คุยเรื่อง “ความรู้ถดถอย” กับครูสอญอ แห่งสีชมพูศึกษา ผู้เอ่ยปากว่า “ผมแทบจะลาออกเลยละ”

คุยเรื่อง “ความรู้ถดถอย” กับครูสอญอ แห่งสีชมพูศึกษา ผู้เอ่ยปากว่า “ผมแทบจะลาออกเลยละ”

โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อโลกมาเป็นระยะปีกว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แวดวงการศึกษาได้รับผลกระทบไม่น้อย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนอย่างเคย ไม่ได้แวดล้อมด้วยเพื่อนวัยเดียวกัน การเรียนออนไลน์ที่ไม่คุ้นเคยทำให้ความเครียดก่อตัว ในกรณีที่แย่ขั้นสุดคือเด็กหลุดหายจากระบบการศึกษาไปเลย

ครูก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การสอนออนไลน์ดูดกลืนพลังชีวิตครูจนเหนื่อยล้า จากที่เคยได้ไปโรงเรียนและสบตากับเด็ก ๆ ในระยะใกล้ ครูต้องหันมาจ้องหน้าเด็กผ่านออนไลน์ แถมเด็กจำนวนมากยังไม่มี “เน็ต” เพียงพอ จนต้องเลือกปิดกล้องเรียน

ครูสอญอ – สัญญา มัครินทร์ ปัจจุบันสังกัดโรงเรียนสีชมพูศึกษา จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันกับเราว่าตนเองเจอภาวะ Learning Loss จน “ผมแทบจะลาออกเลยละ”

ในวันที่แรงกระแทกจากโควิด-19 ส่งผลต่อทุกมิติของการเรียนรู้ กสศ. โทร.คุยกับครูสอญอในประเด็นเรื่อง Learning Loss ในครูและเด็ก, การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้เด็กและครูอ่อนล้ามากไปกว่านี้, รวมถึงทิปน่ารักๆ ที่ว่าครูสอญอทำอย่างไรถึงทำให้เด็กยอมกลับมาเปิดหน้ากล้องได้อีกครั้ง

บทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้…มีคำตอบ

ครูสอญอ – สัญญา มัครินทร์ โรงเรียนสีชมพูศึกษา จังหวัดขอนแก่น
(เครดิตภาพ : ณิชากร ศรีเพชรดี)

เด็กที่หายไป การเรียนรู้ที่ขาดช่วงไป: เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเรียนออนไลน์

ปีก่อนผมสอนอยู่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ในอำเภอเมืองขอนแก่น ถือเป็นโรงเรียนขนาดกลาง นักเรียนเป็นลูกหลานคนในเมือง พอเจอโควิดจนต้องปรับมาออนไลน์เร่งด่วน เด็กหลุดเยอะมากครับ เกินครึ่งเลยที่เขาเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เด็กที่สามารถเรียนออนไลน์กับเราได้มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือเข้า ๆ ออก ๆ เพราะเน็ตไม่ค่อยมีสัญญาณ กับอีกกลุ่มคือ ไม่เคยเข้าเรียนเลย นั่นทำให้เราตัดสินใจทำโปรเจ็กต์ “รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้” เอาครูเข้าไปในชุมชน เพื่อให้การเรียนการสอนยังไปต่อได้

ส่วนปีการศึกษานี้ ผมย้ายกลับบ้านเกิด มาอยู่โรงเรียนสีชมพูศึกษา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น “สีชมพูศึกษา” เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ประจำอำเภอ พอเจอโควิดระบาดรอบล่าสุด หนักมากครับ โรงเรียนปิด ต้องสอนออนไลน์ บางห้องมีเด็กทั้งหมด 35 คน แต่มีเด็กเหลือมาเรียนออนไลน์กับเราแค่ 7-8 คนเท่านั้น

เด็กที่หายไป เราเคยสำรวจพบว่าเขาเข้าไม่ถึง โดยแบ่งเป็น 1. ไม่มีมือถือ 2. ไม่มีเงินค่าเน็ต และมีอีกกลุ่มคือสภาพแวดล้อมไม่พร้อมเรียน เช่น อยู่กลางทุ่งนาที่ห่างไกล, ฝนตกหนักสัญญาณหาย เป็นต้น มันมีอุปสรรคพวกนี้อยู่  ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมเรียนออนไลน์กับเรา 

กลับมาที่ห้องเรียนออนไลน์ ช่วงแรกของเทอมนี้โรงเรียนเรายังสอนเหมือนเดิมครับ คือเป็นห้องเรียนเสมือนจริง มีคาบเรียนตามเดิม ไม่มีการยืดหยุ่น ซึ่งเด็กจะเหนื่อยมาก เพราะวัน ๆ ต้องนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน ส่วนครูก็ล้าสุดๆ มันกระทบทั้งผู้เรียนและผู้สอน 

ผมเลยหารือกับท่านรองผู้อำนวยการ ชวนทำ “บูรณาการออนไลน์” เพิ่งเริ่มได้ 2 สัปดาห์ แต่เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว เด็ก ๆ ยอมเปิดหน้ากล้อง สายตาเป็นประกาย ส่วนครูก็เหมือนได้รับการเติมพลัง

(เครดิตภาพ : ณิชากร ศรีเพชรดี)

“บูรณาการออนไลน์” แบบสีชมพูศึกษา : ควบวิชา ลดเวลาเรียน แต่เพิ่มความสนุก

บูรณาการในแบบสีชมพูศึกษาคือ เรารวมทีมกันสอน ครู 3 วิชามาสอนร่วมกัน บูรณาการเนื้อหา แล้วรวมเด็กหลายห้องมาเรียนออนไลน์พร้อมกัน ซึ่งระยะเวลาเรียนจะยาว 2 ชั่วโมง แต่เด็กจะได้เรียนรู้ครบ 3 วิชา ช่วยลดเวลาเรียนเขาได้เยอะมาก มีเวลาให้เขาพักผ่อน ได้วิ่งเล่นเพิ่ม ส่วนครูก็ลดคาบสอน เพราะเรารวมเด็กหลายห้องไว้ในคาบเดียวกัน

ข้อดีของการบูรณาการออนไลน์คือ ครูก็ไม่เหงา รู้สึกมีทีมในการเตรียมสอน ส่วนเด็กก็ได้เจอเพื่อน ๆ จากห้องอื่น ทำให้เขาสนุก ไม่เบื่อ

ตอนนี้วิชาที่บูรณาการร่วมกันมี 4 วิชา คือ สังคม อังกฤษ สุขศึกษา และการงาน แต่เพื่อไม่ให้หนักเกินไป แต่ละคาบจะบูรณาการแค่ 3 วิชา อย่างคาบแรกสอนร่วมระหว่างสังคม+อังกฤษ+สุขศึกษา โดยเรานำแต่ละวิชามาออกแบบการสอนร่วมกัน ก่อนจะได้หัวข้อการเรียนรู้ว่า “ไปท่องเที่ยวทิพย์กัน” 

ในหัวข้อการเรียนรู้นี้ ครูภาษาอังกฤษจะได้สอนศัพท์เกี่ยวกับสีประจำธงชาติประเทศต่าง ๆ, ผมสอนสังคมก็ได้สอนเกี่ยวกับประเทศในเอเชีย 7 ประเทศ, ส่วนครูสุขศึกษาก็สอดแทรกความรู้เรื่องสุขบัญญัติ โดยเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ เข้ากับเกมกีฬาโอลิมปิก แล้วมาดูกันว่าการแข่งโอลิมปิกในห้วงยามที่มีโรคระบาดแบบนี้ เขามีการคัดกรองกันอย่างไร เป็นต้น

เราเปิดคาบเรียนด้วยการให้ครูภาษาอังกฤษเปิดจอมาทักทายนักเรียน “Good morning. How are you? How do you feel?” แล้วให้เด็กแต่ละคนตอบโต้เป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นผมจะชวนเล่นเกม เพื่อให้เด็กเปิดจอมากขึ้น โดยให้เขาโชว์สีต่าง ๆ ที่หาได้ในบ้าน เช่น สีเขียว เขาก็จะไปหาสิ่งของที่มีสีเขียวมา แล้วเปิดกล้องโชว์กัน จากนั้นให้ครูภาษาอังกฤษมาเล่นด้วย พอห้องคุ้นเคยกัน เปิดกล้องมากขึ้น เราจึงเริ่มชวนแนะนำประเทศต่าง ๆ แทรก

(เครดิตภาพ : สืบสาย สำเริง)

เช่น ภาษาอังกฤษให้คุณครูถามเรื่องธงชาติ เรื่องสี จำนวนคน ขนาดพื้นที่ อยู่ตรงไหน  และมีครูสุขศึกษาสอดแทรกเรื่องสุขบัญญัติจากโอลิมปิก จากนั้นก็ให้เด็กออกจากหน้าจอได้เลยเป็นเวลา 30 นาที เพื่อไปทำงานตัวเอง โดยเราชวนเขาค้นหาประเทศที่ตนเองสนใจ เล่าถึงเป็นภาษาอังกฤษ วาดธงชาติ อธิบายว่าธงชาตินั้นเป็นอย่างไร สีสันแบบไหน ธงชาติสื่อความหมายถึงอะไร เป็นต้น

จากนั้นพอเด็กกลับมา เราก็สรุปร่วมกันว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วให้เขาช่วยแนะนำว่า ครั้งต่อไปน่าจะเพิ่มอะไรดี ให้เขาเสนอไอเดีย ส่วนครูก็รับฟังและเก็บไอเดียมาพัฒนา

พอเราจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เด็กไม่ล้าเลยนะครับ เพราะมีช่วงให้เขาออกจากหน้าจอไปทำงานส่วนตัวได้เลย แล้วตลอดกระบวนการจะมีการคุยกัน เล่นเกม เราถาม ให้เขาช่วยตอบเป็นระยะ เช่น ผมจะบอกว่า “วันนี้ครูจะพาไปเที่ยวอินเดียนะ ช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่า พอพูดถึงอินเดียแล้ว พวกเรานึกถึงอะไรบ้าง” เขาก็จะช่วยกันตอบ

เมื่อโรงเรียนไม่ยึดติดตัวชี้วัด ความเปลี่ยนแปลงย่อมตามมา

ผมอยากให้เครดิตผู้เกี่ยวข้องกับการบูรณาการออนไลน์ครั้งนี้ นั่นคือผู้หลักผู้ใหญ่และท่านรองผู้อำนวยการ โดยท่านเป็นคนแนะนำว่าให้ทิ้งตัวชี้วัดไปเลย เพราะถ้าโรงเรียนหรือครูมัวแต่ยึดตัวชี้วัด เราจะปรับเปลี่ยนยาก เพราะมันดูติดขัดไปหมด แต่พอโยนกรอบทิ้งไป เราก็ได้คาบเรียนแบบ “ไปท่องเที่ยวทิพย์กัน” เกิดขึ้น ซึ่งเด็กสนุก ครูฮึกเหิม ลดคาบเรียนของเด็กและครู ลดความเหนื่อยล้า

สำหรับเด็ก เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดตั้งแต่ครั้งแรกเลย เด็กสนุกกับการเรียนมาก ๆ ยิ่งพอได้เจอเพื่อนต่างห้องก็ยิ่งมีพลัง เหมือนมีการแข่งขันกันหน่อย ๆ บรรยากาศมันกระตุ้นให้เขาอยากเปิดหน้ากล้องมากขึ้น ขยันถามมากขึ้น 

ในแง่ครู ครูก็รู้สึกสนุก แถมยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เราต่างเรียนรู้เทคนิคการสอนจากครูท่านอื่น สิ่งนี้มีพลังมาก เรียกได้ว่าได้เรียนรู้กันทุกฝ่าย

