‘ความยากจน’ หรือ ‘ความข้นแค้น’ นั้นเพียงได้ยินก็ขื่นขม ความยากจนคือความขาดที่ไม่พึงปรารถนา คือความอับจนหนทางในการเติมเต็มความหวัง ความฝัน และสุขภาวะทั้งปวงในชีวิต ตลอดจนไร้ซึ่งกำลังในการทำนุบำรุงตนเองและผู้อื่น หากจะมีปีศาจตนใดที่มนุษย์ตะเกียกตะกายให้รอดพ้นอย่างสุดชีวิต ก็คงเป็นความยากจนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความยากจนมิใช่ปีศาจที่มีรูปโฉมเดียว ความยากจนอาจแปลงกายเป็นความขาดไร้ซึ่งอาหาร ความขัดสนซึ่งรายได้ และความยากไร้อันถมให้เต็มได้ด้วยทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็อาจแปลงกายเป็นความขาดที่แยบยลกว่า จับต้องได้น้อยกว่า และมีอำนาจทำลายล้างรุนแรงกว่า หนึ่งในความยากจนที่จับต้องไม่ได้นี้ คือความยากจนทางการเรียนรู้ (learning poverty)
ความยากจนทางการเรียนรู้คืออะไร
ความยากจนทางการเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงเพียงการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ธนาคารโลกระบุว่าความยากจนทางการเรียนรู้หมายถึงภาวะที่เยาวชนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรืออ่านออกเขียนได้น้อยมากเมื่อมีอายุครบ 10 ปี ซึ่งเป็นทั้งผลลัพธ์และจุดเริ่มต้นของความยากไร้อื่นๆ การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในวัยเท่านั้นหมายถึงการเติบโตในครอบครัวที่ขาดรายได้จนไม่อาจส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ หมายถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยรัฐ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ถ่างกว้างเสียจนคนกลุ่มหนึ่งไม่อาจพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตลอดหลายชั่วอายุคน หมายถึงนโยบายด้านการศึกษาที่ล้มเหลว ตลอดจนการขาดกลไกของรัฐที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ไม่ใช่ปัญหาเล็กจ้อย เพราะความยากจนทางการเรียนรู้จะนำไปสู่การขาดไร้ซึ่งความสามารถในการต่อยอดปัญญาและพัฒนาตนเอง เนื่องจากการขาดทักษะสำคัญในการรับเข้า ประมวลผล และสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ กล่าวคือไม่สามารถอ่านเพื่อซึมซับและทำความเข้าใจข้อมูล ไม่สามารถเขียนเพื่อขัดเกลาข้อมูลหรือถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นต่อไป เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ย่อมมีรายได้น้อย ย่อมสร้างประโยชน์ได้น้อย และไม่อาจกล่อมเกลาสมาชิกใหม่ในครัวเรือนได้เหมาะสม กระนั้นความยากจนที่ว่านี้ก็มีผู้ใส่ใจน้อยเหลือเกิน ทั้งที่ความยากจนทางการเรียนรู้มิได้บ่อนเซาะเพียงปัญญาแห่งปัจเจกบุคคล แต่กัดกร่อนปัญญาของทั้งสังคม
สถานการณ์ความยากจนทางการเรียนรู้ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน เด็กในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางต่ำกว่าร้อยละ 53 ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างเหมาะสมเมื่อมีอายุ 10 ปี หากโลกทั้งใบถูกย่อส่วนเป็นห้องเรียนห้องหนึ่งที่มีนักเรียนราว 40 คน ก็จะมีนักเรียนถึง 22 คนในห้องนี้ที่ขาดทักษะการอ่าน ซึ่งจะฉุดรั้งทักษะการคิดวิเคราะห์และลดทอนความเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 53 ที่ว่านี้ยังถูกฉุดขึ้นมากแล้วด้วยอัตราการรู้หนังสือของเด็กในประเทศรายได้ปานกลางค่อนสูง หากตัดประเทศกลุ่มนี้ออก อัตราดังกล่าวจะสูงขึ้นถึงมากกว่าร้อยละ 80 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนต่ำ
ที่สำคัญคืออัตราดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการได้หรือไม่ได้เข้าโรงเรียนแต่อย่างใด กล่าวได้ว่าการผลักดันเด็กให้เข้าโรงเรียนอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเวลาที่ผ่านมานั้น อาจไม่มีความหมายต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างตรงจุดเลย
ทั้งนี้ โปรดอย่าลืมว่าในที่สุด ห้องเรียนที่เราจินตนาการนั้นเป็นโลกไร้พรมแดนที่เชื่อมต่อกันทุกวินาที คือดินแดนนับร้อยที่เกื้อกูลและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวที่จะเพิกเฉยหรือประกาศความสำเร็จได้เพียงเพราะทำได้ดีกว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง
แม้ว่าในปี 2015 จะเกิดข่าวดีคือประชาคมโลกได้กำหนดเป้าหมายจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 กระนั้นก็มีข่าวร้าย คือธนาคารโลกระบุอย่างชัดเจนว่า ด้วยอัตราการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนทางการเรียนรู้อันเป็นบ่อเกิดของความยากจนอื่นๆ ในขณะนี้ โลก ‘ไม่มีทาง’ ขจัดความยากจนภายในปี 2030 ได้เลย
เพราะปัจจุบันโลกทำให้ความยากจนทางการเรียนรู้อ่อนแรงลงได้เพียงปีละร้อยละ 0.6 เท่านั้น! โดยอัตราความยากจนทางการเรียนรู้ยังสูงขึ้นอีกด้วยในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม มีหลายเสียงแห่งความหวังที่บอกว่าขณะที่มีการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวในปี 2015 โลกยังไม่ได้ใส่ใจคุณภาพการจัดการศึกษามากเท่ากับอัตราการเข้าโรงเรียน ดังนั้น ในปัจจุบันที่มีผู้สนใจยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้มากขึ้น อัตราเร็วนี้จึงอาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
แม้จะเป็นเช่นนั้น การขจัดความยากจนในปี 2030 ก็เป็นงานหินทีเดียว เราต้องเร่งอัตราเร็วของการกำจัดความยากจนทางการเรียนรู้ จากที่ลดลงปีละร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 1.6 หรือเกือบสามเท่าต่อปี ความยากจนทางการเรียนรู้ในปี 2030 จึงจะลดลงจากร้อยละ 43.2 ทั่วโลกเหลือร้อยละ 26.8 ซึ่งถึงจะยังสูงกว่าที่ควรเป็น แต่ก็นับว่าดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปมาก
แล้วอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการกำจัดความยากจนทางการเรียนรู้น่ะหรือ
หลายคนอาจเดาได้แล้วจากความจริงที่ว่าสถานการณ์ความยากจนทางการเรียนรู้ไม่เคยกระเตื้องขึ้นแม้จะมีเด็กได้เข้าโรงเรียนมากขึ้น นั่นคือการทุ่มเททรัพยากรอย่างไม่ตรงจุด ไม่ก่อประสิทธิผลเท่าที่หวัง ดังที่ธนาคารโลกอธิบายว่า ปัญหาที่แท้จริงคือหลายประเทศ “ไม่ได้ทุ่มเทให้การยกระดับความต้องการทางการเรียนรู้” ของเด็กอย่างเพียงพอ ง่ายเหลือเกินที่จะผลักไสความผิดนี้ให้ปัจเจกบุคคล เพื่อผลักทั้งคำกล่าวโทษและภาระรับผิดชอบหนักอึ้งให้พ้นตัว ทั้งที่แรงจูงใจการเรียนรู้ไม่ใช่คุณสมบัติที่เด็กคนใดจะมีมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่สร้างได้ด้วยสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่เหมาะสม
รายงานประจำปีของธนาคารโลก (World Development Report) ในปี 2018 ระบุว่า ประสบการณ์ในชั้นเรียนของเด็กทั่วโลกถูกบ่อนเซาะด้วย ก) การขาดสารอาหารและภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ทำให้ขาดแรงจูงในการไปโรงเรียน และลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ ข) ครูขาดทักษะ ขาดการสนับสนุน หรือขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะด้วยการฝึกหัดครูที่ด้อยประสิทธิภาพ ภาระงานของครูที่ไม่ส่งผลดีต่อการจัดการเรียนรู้ หรือค่าตอบแทนและฐานะทางสังคมที่ไม่จูงใจให้คงอยู่ในวิชาชีพในระยะยาว ค) แบบเรียน สื่อการเรียนรู้ และทรัพยากรทางการศึกษาที่ไร้คุณภาพ ไม่ทันสมัย หรือไม่ทั่วถึง
และ ง) การบริหารจัดการโรงเรียนโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ทางการศึกษาเป็นสำคัญ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้กำหนดนโยบายขาดองค์ความรู้หรือทักษะที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษา ไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือไม่เต็มใจแก้ไขปัญหาในสถานศึกษาอันเนื่องมาจากการขาดแคลนงบประมาณหรือแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
หากผู้อ่านเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาการศึกษาเดิมๆ ที่ได้ยินมาตลอดชีวิต ผู้อ่านเข้าใจถูกต้องแล้ว เพราะธนาคารโลกชี้ว่าการกำจัดความยากจนทางการเรียนรู้นั้นไม่อาจเป็นไปได้โดยปราศจากการยกระดับระบบการศึกษาทั้งระบบ กล่าวคือไม่มีทางลัดในการปัดเป่าการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเยาวชน ไม่มีแผนปฏิรูปอัศจรรย์ที่จะบันดาลทุกสิ่งได้เพียงการลงนามครั้งเดียว
การพัฒนาการจัดการศึกษานั้นเรียกร้องทั้งองค์ความรู้ที่ถูกต้อง การทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจระหว่างองคาพยพของรัฐเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพลเมือง อันจะผลักการศึกษากลับไปสู่เส้นทางที่พึงประสงค์ ด้วยหวังให้การศึกษานั้นกลับมาผลักสังคมสู่ลู่ทางที่ถูกควรในวันหน้า
จะขจัดความยากจนทางการเรียนรู้ได้อย่างไร
ธนาคารโลกมีคำตอบแสนเรียบง่าย คือกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องเสียก่อน
เป้าหมายนั้นต้อง “เป็นไปได้จริง (feasible) และเรียกร้องความทุ่มเทที่มากกว่าในปัจจุบัน” โดยคำนึงถึงสิทธิในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพของมนุษย์ทุกคน
ผู้คลุกคลีในวงการศึกษาต่างรู้ว่าระดับความยากของเนื้อหาที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจ คือเนื้อหาที่มีความท้าทาย ยากกว่าความสามารถจริงของผู้เรียน มีปลายทางชัดเจนว่าองค์ความรู้นั้นสำคัญอย่างไร และไม่ยากเกินไปจนก่อให้เกิดความท้อแท้ เป้าหมายในการพัฒนาการจัดการศึกษาก็ควรเป็นเช่นนั้น
นอกจากความท้าทายอย่างพอดีแล้ว เป้าหมายที่บรรลุได้จริงต้องมีหลักชัยที่ชัดเจนว่าเมื่อไรจึงจะถือว่าบรรลุ กล่าวคือมีลักษณะดังต่อไปนี้
- มีความเรียบง่าย (simplicity) คือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน ต้องเข้าใจเป้าหมายนั้นได้ ไม่มีการตีความแตกต่างกันไป และต้องเข้าใจว่าเป้าหมายนั้นมีประโยชน์หรือความหมายต่อตนเองอย่างไร สัมพันธ์กับความเป็นอยู่และสุขภาวะของตนอย่างไร
- ผลิตซ้ำได้ (replicability) คือตั้งอยู่บนข้อมูลทางสถิติที่โปร่งใส ซึ่งถูกรวบรวมและประมวลด้วยวิธีวิทยาที่โปร่งใส ทำให้ผลิตซ้ำข้อมูลเพื่อประเมินความก้าวหน้าในแต่ละปีได้
- เปลี่ยนแปลงได้ (movability) ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามที่เหมาะสม คือเป็นไปได้จริงผ่านการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา
โดยเป้าหมายที่ธนาคารโลกเสนอให้กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและต่ำนำไปพัฒนาต่อไป คือ “การลดจำนวนเด็กอายุ 10 ปีที่ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างเหมาะสมลงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในปี 2030 ผ่านการยกระดับระบบการศึกษาทั้งระบบ”
โดยแนวทางการยกระดับระบบการศึกษานั้น ต้องตั้งอยู่บน ‘เสาหลัก’ (pillar) แห่งระบบการศึกษาที่มีคุณภาพห้าต้น ได้แก่
- ผู้เรียนมีความพร้อมและมีแรงจูงใจในการศึกษา มีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม เห็นประโยชน์อันจะเกิดจากการศึกษา และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลการเรียนรู้
- ครูมีทักษะที่จำเป็น ได้รับการฝึกหัดให้ยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและความไว้เนื้อเชื่อใจ ตลอดจนพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
- ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของปัจเจกบุคคล มีแบบเรียนและทรัพยากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
- โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยและไม่ทอดทิ้งเด็กคนใด ไม่มีการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้รับความช่วยเหลือให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ตลอดจนมีสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน
- ระบบการศึกษาได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม และการได้มาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารและกำหนดนโยบายผูกพันกับความรู้ความสามารถของบุคคล
เมื่อคำนึงถึงหลักการเหล่านี้แล้ว ก็ถึงเวลากำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อย่างตรงจุด โดยธนาคารโลกเสนอให้นโยบายเหล่านี้ประกอบด้วยองค์ประกอบสี่ประการ คือ
- องค์ประกอบที่ 1 มีการกำหนดเป้าหมายเฉพาะระดับประเทศ รวมถึงกลไกการวัดและประเมินความก้าวหน้าที่ชัดเจน ทั้งนี้ วิธีการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องตรงไปตรงมา ไม่กำกวม ครอบคลุมทุกองคาพยพทางการศึกษา โดยอาจกำหนดเป้าหมายย่อยที่แต่ละฝ่ายต้องบรรลุ ผ่านการมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของฝ่ายนั้นๆ โดยคำนึงถึงบริบทที่ห้อมล้อมผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิศาสตร์ บริบทประชากร หรือความพร้อมของชุมชน โดยเน้นให้ทุกฝ่ายมีภาระรับผิดชอบในการลดอัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่มุ่งจับผิดและลงโทษ
นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตเวลาก็มีความสำคัญเท่าๆ กับการกำหนดเป้าหมาย ในพื้นที่ที่มีอัตราการรู้หนังสือน้อยมากนั้น การกำหนดระยะเวลาบรรลุเป้าหมายเท่ากับพื้นที่อื่นๆ ย่อมไม่สมเหตุสมผลและนำไปสู่การปิดบังความจริงที่รังแต่จะซ้ำเติมปัญหา - องค์ประกอบที่ 2 มีการรับประกันว่าครูและนักการศึกษาจะมีคุณภาพ เข้าใจแนวทางการยกระดับการรู้หนังสือ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการฝึกหัดครูและคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่วิชาชีพ รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่การแนะแนวครูใหม่ในโรงเรียนโดยครูอาวุโสและการพัฒนาทางวิชาชีพ โดยส่งเสริมให้ครูเป็นผู้นำการเรียนรู้ทางวิชาชีพของกันและกัน ไม่ว่าจะในหรือระหว่างโรงเรียน
นอกจากนี้ การจัดสรรครูให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพก็จำเป็น พื้นที่ที่ขาดแคลนกว่าย่อมต้องการครูจำนวนมากกว่าและมีทักษะเฉพาะบางประการซึ่งจะยกระดับอัตราการรู้หนังสือในพื้นที่นั้นๆ ได้ แน่นอนว่าการดึงดูดใจครูให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เหล่านี้ไม่อาจอาศัยเพียงความเสียสละหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ด้วยการสนับสนุนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนที่สูงขึ้นหรือค่าชดเชยการเสียโอกาสเนื่องจากอุปสรรคในพื้นที่ เช่น การเดินทาง สภาพอากาศ ฯลฯ รวมถึงต้องรับประกันว่าครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการเรียนรู้และการพัฒนาทางวิชาชีพทัดเทียมกับครูในเมืองใหญ่ ตลอดจนส่งเสริมให้ครูสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ เพื่อให้สถานศึกษาในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน - องค์ประกอบที่ 3 อัดฉีดงบประมาณเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาหลากหลาย และทันสมัย ธนาคารโลกระบุว่าเด็กเล็กๆ จะมีความสุขในการอ่านและการเรียนรู้มากขึ้น หากสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจและบ่มเพาะความสนใจในอนาคตของตนเอง ทั้งนี้ เมื่อความสามารถในการอ่านของเด็กสูงขึ้น พวกเขาย่อมต้องการเนื้อหาที่ท้าทายยิ่งขึ้นด้วย และหากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนไม่ตอบโจทย์ความต้องการนั้น ก็อาจนำไปสู่ความเบื่อหน่ายและการขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ในที่สุด
ทั้งนี้ ทรัพยากรทางการศึกษานั้นควรมีความหลากหลาย ไม่จำกัดเพียงสิ่งพิมพ์เท่านั้น ทว่าสอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกันของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเสียง วิดีทัศน์ หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ยิ่งกว่านั้น ธนาคารโลกยังระบุว่าเพียงการส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนนั้นไม่เพียงพอ แต่รัฐต้องส่งเสริมการอ่านของพลเมืองด้วย โดยลดค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการอ่านและอำนวยความสะดวกในการอ่าน ไม่ว่าจะด้วยการจัดหาสถานที่สำหรับอ่านหนังสือ หรือนโยบายเพื่อต่อยอดประโยชน์จากการอ่าน ตลอดจนการส่งเสริมความหลากหลายของเนื้อหา เมื่อผู้คนในสังคมเป็นนักอ่านตัวยง การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านและเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ก็จะราบรื่นและง่ายดายยิ่งขึ้น - องค์ประกอบที่ 4 เน้นให้เด็กสามารถใช้ภาษาที่หนึ่งได้คล่องแคล่วก่อน การมีพื้นฐานความเข้าใจภาษาที่หนึ่งที่แข็งแรงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความสามารถในการคิดและต่อยอดองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยควรใช้ภาษาที่หนึ่งเป็นภาษาสำหรับจัดการเรียนการสอนในขวบปีแรกๆ หากพื้นที่นั้นๆ มีภาษาพูดหลายภาษา หรือมีเด็กที่เป็นผู้อพยพและลี้ภัยจำนวนมาก ก็ต้องมีการเพิ่มจำนวนสื่อการเรียนรู้ หนังสือ รวมถึงต้องมีการฝึกอบรมครูให้สามารถจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาที่หนึ่งของเด็กๆ แต่ละกลุ่มได้ เพราะอย่างไรเสีย ความชำนาญในภาษาที่หนึ่งคือบันไดสำคัญในการเรียนภาษาต่อๆ ไปของเด็กนั่นเอง
ทั้งนี้ ธนาคารโลกคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และได้ออกแบบแนวทางปรับใช้นโยบายในพื้นที่ที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นสี่ประเภท คือในสภาพแวดล้อมทางการศึกษาหรือสถานศึกษาที่มีความเปราะบางอย่างยิ่ง (Fragile, conflict, and violence-affected settings) มีความรุนแรงและมีเด็กผู้ลี้ภัยจำนวนมาก อาทิ เยเมน ในสภาพแวดล้อมที่มีศักยภาพเชิงสถาบันต่ำ (Low institutional capacity) เช่น ไนจีเรีย ฯลฯ สภาพแวดล้อมที่มีศักยภาพเชิงสถาบันปานกลาง (Medium institutional capacity) อาทิ โคลัมเบีย และที่มีศักยภาพเชิงสถาบันสูง (Higher institutional capacity) อย่างอาร์เมเนีย
โดยหากพิจารณาจากความมีประสิทธิผลของภาครัฐ (Government Effectiveness) อันเป็นเกณฑ์แบ่งประเภทบริบทเหล่านี้ ไทยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับโคลัมเบีย หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงสถาบันปานกลาง อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่ากังวลและบริบทการศึกษาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของไทย ผู้เขียนเห็นว่าควรนำเสนอแนวทางปรับใช้นโยบายอย่างครบถ้วนทั้งสี่บริบท เพื่อพิจารณาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ดังนี้
ระดับศักยภาพ | ข้อจำกัด | แนวทางปรับใช้นโยบาย |
เปราะบาง และมีความรุนแรง | โรงเรียนไม่ปลอดภัย ครูได้รับการฝึกหัดอย่างเหมาะสมน้อยมาก ทรัพยากรการเรียนรู้และหลักสูตรการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน มีผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติ | องค์ประกอบที่ 1 ระดมกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียนกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม องค์ประกอบที่ 2 ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษาทางไกล จัดหาครูอาสาสมัครที่มีคุณภาพ เร่งฝึกหัดครูที่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ และประสานความร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่นเพื่อความช่วยเหลืออื่นๆ องค์ประกอบที่ 3 จัดสรรงบประมาณใหม่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ในท้องถิ่นได้ โดยเน้นเพิ่มทรัพยากรการเรียนรู้ในภาษาแรกของเด็กแต่ละกลุ่ม องค์ประกอบที่ 4 จัดหาอาสาสมัครในท้องถิ่นที่เข้าใจภาษาแรกของเด็กแต่ละกลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เรียน |
ศักยภาพเชิงสถาบันต่ำ | ไม่มีครูที่มีคุณภาพหรือมีน้อย ทรัพยากรการเรียนรู้ไม่ตอบโจทย์ มีภาษาท้องถิ่นหลากหลาย | องค์ประกอบที่ 1 ปรับใช้มาตรฐานการเรียนรู้ระดับชาติเพื่อประเมินอัตราการรู้หนังสือของเด็กและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป องค์ประกอบที่ 2 จัดทำคู่มือครูให้ครูในท้องถิ่นสามารถพัฒนาความสามารถของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนรวมถึงมาตรฐานการเรียนรู้ จัดการฝึกอบรมครู และส่งเสริมให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินการอ่านออกเขียนได้ องค์ประกอบที่ 3 จัดทำทรัพยากรทางการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล พัฒนาคุณภาพของแบบเรียนและทรัพยากรการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 4 กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาที่สองหรือภาษาราชการ |
ศักยภาพเชิงสถาบันปานปลาง | มีแบบเรียนเพียงพอแต่สื่อการเรียนรู้เพื่อเติมเต็มความเข้าใจไม่หลากหลายและไม่เพียงพอ การจัดการเรียนการสอนยังไม่ได้มาตรฐาน และ/หรือลักลั่นกัน | องค์ประกอบที่ 1 ใช้ข้อมูลของผู้เรียนแต่ละคนเพื่อประเมินว่าครูต้องให้ความช่วยเหลือรายบุคคลอย่างไรบ้าง องค์ประกอบที่ 2 เพิ่มความมีอิสระในตนเอง (autonomy) ของครูในการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน จัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของครู ส่งเสริมความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนในการนำการเรียนรู้ทางวิชาชีพทั้งในและระหว่างโรงเรียน องค์ประกอบที่ 3 เพิ่มจำนวนและความหลากหลายของสิ่งพิมพ์ ยกระดับคุณภาพของสื่อการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 4 แนะนำครูให้เข้าใจแนวทางการเปลี่ยนผ่านภาษาในการจัดการเรียนการสอนในภาษาอื่นๆ ต่อไป |
ศักยภาพเชิงสถาบันสูง | การจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้เรียนที่มีอย่างเต็มที่ อัตราการอ่านออกเขียนได้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ความยากของเนื้อหาที่อ่านไม่เหมาะสมกับผู้เรียน ครูไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร | องค์ประกอบที่ 1 เพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับนานาชาติ ดูแลความสามารถในการอ่านระดับเริ่มต้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ระดับชาติ องค์ประกอบที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถในการนำการเรียนรู้ทางวิชาชีพของผู้บริหารโรงเรียน ส่งเสริมความหลากหลายของเนื้อหาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคล องค์ประกอบที่ 3 เพิ่มจำนวนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงส่งเสริมแรงจูงใจในการอ่านของทั้งสังคม องค์ประกอบ 4 ดูแลการเปลี่ยนผ่านภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมให้มีแบบเรียนหรือสื่อการเรียนรู้หลากหลายภาษายิ่งขึ้น |
การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อผลลัพธ์อันพึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ที่ลดลง หรือการบ่มเพาะพลเมืองที่ดีของสังคมและโลก ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ที่ถูกต้องและความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม ตลอดจนไม่ใช่งานชั่วประเดี๋ยวประด๋าวที่จะปั้นแต่งได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี
เพราะการยกระดับการจัดการศึกษาอาศัยการลงทุนลงแรงในระยะยาวของทุกภาคส่วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากจะมีการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม รวมถึงเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาแล้ว ยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้สังคมรับรู้ว่า ความยากจนทางการเรียนรู้นั้นกัดกร่อนสังคมได้รุนแรงเพียงใด เมื่อตระหนักว่าการอ่านได้ไม่ดีเมื่อถึงวัยไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล และการขาดแรงจูงใจทางการศึกษาไม่ใช่ความบกพร่องของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภาระที่ทุกสังคมต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของผู้คนในสังคมเท่านั้น การยกระดับการจัดการศึกษาจึงจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะในท้องถิ่นอันใกล้ หรือในระดับกว้างไกลเช่นประชาคมโลก