การปล่อยไอเดียเจ๋งๆ สู่ห้องเรียนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากขาดกลไกสำคัญที่สุด อย่างคุณครูทุกท่าน แล้วอะไรจะเป็นเครื่องมือทำให้ครูและเด็กๆเกิดความสนใจ สนุกสนานในชั้นเรียน
นะโม ชลิพา ดุลยากร แห่งเพจ Inskru (อินสครู)
นะโม ชลิพา ดุลยากร แห่งเพจ Inskru (อินสครู) พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ได้พูดถึงเทคนิคการสอนที่ตอบโจทย์ด้านความแตกต่างหลากหลายในห้องเรียน ว่า เมื่อเรารู้ว่าเลิร์นนิง สไตล์ ของเด็กมีหลายแบบ บ้างตอบสนองผ่านการฟัง บางคนตอบสนองผ่านการแสดงออก หรือบางคนตอบสนองผ่านภาพ เมื่อนั้นเราก็ต้องออกแบบห้องเรียนให้เป็นพื้นที่กิจกรรมที่เข้าถึงเด็กทุกคนได้ โดยครูจะต้องเป็นผู้จัดการศึกษาให้ห้องเรียนมีสไตล์การสอนที่ครบถ้วนกับความหลากหลายของศิษย์
เราพบว่ายิ่งเรามอบโจทย์การทำงานที่เป็นคำถามปลายเปิดให้เด็กมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งทำให้เขาได้แสดงความสามารถที่เขามี ที่ตรงกับตัวตนกับเขาได้มากขึ้น เช่นการให้โจทย์นักเรียนแต่งเพลงเกี่ยวกับสูตรเคมีเป็นการบ้าน
วิธีการนี้จะกระตุ้นความสนใจได้เฉพาะเด็กที่ชอบเรียนรู้ผ่านการแต่งเพลง แต่ถ้าเราเปลี่ยนโจทย์เป็นทำยังไงก็ได้ให้เขาแสดงให้เรารู้ว่าเขารู้ โจทย์ก็จะกว้างพอให้เด็กได้ค้นพบวิธีทำที่เขาต้องการ เช่นเด็กอาจชอบเล่นเกมส์มาก
เขาก็จะออกแบบเกมส์ที่ทำให้เพื่อนๆ เล่นแล้วได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาเรียนไปด้วย
เจ้าของเพจ Inskru แชร์ความคิดต่อไปว่า ทีนี้ครูจะรู้ได้ยังไงว่าเด็กแต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหน ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับครูในการใช้เวลาต้นคาบ หรือคาบเรียนแรกของเทอมทำความเข้าใจกับเขา แล้วเราจะออกแบบการเรียนรู้ได้ตอบโจทย์เขายังไง ซึ่งวิธีการก็สามารถทำได้หลากหลาย ยิ่งเราทำให้เกิดสไตล์การสอนที่มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำให้ถึงเด็กเข้าถึงบทเรียนได้มากขึ้น
“มีครูคนหนึ่งเขาให้เด็กเติมข้อความในวันแรกของการเปิดเทอม ว่าอยากเห็นห้องเรียนเป็นยังไง หรือครูอีกคนเขาใช้วิธีเอาหนังสือเรียนมาเปิดดูว่ามีเรื่องอะไรที่เด็กจะต้องเรียนในเทอมนั้น แล้วก็ให้เด็กระดมไอเดียผ่านโพสท์อิท ว่าเขาสงสัยหรือสนใจอะไรเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นคำถามบ้าๆ บอๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับในหนังสือเรียนเลยก็ได้ แต่ครูเขาจะพยายามสโคปเรื่องว่าเมื่อเด็กนึกถึงเรื่องนี้ เขาจะคิดถึงอะไร ครูก็จะเอาวัตถุดิบตรงนี้มาออกแบบเป็นบทเรียน ฉะนั้นแผนการสอนที่เตรียมไว้เขาก็ไม่ได้ใช้ แต่เป็นการปรับจากตัวเด็กมากกว่า ออกแบบตามตัวผู้เรียนจริง ๆ ฉะนั้นมันก็ต้องมีช่องทางที่ทำให้รู้ว่า ผู้เรียนต้องการอะไร เรื่องนี้สำคัญ เพราะ ‘เราจะต้องดึงวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้เขา มาจากตัวเขาเอง” นะโมเผย
นะโมเล่าอีกว่า วิธีการนี้เป็นการสร้างบทเรียนความรู้บนพื้นฐานความหลากหลาย สามารถทำได้ในเด็กทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย เด็กทุกคนต้องมีสิ่งที่ตัวเองสนใจ หากเราทำให้เขาบอกความต้องการของตัวเองได้ ทำความเข้าใจเขาได้ ตรงนี้มันจะช่วยลดความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละกลุ่ม เช่นเด็กในเมืองกับเด็กต่างจังหวัด เพราะเราต้องไม่ลืมว่าแม้ลักษณะของโรงเรียนจะแตกต่าง แต่เด็กทุกคนเขาจะต้องมีเป้าหมายในชีวิต มีความสนุกและความสนใจที่ไม่เหมือนกัน
“เด็กที่อยู่บนดอยเขาก็มีความต้องการในชีวิตอย่างหนึ่ง เด็กในเมืองก็อีกอย่างหนึ่ง พอเรารู้ตรงนี้ เราดึงส่วนหนึ่งของความฝันของเขาออกมาเพื่อออกแบบเป็นบทเรียน แล้วส่งผ่านการเรียนรู้ให้ย้อนกลับไปที่ตัวเขา มันก็ทำให้คาบเรียนนั้นเกี่ยวพันกับชีวิตของเขาได้มากขึ้น”นะโมทิ้งท้าย