จากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report) ประจำปี 2563 โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เรื่อง ‘ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน’ (Inclusion and Education: All Means all) ซึ่งมีสาระสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับผู้ที่ตกหล่นจากการศึกษา และสร้างความเข้าใจและความเคารพในแนวคิดเรื่อง ‘การศึกษาที่ครอบคลุม’ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลตามความถนัดและความจำเป็นบนแนวทางที่หลากหลาย
นำสู่การเสวนาเรื่อง ‘โอกาส ความท้าทาย และความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบครอบคลุมในประเทศไทย’ โดยหลายภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการศึกษา ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานระหว่างองค์กร และมองถึงความเป็นไปได้ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างแนวทางการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมของประเทศไทย
สุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า งานของกระทรวงมหาดไทย คือการจัดการศึกษาท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมและปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน
“ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประมาณ 18,000 ศูนย์ ที่รองรับการดูแลเด็กปฐมวัยให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ ดูแลด้านความปลอดภัยยามที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน และยังมีนโยบายให้เด็กได้รับอาหารที่ครบคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนในสังกัดราว 20,000 โรงเรียน ที่รวมถึงการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และโรงเรียนกีฬา เพื่อตอบโจทย์ด้านความหลากหลายทางการศึกษาของผู้เรียน”
ทั้งนี้ การจัดการศึกษาส่วนท้องถิ่นจะกระจายตัวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดูแลการศึกษาทุกระดับ มีการร่วมงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการจัดระบบการศึกษาที่รองรับทั้งเด็กนักเรียนทั่วไปและเด็กพิเศษ รวมถึงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษาร่วมด้วย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในภารกิจการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราไม่สามารถขาดหน่วยงานใดไปได้ ด้วยปัญหาที่มีมิติหลากหลาย โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนราว 2,000,000 คน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 30% ของนักเรียนทั้งหมด มีตัวเลขของเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับกว่า 400,000 คน มีเด็กเยาวชนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษาอีกประมาณ 60% นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้ตัวเลขเด็กนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300,000 คน
งานของ กสศ. คือหน้าที่ในการดูแลเด็กยากจนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เด็กปฐมวัย และแรงงานด้อยโอกาส โดยปัจจุบัน กสศ. มีเด็กยากจนด้อยโอกาสในความดูแลประมาณ 800,000 คน ซึ่งคิดเป็น 20% จากจำนวนเด็กด้อยโอกาสทั้งหมด 4,000,000 กว่าคนทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณราว 1 ใน 5 ของการประมาณการการพัฒนาเพื่อการศึกษา
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีเด็กด้อยโอกาสมากกว่า 1 ประเภทต่อ 1 คน จากที่มีนักเรียนประมาณ 90,000 คน ได้รับทั้งเงินอุดหนุนยากจนพิเศษและเป็นเด็กพิการที่อยู่ในระบบการศึกษา โดย กสศ. จะดูแลเด็กด้อยโอกาสทุกประเภท บนหลักการการจัดสรรทรัพยากรและสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ไปถึงศักยภาพสูงสุด ผ่านการทำความเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนต้องการการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงมอบความช่วยเหลือตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน
สิ่งหนึ่งที่ กสศ. ทำอยู่ คือการสร้าง Big Data ที่ชื่อว่าระบบ iSEE ซึ่งรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่คัดกรองความด้อยโอกาสต่างๆ เพื่อช่วยในการจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการรายบุคคลได้
“หลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้หมายถึงระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร สถาบันครอบครัว ความปลอดภัยในการเดินทางของเด็ก ความพร้อมของชุมชน ท้องถิ่น และความพร้อมของสถานศึกษาและครู ซึ่งทั้ง 5 มิตินี้ คือระบบความคุ้มครองทางการศึกษาและความคุ้มครองทางสังคม ดังนั้น คำว่า ‘ทั้งหมดหมายถึงทุกคน’ นั้นหมายถึงว่าเป็น ‘กิจ’ ของทุกคนในสังคมไทย โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่นอกภาคการศึกษา ที่จะต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้จริงๆ”
ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่า จากประสบการณ์ทั้งในฐานะผู้รับบริการและเป็นผู้ให้บริการแก่คนพิการ พบว่า การจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการจะต้องมีการดูแลและมีอุปกรณ์ช่วยเรียนที่เหมาะสม รวมถึงบุคลากรทั้งด้านสาธารณสุขและระบบการศึกษา ที่ต้องประสานส่งต่องานระหว่างกัน มีศูนย์บริการสำหรับการศึกษาผู้พิการ มีห้องสอนเสริมที่รองรับความพิการประเภทต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้ในภาคนโยบายได้มี พรบ. ที่กำหนดเรื่องสิทธิ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพัน และมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการมีการพัฒนามากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“วันนี้เรามีศูนย์การศึกษาพิเศษที่รองรับเด็กเรียนร่วม มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ มีกิจกรรมโครงการสนับสนุน และมีการอบรมครู การคัดกรองต่างๆ เพื่อการดูแลนักเรียนอย่างถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่เราต้องผลักดันให้สร้างมาตรฐานการศึกษา ที่ต้องมีการบรรจุไว้ด้วยว่าการศึกษาต้องมีการรับรองคนพิการ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนหลายโรงเรียนยอมรับคนพิการได้มากขึ้น และต้องเสริมความเข้าใจในเด็กทั่วไปให้เข้าใจคนพิการเพิ่มขึ้นด้วย”
คุณกัญภัค อยู่สุข และ คุณโอปอ ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่ จากมูลนิธิสายเด็ก ในฐานะผู้ดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนบนท้องถนน กล่าวว่า ในช่วง COVID-19 มีตัวเลขของเด็กกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 300% ซึ่งที่ผ่านมา มูลนิธิสายเด็ก 1387 ได้มีศูนย์พักพิงที่มีทั้งอาหาร ยา และที่พักไว้รองรับ
ศูนย์ของเราอยู่ที่หัวลำโพงซึ่งเป็นแหล่งรวมของเด็กๆ ที่หนีออกจากบ้านมาทางรถไฟจากทั่วประเทศ แล้วมาใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน เด็กกลุ่มนี้ออกจากบ้านมาด้วยปัญหาทั้งความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาอื่นๆ ต้องเผชิญความเสี่ยงมากมาย สิ่งที่เราทำเป็นงานหลัก คือนำเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาและดูแลเรื่องสุขภาพ
“เป้าหมายของเรา คืออยากให้เด็กมีวุฒิการศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจาก กศน. ที่ส่งครูเข้ามาสอน แต่ปัญหาสำคัญ คือบริบทชีวิตที่เขาต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ รวมถึงความบอบช้ำด้านสภาพจิตใจจากเรื่องราวหลายรูปแบบ นั่นทำให้เราจำเป็นต้องช่วยกันหาวิธีจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา ซึ่งตอนนี้ได้มีความร่วมมือกับ กสศ. แล้วในการช่วยออกแบบหลักสูตรที่เริ่มจากการรับฟังปัญหาของเด็กเป็นรายคน ซึ่งทางออกอาจเป็นเรื่องของหลักสูตรการพัฒนาอาชีพ เพื่อช่วยให้พวกเขามีอนาคตที่ดีขึ้น”
ทางด้าน คุณดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะเด็กไทย แต่เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค โดยในภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ นอกเหนือจากกลุ่มอื่นๆ ที่พูดถึงไปแล้ว ยังมีกลุ่มเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 74, 000 คน
“เราทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ โดยจัดทำ G Code ที่ทำให้แนวทางปฏิบัติของโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปในทางเดียวกัน มีการทำงานร่วมกับกรมการปกครอง และสำนักทะเบียนราษฎร์เพื่อให้ส่งเด็กต่อกันได้ จนเกิดความเข้าใจมากขึ้นกับทุกสังกัดทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย และกระจายสู่ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ จะเห็นว่าการทำงานที่มีกลไกร่วมกัน ทำให้งานไปด้วยกันได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา เราต้องทำงานไปด้วยกัน มีเครือข่ายระหว่างกัน และมีระบบส่งต่อกันได้ จึงจะทำให้เกิดความครอบคลุมในการจัดการศึกษาให้เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง”