การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและดิจิทัล บวกกับสถานการณ์ไม่คาดฝันอย่างการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(COVID-19) ไม่เพียงเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องปรับตัวให้ทันเพื่ออยู่รอด แวดวงการศึกษาเอง หรือก็ต้องมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งจากรัฐบาล เอกชน และประชาสังคม ตระหนักถึงความสำคัญ และหันมาร่วมมือร่วมใจผลักดัน ยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพ เสมอภาค และเข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน กระนั้น ทางเลือกของการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และเต็มไปด้วยปัจจัยอุปสรรคท้าทายมากขึ้น กลับมีไม่มากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น ทางเลือกของการศึกษาที่มีอยู่ กลับถูกมองข้าม หรือไม่ได้รับความใส่ใจ อย่างที่สมควรจะเป็น ทั้งที่ทางเลือกเหล่านั้นมีศักยภาพ และขีดความสามารถที่จะตอบโจทย์โลกอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การศึกษาสายอาชีพ หรือ อาชีวศึกษา (Vocational Education)
ด้วยเหตุดังกล่าว กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดงานสัมมนาวิชาการออนไลน์ ร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาด้าน อาชีวศึกษา ภายใต้หัวข้อ ‘Digitalization กับการพัฒนาความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21’ (‘Developing Vocational Excellence in the 21st Century: Embedding Digitalization in Vocational Training’) โดยได้เชิญ ดร.แอนดรูว์ แม็คคอแชน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอาชีวศึกษา และความเสมอภาคทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยดับลินซิตี้ ไอร์แลนด์ และเป็นผู้ดูแล Apprenticeship Support Services ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมฝึกอบรม หรือฝึกงานให้กับนักเรียนสายอาชีวศึกษา ของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ในการพัฒนา ด้านการอาชีวศึกษา ในครั้งนี้ด้วย
ดร.แอนดรูว์ ได้เปิดเวทีงานสัมมนาด้วยการกล่าวถึง สภาพแวดล้อมโดยรวมในปัจจุบัน กับน้ำหนักความสำคัญของอาชีวศึกษาในสังคม โดยระบุชัดว่า สภาพแวดล้อมของโลกในห้วงเวลานี้ และอนาคตนับต่อจากนี้ก็คือ ยุคของนวัตกรรมและดิจิทัลทั้งหลาย
โดยนวัตกรรมและดิจิทัล คือความรู้ที่จะทำให้ผู้คนมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นทั้งอาวุธและเครื่องมือในการดำรงชีวิต และต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้
สำหรับมุมมองของ ดร.แอนดรูว์ ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและดิจิทัล ทำให้สังคมต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ หรือได้รับการฝึกฝนจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและดิจิทัลมาเป็นอย่างดี ซึ่งความต้องการตรงนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุด สำหรับการศึกษาด้านอาชีวะ ที่เน้นการเรียนด้วยการลงมือปฏิบัติ และลงมือทำจนเกิดความชำนาญในสาขาอาชีพนั้นๆ โดยตรง
ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม ดร.แอนดรูว์ กล่าวว่า อาชีวศึกษา จัดได้ว่าอยู่ในชัยภูมิที่ดีมาก (well-positioned) และเหมาะสมอย่างมากที่จะตอบสนองต่อปัจจัยท้าทายทางการศึกษาของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า อาชีวศึกษา เป็นแนวคิดการเรียนการสอนที่ผสมผสานโลกของการเรียนและการทำงานในสถานที่ทำงานจริงได้อย่างลงตัว
แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวหันมาให้ความสนใจ เอาใจใส่ และเห็นความสำคัญของ อาชีวศึกษามากขึ้น มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้เพื่อการศึกษามากขึ้น ซึ่งการใช้ในส่วนนี่้ ดร.แอนดรูว์ แนะนำว่า จะประยุกต์ใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของสภาพสังคมนั้นๆ ตัวผู้เรียน และหลักสูตรที่เรียน โดยมีข้อคำนึงอย่างหนึ่งที่ควรจะตระหนักไว้คือ
“ไม่ใช่ทุกเทคโนโลยีทางการศึกษาจะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบโจทย์ หรือเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหลาย จึงต้องผ่านการคิด วางแผน และคำนึงถึงผลได้ผลเสียของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวมาใช้”
แม้จะมีข้อได้เปรียบที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดี แต่ อาชีวศึกษา ก็ดูจะไม่ใช่ทางเลือกแรกสุดของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองของสังคมโลกในปัจจุบัน โดย ดร.แอนดรูว์ ยอมรับว่าการที่อาชีวศึกษาไม่ใช่ทางเลือกยอดนิยม คือปัญหาสามัญที่เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น อย่างที่ภูมิภาคยุโรปเอง แม้แต่ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีระบบอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสูงสุดอย่างเยอรมนี ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน
เหตุผลที่อาชีวศึกษาไม่ใช่ทางเลือกแรกสุดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของค่านิยมของสังคม อีกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจาก ‘คุณภาพที่อ่อนด้อย’ (poor quality) และ ‘การลงทุนที่น้อยเกินไป’ (under-invested) ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการยอมรับ และยืนยันจากเหล่าผู้เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ รวมถึงกลายเป็นประเด็นอภิปรายสอบถามถึงแนวทางจัดการปัญหาดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาของไทยไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต
ทั้งนี้ ดร.แอนดรูว์ ได้แบ่งปันวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านการอาชีวศึกษาของภูมิภาคยุโรป ด้วยการพูดถึงแนวคิดของการก่อตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษา (Center of Vocational Excellence: CoVE) ที่สหภาพยุโรปใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ
โดยความหมายของ CoVE นั้น คือการผลักดันอาชีวศึกษา ให้เป็นระบบที่มีคุณภาพมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เป็นการระดมทุกทรัพยากรที่มีอยู่ ให้การอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาที่เลิศที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด สำหรับตลาดงานในอนาคต
และเป้าหมายข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษากับบรรดาผู้ประกอบการ ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ โดยดร.แอนดรูว์ชี้แจงว่า ปัญหาสำคัญที่สุดที่ทำให้อาชีวศึกษาไม่ได้รับความนิยม เพราะสถาบันการศึกษาไม่มีช่องทางพูดคุยกับสถานประกอบการ ทำให้สถาบันการอาชีวศึกษาผลิตนักเรียนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะที่สถานประกอบการก็ไม่ได้เห็นความสำคัญกับช่องทางสื่อสารดังกล่าวเท่าที่ควร
ผู้เชี่ยวชาญจากไอร์แลนด์ กล่าวว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา ไปสู่ความเป็นเลิศ ไม่ใช่เพียงแค่การมุ่งความสนใจไปที่เงินทุนและอุปกรณ์เครื่องมือเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรและเครือข่าย ในระดับชาติ ภูมิภาค และระหว่างประเทศด้วย
ดร.แอนดรูว์ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายที่ทั้งผู้เรียน สถาบันการอาชีวศึกษา หน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความเห็น แสดงความต้องการ จะช่วยให้สามารถออกแบบหลักสูตรด้านการอาชีวศึกษาที่จะสร้างและพัฒนา “คน” ให้เป็นแรงงานที่ตลาดต้องการ
ขณะเดียวกัน ความร่วมมือดังกล่าวก็ช่วยให้รู้ว่า หลักสูตรอาชีวศึกษาที่จะเกิดขึ้นต้องการทุนเท่าไร และต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมืออะไรบ้าง รวมถึงช่วยเพิ่มช่องทางการพัฒนาทักษะความสามารถของผู้เรียน ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ และการฝึกงานกับทางหน่วยงาน อย่างโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนอาชีวศึกษาในเนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ที่มีการรับนักศึกษาอาชีวศึกษาต่างชาติมาฝึกงานในบริษัทชั้นนำ โดยได้รับใบรับรองหลังฝึกงานเสร็จสิ้น เป็นตัวการันตีความรู้ความสามารถของผู้เรียน
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการอาชีวศึกษา ยังเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการช่วยให้ผู้เรียนที่มีภูมิหลังด้านเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เพียบพร้อม สามารถเข้าเรียนอาชีวศึกษาและเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการได้ต่อไป
ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดที่สถาบันการอาชีวศึกษาควรให้ความสำคัญ ซึ่งดร.แอนดรูว์ ระบุว่าหลักๆ แบ่งได้เป็น 2 ทักษะด้วยก้น ก็คือ ทักษะด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหลาย กับทักษะในเชิง Soft skill
สำหรับทักษะด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ความเข้าใจเพื่อใช้งานได้คล่องเท่านั้น แต่ต้องเป็นความรู้เท่าทันและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นให้ส่งเสริมกับการทำงาน ขณะที่ ทักษะทาง Soft Skill นั้น หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์ คุณธรรมจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในสาขาอาชีพ ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และความสามารถในการบริหารจัดการในสายอาชีพของตนเอง (Career Management) ซึ่งครอบคลุมถึงความเข้าใจว่า ตนเองชอบอะไร อยากทำงานอะไร และต้องทำอย่างไร ต้องพัฒนาไปทิศทางไหนเพื่อจะประสบความสำเร็จในสายอาชีพการงานของตนเองได้
นอกจากนี้การปรับหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถตั้งตัวเป็นสตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการด้วยตนเอง ก็ถือได้ว่ามีส่วนส่งเสริมให้อาชีวศึกษาได้รับความสนใจ และมุ่งไปสู่ความเลิศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นโจทย์ที่สถาบันการศึกษาต้องขบคิดและวางแผนหาแนวทางนโยบายที่เหมาะสม ภายใต้การร่วมมือสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างมาก โดยการวางแผนทั้งหมด ยังหมายรวมถึง การหาทางประเมินคุณภาพศักยภาพของผู้เรียนด้วย
ทั้งนี้ การอาชีวศึกษา ถือเป็นทางเลือกทางการศึกษาที่จะตอบโจทย์ต่อโลกอนาคต ดังนั้น การยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไปสู่ความเลิศ จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง และเป็นหนึ่งในหนทางที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล