“เขาเป็นเจเนอเรชันที่อยู่ในภาวะโควิด-19 มา 3 ปี ถ้าเราไม่ฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้นี้ เด็กก็จะสูญเสียการเรียนรู้นี้ไปเลย ประเทศชาติก็จะสูญเสียเช่นกัน”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสํารวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความพร้อมในการเข้าสู่การเรียนภาคบังคับของเด็กปฐมวัย หรือ ‘school readiness’ ซึ่งเป็นการวิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง กสศ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยหวังจะสร้างเครื่องมือของประเทศที่มีการเก็บข้อมูลลงลึกรายบุคคลและนำเสนอออกมาเป็นรายจังหวัด ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของประชากรกลุ่มสำคัญคือ เด็กปฐมวัย ที่มีอายุช่วง 3-5 ปี ซึ่งมีเด็กจำนวนมากที่อยู่นอกระบบการศึกษาเพราะต้องติดตามพ่อแม่ไปทำมาหากิน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล กสศ. จึงติดตามวิจัยต่อว่าเด็กปฐมวัยทั่วประเทศมีความพร้อมในการเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับเพียงไร
ในช่วงที่เก็บข้อมูลนี้เองก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดและมีการหยุดเรียนจนสร้างผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กจนนำมาสู่ ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ หรือ ‘learning loss’ อันทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาขยายกว้างมากขึ้น และหากไม่ทำอะไรเด็กรุ่นนี้จะกลายเป็น ‘lost generation’
ในวันนี้สิ่งสำคัญคือกระบวนการที่จะนำเด็กปฐมวัยเข้าสู่ภาวะปกติของการเรียนรู้ คือ ‘learning recovery’ หรือ ‘การฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะหากเด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เด็กเหล่านี้ก็จะกลับสู่ภาวะปกติและเดินเข้าสู่เส้นทางของระบบการศึกษา จนเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงได้
ดังนั้น โจทย์สำคัญต่อไปของสังคมไทยคือ ในภาวะที่ประเทศก้าวออกจากช่วงที่แย่ที่สุดของโควิด-19 มาแล้ว แต่สำหรับเด็กปฐมวัย การก้าวออกจาก learning loss เข้าสู่ learning recovery นั้นจะทำได้อย่างไร?
เปิดข้อมูลเชิงประจักษ์
เด็กไทยกับวิกฤต ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียกข้อมูลชุดนี้ว่า school readiness หรือความพร้อมของการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการวัดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญในการนำไปต่อยอดในระดับ ป.1 โดยมีการทำแบบทดสอบกับเด็กอนุบาล 3 ทั่วประเทศในหลากหลายรูปแบบ จนเป็นที่มาของหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่อง learning loss ในช่วงโควิดที่เกิดในช่วงการเก็บข้อมูลพอดี
วีระชาติเล่าว่า หนึ่งในแบบทดสอบคือการนำเลข 0-9 ให้เด็กดูและผลปรากฏว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้จักตัวเลขไม่ครบ บางจังหวัดมีมากถึงครึ่งหนึ่งและบางจังหวัดมีกว่า 30%
“พูดง่ายๆ ว่าหากเดินสุ่มเข้าไปในโรงเรียนธรรมดาแห่งหนึ่ง ในห้องอนุบาล 3 มีเด็กอยู่ 10 คน จะมีเด็กประมาณ 3 คนที่รู้จักตัวเลขตั้งแต่ 0-9 ไม่ครบ”
ขณะที่การทดสอบอีกอันที่น่าสนใจคือ มีการอ่านข้อความให้เด็กฟังหนึ่งย่อหน้าหรือประมาณสัก 4-5 นาที และให้เด็กตอบคำถามง่ายๆ 5 ข้อ ผลพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ตอบคำถามได้แค่ข้อเดียวหรือตอบไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม school readiness นั้นต้องทดสอบในหลายด้านทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ฯลฯ จึงมีการนำทุกด้านมารวมกันแล้วทำเป็นค่าเฉลี่ยโดยให้คะแนนเต็ม 100 ซึ่งพบข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนเด็กก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทั้งจังหวัดที่ได้คะแนนระดับแย่และมีจังหวัดที่ได้คะแนนระดับดี แต่เมื่อมาดูผลคะแนนในช่วงการแพร่ระบาดหนักๆ ทุกจังหวัดจะเป็นสีแดงหรืออยู่ในระดับที่แย่เกือบทั้งหมด
วีระชาติกล่าวว่า การทำแบบทดสอบวัดผลนั้นเป็นการทำข้อสอบอันเดียวกันทุกคนแค่ทำกันคนละปี ดังนั้นจึงเห็นผลชัดเจนในภาพรวมว่าเด็กมีความพร้อมลดลง จึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
“ข้อมูลอีกชุดหนึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกแต่ขนาดกลุ่มที่ศึกษาจะเล็กกว่า ผมตามเด็กคนเดิม 1,000 กว่าคน เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ กว่า 6 ปี เวลาในการทำการบ้านของเด็กก่อนเกิดโควิด-19 เขาจะทำการบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ แต่พอเกิดโควิด-19 แม้ในช่วงอายุเดียวกันปรากฏว่าทำการบ้านน้อยลง”
ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะดูข้อมูลจากภาพใหญ่หรือในภาพที่เล็กลงมาในระดับปัจเจกก็เกิดปัญหาเดียวกันคือ เด็กไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตามที่เราคาดหวังเพื่อชดเชยการไม่ได้ไปเรียนในโรงเรียน เด็กไม่ได้อ่านหนังสือหรือทำการบ้านเพิ่มขึ้นแต่เล่นเกมมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงเกิด learning loss เมื่อการใช้เวลาของเด็กเปลี่ยนไปและขาดประสิทธิภาพ
การประเมิน school readiness นั้นมองจาก 3 มิติ คือ มิติด้านความพร้อมของโรงเรียน ด้านความพร้อมของตัวเด็กและด้านความพร้อมของที่บ้าน ดังนั้นคือสามประสาน แต่คำถามคือปัจจัยด้านใดที่มีผลมากที่สุด เพราะจะนำไปสู่การมีนโยบายที่แตกต่างกัน หากมองว่าเป็นเรื่องโรงเรียนก็ต้องไปยกระดับการเรียนรู้ ถ้าเป็นเรื่องทักษะของการเลี้ยงดูของผู้ปกครองก็ต้องหาวิธีไปแนะนำเขาว่ามีวิธีเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร
ความพร้อมในวันนี้คือตัวกำหนด ‘อนาคต’ เด็กไทย
“เรื่องความพร้อมที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วจะนำไปสู่อะไร?”
วีระชาติเล่าว่าเขาใช้ข้อมูลแบบทดสอบทักษะด้านการอ่านของเด็ก ป.1 มาเชื่อมโยงกับข้อมูล school readiness ที่เก็บตอนเด็กเรียนอนุบาล 3 แล้วดูว่าเมื่อเด็กอยู่ชั้นอนุบาล 3 เขามีความพร้อมในระดับนี้ แล้วเมื่อโตมาขึ้น ป.1 เขาเรียนเป็นอย่างไร
คำถามจากข้อมูลชุดนี้ก็คือ เด็กที่มีความพร้อมมากกว่าตอนอนุบาล 3 จะมีคะแนนแบบทดสอบด้านการอ่านที่มากกว่าตอน ป.1 หรือไม่? ซึ่งผลปรากฏว่าเป็นจริงตามสมมติฐาน โดยพบว่าเด็กที่มี school readiness มากกว่าจะทำให้มีคะแนนทักษะด้านการอ่านสูงกว่า และไม่ใช่แค่ความพร้อมทางด้านการอ่านเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งปรากฏว่าโดยผลทางด้านคณิตศาสตร์เยอะกว่าด้านการอ่านเพราะความพร้อมด้านคณิตศาสตร์คือทักษะการคิด ซึ่งหากเด็กสามารถคิดได้เยอะแค่ไหน เขาก็จะสามารถคิดวิเคราะห์ได้เยอะขึ้นในการเรียนชั้นที่สูงขึ้น หรือแม้แต่การอ่านเองก็ต้องการการคิดวิเคราะห์ด้วย
“เมื่อเราพบว่าเด็กเกิด learning loss ยิ่งทำให้เราต้องกังวลมากขึ้น เพราะว่าความพร้อมตอนปฐมวัยมีผลต่อการเรียนชั้นประถมฯ ของเด็ก เราต้องฟื้นฟูเขา ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อไปเมื่อเด็กเรียน ป.1 ต่อไปก็มีผลกับ ป.2 ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น dynamic complimentary มันเป็นพลวัตร เช่นที่ ศ.เจมส์ เจ เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์ มักใช้คำว่า ‘skills beget skills’ คือทักษะตอนเริ่มต่อทักษะอันใหม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องสนใจปฐมวัยเพราะมันเป็นที่มาของทักษะในระดับที่สูงขึ้น” วีระชาติกล่าว
ด้าน ดร.สวัสดิ์ พุ่มทอง ที่ปรึกษาด้านการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เห็นว่า ข้อมูล school readiness ที่มีการสำรวจมานี้ หากมีความสมบูรณ์แล้วนำมากำหนดนโยบายได้จริงจะเกิดประโยชน์มหาศาลเพราะการกำหนดนโยบายโดยใช้ข้อมูลเป็นฐานเพื่อหาทางออกจะทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
Learning Loss สู่ Learning Recovery
ทางก้าวพ้น Lost Generation
ข้อเสนอที่ 1 : High Scope – กระบวนการพัฒนาครูปฐมวัย
วีระชาติพูดถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เริ่มต้นด้วยการพัฒนาครูปฐมวัยด้วยการอบรมแบบเข้มข้นโดยหลักสูตรที่ชื่อว่า High Scope ซึ่งมีการทดลองใช้แล้วที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแบ่งเด็กเป็นกลุ่มที่เรียนกับครูที่ไปอบรมและกลุ่มที่เรียนกับครูที่ไม่ได้ไปอบรม การทดสอบรูปแบบนี้จะทำให้เห็นถึงความพร้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันของเด็กรวมถึงประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มด้วย
ผลพบว่ากลุ่มที่ได้เรียนกับครูที่ผ่านการอบรมด้วยหลักสูตร High Scope นั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 50% ซึ่งหากเด็กขาดความพร้อมไป 1 ปีเต็ม หมายความว่าต่อให้ใช้วิธีนี้ ก็ต้องหาทางชดเชยเด็กอย่างน้อย 2 ปีเพื่อให้เขากลับมา 100%
อย่างไรก็ตาม วีระชาติยอมรับว่านี่เป็นเพียงแนวทางหนึ่งแต่ไม่อาจแก้ไขได้ทั้งประเทศเนื่องจากทรัพยากรที่จะใช้ในการอบรมนั้นมีน้อย
“learning recovery ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร ที่แก้กันปีนี้แล้วเด็กกลับมาที่เดิม แต่ learning recovery คือการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา”
ข้อเสนอที่ 2 : สร้างการพัฒนาจาก Pre-Service Teacher สู่ In-Service Teacher
ผศ.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเล่าถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่มีระดับชั้นปฐมวัย ซึ่งคณะครุศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงจัดการเรียนการสอนให้ครูในโรงเรียนที่ยังขาดความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์ องค์ความรู้และประสบการณ์
การทำงานนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การเข้าไปช่วยครูในโรงเรียนแบบฉับพลันในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP (Teacher and School Quality Program) ซึ่งโรงเรียนในเครือข่ายนี้เป็นกำลังสำคัญมากในการพัฒนานวัตกรรมและแพลตฟอร์ม ทั้งเป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้แม่ข่ายซึ่งจะคอยช่วยเหลือโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่มีความพร้อมหรือไม่เข้าใจการแปลงหลักสูตรเป็นการจัดการการเรียนการสอนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนในโรงเรียน แต่ทำให้ห้องเรียนคือบ้านและชุมชน การจัดการเรียนการสอนแบบนี้จึงเป็นความท้าทายของครูด้วย
ส่วนที่สองคือ แนวทางการผลิตครู ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ภายใต้โครงการครูรักถิ่น ที่จะทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ เพราะโควิด-19 เป็นแค่สถานการณ์หนึ่งจากหลายสถานการณ์ในอนาคตที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กหยุดชะงัก ดังนั้นการเตรียมครูไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตหรือการพัฒนาก็ตามต้องสร้างครูที่ยืดหยุ่น สามารถมองเห็นวิกฤตให้เป็นโอกาสและดึงสิ่งที่เขามีรอบตัวไปออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ ที่สำคัญต้องเป็นครูที่สื่อสารได้ ทำงานร่วมกับชุมชนและผู้ปกครองได้
“อีกด้านหนึ่งหากเรามองการผลิตและพัฒนาครูเป็นระบบใหญ่หนึ่งระบบ จะเห็นว่าการผลิตครูสามารถไปเกื้อหนุนและช่วยเหลือพัฒนาครูประจำการที่อยู่ในโรงเรียน โดยการจัดการเรียนการสอนที่อยู่ในการพัฒนานักศึกษาครู (pre-service teacher) สามารถสร้างนวัตกรรมและส่งต่อไปให้ครูประจำการ (in-service teacher) ที่อยู่ที่โรงเรียนเพื่อใช้นวัตกรรมเหล่านี้ไปเติมเต็มสิ่งที่นักเรียนขาดหายไป เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะช่วยเรื่องการฟื้นฟูการถดถอยทางการเรียนรู้ได้”
ศิริวรรณย้ำว่า นี่คือโจทย์ที่ทำให้ต้องหันกลับมามองว่า กระบวนการผลิตครูของครุศาสตร์หรือหลายๆ หน่วยงานในปัจจุบันมีการเพิ่มประเด็นในส่วนการผลิตครูเพื่อรองรับสถานการณ์เหล่านี้หรือไม่
หมายเหตุ – สรุปความจากงานแถลงข่าว พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning Recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world