เมื่อเด็กล้มต้องมีผู้ใหญ่คอยประคอง : ภารกิจข้ามแม่น้ำแห่งชีวิตของ ‘เด็กนอกระบบขอนแก่น’
โดย : วจนา วรรลยางกูร
ภาพถ่าย : เมธิชัย เตียวนะ / ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

เมื่อเด็กล้มต้องมีผู้ใหญ่คอยประคอง : ภารกิจข้ามแม่น้ำแห่งชีวิตของ ‘เด็กนอกระบบขอนแก่น’

1

ตอนที่ตุ๊กตาจำต้องย้ายออกจากบ้านเธอยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า ‘เด็กหญิง’ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนอายุแค่สิบกว่าปีที่ต้องหันหลังให้ชีวิตเก่า มุ่งหน้าไปสู่ชีวิตใหม่อย่างไม่มีจุดหมาย พร้อมบาดแผลทางจิตใจที่เกิดจากผู้ใหญ่ในบ้าน

ตุ๊กตาอยู่ที่ขอนแก่น เธออายุสองขวบตอนที่แม่ทิ้งไว้ให้ยายรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองแทน แต่ชีวิตก็มาพลิกผันอีกครั้งเมื่อยายเสียชีวิต เด็กหญิงถูกย้ายให้ไปอยู่ในความดูแลของป้ากับลุงเมื่ออายุ 13

ที่บ้านหลังนั้นตุ๊กตาเผชิญเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิต เด็กหญิงต้องรับมือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว จากผู้ใหญ่ที่ควรทำหน้าที่ปกป้องและดูแลเธอ

“ตอนนั้นหนูคิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้ออกไปจากจุดนั้น จะออกไปลำบากก็ช่าง แต่หนูอยากออกไป”

ตุ๊กตาได้ยินจากเพื่อนว่าจะไปเข้าค่ายเยาวชนที่ ‘ครูมหา’ (อังคาร ชัยสุวรรณ – รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยและเลขานุการสมาคมไทสิกขา) เป็นคนจัด เธอจึงขอไปด้วย ผ่านไปแค่วันเดียวคนจากที่บ้านก็ไปตามตัวเธอกลับ ทางทีมจัดค่ายจึงเตรียมจะส่งเธอกลับบ้าน

“หนูร้องไห้ เพื่อนเลยให้ไปเล่าให้พี่มหาฟังว่าที่บ้านเป็นอะไร ทำไมถึงอยากออกมาข้างนอก พอหนูเล่าให้พี่มหาฟัง ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง พมจ. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) มาหาแล้วพาหนูไปลงบันทึกประจำวันที่โรงพัก แล้วก็พาหนูไปพักที่บ้านพักเด็กและครอบครัว”

ครูมหาและเครือข่ายที่ทำงานช่วยเหลือเด็กในขอนแก่นยื่นมือมาช่วยเหลือตุ๊กตาในการดำเนินคดีจนผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษในที่สุด

ตุ๊กตา

ตุ๊กตาเล่าว่าตอนอยู่บ้านพักเด็กฯ เธอยังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.2 ขณะนั้นเธอติดศูนย์อยู่ 11 วิชา เมื่อเล่าปัญหาที่เจอให้ครูฟัง ครูจึงช่วยหาทางให้เธอผ่านขึ้นชั้น ม.3 ได้ แต่เรียนไปได้เทอมเดียวเธอก็ตัดสินใจออกจากโรงเรียน

“พอครูให้โอกาสบอกว่าไม่ต้องแก้ศูนย์ ให้ขึ้นไปเรียน ม.3 เลย ตอนนั้นใจฟูขึ้นนิดหนึ่ง แต่พอเรียนไปก็รู้ว่าเราไม่ควรอยู่ในระบบแล้ว ใจเราไม่เอาแล้ว โรงเรียนนั้นมีหลานของลุงกับป้าเรียนอยู่ด้วย มีอะไรหลายอย่างมากระทบจิตใจ ใจเราเป๋ก็เลยไม่เอาแล้ว หนูจึงเลือกที่จะออกจากระบบ”

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ตุ๊กตาได้ใช้ชีวิตในโรงเรียน ปัญหาที่เจอนั้นหนักหนาเกินกว่าจะปล่อยให้เธอใช้ชีวิตแบบเดิมได้ เด็กหญิงจึงตัดสินใจครั้งใหญ่เพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปในชีวิตใหม่หลังจากนี้

2

เจ๋งเป็นคนมหาสารคาม ชีวิตวัยเด็กของเจ๋งไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่นในพื้นที่ชนบทอีสานนัก แม้พ่อแม่จะแยกทางกัน ทำให้เจ๋งต้องอยู่กับแม่ แต่พ่อก็ยังทำงานส่งเสียเจ๋งให้ไม่ลำบากนัก แต่แล้วอุบัติเหตุในชีวิตก็ทำให้เจ๋งต้องออกไปใช้ชีวิตข้างถนน

พ่อเจ๋งเสียชีวิต แล้วสามปีต่อมาแม่ก็จากไปอีกคน แม่เมาแล้วออกไปดูหมอลำจนโดนรถชน ตอนนั้นเจ๋งอายุ 13 แม้ญาติๆ จะเห็นว่าเจ๋งไม่มีพ่อแม่แล้วแต่ก็ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยอะไร เจ๋งอยู่บ้านคนเดียวหลายเดือน ประทังชีวิตด้วยเงินชดเชยการเสียชีวิตของแม่

“ตอนนั้นผมไม่ได้คิดถึงอนาคตเลย แม่ทิ้งรถไว้ให้ ผมก็ไปขับรถแข่งกับเพื่อนจนเกิดอุบัติเหตุแขนขาหัก ถูกส่งไปโรงพยาบาลขอนแก่น สลบไปเจ็ดวัน ไม่มีญาติมาเยี่ยม แต่ญาติตั้งเต็นท์รอที่บ้านเตรียมจัดงานศพผม เพราะตอนนั้นหมอบอกว่าผมไม่หายใจแล้ว ถ้าผมเสียชีวิต บ้านแม่ก็จะตกเป็นของญาติ แต่พอถอดเครื่องช่วยหายใจออกผมกลับมาหายใจปกติ ความรู้สึกเหมือนปิดไฟแล้วเปิดไฟใหม่”

เจ๋งรักษาตัวอยู่นานจนหมอให้กลับบ้าน เขามีเสื้อผ้าชุดเดียว ไม่มีเงิน และไม่อยากกลับไปเจอญาติ เมื่อนึกได้ว่ามีเพื่อนอยู่ในเมืองขอนแก่นจึงลากขากะเผลกเดินไปบ้านเพื่อนเกือบ 10 กิโลฯ

“เพื่อนไม่ให้ผมอยู่ในบ้าน ให้อยู่ห้องข้างนอกที่ไม่มีคนอยู่ แต่อยู่ยังไงก็อยู่ไม่ได้ เลยเดินเร่ร่อน จนวันสงกรานต์ไปเจอแก๊งวัยรุ่นที่เขาขายยาเล่นยากัน ตอนนั้นผมไม่ยุ่งกับยาแต่ไปเดินตามพวกเขาแล้วบังเอิญเจอเงินตกอยู่ 120 บาทก็คิดว่าเอาไปทำอะไรดี เพราะชีวิตตอนนั้นไม่ต้องมีเงินก็อยู่ได้ จนนึกได้ว่ากลับบ้านดีกว่า ผมเลยใช้เงินนั่งรถกลับบ้านที่มหาสารคาม”

เจ๋ง

ตอนที่เจ๋งประสบอุบัติเหตุแล้วออกไปเร่ร่อนในขอนแก่น ทำให้เขาไม่ได้ไปโรงเรียนเสียเฉยๆ ผ่านไปปีกว่าเจ๋งกลับมหาสารคามและอยากกลับไปเรียนอีกครั้ง เขาจึงไปเรียนตามปกติ ทำเหมือนไม่เคยหายไปเป็นปีๆ อาจเพราะเจ๋งถูกคัดชื่อออกไปแล้ว ครูที่โรงเรียนจึงแนะนำให้เจ๋งไปทำงานแทน โดยบอกเพียงว่า “มีงานก็มีเงิน”

เจ๋งทำตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ เขากลับไปทำงานล้างรถที่ขอนแก่นได้เงินวันละ 50 บาท ด้วยความเป็นเด็กเขาเอาเงินที่ได้มาไปเข้าร้านเกมทุกวัน จนเห็นเด็กคนอื่นที่มาเล่นเกมได้โดยไม่ต้องทำงาน ความรู้สึกอิจฉาปรากฏขึ้นเป็นแรงผลักดันให้เขาอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เจ๋งจึงทำงานเก็บเงินเพื่อกลับไปเรียนในโรงเรียน

เจ๋งเรียนมัธยมในตัวเมืองขอนแก่นโดยยังคบหากับแก๊งเพื่อนขายยา เขาเริ่มเสพยาและขายยา ไปโรงเรียนได้หนึ่งปีครึ่งเจ๋งก็เลิกเรียน

“แรกๆ ผมก็เสพอย่างเดียว แต่เห็นเพื่อนมีตังค์เยอะเลยเริ่มขายยาด้วย แต่ทำไปผมก็คิดว่ามันไม่มีช่องทางที่จะเจริญ ไม่มีความก้าวหน้า ก็เลิกขาย เสพอย่างเดียว พอไม่มีตังค์ก็กลับไปเร่ร่อนเหมือนเดิม”

ชีวิตของเจ๋งวนเวียนอยู่อย่างนี้ ตัดสินใจผิดพลาด ถูกชักจูงให้เตลิดไปหลายรอบ นั่นเป็นเพราะเขาไม่มีใครที่จะให้คำปรึกษา ไม่มีใครคอยดูแลและปกป้อง เจ๋งกลับมาใช้ชีวิตข้างถนนหลายครั้ง แต่ทุกครั้งเขาจะคิดถึงการกลับไปเรียน กลับไปใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้

เจ๋งใช้ชีวิตข้างถนนในขอนแก่นจนเจอเพื่อนเก่าที่เคยเร่ร่อนและติดยา เพื่อนคนนี้เลิกยาสำเร็จแล้วกลับไปอยู่กับครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากครูมหาและเครือข่าย หลังครูมหารู้เรื่องเจ๋งจึงรับตัวให้ไปอยู่ด้วยที่บ้านหลายเดือนก่อนส่งให้ไปอยู่ที่ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชน เจ๋งถูกผลักดันให้เรียน กศน. พร้อมทำงานรับจ้างหลายอย่างทำให้ชีวิตกลับมาอยู่ในร่องในรอย

3

ชีวิตของตุ๊กตาและเจ๋งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหา ‘เด็กเปราะบาง’ ที่เกิดขึ้นในขอนแก่น เด็กจำนวนมากเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมดูแล บ้างมีปัญหายาเสพติด เป็นเหยื่อความรุนแรง ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เมื่ออยู่บ้านตัวเองไม่ได้ เด็กส่วนหนึ่งออกมาใช้ชีวิตข้างถนนและถูกดึงเข้ากลุ่มแก๊งที่ชักชวนสู่ด้านมืด เด็กบางคนมาจากจังหวัดใกล้เคียงเพื่อหวังเอาชีวิตรอด แต่ก็เจอชีวิตที่แย่กว่า

การหลุดออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยและกลายเป็น ‘เด็กนอกระบบ’ ทำให้พวกเขาพัฒนาชีวิตต่อไปได้ยากลำบาก หากไม่มีคนช่วยประคองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หนึ่งในคนที่เห็นปัญหานี้และร่วมกับเครือข่ายลงมือแก้ปัญหาจนเห็นผลจริงคือ อังคาร ชัยสุวรรณ หรือครูมหา รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยและเลขานุการสมาคมไทสิกขา

ครูมหาคลุกคลีกับเด็กนอกระบบในขอนแก่นเป็นสิบปีและค่อยๆ แก้ปมชีวิตเด็กแต่ละคนให้ออกจาก ‘โลกสีดำ’ จนค่อยๆ พัฒนาชีวิตทีละขั้น เขาเล่าว่าวงจรชีวิตของเด็กแก๊งขอนแก่นที่ออกจากบ้านมาใช้ชีวิตเองข้างถนนโดยมากจะนอนกลางวันและออกหากินกลางคืน

“เด็กกลุ่มนี้นอนกลางวัน ตื่นบ่าย เย็นๆ ออกไปเล่นกีฬาแล้วรวมกลุ่มกินเหล้า บางวันก็ไปเที่ยวสถานที่บันเทิงแล้วจึงกลับมาถึงจุดที่เขาพักประมาณตี 3 – ตี 4 เขาอยู่ในวงจรที่มี ‘เพื่อน ผู้หญิง รถ เหล้า’ เราจึงพยายามตัดวงจรเหล่านี้และดึงให้เขาออกมาทำกิจกรรมด้านบวกมากขึ้น”

สมาคมไทสิกขาเริ่มทำงานเรื่องเด็กนอกระบบในเมืองขอนแก่นมาตั้งแต่ปี 2554 โดยให้ความช่วยเหลือเด็กแก๊ง เด็กแว้น เด็กข้างถนน เด็กยากจน หรือที่เขาเรียกรวมๆ ว่า ‘เด็กชายขอบ’

อังคาร ชัยสุวรรณ

ยุคแรกที่เริ่มทำงาน การเข้าถึงเด็กเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก เมื่อค่อยๆ คลำทางหาวิธีการจนเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กๆ ได้และเกิดกระบวนการเรียนรู้นอกกรอบ ครูมหาจึงถอดบทเรียนออกมาเป็น ‘กลยุทธ์ 5C’

1. core person หาเครือข่ายคนที่มีใจจะทำงานดูแลเด็กกลุ่มนี้จริงๆ ครูมหาพบว่าเด็กแต่ละคนจะมีแก๊ง มีสังกัด โดยเด็กจะไม่เชื่อฟังคนอื่นเลยนอกจากลูกพี่ของตัวเอง สิ่งที่ครูมหาต้องทำคือ ‘อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ’

“เด็กนอกระบบมีการรวมตัวกันแบบเป็นธรรมชาติ ตอนแรกไปเจอ 22 แก๊ง แต่ละแก๊งจะมีหัวหน้า มีรองหัวหน้า มีระบบจัดการเงิน ในยุคแรกๆ แก๊งส่วนใหญ่ทำเรื่องที่ไม่ค่อยดี เรื่องผิดกฎหมาย เรื่องยาเสพติด เราก็หาวิธีเข้าหาหัวหน้าแก๊ง พูดคุยจนดึงเขามาทำงานร่วมกัน หัวหน้าแก๊งเขาสามารถเชื่อมแก๊งต่างๆ ได้ เขาพูดคุยภาษาเดียวกัน จนเราสามารถรวมกลุ่มแก๊งต่างๆ ในขอนแก่นยุคนั้นได้แล้วมาทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น แข่งบอล ส่งเสริมอาชีพ ทำไปจนสุดท้ายความเป็นกลุ่มแก๊งเขาสลายไป

“ช่วงแรกเด็กไม่สนใจเลยว่าพวกเราจะเข้าไปทำอะไร แต่เขาเชื่อลูกพี่ ลูกพี่บอกว่าพวกนี้มาดี เขาก็ทำตามที่ลูกพี่บอก จนตอนหลังเด็กๆ จึงเข้าใจว่า เราทำเพื่อพัฒนาพวกเขา อยากให้พวกเขาออกจากพื้นที่มืดมาสู่พื้นที่สว่าง เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ” ครูมหาเล่า

2. connect การเชื่อมต่อกับเด็กทำได้ง่ายขึ้นเมื่อมี ‘ลูกพี่’ ส่วนครูมหาและเครือข่ายก็ช่วยทำหน้าที่ประสานโลกสองใบเข้าด้วยกันระหว่างพื้นที่สีดำกับพื้นที่ภาครัฐ

“เรามีรถทัวร์เทศบาลก็ขนเด็ก 30-40 คนไปเข้าค่ายที่ต่างๆ ให้เด็กจากหลายแก๊งได้ปรับตัวอยู่ร่วมกัน ช่วงแรกวุ่นวายมาก เพราะยังไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งคนทำงาน เด็ก เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ความเป็นทางการกับไม่เป็นทางการมาทำงานร่วมกัน เราจึงต้องเจอเขาต่อเนื่อง ไปกินเนื้อย่างบ้าง ไปดูหนังบ้าง ไปเตะฟุตบอลกับเขาบ้าง พาไปทำจิตอาสาบ้าง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจนเขาเปิดใจ เป็นพี่เป็นน้อง

“เราเลือกที่จะฟังเสียงเด็ก เด็กอยากไปทะเลกัน เราก็ไปบอกนายกเทศมนตรีธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ โชคดีที่ฝ่ายการเมือง-ฝ่ายราชการของเราเข้าใจ ก็ให้ขนเด็กขึ้นรถทัวร์ไปเที่ยวทะเลกัน ผมยังจำภาพเด็กสักลายเต็มตัวเปิดประตูรถทัวร์แล้ววิ่งลงทะเลพร้อมกัน เรามีความสุขมากที่พาเขาไปถึงทะเลได้ จุดเริ่มต้นวันนั้นทำให้เด็กเปิดใจให้คนทำงาน เพราะเขามองว่าเรามาด้วยความจริงใจ”

3. control คือการชี้แนะแนวทางการออกจากพื้นที่สีดำและพัฒนาชีวิตให้เด็กๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัย ‘ความสัมพันธ์’

“จากตอนแรกที่เด็กๆ แทบไม่ฟังเราเลย พอเป็นพี่เป็นน้องกันแล้วเราพาทำอะไรเขาก็ทำทุกอย่าง ความสัมพันธ์คือการศึกษา เมื่อไหร่ที่เราเริ่มต้นความสัมพันธ์กับคน เราคิดและทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันต่อเนื่องก็จะเกิดเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พอเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันก็อยากจะสร้างประโยชน์ร่วมกัน จึงเกิดเป็นการกำกับควบคุมพฤติกรรมด้านบวกโดยที่ไม่ใช้อำนาจ”

4. continue สิ่งสำคัญในการทำงานกับเด็กชายขอบคือความต่อเนื่องในการช่วยเด็กเหล่านี้ยกระดับคุณภาพชีวิต จึงมีการตั้ง ‘ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชน’ เพื่อเป็นที่พักอาศัย

“เด็กพวกนี้หนีออกจากบ้านมารวมกลุ่มกัน เขาลำบากเรื่องไม่มีที่อยู่อาศัย พอเราเปิดศูนย์นี้ก็ทำให้มีพื้นที่ดูแลเด็กได้ แต่เรื่องแบบนี้เทศบาลทำเองไม่ได้ จึงให้สมาคมไทสิกขาเข้ามามีบทบาท ความเป็นทางการกับไม่เป็นทางการต้องทำงานคู่กันจึงตอบโจทย์และแก้ปัญหาเด็กเหล่านี้ได้”

5. complete เพื่อพัฒนาทักษะให้เด็กจึงจัดให้มีครู กศน. มาสอนที่ศูนย์สร้างโอกาสฯ รวมถึงมีการอบรมอาชีพตามความชอบ เช่น ก่อสร้าง รับเหมา ซ่อมมอเตอร์ไซค์ เกษตรอินทรีย์ ศิลปะ ดนตรี ค้าขาย ร้านอาหาร บริการ

“ถ้ามองในเชิงธุรกิจคือขาดทุนและสอบตก แต่เรามองในมิติการศึกษา เช่น ให้เด็กทำร้านนมสดอยู่สองปี เป็นพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้มาเจอกันทุกวัน นั่งคุยกัน ทำงานด้วยกัน กลายเป็นกลุ่มคนที่เขาผูกพันกันมาก เป็นเด็กร้านนมรุ่นหนึ่ง รุ่นสอง รุ่นสาม”

จากการทำงานสร้างเครือข่ายนับสิบปี เมืองขอนแก่นจึงเกิด ‘ทีมงานไร้พรมแดนนครขอนแก่น’ เป็นความร่วมมือจาก 26 หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมีเทศบาลนครขอนแก่นและสมาคมไทสิกขาทำหน้าที่ประสานงานให้มาผนึกกำลังกันดูแลเด็กจนเกิดเป็นกลไกความช่วยเหลือต่างๆ เช่น มีหน่วยฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือเด็ก มีศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชน มีผู้ประกอบการรับเด็กไปทำงานจนเกิดรายได้และการพัฒนาทักษะชีวิต กลายเป็นเครือข่ายที่ช่วยดูแลลูกหลานของเมืองนี้

“ตำรวจบอกว่าสถิติคดีเด็กเยาวชนในเมืองขอนแก่นลดลงถึง 60% เราเชื่อมั่นว่าโครงการของเรามีส่วน แต่ก็มีบางคนที่เราดึงออกมาจากวงจรเดิมไม่ได้แล้วไปก่อคดีสะเทือนขวัญ มีพี่น้องคู่หนึ่งเป็นเด็กเร่ร่อน คนพี่อยู่กับเราแป๊บเดียวแล้วหนีไป ส่วนคนน้องอยู่กับเราเป็นสิบปีจนมีอาชีพและเช่าห้องอยู่เองได้ มีอยู่วันหนึ่งผมเห็นข่าวคนขี่มอเตอร์ไซค์แล้วใช้มีดปาดคอคนกลางสี่แยกที่อุดรฯ ตอนแรกผมคิดว่าคนน้องไปก่อเหตุเพราะหน้าเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าเป็นคนพี่ หลังจากที่เขาหนีจากเราไปก็ไปเสพยาค้ายาจนก่อเหตุในที่สุด

“เรื่องนี้เป็นรูปธรรมว่าเราดูแลคนน้องจนเขาตัดวงจรชีวิตเดิมและพัฒนาชีวิตได้ ไม่สร้างปัญหาให้สังคม ถ้าเราดูแลเด็กแก๊ง 100 คน แล้วเปลี่ยนแปลงได้ 4-5 คน ผมก็ชื่นใจแล้ว การดูแลเด็กคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงไม่ให้เป็นโจรหรือไปก่อคดีได้มันประเมินมูลค่าไม่ได้นะ เช่นที่มีการก่อเหตุสะเทือนขวัญจนมีคนเสียชีวิต เราประเมินความสูญเสียเป็นราคาไม่ได้ เราจึงยังทำงานกันต่อโดยให้กำลังใจกันว่าช่วยเหลือคนหนึ่งคนไม่ให้เป็นโจร ไม่ให้ออกไปก่อคดีสร้างปัญหาให้สังคม มันคุ้มค่าที่สุดแล้วละ” ครูมหาบอก

4

หลังตุ๊กตาออกจากโรงเรียน เธอรีบไปสมัครเรียน กศน. เพราะคำสบประมาทที่เคยเจอจากครูในโรงเรียนที่ดูถูกว่าถ้าไม่มียายดูแลแล้วเธอจะกลายเป็นเด็กเหลวไหลและเรียนไม่จบ ใช้เวลาไม่นานตุ๊กตาก็จบ ม.3 และเธอก็มุ่งมั่นเรียนต่อมาเรื่อยๆ

เธอมองว่าความยากของการเรียน กศน. คือความมีวินัยและสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนไปจนถึงฝั่งได้คือการเจอ ‘ครูที่ดี’

“นักเรียนทุกคนไม่ได้อยากอยู่แค่ในห้องเรียนที่มีแต่ตัวหนังสือ ครูในระบบส่วนใหญ่จะเคร่ง ความรู้เยอะ บางท่านใช้คำพูดที่ดูถูกนักเรียน ทำให้นักเรียนถอดใจ แต่จากที่เคยเรียนกับครู กศน. ที่ศูนย์สร้างโอกาสฯ ครูพาเราหัวเราะตลอดการเรียน เราจึงอยากเรียนกับครูคนนี้ทุกวัน เพราะครูทำให้เราและเพื่อนๆ มีความสุข โดยครูจะสอนทั้งวิชาการและฝึกอาชีพให้”

ปัจจุบันตุ๊กตาอายุ 24 ปี เรียนจบปริญญาตรีสาขาการปกครอง มีงานทำเลี้ยงตัวเองและลูกสองคนได้ นอกจากนี้เธอยังรับเอาเด็กที่มีปัญหาจนอยู่กับครอบครัวไม่ได้มาอยู่ด้วยหลายคนในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน ความฝันของตุ๊กตาในก้าวต่อไปคือการสอบราชการ เพื่อให้ตัวเธอและลูกมีชีวิตที่มั่นคง

ส่วนเจ๋ง หลังจากที่ครูมหาไปช่วยออกมาจากชีวิตข้างถนน เขาพยายามกลับเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มหาสารคามอีกครั้งและจริงจังกับการเล่นฟุตบอลจนเตะบอลเดินสายสร้างรายได้ แม้ที่สุดแล้วเจ๋งจะใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่เขาพกประสบการณ์ชีวิตเต็มกระเป๋า ทั้งเคยไปทำงานเป็นช่างกระจก เตะบอลในรายการใหญ่ ทำงานโรงงานที่สมุทรปราการ รับงานแอดมินร้านค้าออนไลน์ ก่อนที่ครูมหาจะแนะนำงาน รปภ. ในตัวเมืองขอนแก่นเพื่อรายได้ที่ดีขึ้น

“ตอนทำงานโรงงาน ผมไม่มีวุฒิ เงินเดือนน้อยก็ต้องทำโอทีเยอะๆ เคยทำงานเยอะสุดคือหนึ่งวันกับอีก 14 ชั่วโมง เพื่อโอที” ประสบการณ์ข้อนี้ทำให้เจ๋งรู้ซึ้งดีถึงความจำเป็นของการกลับมาเรียน

“ตอนนี้ผมไม่ได้มีความคิดเรื่องยาเสพติดแล้ว ไม่ได้คิดแบบเด็กๆ แล้ว โตขึ้น มีรายได้หลายทาง เป็น รปภ. เตะบอลเดินสาย เป็นกรรมการฟุตบอล รับไลฟ์สด รับพากย์ฟุตบอล เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ตอนหลังมาขายรองเท้าสตั๊ดและเรียน กศน. ชีวิตผมจากเมื่อก่อนถึงตอนนี้ถือว่าพัฒนามาเยอะ หลังจากเข้ามาอยู่ในการดูแลของพ่อมหา” เด็กหนุ่มยิ้มสดใส

ปัจจุบันเจ๋งอายุ 19 กำลังเรียน กศน. ระดับมัธยมปลาย ชีวิตของเจ๋งผ่านการดิ้นรนมาหลายรูปแบบ บางช่วงก้าวพลาด แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสเจ๋งจะพยายามกลับไปเรียน เพราะนั่นเป็นช่องทางเดียวที่เขานึกออกว่าจะทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ

“ตอนเด็กเราปรึกษาใครไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก แต่พอทำงานแล้วไม่ไหวก็คิดว่าต้องกลับไปเรียนให้ได้วุฒิ เพื่อที่จะทำงานได้เงินเดือนเยอะๆ”

หากย้อนมองชีวิตของเจ๋ง อุบัติเหตุในชีวิตของเขาเริ่มต้นตั้งแต่พ่อและแม่เสียชีวิต ผู้ใหญ่รอบข้างที่เหลือไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยประคองและปล่อยเด็กชายให้ออกจากบ้านไปอยู่ข้างถนน ใช้ชีวิตแบบไม่มีใครใส่ใจติดตามชะตากรรม

เจ๋งอาจเป็นส่วนน้อยของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วพยายามวกกลับไปเรียนอยู่หลายครั้ง ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่มีใครโอบประคองให้คำปรึกษาและเตลิดไปในเส้นทางที่ไม่ปรารถนาไกลออกไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้เจ๋งเป็นเด็กหนุ่มที่มีแววตาสดใส มั่นใจในตัวเอง พูดจาฉะฉานแบบที่จะนึกไม่ออกว่าเขาเคยเป็นเด็กข้างถนนมาก่อน เจ๋งมีแพสชันในฟุตบอลมาก แม้ทุกวันนี้เขาจะเตะบอลไม่ได้เพราะบาดเจ็บ แต่เขามีความฝันอยากเป็นเจ้าของร้านขายรองเท้ากีฬา

“อยากเปิดร้านขายรองเท้าเป็นของตัวเอง ผมมีความรู้ด้านนี้และรักฟุตบอลด้วย ตอนนี้เล่นบอลไม่ได้เพราะยังเจ็บอยู่ แต่ขอแค่ได้อยู่กับฟุตบอลแค่นั้น”

หากถามถึงฝันที่ไกลกว่านั้น เด็กหนุ่มยิ้มกว้างแล้วบอกว่าอยากเป็นโปรโมเตอร์ฟุตบอล

“อยากเป็นโปรโมเตอร์ อยากจัดฟุตบอลทุกอาทิตย์ ผมอยากอยู่กับฟุตบอล เพราะอยู่กับมันแล้วสบายใจ ไปเตะบอลได้เพื่อน ได้ออกกำลังกาย ได้มิตรภาพ แต่การค้าขายรองเท้าก็ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ไม่ต้องรับความกดดันอะไร ขายได้เท่าไหนก็ได้กำไรเท่านั้น” เจ๋งเล่าพร้อมตาเป็นประกาย

เมื่อถามเด็กหนุ่มว่าอะไรคือจุดสำคัญที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองออกจากชีวิตข้างถนนได้ เขาตอบ “คนเราต้องมีเป้าหมาย” ก่อนขยายความ “เราต้องหาตัวเองให้เจอว่าอยากเป็นอะไร แต่เด็กเร่ร่อนคนอื่นอาจจะไม่มีทุน ขาดโอกาส ขาดคนปรึกษา ผมเคยชวนเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งมาเตะบอลด้วย แล้วพบว่าเขาฝีเท้าดี ผมถามเขาว่าทำไมไม่ไปหางานทำ เขาบอกว่า ‘ไม่มีทุน ไม่มีคนสนับสนุน’ ที่บ้านไม่มีเงินเขาจึงหนีออกมา พอถามเขาว่าทำไมไม่กลับบ้าน เขาบอกว่า ‘ไม่รู้จะกลับไปทำไม กลับไปก็เป็นภาระ’ ถ้าผมมีเงินก็อยากช่วยเด็กพวกนี้ พวกที่ไม่มีโอกาส อาจจะรวมตัวสร้างทีมฟุตบอลก็ได้”

จริงอย่างที่เจ๋งบอก ทั้งตัวเขาและตุ๊กตาเป็นเด็กที่เจออุบัติเหตุในชีวิตจนล้มลง การจะลุกขึ้นยืนได้ใหม่ต้องมีคนช่วยประคอง เด็กทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะต้องเข้าถึงการศึกษาหรือพัฒนาทักษะรูปแบบไหน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้พวกเขาต้องผ่านพ้นปัญหาชีวิตอันยิ่งใหญ่ตรงหน้าให้ได้เสียก่อน

5

“ครอบครัวเป็นสารตั้งต้นของเด็กเหล่านี้ โรงเรียนเป็นสารเร่งปฏิกิริยา สุดท้ายเด็กก็หลุดออกมาจากโรงเรียน พอหลุดออกมาแล้ว ‘เครือข่ายดึงดี’ ก็มีน้อย แต่ ‘เครือข่ายดึงเลว’ ในสังคมไทยเข้มแข็งมาก” ครูมหาให้ความเห็น

ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษา ครูมหาเห็นว่าเด็กจำนวนมากไม่พร้อมสำหรับการเรียนในระบบการศึกษา อันเป็นผลมาจากครอบครัวที่ไม่พร้อมดูแลและไม่ให้ความอบอุ่น เมื่อเด็กที่มีพื้นเพแตกต่างหลากหลายต้องเดินเข้าระบบการศึกษารูปแบบเดียวกัน กลายเป็นว่าเด็กที่จะผ่านระบบนี้ไปได้คือเด็กที่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวที่มีความพร้อม ส่วนเด็กที่หลุดออกจากระบบจำนวนมากต้องพบเจอกับเครือข่ายดึงเลว

“กรอบของระบบการศึกษามีระบบประเมินเป็นระเบียบแบบแผน ถ้าคุณครูไม่ยืดหยุ่น ขีดเส้นเป็นไม้บรรทัด เด็กจำนวนมากก็ต้องหลุดออกจากระบบนี้ไป อย่างที่โรงเรียนผมก็กำลังคุยกันว่าเราต้องจัดการศึกษาให้เด็กที่เรียนวิชาการไม่ได้สามารถอยู่ในระบบได้ ไม่มีประโยชน์ที่ครูจะเคร่งระเบียบจนเด็กหลุดออกไปเข้าสู่วงจรอุบาทว์จนเสียอนาคต นี่คือบาปของคุณครู

“ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะช่วยได้ อย่างน้อยให้เขามีความสุขที่จะมาโรงเรียน”

เมื่อถามถึงแนวทางที่ควรจะเป็นของการศึกษาไทย ครูมหาบอกว่า “เราต้องทำให้การศึกษาไม่ใช่การเตรียมตัวไปสอบแบบทุกวันนี้ การศึกษาต้องเป็นการพัฒนาศักยภาพคน ทำให้คนเรียนสนุก มีความสุข และเกิดการพัฒนาศักยภาพ ถ้าเปลี่ยนโจทย์ การเรียนการสอนก็จะเปลี่ยน ทุกวันนี้เด็กไม่มีความสุข เด็กไม่ได้รับการพัฒนาทักษะการคิด การพูด การแสดงออก จนถึงความมั่นใจและแรงบันดาลใจ”

นั่นคือข้อเสนอสำหรับการพัฒนาการเรียนในระบบก่อนที่เด็กจะหลุดออกไป แต่สำหรับเด็กที่เจอปัญหาชีวิตจนอยู่ในระบบไม่ได้จริงๆ ครูมหาบอกว่าต้องใช้ความร่วมมือหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันประคับประคองเด็กหนึ่งคนให้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตไปได้

“สำหรับเด็กคนหนึ่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคืออายุ 13-20 ปี ช่วงนี้ถ้าไม่ตายหรือติดคุกไปก่อนเขาก็จะรอด เพราะหลังอายุ 20 ปีเขาจะมีพฤติกรรมดีขึ้นเลย สิ่งที่เราทำได้คือประคองให้เขาข้ามแม่น้ำไป เราพาเขาทำกิจกรรม เข้าค่ายอบรม ดูงานส่งเสริมอาชีพ เรียนบ้าง ทำกิจกรรมบ้าง ทั้งหมดนี้ใช้กระบวนการเรียนรู้และความสัมพันธ์ของคนที่จะหน่วงเหนี่ยวเด็กเหล่านี้ไม่ให้ไปที่อื่น ถ้าอยู่กับพี่คนนี้แล้วอบอุ่น อยู่กับพ่อแม่กลุ่มนี้แล้วรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ เขาก็จะอยู่แล้วให้ ‘ครอบครัวเสมือน’ นี้ประคองกันไป

“แน่นอนว่าเด็กที่ติดยาไม่สามารถเลิกได้ง่ายๆ บางคนแอบเสพอยู่แต่ลดปริมาณลง เราก็ไม่ได้มองว่าเด็กที่เสพยาคือผู้ร้าย เรามองเหมือนเขาเป็นคนในครอบครัว เจอหน้าก็บอก ‘ลดลงหน่อยนะ’ ‘โทรมแล้วนะ’ ประคองกันไป เพราะถ้าสังคมไม่เอาเด็กกลุ่มนี้เขาจะถูกผลักไปอยู่อีกโลกหนึ่ง”

ประสบการณ์จากการสัมผัสชีวิตเด็กมากหน้าหลายตาทำให้ครูมหาพบว่า หลังอายุ 20 ปี เด็กแต่ละคนจะมีความคิดที่ดีขึ้นและพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้เอง

“ผมพาเด็กๆ​ ฝึกฝนอบรมทำกิจกรรมเยอะมากแต่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ได้ แต่พอเขาอายุ 20 โตขึ้น เริ่มมีแฟน เริ่มคิดได้เอง เขาก็ดีขึ้นเลย จนทีมงานคุยกันว่าสิ่งสำคัญคือการประคองให้เด็กข้ามช่วง 13-20 ปีให้เขาไม่ตายหรือติดคุกก็พอ ผมก็แซวน้องๆ นะว่า ‘เออ…พวกพี่ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเธอเลยใช่ไหมนี่’ เพราะพออายุ 20 ปีพวกเขาก็ดีขึ้นเอง”

ครูมหาหัวเราะร่วนก่อนเฉลยคำตอบที่เด็กๆ บอกเขา

“น้องๆ บอกว่า ‘โอ๊ย…ถ้าไม่มีพวกพี่ พวกผมก็ไม่มีวันนี้หรอก’”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world