สอศ. ร่วมมือ กสศ. และธนาคารโลก เสริมสร้างทักษะทางสังคมและอารมณ์ในอาชีวศึกษา ยกระดับศักยภาพแรงงานไทยรับมือศตวรรษที่ 21

สอศ. ร่วมมือ กสศ. และธนาคารโลก เสริมสร้างทักษะทางสังคมและอารมณ์ในอาชีวศึกษา ยกระดับศักยภาพแรงงานไทยรับมือศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และธนาคารโลก (World Bank) ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแกนนำเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์

การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากผลสำรวจ “โครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand)” ภายใต้ความร่วมมือของ กสศ. ธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพบว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ยังจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มที่ เรียกว่า “ทักษะพื้นฐานชีวิต” ซึ่งประกอบด้วยทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตของแรงงานไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน

ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้  คือการกำหนดเป้าหมายสำคัญในการร่วมกันหาแนวทางเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ในสถาบันอาชีวศึกษา (SELVT) โดยได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับสากล ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Socio-Emotional Skill – SEL) และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทย ผ่านการเสริมหลักสูตรและการพัฒนาสมรรถนะสำหรับครูและบุคลากรเพื่อพัฒนาสมรรถนะแกนนำ Master Trainer ด้านแนวทางการจัดการเรียนการสอนเสริมสร้างการเรียนรู้ทาง SEL และพัฒนาเครือข่ายด้านการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ของประเทศไทย

ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย

ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สอศ. กล่าวว่า การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์สำหรับอาชีวศึกษา ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นับเป็นความต้องการเร่งด่วนในระบบการศึกษา เพราะประเด็นนี้ ส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของกำลังแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศไทย และถือเป็นความท้าทายอีกส่วนหนึ่งของแรงงานไทย ในการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ด้านการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ 

“งานวิจัย Adult Skills Assessment in Thailand ทำให้เราทราบว่า ไม่สามารถละเลยความสำคัญของทักษะทางสังคมและอารมณ์ได้ socio-emotional skills หรือ soft skills ได้ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว ได้วัดใน 5 ส่วน คือ 1. การมีส่วนร่วมกับคนอื่น 2. ใส่ใจผู้อื่น 3. การทำงานเพื่อเป้าหมาย 4. การจัดการอารมณ์ 5. การค้นหาสิ่งใหม่ และระบุอีกว่า ในขณะนี้ ทักษะที่มีความสำคัญในการส่งเสริมกลุ่มแรงงาน คือ ข้อ 1. การมีส่วนร่วมกับคนอื่น ความสามารถในการเข้ากันและสร้างความสัมพันธ์ กับผู้อื่น และ ข้อ 5. การค้นหาสิ่งใหม่ ความสามารถในการขยายมุมมองความคิด หาความรู้ใหม่ และเข้าใจมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งทักษะเล่านี้ ทางรายงานวิเคราะห์ว่ามีความสำคัญในการช่วยให้ผู้คนได้รับการจ้างงาน และประสบความสำเร็จในสถานที่ทำงานในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการบูรณาการหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ SEL ไม่ใช่แค่การพัฒนาสติปัญญาทางอารมณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและอาชีพ เพื่อรับมือกับความท้าทาย และมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย”

ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในบริบทของโรงเรียนอาชีวศึกษา การบูรณาการ SEL เข้ากับหลักสูตร และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 1 ในตัวชี้วัดที่ควรระบุอย่างชัดเจน และสนับสนุน หลักการด้านการศึกษายุคใหม่ VASK ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน 

การประชุมครั้งนี้ คือการช่วยกันเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ในสถาบันอาชีวศึกษา (SELVT) โดยโครงการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับสากลในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทยผ่านการเสริมหลักสูตรและการพัฒนาสมรรถนะสำหรับครูและบุคลากร เพื่อแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาการฝึกอบรม online course module ที่จะนำเข้าสู่ระบบ hrd training และแนวทางปฏิบัติสำหรับการอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าครูและบุคลากรอาชีวศึกษาเข้าใจ และพัฒนาสำหรับการเสริมสร้างทักษะทางสังคมและอารมณ์ของกำลังแรงงานในอนาคต

“ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิด Master Trainer ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อขยายผลให้เห็นว่าเรื่อง SEL ที่เรากำลังร่วมมือกันพัฒนาขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมาสเตอร์เทรนเนอร์จะช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ให้กับวิทยาลัยนำร่อง 56 แห่ง โดยแบ่งการสอนเรื่องนี้ในวิทยาลัยนำร่องออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกสอนโดยใช้สอนวิธีแบบออนไลน์ และแบบออนไลน์บวกกับ on site  และนำผลการสอนมาวิเคราะห์และเก็บข้อมูลการวิจัยว่าการสอนแบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่า ก่อนนำเนื้อหาทั้งหมดไปเผยแพร่ผ่านช่องทางของสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อขยายผลไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะเชื่อมโยงไปที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ ทั้ง 433 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชน 444 แห่ง ให้ทุกสถานศึกษาเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และส่งต่อไปให้คุณครูอาชีวะนำเรื่องจุดเน้นทั้ง 5 ด้านไปสู่ห้องเรียน ทุกวิชาจะบูรณาการเรื่องนี้ไปสู่การเรียนการสอนต้องปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ร่วมกันต่อไป” 

(กลาง) โคจิ มิยาโมโตะ

คุณโคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่าการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2567 ซึ่งได้เชิญทีมแกนนำ Master Trainer มาร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งชี้แจงและวางแผนการเชิงปฏิบัติเพื่อพัฒนาแกนนำเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของสถาบันอาชีวศึกษา และพัฒนาความสามารถของผู้ฝึกสอนทีมแกนนำ ให้สามารถถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติระดับนานาชาติที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เรื่อง SEL และสามารถนำไปใช้ในสถาบันอาชีวศึกษาของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ธนาคารโลกตระหนักว่า ภาคส่วนอาชีวศึกษาของเรานั้นได้ทำงานเรื่อง SEL มาก่อนหน้านี้แล้ว ธนาคารโลก และ กสศ. เข้ามาช่วยให้เกิดกลไกการเรียนการสอนเรื่องนี้ที่เข้มแข็งขึ้นยิ่งขึ้น และเป็นการทำงานที่ครบถ้วนรอบด้านทั้งระบบ เราจำเป็นต้องลงทุนในเรื่อง SEL เพราะจากผลการศึกษาพบว่าตลาดแรงงานและสังคม จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญเรื่อง SEL เพราะเห็นได้ชัดว่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน และเมื่อมีทักษะเรื่อง SEL ที่เข้มแข็งขึ้นแล้ว การเพิ่มทักษะทางการเรียนรู้ที่เป็นวิชาการหรือวิชาชีพ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น”

คุณโคจิ กล่าวว่าแวดวงการศึกษาทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ กับทักษะทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน และถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาทักษะอารมณ์สังคมในอาชีวะศึกษา ซึ่งเราได้มีการหารือกับนายจ้างมากมายหลายฝ่ายทั่วประเทศไทย และทำให้ทราบว่า หลายแห่งประสบปัญหาในการดูและทั้งแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ ๆ หรือกระทั่งวัยผู้ใหญ่ ให้มีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดี อย่างเช่น การทำงานอย่างไม่ย่อท้อเมื่อเผชิญกับปัญหาในสถานที่ทำงาน การบ่มเพราะความคิดสร้างสรรค์ หรือการปรับตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งหมดเป็นทักษะอารมณ์และสังคมหลัก ๆ ที่นายจ้างเชื่อว่า ลูกจ้างจะต้องมี

“ความคิดเห็นจากนายจ้างในหลายพื้นที่ที่เราได้รวบรวมมา ทำให้ทราบว่ากลุ่มนายจ้างมีความคาดหวังเรื่องของการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง และพบด้วยว่า สัดส่วนของแรงงานจำนวนมากไม่มีทักษาะด้านนี้ แม้กระทั่งในระดับต่ำสุด  1 ใน 3  ของเยาวชนและแรงงาน ขาดทักษะการพัฒนาเครือข่ายด้านการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ตัวเลขนี้จึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเรื่องนี้ และเชื่อว่าโครงการและการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะมีส่วนในการช่วยเหลือการเรียนระดับอาชีวะเป็นอย่างมาก”

(ซ้าย) ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า จากข้อค้นพบจากการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand) เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาที่ทาง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำรวจและวิเคราะห์มา พบว่า กลุ่มประชากร 15 – 64 ปี มีช่องว่างในทักษะพื้นฐานชีวิต ซึ่งเป็นสมรรถนะที่กลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี เพื่อเผชิญกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 

รายงานฉบับดังกล่าวยังพบอีกว่า ประมาณร้อยละ 65 และร้อยละ 74 ของกลุ่มประชากรวัยแรงงานยังต้องการเพิ่มสมรรถนะในด้านการรู้หนังสือเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 ในช่องว่างเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องน่ากังวลโดยเฉพาะเมื่อได้พิจารณาด้านทักษะที่จำเป็นที่มากกว่าความรู้ทางด้านวิชาการ และทางด้านสายอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ข้อค้นพบจากการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ปี 2567 กลุ่มประชากรอายุ 15 – 64 ปี ที่ กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบช่องว่างทางทักษะพื้นฐานชีวิต ซึ่งถือเป็นสมรรถนะที่กลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี ทำให้ กสศ. ธนาคารโลก และ สอศ. ริเริ่มการพัฒนาแกนนำผู้บริหารสถานศึกษา ครูในสถานศึกษาอาชีวศึกษาและการบูรณาการหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ โดยจะนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับสากลในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ และพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับนักศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของไทยเพื่อเป็นตัวแบบในการทำงานและจะมีการประเมินผลลัพธ์ในระดับสากลอีกด้วย” คุณธันว์ธิดากล่าว