จะ ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ ได้อย่างไร เมื่อถูกการศึกษา ‘เด็ดปีก’
โดย : ชลิดา หนูหล้า
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

จะ ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ ได้อย่างไร เมื่อถูกการศึกษา ‘เด็ดปีก’

“อยากเป็นหมอ!”

วันนี้ วลีเด็ดจากโฆษณาเครื่องดื่มโปรตีนสกัดจากถั่วเหลืองที่สะท้อนทั้งความหวัง ความกดดัน และค่านิยมในระบบการศึกษาไทยอาจเลือนราง เช่นเดียวกับคำตอบเปี่ยมความหวังเมื่อถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” บทความนี้ชวนผู้อ่านเดินทางกลับสู่วันที่ความเจ็บปวดนี้ยังสดใหม่ และร่วมตั้งคำถามว่าใคร ควรทำอย่างไรเพื่อหยุดยั้งมัน

ระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) วันที่ 10-11 กรกฎาคม ‘ผู้ใหญ่’ หลายคนมีโอกาสฟัง ‘ความในใจ’ ของเด็กๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ต่อความเสมอภาคทางการศึกษาและระบบการศึกษาในอุดมคติ

การแสดงความเห็นของเด็กๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ระหว่างการประชุมนานาชาติ

นอกจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเพศสภาพและชาติพันธุ์ เด็กๆ จำนวนไม่น้อยยังกล่าวถึงการถูกเลือกปฏิบัติโดยครูและผู้ปกครองด้วยความถนัดและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ ‘ผู้ใหญ่’ อาจไม่กระทั่งคิดว่าเป็นปัญหา

“ระบบการศึกษาในอุดมคติของฉัน คือระบบการศึกษาที่จะไม่ตัดสินฉันด้วยความชอบและความถนัด” เด็กหญิงชาวมาเลเซียบอก ความเห็นของเธอได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ ชาวอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ระบบการศึกษา “มีทางเลือกที่หลากหลาย และไม่ตัดสินเด็กๆ ด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน” รวมถึง “สร้างความใฝ่รู้ ความรักในการเรียนรู้ โดยไม่เพียงบังคับพวกเราให้จำเนื้อหาบทเรียน”

เมื่อแรงจูงใจในการศึกษาของเด็กๆ ที่ล้วนเป็นอนาคตของประชาคมโลกถูกความเจ็บปวดดังกล่าวกัดเซาะ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาหรือ Global Partnership for Education (GPE) จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่หลายครั้งถูกดูแคลนว่าเป็นเพียงความเจ็บปวด ‘ชั่วคราว’ และไม่สลักสำคัญของเด็กๆ ในหนังสือ Happy schools! A framework for learner well-being in the Asia-Pacific โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) กรุงเทพมหานคร ดังนี้

“โรงเรียนนั้นถูกออกแบบเพื่อเด็ก ทว่าโดยผู้ใหญ่” คือประโยคแรกของหนังสือ และด้วยเหตุผลนั้น ความฝัน การเดินทาง และความสำเร็จของผู้ออกแบบโรงเรียนซึ่งมักถูกตัดสินด้วยความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรม เช่น การได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง การประกอบอาชีพที่มีสถานะทางสังคมสูง ฯลฯ จึงเจือปนในการจัดการเรียนรู้เพื่อเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้มาตรา 29 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) จะระบุอย่างชัดเจนว่า “การศึกษาต้องสามารถประกันการเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงพัฒนาการทางร่างกาย บุคลิกภาพ และจิตใจของเด็กๆ”

การแข่งขันระหว่างประเทศอันดุเดือดถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ไม่เป็นมิตรต่อเด็กๆ โดยทั้งครูและนักเรียนต้องเผชิญความกดดันจากการพยายามได้ลำดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในการแข่งขันทางวิชาการนานาชาติ อาทิ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ PISA (Programme for International Student Assessment: PISA) นอกจากนี้ เมื่อการประเมินประสิทธิภาพการจัดการศึกษาโดยทั่วไปพึ่งพาข้อมูลเชิงปริมาณเป็นหลัก ระบบการศึกษาจึงผูกตนเองกับข้อมูลเชิงปริมาณเหล่านั้น และบังคับเด็กๆ ให้ ‘มีคะแนนสูงกว่า’ หรือ ‘เข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีลำดับสูงกว่า’ อย่างต่อเนื่อง

ความกดดันดังกล่าวนำมาซึ่งการให้ความสำคัญแก่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ มากกว่าคุณลักษณะอื่นๆ และนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่า ได้แก่ ความเครียด การข่มเหง และความรุนแรงในโรงเรียนจากการแข่งขันระหว่างนักเรียน การถูกเลือกปฏิบัติโดยครูและผู้ปกครอง รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

ผลสำรวจของสถาบันสุขภาพและสังคมเกาหลีใต้ (Korea Institution for Health and Social Affairs) ราวทศวรรษที่แล้วซึ่งเปรียบเทียบความคาดหวังของเด็กๆ ชาวเกาหลีใต้ต่อเวลาว่างหลังเลิกเรียนกับความจริงสะท้อนปัญหาข้างต้นชัดเจน เพราะขณะที่เด็กๆ กว่าร้อยละ 48.7 คาดหวังว่าจะได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเพื่อเล่นกับเพื่อนๆ กลับมีเด็กๆ เพียงร้อยละ 23.7 เท่านั้นที่ได้เล่นสนุก และแม้มีเพียงร้อยละ 24.7 ของพวกเขาที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม เด็กๆ ชาวเกาหลีใต้กว่าร้อยละ 54.3 กลับต้องทำเช่นนั้น

“ลูกจะได้ A+ ในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ พ่อไม่สนใจ ลูกได้ A- ในวิชาศิลปะ ลูกล้มเหลว” ที่มา : High Expectations Asian Father – Image #256,566

ความทุกข์ดังกล่าวปรากฏในวัฒนธรรมประชานิยม หรือวัฒนธรรม ‘ป็อป’ จำนวนไม่น้อย เช่น ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ฉลาดเกมส์โกง หรือกระทั่งมีม (meme) ‘พ่อชาวเอเชียผู้มีความคาดหวังสูง’ (High expectations Asian Father) ข้างต้น ก็มักถูกใช้เพื่อล้อเลียนความคาดหวังของผู้ปกครองชาวเอเชียต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น

นอกจากนี้ หนึ่งในเพลงของบังทันโซนยอนดัน หรือบีทีเอส (BTS) ศิลปินกลุ่มชาวเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มต้นเพลงด้วยประโยคว่า “บ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรูจะนำความสุขมาจริงหรือ มาสู่โซล มุ่งสู่ SKY พ่อและแม่พอใจหรือยัง” ก็สะท้อนความกดดันได้เป็นอย่างดี เพราะ SKY เป็นอักษรย่อของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในเกาหลีใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยโคเรีย และมหาวิทยาลัยยอนเซ

“ใครหนอเปลี่ยนพวกเราเป็นเครื่องจักร” ท่อนหนึ่งในเพลงว่า “หากเป็นที่หนึ่งไม่ได้ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ต้องเหยียบย่ำกระทั่งเพื่อนสนิทเพื่อป่ายปีน เป็นความผิดของใครกัน”

มิวสิกวิดีโอเพลง N.O ซึ่งมีคำบรรยายแปลภาษาอังกฤษด้วย

ในที่สุด การแข่งขันดังกล่าวได้ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย เมื่อเด็กๆ ต้องกวดวิชาหรือจ้างครูสอนพิเศษเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดด้วยหวังว่าจะประสบความสำเร็จในอาชีพ และมีชีวิตที่ผาสุกในอนาคต ทำให้นอกจากไม่บรรเทาความเครียด ลดการถูกเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในโรงเรียนแล้ว ยังส่งผลให้ปัญหาเหล่านั้นทวีความรุนแรงด้วย

เห็นได้ชัดว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาที่เด็กๆ จะแก้ไขได้โดยลำพัง หนังสือ Happy schools! A framework for learner well-being in the Asia-Pacific ได้ให้ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาข้างต้นในสิงคโปร์ซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อย โดยพึ่งพาความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อลด ‘การแข่งขันที่เป็นพิษ’ ในระบบการศึกษา ด้วยการงดประกาศรายชื่อนักเรียนระดับประถมศึกษาที่มีคะแนนสอบไล่สูงที่สุด ลดการวัดและประเมินผลการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาโดยใช้คะแนนสอบ ทั้งยังลดการจัดลำดับสถานศึกษาโดยใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นเกณฑ์ ลดเนื้อหาบางบทเรียนเพื่อเพิ่มเวลาศึกษาประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษแก่นักเรียน รวมถึงปรับปรุงรูปแบบการวัดและประเมินผลการศึกษา เพื่อลดการใช้แบบทดสอบที่เน้นวัดความจำและความเข้าใจองค์ความรู้ในห้องเรียน ให้ความสำคัญแก่การค้นคว้าและลองผิดลองถูกของนักเรียน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังบรรจุ ‘การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม’ หรือ SEL (Social and Emotional Learning: SEL) ในหลักสูตรการศึกษา โดยเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์อธิบายว่า “SEL จะยกระดับศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กๆ ชาวสิงคโปร์ เป็นเครื่องมือนำทางชีวิตของพวกเขาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและอาชีพ มีความพอใจในตนเอง และอำนวยประโยชน์แก่สังคม”

โดยหลักการการจัดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม ประกอบด้วย (1) การบูรณาการค่านิยมหลัก (core values) ของชาวสิงคโปร์ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย ความเคารพ (respect) ความรับผิดชอบ (responsibility) ความยืดหยุ่น (resilience) ความมีคุณธรรม (integrity) ความเอาใจใส่ (care) และความรอมชอม (harmony) อันเป็นพื้นฐานของบุคลิกภาพที่ดี

(2) เน้นพัฒนาการรู้เท่าทันตนเองและการจัดการอารมณ์ ปฏิสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อผู้อื่น รวมถึงการตัดสินใจอย่างเหมาะสม

(3) สร้างสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะเหล่านั้น

และ (4) ให้ความสำคัญแก่การมีบุคลิกภาพ และการเป็นพลเมืองโดยสอดคล้องกับค่านิยมหลัก รวมถึงมีทักษะที่กล่าวถึงข้างต้นของผู้เรียน

นอกจากตัวอย่างความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้โดยใช้บทบาทสมมติ (role playing) ของครูชาววานูอาตูเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างนักเรียน รวมถึงระหว่างครูและนักเรียน โดยให้นักเรียนแสดงบทบาทของผู้อื่น เพื่อเรียนรู้ปัญหาของผู้อื่นผ่านการวิเคราะห์ และทดลองให้เหตุผลแก่พฤติกรรมของผู้ที่ถูกสวมบทบาท ซึ่งครูชาววานูอาตูมุ่งใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมขันติธรรมในสังคมพหุวัฒนธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทบาทสมมติสามารถพัฒนาความเข้าใจระหว่างนักเรียนที่มีภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างกัน ระหว่างครูและนักเรียน ผู้ปกครองและนักเรียน รวมถึงระหว่างครูและผู้ปกครองได้เช่นกัน เพื่อเข้าใจความต้องการที่แตกต่างจากความต้องการของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติด้วยความถนัดและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมถึงความรุนแรงในโรงเรียนไม่อาจสิ้นสุดด้วยความเคลื่อนไหวของบุคลากรทางการศึกษาโดยปราศจากความพยายามเพื่อพัฒนาสังคมในมิติอื่น โดยเฉพาะการขจัดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ผลักไสเด็กๆ จากความฝันอันหลากหลาย บังคับพวกเขาให้เป็น คิด และตัดสินใจเพื่อลำดับ ตำแหน่ง และรายได้ที่สูงที่สุดเท่านั้น ด้วยการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพต่างๆ อย่างเท่าเทียม ให้คุณค่าและการสนับสนุนที่จำเป็นแก่ทุกวิชาชีพ ให้องค์ความรู้ผ่านการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงการสร้างความเข้าใจและพัฒนาทัศนคติเชิงบวกของประชาชนต่อความถนัด ความต้องการ และบุคลิกภาพที่แตกต่าง

เพราะโรงเรียนเป็นโลกใบแรกที่เด็กๆ ได้ทดลองอาศัย หากพวกเขาไม่รู้จักความหวัง ไม่อาจเข้าใจความต้องการของทั้งตนเองและผู้อื่นในโลกใบแรกที่ได้ลงหลักปักฐาน วันหนึ่งในอนาคต ผู้ใหญ่ที่ไม่อาจโบยบินเหล่านี้ จะมีกำลังสร้างโลกอันเป็นที่พึงปรารถนาของตนเอง และให้ความรักที่ไม่ปวดร้าวแก่เด็กๆ ในโลกของพวกเขาได้อย่างไร

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world