สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยดูจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีกหลังการระบาดของ COVID-19 ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าในสถานการณ์ที่โลกผลิกผันเช่นนี้ หนึ่งในกลไกสำคัญอย่างระบบการราชการและระบบการศึกษาไทยจะมีกระบวนการท่ารับมืออย่างไร
บทสัมภาษณ์นี้เผยให้เห็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของระบบราชการไทย ซึ่งยังคงจุดแข็งใน 2 ส่วนที่สำคัญคือ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและกลไกระบบสุขภาพของไทย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นทั้งสัญญาณที่ดีและน่ากังวลจากการวิเคราะห์ข้อมูลระบบราชการและระบบการศึกษาไทย ถึงกระนั้นทุกปัญหาย่อมมีทางออกหากจัดการด้วยความรู้และข้อมูลที่แม่นยำ แน่นอนว่าบทสนทนานี้ไม่ทิ้งประเด็นสำคัญที่ว่า สิ่งที่ระบบการศึกษาไทยควรจะเปิดฉากคลายล็อคประการแรกคือสิ่งใด
ไม่นานมานี้ ดร.สมเกียรติ นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งน่าสนใจว่าถ้าเปรียบเทียบเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ดร.สมเกียรติ คิดถึงอะไร
ระบบราชการมีหน้าที่ 3-4 อย่าง อย่างแรกมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ถ้าเปรียบเทียบแล้วคงเป็นสมอง และยังมีหน้าที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของระบบทั้งหมดเข้าด้วยกัน และส่วนสุดท้ายคือการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ เปรียบได้กับแขนขา เพราะฉะนั้นราชการจึงมีความสำคัญมากตั้งแต่สมอง หัวใจ เส้นเลือด ที่เชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไปจนถึงการปฏิบัติการในแต่ละเรื่องๆ คือเป็นมือเป็นเท้า
ถ้ามนุษย์คนใดสมองทำงานได้ไม่ดี ป้ำๆ เป๋อๆ หรือว่าหัวใจเต้นผิดปกติ มือไม่ค่อยแข็งแรง การให้บริการและการทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงกันก็ย่อมมีปัญหาด้วย ดังนั้นอาจจะเป็นอาการของรัฐบาลไทยและภาครัฐของไทยในบางเรื่องที่เราเริ่มเห็นความผิดปกติที่ไม่สามารถให้บริการ ไม่สามารถกำหนดนโยบายได้อย่างเหมาะสมเท่าที่ควร
ในวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ระบบราชการถือว่าสอบผ่านแค่ไหน
เรามีตัวอย่างที่เราเองก็ภูมิใจด้วยที่ระบบราชการของไทยทำงานได้ค่อนข้างดี โดยมี 2-3 เรื่องที่ทำได้ดีเป็นพิเศษ เรื่องแรกก็คือการดูแลเศรษฐกิจมหภาค ทำให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งที่ประเทศต่างๆ ในโลกพอเกิดวิกฤตการณ์สุขภาพ เกิดโควิด เกิดล็อคดาวน์ เกิดการปิดเมืองไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เรียกได้ว่าหลายประเทศเศรษฐกิจทรุดตัวลงไปเลย
ประเทศไทยอาจจะเรียกว่าทรุดตัวเหมือนกัน แต่ยังไม่เข้าข่ายเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพราะภาครัฐไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาคได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต คือเป็นสมองที่มีความจำที่ดี แล้วรู้ว่าจะถอดบทเรียนจากอดีตยังไง อดีตที่ประเทศไทยเคยเดือดร้อน ขมขื่นที่สุด คือวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พอมาถึงรอบนี้ สมองส่วนนี้ทำงานได้ดี มีการกำหนดให้ภาคเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานสอดประสาน เช่น ธนาคารกันเงินสำรอง เมื่อเห็นว่าปัญหาใหม่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดตราสารหนี้ ก็ออกกฎเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตราสารหนี้อะไรต่างๆ
ในเรื่องการใช้จ่ายด้านการคลัง กระทรวงการคลังก็ทำหน้าที่ได้ดีเหมือนกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีในการดูแลนโยบายการเงินกับสถาบันการเงิน
อีกส่วนหนึ่งที่ทำงานได้ดี และคนไทยก็รู้จักกันดีคือ สมองในส่วนที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากสถาบันต่างๆ เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกว่า ดูแลสุขภาพประชาชนได้ดี ก่อนเกิดโควิดเรามีระบบสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นบริการที่ทั่วถึงแต่ราคาไม่แพง เป็นตัวอย่างของโลกในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถบริหารจัดการปัญหาสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ พอเกิดโควิดระบบนี้ก็ทำหน้าที่ดูแลติดตามผู้ติดเชื้อ กำหนดนโยบายในระดับประเทศ ซึ่งบางครั้งผมเองก็รู้สึกว่าอาจจะเข้มงวดเกินไปหรือเปล่า แต่หากมองย้อนหลังแล้วก็ต้องยอมรับว่าต้องเข้มงวดอย่างนี้
เมื่อกำหนดนโยบายถูกต้องและในภาคปฏิบัติก็มีกลไกซึ่งเป็นแขนขาสำคัญคือ ระบบอาสาสมัครด้านสาธารณสุข อาสาสมัครด้านสุขภาพในท้องที่ต่างๆ เข้าไปติดตามดูแลว่ามีใครติดเชื้อบ้าง จะคัดแยกหรือจะแนะนำประชาชนอย่างไร นั่นก็คือตัวอย่างดีๆ ของภาครัฐของไทย เราจะเห็นได้ว่าพอทำงานได้ดีบางครั้งเราก็จะรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนอาจจะลืมไปว่ามีส่วนดีๆ ส่วนนี้อยู่
คือต่อให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่หลายประเทศทั่วโลกก็แก้ปัญหาโควิดได้ไม่ดีเท่าประเทศไทย นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าสมอง หัวใจ แขนขา ทำงานในส่วนนี้ได้ดีครับ
ดร.สมเกียรติ ให้เครดิตภาครัฐในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค และในด้านระบบสาธารณสุข แต่หากมองระบบราชการโดยรวมแล้วถือว่าทำงานผ่านเกณฑ์แค่ไหน
ถ้าจะเหมารวมก็อาจไม่เป็นธรรมกับหลายฝ่าย ซึ่งจะพบว่ามีหลายเรื่องที่อาจทำแล้วไม่โดดเด่นเท่ากับด้านเศรษฐกิจมหภาคและระบบสุขภาพ แต่ก็ถือว่าพอใช้ได้ ประเทศไทยลดความยากจนพอใช้ได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดบางตลาดได้ หรือบางกรณีก็มีบริการใหม่ๆ ออกมาได้ จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยพัฒนาขึ้น
ระบบราชการมีส่วนที่ดี แต่อีกหลายด้านยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่เราอยากจะเห็น โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งพบว่ายังแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ การกำหนดนโยบายก็ดูเหมือนว่าสมองจะขาดความจำระยะยาว เคยทำผิดไว้ยังไง ปีต่อไปก็ทำผิดซ้ำไปซ้ำมา
ในส่วนของการให้บริการก็ยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น เรื่องที่จุกจิกกวนใจประชาชนมากก็คือ เวลาไปติดต่อกับภาครัฐ ภาครัฐซึ่งเป็นคนออกเอกสารให้ประชาชนก็ควรจะรู้จักประชาชนดีๆ ไม่ใช่มาขอเอกสารนั้นจากประชาชนอีก อย่างการไปติดต่อหน่วยราชการ ทำสัญญากับภาครัฐ ภาครัฐก็จะถามว่าบริษัทคุณตั้งมาเมื่อไหร่ แล้วก็เอาเอกสารมาให้เราเซ็นรับรองยาวเลย ทั้งที่ภาครัฐควรจะรู้จักเราดีอยู่แล้ว เพราะคนที่ออกหนังสือจัดตั้งบริษัทให้เราคือภาครัฐเอง แต่หน่วยงานรัฐไม่ประสานกัน แปลว่าถ้าเปรียบเทียบเป็นสมองก็คือ สมองส่วนนี้ไม่ประสานกับอีกส่วนหนึ่ง หลายครั้งที่ประชาชนคนยากคนจนจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเวลาที่สั้นพอ
ตอนเกิดโควิดเราจะเห็นตัวอย่างหนึ่งคือ การประกันการว่างงาน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญว่า เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อน ธุรกิจอาจต้องปิดกิจการ รัฐบาลก็ออกมาตรการช่วยคนที่เดือดร้อน การประกันการว่างงานเป็นมาตรการที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งระบบประกันการว่างงานของไทยอาจไม่ใช่ระบบที่ยอดเยี่ยมเหมือนระบบสุขภาพ แต่ก็ถือว่าพอไปวัดไปวาได้ แต่พอถึงขั้นปฏิบัติในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน คนมาใช้บริการเยอะๆ ระบบมันเดินไม่ได้ เพราะเป็นระบบที่อาศัยกระดาษ ทำให้คนที่ไปขอใช้สิทธิจำนวนมากต้องกรอกเอกสาร กรอกเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ต้องคีย์ใส่ระบบคอมพิวเตอร์ แล้วก็ต้องพิมพ์ออกมาใหม่เพื่อให้อีกหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันคีย์เข้าไปใหม่ บริการของรัฐที่ล่าช้าจึงทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ดร.สมเกียรติ เคยเสนอว่าอนาคตข้างหน้าสถานการณ์โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เป็นโลกที่พลิกผัน หรือที่เรียกว่า ‘VUCA’ อยากให้ช่วยอธิบายลักษณะของโลกแบบนี้
‘VUCA’ คือ โลกที่เปลี่ยนไวไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ถ้าฟังคนพูดเรื่องนี้จะรู้สึกว่าเหมือนกับนิยายวิทยาศาสตร์หรือเปล่า แต่ปีนี้เป็นปีที่ทุกคนเห็นกันหมดว่า จู่ๆ ก็เกิดโรคระบาดขนาดใหญ่เมื่อช่วงต้นปี ซึ่งพวกเราก็คิดว่าบริหารจัดการได้แล้ว สุดท้ายกลับมาระบาดซ้ำอีกในช่วงปลายปีที่เรากำลังจะฉลองปีใหม่ และไม่ใช่ติดเชื้อในระดับหลักร้อย แต่เป็นหลักพันแล้ว เผลอๆ อาจจะไปไกลถึงหลักหมื่นได้
โลกเปลี่ยนไวเหลือเกิน มีความไม่แน่นอนสูงมาก โลกที่ไม่แน่นอนคือ เราไม่รู้ว่ามันจะออกหน้าไหน โจทย์ตอนนี้ต้องดูว่าการระบาดใหญ่ที่มหาชัยจะบานปลายขนาดไหน สุดท้ายจะเกิดการระบาดระลอก 2 (second wave) หรือเปล่า เพราะฉะนั้นใครจะทำธุรกิจ ใครจะวางแผนชีวิต ใครจะลงทุน จะตัดสินใจเลือกเรียนอะไรต่างๆ อาจวางแผนได้ยากขึ้น เพราะโลกมันคาดเดาได้ยากขึ้นทุกทีๆ
โลกแบบนี้เป็นโลกที่ต้องการความคล่องตัว การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดไว้แล้ว แทบจะเปลี่ยนยาก ภาคธุรกิจเองวางแผนกันปีนี้ แต่ก็ไม่รู้ปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เด็กนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะไปเรียนดีหรือเปล่า หรือจะใช้เวลาสักปีหนึ่งไปทำกิจกรรมอะไรอย่างอื่น หาความรู้หาประสบการณ์ให้ชีวิตดี คนที่ตัดสินใจจะซื้อบ้านดีไหมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีงานทำยาวแค่ไหน
ในโลกที่พลิกผัน ทุกคนต้องมีความคล่องตัว ความคล่องตัวมาจากทักษะที่มีความยืดหยุ่น มีใจที่เปิดกว้างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงก็ต้องมีทักษะแรงงานในการหางานใหม่ ต้องมีความรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพราะความรู้ล้าสมัยเร็วขึ้น
นอกจากคนต้องมีทักษะในการปรับตัว คนที่มีบทบาทช่วยให้เราปรับตัวได้คือภาครัฐ แต่ภาครัฐเองจะปรับตัวได้ทันไหม ถ้าภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทัน เด็กจะรู้สึกเครียดมาก
การที่เกิดการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแต่งกายและทรงผม การไม่ถูกทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และอีกเรื่องคือการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพื่อให้เขารับมือกับโลกในอนาคตได้
ผมคิดว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดเกิดจากแรงกดดันที่เด็กทุกวันนี้รู้สึกตัวอยู่แล้ว แต่ระบบโรงเรียน ระบบการศึกษา ปรับตัวไม่ทันในเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพ และในเรื่องการเรียนการสอนก็ไม่สามารถสอนทักษะที่เด็กจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เห็นได้จากผลการประเมินการสอบ PISA ที่จัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่าเด็กไทยเกินครึ่งหนึ่งไม่มีความสามารถในการอ่านที่ดีพอ คือ อ่านออกได้ แต่จับใจความไม่ได้ ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง และวิชาคณิตศาสตร์ เด็กประมาณครึ่งหนึ่งท่องสูตรได้ แต่ประยุกต์ใช้ไม่ได้
ในโลกที่พลิกผันอย่างนี้ อยากทราบว่ามีโอกาสแค่ไหนที่เราจะปฏิรูปการศึกษาไปถึงระดับโครงสร้างได้
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูปขนานใหญ่ ระบบการศึกษาของไทยเป็นระบบที่ดูเหมือนว่าตัดขาดจากความเป็นจริง ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานตลอดจนอุดมศึกษา ในส่วนของอุดมศึกษาควรจะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น บัณฑิตที่จบออกมามีทักษะตามที่นายจ้างต้องการไหม แล้วถ้าไม่อยากเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน แต่อยากไปทำกิจการส่วนตัวก็ต้องมีทักษะอีกแบบหนึ่ง ทักษะทั้งสองแบบสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนายจ้างจึงบอกว่าขาดแรงงาน แต่คนส่วนหนึ่งกลับตกงาน หางานไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้ง
ตลาดแรงงานขาดคน แต่ต้องเป็นคนที่มีทักษะเพียงพอ ทักษะทั้งในทางวิชาการ ทักษะในการสื่อสาร ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม ทักษะในเรื่องของทัศนคติ เช่น มีจิตใจที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากเห็น มีความอดทน มีความรับผิดชอบ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่สถาบันการศึกษาไทยผลิตออกมากับสิ่งที่นายจ้างต้องการไม่ตรงกัน พอไปดูการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 ก็จะเจอปัญหาคล้ายกัน โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
เราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรในการปฏิรูปการศึกษา เพราะมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง
โจทย์คือการปฏิรูประบบการศึกษา คำว่า ‘ระบบ’ แปลว่าสิ่งที่มีองค์ประกอบหลายอย่างเกาะเกี่ยวกัน ยกตัวอย่างเช่นหลักสูตร หลักสูตรของไทยมีปัญหามาก เป็นหลักสูตรที่ไม่เน้นสิ่งที่เรียกว่า literacy คือทักษะอ่านออกเขียนได้ แล้วถ้าเด็กสามารถนำทักษะนั้นไปใช้ได้จริงส่วนนี้จะเรียกว่า competency ซึ่งในหลักสูตรของเราไม่มี เพราะวิธีการเรียนของเราเน้นความรู้แบบอัดแน่นเต็มไปหมด แต่ไม่มีการฝึกลงมือปฏิบัติจริง
แน่นอน หลักสูตรไม่ใช่แก้เฉพาะในตัวหนังสือ แต่ปัญหาคือหลักสูตรนี้ใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 โรงเรียน ในบริบทที่มีครูหลายแสนคน แปลว่าถ้ามีหลักสูตรใหม่ต้องใช้ตำราใหม่ ต้องพิมพ์ตำราใหม่ ต้องฝึกอบรมครูในการสอนแบบใหม่
การจะสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ คิดเป็น แทนที่จะสอนท่องจำหรือสอนตัวเนื้อหา ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนแบบฝึกทำจริง เรียกว่า active learning แปลว่าต้องฝึกครูขนานใหญ่ หลังจากนั้นต้องแก้ที่ตัวแบบทดสอบหรือตัวประเมินผล เพราะถ้ายังใช้ระบบทดสอบแบบเดิม เด็กก็จะยังสอบได้คะแนนไม่ดี เพราะข้อสอบยังเป็นแบบเดิม เพราะฉะนั้นก็ต้องเปลี่ยนวิธีการออกข้อสอบด้วย นี่คือความท้าทาย
การกระจายอำนาจทางการศึกษาจะช่วยตอบโจทย์ได้ไหม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แรงไปไหมสำหรับตัวระบบราชการ
กระจายอำนาจทางการศึกษาในประเทศไทยพูดกันในหลายบริบท บริบทหนึ่งที่พูดถึงคือ โอนโรงเรียนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี อบจ. เทศบาล ในการจัดการศึกษาส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ คือโอนให้ กทม. ดูแล
ถ้าคำตอบออกมาว่า การกระจายอำนาจหมายถึงการโอนโรงเรียนไปให้หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งประเทศไทยมีความพยายามทำกันอยู่ในช่วงหลังปี 2540 มีการโอนโรงเรียนจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านที่ไม่ค่อยดี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งที่ผู้บริหารสนใจเรื่องการศึกษาแล้วใช้ทรัพยากรเข้าไปปฏิรูปการศึกษา ตัวอย่างหลายแห่งเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง เมื่อไล่ดูต่อ มีบางแห่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นความหวังของการกระจายอำนาจทางการศึกษา
ในเวลาเดียวกัน มีตัวอย่างของการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เช่น โรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ
อีกแนวทางยังมีความพยายามกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังหน่วยจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่คือ การจัดการศึกษาแบบ area based โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง หลักสูตรหนึ่งซึ่งทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พยายามจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่ ให้จังหวัดจัดการตนเอง ในมุมแบบนี้ไม่ได้แปลว่าต้องกระจายอำนาจ หรือยกโรงเรียนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสมอไป
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการศึกษาแนวทางนี้โดยให้โรงเรียนเป็นของกระทรวงการศึกษา แต่ให้อำนาจในการตัดสินใจแก่โรงเรียน ตัวอย่างเช่น ถ้าโรงเรียนอยากใช้หลักสูตรแบบใหม่ ควรมีความสามารถในการกำหนดหลักสูตรใหม่ขึ้นมาเองได้ ใช้ตำราที่ไม่ต้องอยู่ในลิสต์กระทรวงการศึกษาได้ พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจึงเป็นกระจายอำนาจตัดสินใจไปยังจุดที่อยู่หน้างาน ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่าระบบการศึกษาส่วนใหญ่โรงเรียนจะอยู่ภายใต้ระบบราชการซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์
จากการทดลองทำหลายๆ แบบ สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าแบบไหนเวิร์ค และจะเป็นต้นแบบของการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยได้ การจะทำให้เกิดการตัดสินใจและเกิดการทดลองของใหม่ แปลว่าต้องโอนอำนาจออกจากกระทรวงการศึกษาไปสู่หน้างาน ครู ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถกำหนดขึ้นได้ มีอิสระมากขึ้น และต้องมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน คือมีอิสระมากขึ้น ในเวลาเดียวกันต้องมีขีดความสามารถมากขึ้น
การทดลองในจังหวัดสำคัญ 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ระยอง และสตูล เราทดลองรวมกันประมาณ 200 กว่าโรงเรียน เพิ่งผ่านไปได้ปีเดียว เพราะฉะนั้นก็ต้องลองดูว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และจะปรับปรุงต่อไปอย่างไร
การลงทุนในด้านการศึกษาของไทยที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น ถือว่ามาถูกทางหรือยัง ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้เด็กยากจนและด้อยโอกาสไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ผมยังไม่แน่ใจที่จะสรุปอย่างนั้นได้ แน่นอนว่าถ้าเป็นระดับอุดมศึกษาจะแยกชัดว่ามีคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ กับอีกส่วนคือคณะด้านมนุษยศาสตร์ เช่น อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และยังมีคณะด้านสังคมศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แน่นอนว่าคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้ทรัพยากรเยอะกว่าโดยธรรมชาติ ต้องมีห้องแล็บ มีการปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งใช้เงินใช้ทองมากกว่า
แต่หากถามว่าประเทศไทยลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนักไปข้างนี้ไหม คำตอบก็ไม่ใช่ ถ้าดูจำนวนบัณฑิตที่จบมา สัดส่วนบัณฑิตมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทยยังสูงกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่เหมือนกับหลายประเทศ และนี่คือสิ่งที่คนเชื่อว่าการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ และเชื่อว่าเราผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยเกินไป แล้วคุณภาพก็ยังไม่ได้ถึงเกณฑ์
ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพยายามในการสร้างโรงเรียนแบบใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์จริง เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ภายหลังมหิดลวิทยานุสรณ์ก็ไปให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนจุฬาภรณ์ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นความพยายามหรือโครงการแบบนี้มีจริง แต่ยังเป็นส่วนเล็กๆ ของระบบ
ถ้ามองในระบบใหญ่ ผมไม่คิดว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ผมสนใจคุณภาพของการเรียนการสอนมากกว่า เพราะศาสตร์ทั้งผองสุดท้ายย่อมส่องทางให้กันได้ ขอให้มีคุณภาพจริง ไม่ว่าจะเรียนมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือเรียนด้านศิลปะ ถ้าสอนได้มีคุณภาพ คนที่จบออกมาจะมีทักษะที่ดีแล้วนำไปใช้ได้
แต่ประเด็นปัญหาก็อย่างที่เห็น วิทยาศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร สอบ PISA แล้วเด็กเกินครึ่งยังมีทักษะไม่ดี คณิตศาสตร์ยิ่งแย่กว่าวิทยาศาสตร์ การอ่านยิ่งแย่ที่สุด การอ่านก็คือด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นหลัก คืออ่านจับใจความ เพราะฉะนั้นแย่ทุกด้าน
ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาสูงมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ มองเรื่องนี้อย่างไร
จะเรียกว่าสูงมากหรือเปล่าก็อาจจะยังไม่ใช่ ถ้าเทียบกับหลายประเทศ คงไม่ได้เป็นประเทศที่สูงในอันดับต้นๆ แต่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการศึกษาเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย อยู่ในระดับที่ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คือมีการลงทุนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นระดับที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ถ้าดูอีกด้านหนึ่งคือ การลงทุนลงแรงของเด็กเอง เด็กมัธยมไทยใช้เวลาในห้องเรียนต่อปีเกินกว่า 1,000 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเวลาที่มากกว่าการลงทุนลงแรงของเด็กในหลายประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี เช่น ฟินแลนด์ หรือประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง เขาจะเรียนกันประมาณ 600-700 ชั่วโมงต่อปี
เด็กไทยใช้เวลาเรียนเยอะกว่า แต่ผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น ที่วัดโดย PISA สะท้อนว่าผลสัมฤทธิ์ต่ำมาก ถ้าจะผิดหวังในการศึกษาไทยก็คือ ไม่ใช่ว่าเราลงทุนเยอะเกินไป แต่เราลงทุนเรื่องเวลาเยอะมาก เด็กเครียดมาก แต่ได้ผลลัพธ์น้อยเกินไป ตรงนี้ต่างหากครับ
ปัจจัยจากเรื่องนโยบายมีผลต่อเด็กมากน้อยแค่ไหน
มีสารพัดเลยนะครับที่ทำให้ระบบการศึกษาได้สัมฤทธิ์ผลน้อย ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากนโยบาย เพราะเกี่ยวข้องโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การที่ภาครัฐแต่ละกระทรวงมีโครงการต่างๆ ซึ่งพอเห็นปัญหาอะไรในสังคม สิ่งแรกที่ผู้ใหญ่คิดก็คือปัญหามาจากเด็ก เช่น เห็นการทุจริตคอร์รัปชันแล้วอยากให้คนไทยทุจริตคอร์รัปชันลดลง แล้วก็มองว่าวิธีการแก้คือ ต้องปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม โตไปจึงจะไม่คอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่คนคอร์รัปชันคือผู้ใหญ่ทั้งนั้น เด็กจะไปเอาปัญญาที่ไหนไปคอร์รัปชันได้ แต่พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะคิดว่าต้องไปแก้ที่เด็ก
อย่างเรื่องการขับรถไม่เคารพกฎจราจร บางทีเราก็เห็นตำรวจขับรถย้อนศร เราก็เห็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อค ขับรถฝ่าไฟแดง แต่เราไม่ได้จัดการจุดนี้ เราเอาหลักสูตรไปลงที่โรงเรียนว่าเด็กจะต้องเรียนรู้กฎจราจรก่อน โตขึ้นมาจะได้มีระเบียบวินัย จะได้ขับรถให้ถูกต้องตามกฎจราจร
นี่คือตัวอย่างของสารพัดโครงการที่ลงไปยังโรงเรียน ทำให้ครูเองก็เครียด ครูรู้สึกว่าในหลักสูตรปกติก็มีเนื้อหาที่ต้องสอนเยอะแยะอยู่แล้ว จะสอนให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติก็ทำไม่ไหวอยู่แล้ว แล้วยังมีสารพัดโครงการลงไปที่โรงเรียนอีก เด็กก็เครียด มันเป็นระบบที่ครูของเราไปโรงเรียน แต่ว่าใช้เวลาในห้องเรียนไม่มากเท่าที่ควร เพราะต้องเอาเวลาไปทำโครงการ ต้องทำเอกสารอะไรต่างๆ เพื่อตอบสนองโจทย์ของระบบราชการ แต่ไม่ได้ตอบสนองโจทย์ในชีวิตจริงของเด็กที่จะต้องเจอในอนาคต ตรงนี้ก็เลยทำให้เราใช้ทรัพยากร ใช้แรงเยอะ ใช้เงินไม่น้อย แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี
ทุกวันนี้การคอร์รัปชันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ถ้าดูการจัดอันดับจากองค์การเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) บางปีมีขึ้นมีลง แต่เทรนด์ยาวๆ ต้องดูสัก 20 ปี ซึ่งแนวโน้มจะออกไปในทางขาลง แปลว่าระดับคอร์รัปชันมากขึ้น ระดับความโปร่งใสน้อยลง อันนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนะครับ เป็นสัญญาณว่าภาครัฐกำลังล้มเหลวในเรื่องที่สำคัญ ก็คือการปฏิบัติหน้าที่แบบตรงไปตรงมา แล้วกำลังกลายเป็นต้นทุนที่ใหญ่ขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ สำหรับประชาชนคนทำมาหากิน กฎระเบียบต่างๆ กลับมีมากมาย หยุมหยิมและไม่จำเป็น แล้วลักษณะนี้ของระบบราชการก็สะท้อนอยู่ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง สะท้อนอยู่ในระบบการศึกษาที่มีกฎหยุมหยิมจากการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ การผูกอำนาจการตัดสินใจเข้ามาสู่ส่วนกลาง ไม่ปล่อยให้หน้างานตัดสินใจเอง แล้วก็เป็นการกำหนดกฎกติกาขึ้นมาจากการไม่ฟังคนที่ปฏิบัติอยู่หน้างาน เพราะฉะนั้นส่วนกลางก็จะคิดเองและคิดว่ามันเหมาะสมด้วยเจตนาที่ดี แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เพราะไม่เข้าใจสภาพปัญหา
งบประมาณด้านการศึกษาส่วนใหญ่ไปตกอยู่ที่ครูและบุคลากร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เป็นเพราะระบบนี้มีส่วน overhead ที่สูงมาก overhead ก็คือต้นทุนในส่วนที่ไม่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดผลลัพธ์ พูดง่ายๆ ก็คือ มีบุคลากรด้านการศึกษามากเกินไปในระบบ และบุคลากรการศึกษาจำนวนนี้ส่วนหนึ่งไม่ใช่ครูที่ไปสอนนักเรียนในห้อง แต่อยู่ตามเขตการศึกษา อยู่ในกระทรวงศึกษา ตามจุดต่างๆ ที่จัดการบริหารงานด้านเอกสาร ด้านโครงการอะไรต่างๆ ซึ่งสุดท้ายปลายทางไม่ได้ไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียน
อย่างที่บอกว่า งบประมาณการศึกษาของไทยไม่น่าจะสูงเกินไปเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่แน่นอนว่าไม่ได้ต่ำกว่าหลายประเทศ เพียงแต่จัดสรรถูกที่และเหมาะสมหรือเปล่า นี่คือโจทย์ใหญ่เลย การเอางบไปลงกับบุคลากรเยอะ ทำให้เงินลงทุนทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาใหม่ๆ มันไม่เกิด เพราะเงินนั้นไปผูกกับเงินเดือนราชการหมด ตัวนี้เป็นตัวปัญหาสำคัญ
คิดว่าอะไรคือข้อเสนอของการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญในขณะนี้
ต้องปลดล็อคโรงเรียนและเขตท้องถิ่น ให้เขามีโอกาสในการตัดสินใจลองสิ่งใหม่ แต่ตอนนี้มีล็อคเต็มไปหมดเลยครับ สารพัดล็อค ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือโรงเรียนไหนอยากจะเลือกตำราเรียน ก็ต้องอยู่ในลิสต์ของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น สมมุติว่ามีโรงเรียนหนึ่งอยากจะเอาระบบคอมพิวเตอร์ ระบบ AI มาช่วยสอนเด็กในวิชาที่คิดว่าช่วยเสริมครูหรือมีครูไม่พอ มีสตางค์ซื้อไหม ไม่มีครับ มีสตางค์มาโรงเรียน แต่สตางค์นั้นบอกว่าต้องเอามาซื้อตำราเรียนที่อยู่ในลิสต์ของกระทรวงศึกษาฯ แต่ตำรานี้โรงเรียนไม่อยากใช้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เห็นหนังสือกองอยู่สูงไปหมดเลย แล้วก็พบว่าไม่ได้ถูกใช้ จะยกงบก้อนนี้ไปซื้อในสิ่งที่โรงเรียนอยากจะได้ แต่ก็ซื้อไม่ได้ นี่คือการที่มันมีล็อคอยู่เต็มไปหมด