“iSEE: จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ในห้องเรียนแห่งความเสมอภาค

“iSEE: จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ในห้องเรียนแห่งความเสมอภาค

เราไม่ควรทิ้งเด็กคนไหนไว้หลังห้อง” คือประโยคที่คณะครูโรงเรียนวัดเขาพระนิ่มสะท้อนถึงแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการค้นหาและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนตามความถนัดของแต่ละบุคคล

โรงเรียนวัดเขาพระนิ่ม ตั้งอยู่ในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครูดาวรัตน์ ศรีภักดี เล่าว่า เนื่องจากเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ทำให้ยังมีเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ความขาดแคลนทางด้านทุนทรัพย์ แต่หมายรวมไปถึงความรู้สึกต่อตนเองในเชิงบวก เพราะหลายคนมาจากครอบครัวที่แตกแยก ทำให้เด็กรู้สึกต้องการความรัก ความอบอุ่น และการยอมรับ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครูก็คือการทำให้เด็กเหล่านี้สามารถอยู่ในโรงเรียนได้ โดยมีความคาดหวังให้ทุกคนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน

“เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมาอยู่ในรั้วโรงเรียนอย่างมีความสุข เราจึงวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนขาดอะไร เขาต้องการเติมในส่วนไหน และพยายามสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของเขาอย่างถึงที่สุด” ครูนงนภัส ปานสมุทร์ ยกตัวอย่างเด็กชายภูมิไท ทรัพย์ประเสริฐ หรือ แม็ค ที่ในช่วงประถมศึกษาปีที่ 3 มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางก้าวร้าว เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้แม็คต้องอาศัยอยู่กับพี่น้องเพียงลำพัง โดยไม่มีผู้ปกครองดูแล ครูนงนภัส เห็นว่าพฤติกรรมของแม็คเกิดจากการเรียกร้องความสนใจ
เพื่อให้เกิดการยอมรับ ครูจึงขัดเกลาแม็คด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น ด้วยการทักทายในตอนเช้า ซักถามความเป็นอยู่ ในบางครั้งก็ให้โอกาสแม็คเป็นหัวหน้าห้องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ว่าเขาก็เป็นคนสำคัญของห้องเรียน นอกจากนี้ ครูนงนภัส ยังมองเห็นความสามารถทางด้านอื่นของแม็ค นั่นคือการเล่นกีฬา ซึ่งแม็คได้เข้าร่วมชุมนุมฟุตบอล และเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งในระดับตำบล ผลปรากฏว่า แม็คไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอีกเลย เพราะครูทำให้แม็ค รู้สึกเหมือนได้อยู่กับพ่อแม่ และโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง

“เราสบายใจและมีความสุขมากขึ้น เมื่อนักเรียนในห้องกลับมากลมเกลียว ร่วมกิจกรรม และช่วยเหลือกันและกัน จากที่เคยแตกแยกกัน” ครูดาวรัตน์เปิดเผยความรู้สึกถึงกรณีของเด็กหญิงนลินทิพย์ หนูท่าทอง หรือ ฟิล์ม นักเรียนในห้องเรียนของครูที่นอกจากการเผชิญกับปัญหาครอบครัวแตกแยก เธอยังมีความบกพร่องทางร่างกาย โดยมีนิ้วมืองอกเกินขึ้นมาข้างละหนึ่งนิ้ว เมื่อถูกเพื่อนล้อ ทำให้ฟิล์มรู้สึกแปลกแยก และเก็บตัว ไม่เข้าสังคมกับใคร คณะครูจึงปรึกษากันและหาวิธีการที่จะทำให้ฟิล์มกลับมาเรียนร่วมกับเพื่อนได้อย่างมีความสุข โดยเบื้องต้น ครูดาวรัตน์เริ่มจากการเข้าไปพูดคุยเพื่อให้ฟิล์มรู้ว่ายังมีคนที่สนใจและพร้อมรับฟังปัญหาของเธอ จากนั้นเมื่อฟิล์มให้ความไว้วางใจ ครูจึงเริ่มชักชวนให้เธอค้นหาศักยภาพของตัวเอง ซึ่งฟิล์มเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ และมีทักษะทางด้านภาษา ครูจึงส่งเสริมให้ฟิล์ม
เริ่มทำหนังสือเล่มเล็กจนได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน

ไม่เพียงแต่การกล่อมเกลาฟิล์มด้วยความเข้าใจเท่านั้น ครูดาวรัตน์ยังเล็งเห็นว่าสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มให้ฟิล์มรู้สึกเชื่อมั่นและสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ครูดาวรัตน์จึงพยายามสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนร่วมชั้นของฟิล์มด้วย “เราพยายามปรับทัศนคติของเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย เพราะการอยู่ในสังคมต้องเข้าใจกัน แต่เราไม่คุยต่อหน้า เพราะกลัวว่าฟิล์มจะรู้สึกแปลกแยกมากขึ้น ต้องใช้เวลาอยู่นานเป็นเดือน ๆ เพราะเราไม่ต้องการบังคับเด็กว่าต้องคุยกับเพื่อน แต่ให้เขาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วยตัวของเขาเอง” จากคำอธิบายของครูดาวรัตน์ว่า คนแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน เนื่องจากเราไม่สามารถกำหนดอะไรได้จึงทำให้สภาพครอบครัวและสภาพร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเปิดใจรับรู้ถึงศักยภาพของคนคนนั้น เพื่อแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือกัน ทำให้ฟิล์มได้ใช้ความสามารถทางภาษาของเธอในการแนะนำเพื่อนร่วมชั้นเรียน จนในที่สุดห้องเรียนของครูดาวรัตน์ก็เป็นพื้นที่ที่มีการยอมรับในความหลากหลายและร่วมกันจัดการเรียนการสอนได้อย่างเสมอภาค

โรงเรียนวัดเขาพระนิ่มเป็นเพียงหนึ่งในกรณีศึกษาจากโรงเรียนทั่วประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำจากการขาดโอกาสทางการศึกษาในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะความยากจน ข้อมูลจากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ราว 620,000 คน มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน 1,281 บาทต่อคน โดย กสศ. และ สพฐ. เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่านักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพราะทุกวินาทีคือการเสียโอกาสชีวิตของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน หากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยปัจจุบันมีเด็กไทยที่มีศักยภาพราว 670,000 คน ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งองค์การยูเนสโกประเมินว่า การที่เด็กเยาวชนไทยที่มีศักยภาพหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือข้อมูลที่มีประสิทธิภาพซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ หรือ Information System for Equitable Education (iSEE) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐจาก 6 กระทรวง โดยมีแอพลิเคชั่น “ระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” เป็นหนึ่งในเครื่องที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษา ด้วยการทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สะดวกต่อการใช้งาน ประหยัดเวลา และเก็บข้อมูลได้ตรงกับสภาพความเป็นจริง เพื่อให้เกิดวางแผน ช่วยเหลือ ติดตาม และส่งเสริมคุณภาพนักเรียนรายบุคคลได้อย่าง
ต่อเนื่อง

ความเสมอภาค ที่เริ่มต้นจากห้องเรียน โดยคณะครูที่ทำงานอย่างต่อเนื่องจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนและครอบครัวให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน การเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคและทั่วถึงเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน หากสังคมเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ ก็ไม่สมควรทิ้งเด็กคนไหนไว้หลังห้อง แม้แต่เพียงคนเดียว