียวคือ การให้เงินอุดหนุนรายหัว แม้ว่าจะมีการชดเชยเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนในพื้นที่กันดารห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็อาจได้เงินเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งสูตรนี้ใช้กันมากว่าสิบปีแล้ว และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษเกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กก็ยิ่งเล็กลงไปอีก ทำให้เกิดช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้น ทำให้โรงเรียนยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งได้เปรียบ ส่วนโรงเรียนยิ่งขนาดเล็กยิ่งเสียเปรียบ ฉะนั้น ผมคิดว่าจุดนี้ควรมีการพิจารณาปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่เปลี่ยนไป
สรุปง่ายๆ คือ การให้เงินอุดหนุนรายหัวไม่ควรใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ แต่ควรพิจารณาตามบริบทพื้นที่ ขนาดโรงเรียน และความต้องการของนักเรียน
หลักคิดในการกระจายอำนาจจะช่วยให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ดีขึ้นไหม
ผมคิดว่าท้องถิ่นหรือเขตพื้นที่การศึกษาจะทราบถึงความต้องการของแต่ละโรงเรียนที่เขาดูแลอยู่ แต่เขาจะสามารถดูแลหรือตอบสนองปัญหาเหล่านั้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่เขาได้รับจากส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันโครงการที่มีอยู่จำนวนมากเป็นโครงการที่ส่วนกลางคิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่โครงการที่เสนอมาจากข้างล่าง
หากเป็นโครงการที่มาจากข้างล่างจะมีความหลากหลายมากกว่านี้ เพราะแต่ละพื้นที่จะมีความเร่งด่วนของปัญหาต่างกัน เช่น โรงเรียนในสามจังหวัดภาคใต้อาจต้องการให้มีการปรับปรุงการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โรงเรียนในภาคเหนืออาจขาดแคลนทรัพยากรครู เพราะอยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกลกันดาร ซึ่งถ้ารอคำตอบจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ส่วนกลางก็ไม่อาจตอบสนองปัญหาเหล่านี้ได้หมด
ในแง่การช่วยเหลือระดับครัวเรือนที่มีความเหลื่อมล้ำ ควรมีแนวทางจัดการอย่างไร
อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ทุกคนทราบดีว่า ทุกครัวเรือนล้วนมีภาระในการส่งเสียบุตรหลาน แต่เมื่อเทียบระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่าย ครอบครัวที่ยากจนจะมีภาระที่ต้องแบกรับในอัตราสูงกว่า หมายความว่า เงินจากรายได้ของเขาจะต้องจ่ายให้กับการศึกษาในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่รวย ถึงแม้ว่าคนรวยจะจ่ายเงินด้านการศึกษาเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ก็ถือเป็นสัดส่วนรายจ่ายด้านการศึกษาที่น้อยกว่าคนจน
ปัจจุบัน กสศ. มุ่งจัดสรรเงินไปยังครัวเรือนที่มีฐานะยากจนพิเศษอยู่แล้ว ก็หวังว่าอนาคตเม็ดเงินที่จะสนับสนุนในส่วนนี้จะมากเพียงพอ ถ้าสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับครอบครัวที่ยากจนได้ ผลลัพธ์ตามมาคือ อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนยากจนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนยากจนยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษาจะเห็นความแตกต่างค่อนข้างมาก โอกาสที่เด็กในครอบครัวยากจนจะเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจึงน้อยลงเรื่อยๆ