Learning Loss คือภาวะที่เจอได้ทั้งครูและเด็ก

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก หรือ Learning Loss ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เราเจอเด็กหลุดจากชั้นเรียนเยอะมาก อย่างที่บอกว่า ก่อนหน้านี้ผมสอนที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เด็กบางส่วนในโรงเรียนเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง การมาโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ ได้เจอสิ่งใหม่ แต่พอโควิดระบาด โรงเรียนปิด ก็เหมือนปิดโอกาสในการเรียนรู้ของเขาไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าเด็กกลุ่มนี้จะเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย ไม่รวมเด็กจำนวนมากที่เกิดความเครียด เหนื่อยล้าจากการเรียนออนไลน์  

ภาวะ Learning Loss นี่ครูก็เจอนะครับ ส่วนตัวผมนี่แทบจะลาออกเลยละ มันส่งผลขนาดนั้นเลย คือช่วงที่ระบาดหนัก ๆ นี่ ยังไงก็ต้องสอนออนไลน์ใช่ไหมครับ แล้วผมเป็นคนไฮเปอร์ ชอบสบตากับเด็ก อยากคุยกับเขา พอต้องสอนผ่านหน้าจอ แล้วเจอเด็กปิดกล้อง ผมรู้สึกไม่โอเคเลย เพราะเราให้คุณค่ากับการสบตา การคุยกันแบบเห็นหน้าอีกฝั่ง การได้ถามตอบ ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ช่วงแรกยอมรับว่าทำงานกับตัวเองหนักมาก 

อีกอย่างที่รู้สึกเหนื่อยล้าจนเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอยคือ ด้วยระบบการศึกษาไทยที่ไม่ไว้ใจครู พอปรับมาออนไลน์ เขาก็ไม่ไว้ใจว่าครูสอนจริงไหม เลยเพิ่มภาระงานให้ครูทำรายงานแบบละเอียดยิบ ซึ่งอันนี้ผมว่าครูหลายคนก็รู้สึกเหมือนกัน ว่าแค่สอนหน้าจอเราก็เหนื่อยมากแล้ว พอเจออย่างนี้ ด้วยความเหนื่อย ผมยังเคยบ่นกับครอบครัวว่า “ผมจะเป็นครูไหวไหมนะ” แต่พอเริ่มจัดการเวลาได้ ปรับวิธีคิด หาพื้นที่และคุณค่าที่เราเชื่อให้เจอ ก็รู้สึกเสถียรขึ้น

บทบาทของกระทรวงศึกษาฯ และโรงเรียน ในการช่วยบรรเทา Learning Loss ทั้งในครูและเด็ก ๆ

(เครดิตภาพ : สืบสาย สำเริง)

ลำดับแรก ผมว่าหลักสูตรต้องเปลี่ยน อาจต้องมีนโยบายชัดเจนเลยว่า ออนไลน์ควรมีเวลาพัก และไม่ควรอิงกับคาบเรียนเดิม ตอนนี้เรายังอิงกับคาบเรียนเดิมอยู่ ซึ่งการเรียนการสอนผ่านออนไลน์จะเอาเวลาเป็นตัวตั้งแบบนั้นไม่ได้ ควรต้องปรับ

อย่างช่วงแรกที่โควิดระบาดแล้วปรับมาออนไลน์กัน หลายพื้นที่ต้องจัดเรียนจัดสอนวันเสาร์ด้วยนะครับ ซึ่งเด็กต้องเรียน 7 วัน วันละ 7 คาบ เด็กต้องนั่งแช่จ้องจอทั้งวัน เขาไม่ไหวกันหรอก เด็กเครียด ครูก็เครียด 

ผมมองว่า เราต้องปรับลดเวลาลง และหันไปโฟกัสคุณค่าแท้จริง อาจต้องตัดบางเนื้อหา ถ้าบูรณาการระหว่างวิชาได้ยิ่งดี ซึ่งผมยอมรับว่าวัฒนธรรมการบูรณาการมันก็ไม่ง่ายสำหรับครู เพราะเราชินกับการสอนเป็นวิชา เดิมทีเราคุมเนื้อหาของวิชาทั้งหมด แต่พอบูรณาการ มันต้องยืดหยุ่นพอสมควร แน่นอนว่านี่เป็นความท้าทายใหม่ของพวกเรา

ข้อเสนอระยะสั้นและยาว 
เมื่อการเรียนรู้แบบใหม่ ไม่อิงสังกัดโรงเรียน อาจเป็นทางออกของชุมชน

ในช่วงโควิดระบาดจนโรงเรียนต้องปิดแบบนี้ มีเด็กที่หลุดไปจากชั้นเรียนเยอะมาก ซึ่งสำหรับเด็กกลุ่มที่หายไปจากชั้นเรียนออนไลน์ในระยะสั้นนี้ ผมคิดว่าการจัดชั้นเรียนขนาดเล็กตามชุมชนน่าจะช่วยเกาะเกี่ยวเด็กไม่ให้หลุดจากการเรียนรู้ได้

คือในหมู่บ้านที่ผมอยู่มีเด็กระดับมัธยมต้น 26 คน ผมเลยเสนอกับผู้ใหญ่ในโรงเรียนไปว่า ผมจะจัดการเรียนที่บ้านผม ทุกบ่ายวันพุธให้เด็กมาเรียนที่บ้าน แล้วเขาก็ได้ชั่วโมงเรียนไปด้วย แต่เนื้อหาจะเป็นคล้าย ๆ ห้องเรียนชุมชน เลือกประเด็นในชุมชนที่เด็กสนใจ เช่น ผมมีรุ่นน้องที่ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน เราก็ชวนเด็กมาสำรวจพื้นที่ สำรวจทรัพยากรในชุมชนตนเอง ผมเรียกห้องเรียนนี้ว่า “ห้องเรียนภาคสนาม” ซึ่งคาบเรียนแบบนี้ เด็กที่เรียนออนไลน์ แต่อยากลงเรียนภาคสนามด้วย ก็สามารถมาร่วมเรียนได้นะ 

ข้อดีของชุมชนต่างจังหวัดคือ ผู้คนรู้จักคุ้นเคยกัน ถึงช่วงนี้จะมีโควิดระบาด แต่ชุมชนต่างจังหวัดจะมีชุดข้อมูลว่า บ้านหลังไหนที่วางใจได้ ทำให้การจัดห้องเรียนชุมชนแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ผมพูดถึงสเกลขนาดเล็กก่อนนะครับ

ด้านบนเป็นทางแก้ระยะสั้น แต่หากพูดถึงระยะยาว เมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลงแล้ว ผมมองว่า กระทรวงศึกษาฯ และคนที่มีอำนาจจะต้องเปลี่ยนโครงสร้าง หรือเปลี่ยนวิธีการจัดการศึกษาใหม่หมดเลย อาจจะคล้ายกับข้อเสนอระยะสั้น คือ เราอาจต้องกลับไปเชื่อมโยงชุมชนมากขึ้น ลองสำรวจทรัพยากรครูในแต่ละชุมชนดูไหมว่ามีกี่คน จากนั้นอาจจะออกแบบห้องเรียนที่ไม่อิงสังกัดโรงเรียนเดิม แต่อิงสังกัดชุมชนแทน ชวนครูเหล่านี้มาทำหลักสูตรชุมชนด้วยกันไหม โดยเน้นดูแลเด็กในชุมชนของเรานี่แหละ ซึ่งเรื่องนี้มันจะข้ามพ้นความเป็นครูแบบเดิมที่ต้องอิงสังกัดโรงเรียน 

แล้วการเรียนแบบใหม่อาจไม่ต้องอิงระดับชั้นก็ได้ อาจจะบูรณาการเด็ก ม.1. สามารถเรียนกับพี่ ม.5 ได้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องมารื้อกระบวนการกันใหม่ เชิญผู้ใหญ่บ้าน เชิญกำนัน เชิญทีม อบต. มาช่วยดู ร่วมออกแบบด้วยกัน เพื่ออนาคตลูกหลานเรา นี่คือภาพฝันระยะยาวที่ผมฝันถึงและอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริงครับ