ภาษาไทยอาจไม่เป็นปัญหาเท่าสายตารัฐไทย: มองการศึกษาวิถีอิสลามให้พ้นกรอบความมั่นคง กับ อับดุลสุโก ดินอะ
โดย : เพ็ญพิชชา มุ่งงาม
ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

ภาษาไทยอาจไม่เป็นปัญหาเท่าสายตารัฐไทย: มองการศึกษาวิถีอิสลามให้พ้นกรอบความมั่นคง กับ อับดุลสุโก ดินอะ

“เรียนทางโลกแต่ปราศจากทางธรรมจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร” คำกล่าวนี้เคยเป็นถ้อยคำเชื้อเชิญให้ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญควบคู่กับหลักศาสนาอิสลาม ด้วยความเชื่อของผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ว่าการเรียนศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโลกหน้า ทว่า ในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับความผันแปรตลอดเวลา ทักษะและองค์ความรู้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน

ชายแดนใต้นับเป็นพื้นที่แห่งพหุวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และความเชื่อ ระบบการศึกษาในพื้นที่นี้จึงมีความหลากหลาย สังคมที่ประกอบไปด้วยชาวไทยพุทธ ชาวมลายูมุสลิม และชาวจีน ส่งผลให้รูปแบบการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาต่างๆ มีการปรับให้สอดคล้องกับความหลากหลายเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาที่ออกแบบจากส่วนกลางกลับไม่สามารถตอบสนองบริบทของพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในสังคมมลายูมุสลิมที่ศาสนาอิสลามมีบทบาทต่อการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

ภายใต้ระเบียบจากรัฐส่วนกลางที่พยายามออกแบบการศึกษารูปแบบเดียว (one size fits all) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยระบบการเรียนการสอนถูกกำหนดให้ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลาง เด็กชาวไทยมุสลิมในชายแดนใต้ที่เติบโตในสังคมซึ่งผู้คนกว่าร้อยละ 83 ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่และใช้ในการเรียนด้านศาสนาจึงเผชิญกับความท้าทายด่านแรกคือภาษา ขณะเดียวกัน มิติด้านความมั่นคงที่แทรกซึมอยู่ในพื้นที่ก็ทำให้การจัดการการศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมอัตลักษณ์และปลูกฝังความเป็นไทยจากส่วนกลาง ส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่ต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างอัตลักษณ์ ศาสนา นโยบายรัฐ และความก้าวหน้าทางวิชาการ

เมื่อระบบการศึกษาในชายแดนใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากนโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการเฉพาะของพื้นที่ คำถามสำคัญคือระบบที่เป็นอยู่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเด็กและเยาวชนได้มากน้อยเพียงใด จะมีแนวทางไหนบ้างที่ช่วยให้เด็กเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่สมดุลทั้งทางโลกและทางศาสนา

วันโอวัน ชวนสำรวจการจัดการศึกษาในบริบทสังคมมุสลิมชายแดนใต้กับ อับดุลสุโก ดินอะ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดสงขลา และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อตอบคำถามถึงทิศทางและความเป็นไปได้ของการศึกษาที่เคารพอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็สามารถเตรียมอนาคตของชาติให้พร้อมสำหรับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

อับดุลสุโก ดินอะ

จากปอเนาะถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาวิวัฒนาการสถาบันการศึกษาในชายแดนใต้

รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุด ได้นำมาซึ่งการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นรากฐานไปสู่การตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้การศึกษาเป็นไปตามความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ นั่นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชายแดนใต้เช่นกัน โดยเฉพาะต่อสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่กับสังคมมุสลิมมลายูมาช้านาน

เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในไทย การจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้มีทั้งรูปแบบการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยโรงเรียนที่สอนศาสนาเพียงอย่างเดียวถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้

การศึกษาในระบบในระดับชั้นก่อนอุดมศึกษาสามารถจำแนกออกเป็นสองรูปแบบหลัก ได้แก่ โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

สำหรับโรงเรียนรัฐ เดิมทีจะจัดการเรียนการสอนโดยใช้เฉพาะหลักสูตรสามัญตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ โดยวิชาศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมตามหลักสูตรแกนกลาง แต่ด้วยความต้องการของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐมีวิวัฒนาการไปสู่หลักสูตรอิสลามศึกษาคู่ขนาน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคนในพื้นที่เพื่อร่วมออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบททางศาสนาและวัฒนธรรม

รูปแบบที่สองคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนประเภทนี้มีรากฐานมาจากสถาบันปอเนาะที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียวและใช้ภาษามลายูและอาหรับเป็นสื่อกลาง แต่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐ มีความพยายามผลักดันให้สถาบันปอเนาะสอนภาษาไทยมาตลอดหลายทศวรรษ ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2547 ซึ่งนำไปสู่การกำหนดให้จังหวัดชายแดนใต้เป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ โดยรัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมและกำกับดูแลสถาบันการศึกษาในพื้นที่มากขึ้น

อับดุลสุโกกล่าวว่า ภายใต้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันปอเนาะ พ.ศ. 2547 กำหนดให้สถาบันปอเนาะต้องจดทะเบียนกับรัฐ หากไม่ได้จดทะเบียนอาจถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งในปี 2548 มีข้อเสนอจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ให้สถาบันปอเนาะบรรจุวิชาสามัญที่สอนเป็นภาษาไทยควบคู่ไปด้วย บริบทเช่นนี้ทำให้ปอเนาะหลายสถาบันจำเป็นต้องปรับตัว โดยหันมาเปิดสอนหลักสูตรสามัญควบคู่ไปกับอิสลามศึกษา

อีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้สถาบันปอเนาะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็คือการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนรายหัวให้กับโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนที่เข้าสู่ระบบของรัฐสามารถรับเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อจัดการเรียนการสอนได้ ทำให้สถาบันปอเนาะหลายแห่งมองว่าการจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการและเปิดสอนหลักสูตรสามัญควบคู่ไปกับศาสนา จะช่วยให้การบริหารจัดการโรงเรียนเป็นไปได้อย่างคล่องตัวขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ

เดิมทีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเปิดเฉพาะระดับมัธยมศึกษา แต่หลังจากช่วงปี 2548 ก็เริ่มมีการขยายลงมาสู่ระดับชั้นประถมศึกษามากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าผู้ปกครองต้องการให้เด็กได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมตั้งแต่ยังเล็ก

“ตอนนั้นมีสโลแกนที่ว่า เรียนทางโลกแต่ปราศจากทางธรรมจะประสบความสําเร็จได้อย่างไร เพราะมุสลิมไม่ได้มีแค่โลกนี้ แต่มีโลกหน้าด้วย ฉะนั้นอาชีพและการศึกษาของผู้นับถืออิสลามจึงต้องผูกโยงกับศาสนาด้วย ในบทขอพรตอนละหมาดยังมีบทที่กล่าวเลยว่า โลกนี้ก็ให้ประสบความสําเร็จ โลกหน้าก็ให้ประสบความสําเร็จ” อับดุลสุโกกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยังทำให้เด็กได้เรียนถึงสามภาษา ได้แก่ ไทย มลายู และอาหรับ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งในการใช้ชีวิตในสังคมไทยและเพิ่มโอกาสในการหางานหรือศึกษาต่อที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย หรือประเทศในตะวันออกกลาง

นอกจากการศึกษาในระบบที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางและมีวุฒิการศึกษาให้แล้ว พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังมีสถานศึกษานอกระบบที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเฉพาะที่เป็นสถาบันสอนศาสนาอิสลาม ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วคือสถาบันปอเนาะ และยังมีศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดสำหรับผู้ใหญ่ ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิดสำหรับเด็ก หรือ ‘ตาดีกา’[1] ซึ่งผู้มาเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนรัฐ โดยจะเรียนเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ การศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่ยังรวมถึงศูนย์การเรียนอัลกุรอานตามบ้านของปราชญ์อัลกุรอานและศูนย์ท่องจำอัลกุรอาน

ดังที่กล่าวถึงไปแล้วว่าสถาบันปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาที่หยั่งรากในชุมชนมุสลิมของจังหวัดชายแดนใต้และดำรงอยู่ควบคู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน แต่ในสายตาของคนนอกพื้นที่อาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อับดุลสุโกกล่าวว่าคนไทยจำนวนมากมักมีภาพจำว่าคนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ศึกษาในสถาบันปอเนาะจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารด้วยภาษาไทยและไม่ได้เรียนวิชาสามัญอื่นๆ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่มาเรียนในสถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาภาคบังคับมาแล้ว สถาบันปอเนาะจึงเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อด้านศาสนาทุกช่วงวัย มีทั้งคนที่เรียนจบ ป.6 ม.3 หรือ ม.6 แล้วมุ่งมั่นจะเรียนทางศาสนา หรือผู้ที่เรียนในระบบอยู่แล้วและมาเรียนเสริมในเวลาว่าง รวมถึงคนที่ทำงานแล้วมาเรียนเพิ่มเติมหลังเวลางาน

อีกหนึ่งจุดเด่นของปอเนาะคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะถือเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องอายุหรือระยะเวลา สถาบันปอเนาะแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้สอน ผู้เรียนจึงสามารถกำหนดเส้นทางการศึกษาได้เองว่าต้องการศึกษาลงลึกในระดับไหน โดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องจบภายในระยะเวลากี่ปี

“จากการประมาณการของผม ปัจจุบันผมว่ามีไม่ถึง 10% ของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เข้าเรียนสถาบันปอเนาะ คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาภาคบังคับมาแล้ว เพียงแต่พวกเขาต้องการเชี่ยวชาญด้านศาสนา จึงเลือกที่จะเรียนต่อทางนี้ อีกอย่างการเรียนปอเนาะนั้นเรียนตามความสามารถและความพอใจของแต่ละคน บางคนเรียนถึงสิบปี บางคนเรียนแค่ 1-2 ปีก็ไป แล้วแต่ว่าอยากรู้ลึกแค่ไหน

“เวลาที่เขาเรียนกัน ถ้าโต๊ะครูเห็นว่าลูกศิษย์คนไหนเด่นด้านไหนก็จะเริ่มให้ช่วยสอนหนังสือ ให้เขาฝึกสอนทีละเล่มสองเล่มเพื่อถ่ายทอดวิชา อยากให้มองว่าถ้าไม่มีเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต่อไปก็อาจจะไม่มีใครเป็นอิหม่าม”

ขณะเดียวกัน สำหรับเด็กที่เลือกเรียนในสถาบันปอเนาะแต่ยังต้องการวุฒิการศึกษาระดับสูงขึ้น เช่น นักเรียนที่จบชั้น ป.6 แล้วออกจากระบบการศึกษาไปเรียนปอเนาะแต่ต้องการวุฒิ ม.6 พวกเขามักเลือกเรียน กศน. ควบคู่ไปด้วย ในบางพื้นที่ ศูนย์ กศน. นั้นตั้งอยู่ภายในสถาบันปอเนาะเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน อับดุลสุโกมองว่าสถาบันปอเนาะมีลักษณะการเรียนที่ยืดหยุ่นและพยายามรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน

กล่าวได้ว่าวิวัฒนาการของโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยมีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอัตลักษณ์มลายูและคงรากฐานของความเป็นมุสลิมไว้ให้ได้มากที่สุด

วิวัฒนาการของระบบการศึกษาและรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายในชายแดนใต้ ทั้งโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันสอนศาสนาอย่างปอเนาะ ล้วนดำรงอยู่ภายใต้บริบทของพหุวัฒนธรรม ที่ต้องคำนึงถึงทั้งปัจจัยทางศาสนา วัฒนธรรม และโครงสร้างการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ในหลายครั้ง การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางที่มักมองผ่านทัศนะความมั่นคง โดยมองว่าการรักษาอัตลักษณ์อาจเป็นภัยคุกคาม กลับนำมาซึ่งการจางหายของอัตลักษณ์ที่ย้อนกลับมาทำลายทักษะและโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กอีกที

ผลสัมฤทธิ์ต่ำเพราะกำแพงภาษาหรือกรอบคิดของรัฐ?

เรามักเห็นตามหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้งว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำที่สุดในประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะผลสอบ O-NET ซึ่งเด็กในพื้นที่มักได้คะแนนท้ายตารางเกือบทุกวิชา ที่ผ่านมารัฐมักให้คำอธิบายว่า ปัญหาหลักคือ ‘กำแพงภาษา’ ที่ขวางกั้นโอกาสการเรียนรู้ของเด็กที่โตมากับภาษามลายู จึงนำมาสู่นโยบายที่มุ่งให้เด็กชายแดนใต้เรียนภาษาไทย ซึ่งแฝงไว้ด้วยนัยด้านความมั่นคงอีกชั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพัฒนาการของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่โรงเรียนต่างๆ ปรับหลักสูตรมาสอนวิชาสามัญโดยใช้ภาษาไทยเป็นเวลานับทศวรรษแล้ว ภาษาไทยจึงดูจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป แต่เหตุใดวาทกรรมเรื่องผลสัมฤทธิ์ต่ำเพราะ ‘ไม่ได้ภาษาไทย’ ยังคงอยู่?

อับดุลสุโกชี้ให้เห็นว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ซึ่งสะท้อนผ่านคะแนนสอบ NT (National Test) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถสังเกตได้จากทักษะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ แม้ว่าคะแนน O-NET โดยรวมจะยังมีปัญหา แต่เขามองว่าปัจจัยสำคัญไม่ใช่ ‘กำแพงภาษา’ อีกต่อไปและไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น หากแต่สะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เด็กในพื้นที่สามารถใช้ภาษาไทยได้คล่องขึ้น ทักษะการใช้ภาษามลายูกลับลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากแนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เด็กต้องเชี่ยวชาญภาษาไทย โดยหนึ่งในรูปแบบการสอนที่น่ากังวลคือการสอนคำมลายูโดยใช้อักษรไทย

“ก่อนหน้านี้โรงเรียนหลายแห่งมีการออกแบบการเรียนการสอนให้เป็นทวิภาษา คือไทยและมลายู แน่นอนว่าการเรียนภาษาไทยเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นพื้นฐานไปสู่วิชาอื่นๆ แต่มันกลับกลายเป็นดาบสองคม และไปพลาดตรงที่ครูหลายคนอยากให้เด็กอ่านเขียนภาษาไทยได้เร็ว ก็เลยเอาภาษามลายูไปเขียนเป็นไทย เช่น คำว่า ‘มากัน’ ที่แปลว่ากิน เขียนด้วยอักษรยาวีคือ ماكن เขาก็ไปสอนให้เขียน มอ-อา-กอ-อะ-นอ เป็นแบบนี้ไป ซึ่งเด็กได้ภาษาไทยก็จริง แต่เกิดข้อครหาว่ารัฐกำลังทำลายอัตลักษณ์ในพื้นที่ กลายเป็นว่าเด็กเขียนด้วยอักษรยาวีไม่ได้” [2]

การที่เด็กในพื้นที่ไม่สามารถเขียนอักษรยาวีหรือไม่เข้าใจภาษามลายูได้อย่างลึกซึ้งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนั่นอาจเป็นการปิดกั้นโอกาสหลายด้าน แม้ว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียจะมีการเปลี่ยนจากอักษรยาวีไปใช้อักษรรูมี แต่ในบริบทของสามจังหวัดชายแดนใต้ อักษรยาวียังคงมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือที่ใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนาและการสื่อสารในชุมชน อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอาน การสูญเสียทักษะเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของภาษา แต่หมายถึงการลดทอนสายสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของผู้คนด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการใช้ภาษาแม่ในการจัดการศึกษาจากเวทีเวิร์กชอป การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้: โอกาสและความท้าทาย จัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. กล่าวถึงประสบการณ์ของเขาในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเคยร่วมมือกับสถาบัน Summer Institute of Linguistics (SIL) ในการนำร่องการใช้ภาษามลายูในระบบการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ โดย SIL มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาด้วยภาษาแม่ในหลายร้อยแห่งทั่วโลก และพบว่าการให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านภาษาแม่ตั้งแต่เริ่มต้นช่วยกระตุ้นความสนใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของยูเนสโกที่ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และยกระดับประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย ซึ่งการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่จะช่วยลดช่องว่างทางความรู้และเพิ่มความเร็วในทำความเข้าใจเนื้อหาในวิชาต่างๆ ของเด็ก นอกจากนี้ การศึกษาด้วยภาษาแม่ยังได้รับการรับรองในฐานะ ‘สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก’ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งระบุว่าการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่ในช่วงปีแรกของการเรียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน ดังนั้น การกีดกันเด็กจากการศึกษาด้วยภาษาแม่จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง

ข้อเสนอเหล่านี้จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าแนวทางการจัดการศึกษาที่สั่งการจากส่วนกลางอาจกำลังบั่นทอนการเรียนรู้ของเด็กในสังคมมลายู มากกว่าจะส่งเสริมหรือยกระดับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งอับดุลสุโกมองว่าต้องศึกษากันต่อไป

‘หลักสูตรหลากหลายแต่ยังรักษาอัตลักษณ์’ การปรับตัวโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

อับดุลสุโกกล่าวเสริมว่า การศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ทุกวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน ขณะเดียวกันก็ยังคงยึดมั่นรากฐานของอิสลามศึกษา ซึ่งความหลากหลายของหลักสูตรช่วยสร้าง ‘ทางเลือก’ ให้เด็กในพื้นที่มีโอกาสก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเปิดหลักสูตรและโครงการใหม่ๆ เช่น ห้องเรียนส่งเสริมความเป็นเลิศทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาหรับ (Arabic program) ภาษาอังกฤษ (English program) หรือภาษามลายู (Malay program) และมีห้องเรียนส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โครงการห้องเรียน Hafiz Science ที่มุ่งสร้างนักท่องจำอัลกุรอาน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหลักสูตรที่เตรียมพร้อมการเข้าเรียนแพทย์ วิศวะฯ ไปด้วย หนึ่งในผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือจำนวนนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ (สอวน.) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาควบคู่ไปกับสาขาวิชาสมัยใหม่ เพื่อดึงดูดนักศึกษาที่ต้องการเรียนรู้ทั้งศาสนาและวิชาการควบคู่กันไป รวมถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่จัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์วิถีอิสลาม

แม้แต่ในวงการกีฬา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหลายแห่งก็เริ่มขยายไปสู่การเปิดอะคาเดมีฟุตบอลเองมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ อับดุลสุโกชี้ว่าจากการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่าเยาวชนมุสลิมมองความชื่นชอบกีฬาฟุตบอลแยกส่วนกับศาสนา ซึ่งทำให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่ผู้ปกครอง เพราะแม้ลูกจะเก่งกีฬา แต่ทิ้งการละหมาด อ่านกุรอานไม่ได้ และไม่รู้หลักวิถีชีวิตอิสลาม ดังนั้น โรงเรียนต่างๆ จึงพยายามนำกีฬากับศาสนามาเชื่อมต่อกัน

การที่สถาบันในพื้นที่สามารถเปิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความเป็นเลิศที่หลากหลายได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อได้เปรียบด้านประชากร ซึ่งเมื่อมีจำนวนเด็กมากขึ้น ก็ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณต่อหัวได้เพียงพอในการบริหารจัดการเพื่อสร้างหลักสูตรใหม่ๆ

อับดุลสุโกกล่าวว่า “เมื่อการศึกษาในพื้นที่ได้รับการยกระดับ เราก็สามารถผลิตครู ผลิตหมอที่เป็นคนในพื้นที่ได้มากขึ้น อีกทั้งผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมในหลากหลายสาขาและสามารถขยายไปเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศได้ การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ชายแดนใต้จึงถือเป็นอีกหนึ่งสารตั้งต้นสำคัญของการพัฒนาประเทศ”

มองการศึกษาให้พ้นกรอบความมั่นคงและกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

“เมื่อใดที่ภาครัฐเอาทัศนะแบบทหาร เอาแนวคิดที่มองแค่มิติความมั่นคงมาควบคุมการศึกษา จากที่ควรจะสร้างโอกาสก็อาจกลายเป็นวิกฤตได้”

อับดุลสุโกกล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการด้านการศึกษาโดยส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยังไม่สามารถเข้าใจบริบทของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมักมองผ่านเลนส์ด้านความมั่นคง เช่น การมองว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่รักชาติ จึงพยายามเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์และวิชาที่แฝงแนวคิดชาตินิยม แม้ว่าจะมีวิชาหน้าที่พลเมืองอยู่แล้ว ซึ่งแนวทางนี้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียนให้มากขึ้น เมื่อเด็กต้องเรียนทั้งสายสามัญและวิชาศาสนาไปพร้อมกัน จึงทำให้จำนวนวิชาที่เรียนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เด็กมุสลิมในพื้นที่จึงต้องใช้เวลาเรียนมากกว่าเด็กในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งบางครั้งอาจสูงถึง 20 วิชา

ประเด็นนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาที่ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการออกแบบระบบและโครงสร้างที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น อับดุลสุโกกล่าวว่า ปัจจุบันอำนาจในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนมีสัดส่วน 70% มาจากรัฐ และเพียง 30% จากชุมชน แต่หากพลิกกลับมาเป็น 70% จากชุมชนและ 30% จากรัฐ เขาเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ และดึงศักยภาพของเด็กในพื้นที่ขึ้นมาได้อย่างมหาศาล

อับดุลสุโกชี้ว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างแท้จริงไม่เพียงแค่การกระจายบุคลากรและงบประมาณ แต่ต้องมอบอำนาจในการตัดสินใจออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอนให้กับชุมชนเองด้วย [3]

“ผมมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จได้ เพราะแม้ในสภาพแวดล้อมที่ถูกจำกัดโดยกฎหมายความมั่นคงถึงสามฉบับ เรายังสามารถจัดการได้ หากได้รับการปลดล็อกข้อจำกัดทั้งหมดด้วยการกระจายอำนาจทางการศึกษา คงได้เห็นศักยภาพอื่นๆ อีกมาก หัวใจสำคัญคือต้องกระจายทั้งอำนาจการบริหารจัดการ คน และงบประมาณ เพื่อให้สามารถร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ได้

“ข้อเสนอนี้มิใช่แค่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ทุกพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ผมเชื่อว่าหากการจัดการศึกษาได้รับการออกแบบจากคนในพื้นที่เอง ซึ่งสามารถผสมผสานเข้ากับศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ จะนำไปสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาที่จะช่วยดึงศักยภาพของคนในพื้นที่ออกมาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้”

อับดุลสุโกยกตัวอย่างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สามารถปรับเปลี่ยนและออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ได้อย่างคล่องตัว ซึ่งช่วยให้เด็กพัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านต่างๆ ได้ไม่แพ้โรงเรียนชั้นนำอื่นๆ นี่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีบทบาทอย่างแท้จริงในการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดระบบที่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน แทนที่จะใช้การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองหรือความมั่นคงเพียงอย่างเดียว

ไม่ใช่เพียงแค่การกระจายอำนาจทางการศึกษาในระบบ แต่การศึกษานอกระบบก็ควรถูกพิจารณาด้วยมุมมองที่ปราศจากอคติจากรัฐเช่นกัน อับดุลสุโกตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ สถาบันสอนศาสนาอย่างปอเนาะและตาดีกามักถูกเพ่งเล็งและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ทั้งที่แท้จริงแล้ว สถาบันเหล่านี้เป็นสถานศึกษาที่ดำรงอยู่เคียงข้างชุมชนมาอย่างยาวนาน การที่รัฐมองการมีอยู่ของสถาบันเหล่านี้ผ่านเลนส์ความมั่นคง มากกว่าจะมองถึงคุณค่าและบทบาทต่อสังคม กลับยิ่งเป็นการกดทับอัตลักษณ์ที่ปิดกั้นการสร้างสันติภาพในพื้นที่

หากพิจารณาในมิติของศาสนาและวัฒนธรรม ปอเนาะและตาดีกาไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม แต่ยังเป็นทางเลือกของผู้แสวงหาการศึกษาที่ไม่ละทิ้งรากเหง้าทางศาสนาและวัฒนธรรม แม้ว่าการเรียนการสอนศาสนาจะไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่การศึกษาภาษามลายูและอาหรับก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล ทั้งในแง่ของการเชื่อมโยงกับโลกมุสลิมและการผลิตบุคลากรที่สามารถทำนุบำรุงศาสนาในพื้นที่ การให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาที่เปิดกว้างต่อภาษาที่หลากหลายจึงไม่เพียงแต่ช่วยรักษาอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ แต่ยังสามารถเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างชุมชนมุสลิมกับโลกภายนอกได้อีกด้วย 

อับดุลสุโกทิ้งท้ายว่ารัฐไทยควรปรับเปลี่ยนทัศนะของตนต่อการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ เลิกใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางความมั่นคง และเปิดพื้นที่ให้กับชุมชนในการออกแบบระบบที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือของการพัฒนามากกว่าการกดทับ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาที่เสรีและเคารพความหลากหลายคือรากฐานของสังคมที่สงบสุขและยั่งยืน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

 [1]ตาดีกา (Tadika) มาจากคำมลายู โดย Ta ย่อมาจาก Taman แปลว่าสวน, Di ย่อมาจาก Didikkan แปลว่าอบรม และ Ka มาจาก Kanak Kanak แปลว่า เด็กๆ
 [2]อ่านทัศนะของอับดุลสุโกต่อประเด็นการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ที่ https://prachatai.com/journal/2009/03/20195 และhttps://www.tcijthai.com/news/2024/7/article/13729
 [3]อ่านทัศนะของอับดุลสุโกต่อประเด็นการกระจายอำนาจทางการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcijthai.com/news/2023/12/article/13356#google_vignette