อาชีพเชฟ อาจจะเป็นอาชีพของใครหลายคน เช่นเดียวกับ สุกัญญา ขันสวะ หรือ ‘ฮิปเตอร์’ นักศึกษาชั้น ปวส.1 คหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน ที่อยากมีโอกาสทำงานในห้องครัว คอยทำอาหารให้ลูกค้า หรือมีร้านอาหารเล็กๆเป็นของตัวเองสักครั้งในชีวิต
สุกัญญา ดีกรีนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผู้หลงใหลรสชาติอาหารไทยและชื่นชอบการทำอาหารตั้งแต่เด็กจนโต ศึกษาตำรับตำราทำอาหารจากห้องเรียน ยามว่างยังเปิดดูวิธีการทำผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะรายการ “มาสเตอร์เชฟประเทศไทย” (MasterChef Thailand) อีกตัวอย่างรายการทำอาหารที่เด็กคนนี้ใช้เป็นแรงผลักดันตัวเอง เพื่อนำไปสู่ ‘เชฟมือทอง’ ในอนาคต
แววเชฟอาหารเริ่มเฉิดฉายตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ปวช. สุกัญญา มักเป็นตัวแทนแผนกคหกรรมลงแข่งขันทำอาหารอยู่ประจำ คว้ารางวัลสร้างชื่อเสียงให้สถานศึกษาจนโด่งดังเป็นที่ยอมรับ เช่น รางวัลชนะเลิศ ระดับสถานศึกษา, รางวัลชนะเลิศ ระดับจังหวัด,รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับภาค
อีกรางวัลที่สุกัญญารู้สึกภาคภูมิใจที่สุด รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับชาติ เป็นการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ประเภทวิชาคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีการศึกษา 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ณ จังหวัดสุราษฏร์ธานี จากการทำเมนูแสร้งว่ากุ้งปลาดุกฟู ขนมจีนน้ำพริก และตบท้ายเมนูลูกชุบ
“ส่วนตัวถนัดทำอาหารไทยมากที่สุด เช่น แกงเขียวหวาน ขนมจีน ฯลฯ ยิ่งช่วงเรียนต้องฝึกฝนทำอาหารอย่างสม่ำเสมอ” สุกัญญาบอกความถนัด
สุกัญญา พาย้อนเล่าก่อนได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงว่า ช่วงเรียนชั้นปวช.1-3 หลังเลิกเรียนประมาณ 3 โมง ต้องรีบไปรับจ้างขายของที่ตลาดค่าจ้าง 100 บาท เสร็จจากขายของไปรับจ้างเฝ้าร้านล้างชามก๋วยเตี๋ยวได้วันละ 120 บาท ประมาณ 3 ทุ่มไปรับจ้างคัดของเก่าต่อ แล้วกลับเข้าบ้านอีกครั้งประมาณ 5 ทุ่ม ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำงานอยู่ในห้าง big c แผนกอาหาร ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 39 บาท ชีวิตทำแบบนี้มานาน 3 ปีจนส่งเสียตัวเองเรียนจบชั้น ปวช.
“จริงๆ จะไม่เรียนต่อ ปวส.แล้ว เพราะหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ไหว เงินที่ได้มาตอนทำงานไม่เหลือสักบาท เราทุ่มลงไปกับตอนเรียน ปวช. หมดเลย เงินบางส่วนต้องใช้จ่ายดูแลยายด้วย ส่วนพ่อไม่รู้ว่าเป็นใครหนูไม่เคยเห็นหน้า แม่เพิ่งเสียชีวิตไปประมาณปีกว่า” สุกัญญาระบุ
สุกัญญา เล่าอีกว่า อาจารย์จึงมานั่งคุยอยากให้กลับมาเรียนต่อ หลังทราบว่าจะหยุดเรียนอยู่แค่ชั้น ปวช. วันนั้นครูบอกว่ามีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. คุณสมบัติเราก็ตรงกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของทุนนี้ วันนั้นมาจนถึงวันนี้เราได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง ได้กลับเข้าสู่รั้วสถานศึกษาเหมือนเพื่อนอีกหลายคน ถ้าไม่มีทุนการศึกษาคงทำได้เพียงอย่างเดียวคือหยุดเรียน
“ตอนนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าถ้าเรียนจบ ปวส. แล้วไม่มีทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรี อาจต้องพักเรียน 1 ปี ออกไปทำงานเก็บเงินแล้วกลับมาสมัครเรียนใหม่ เนื่องจากส่วนตัวคาดหวังไว้อยากเป็นครูสอนทำอาหาร หรือเชฟอาหารในอนาคต” นักเรียนทุนฯ ระบุ
ก่อนจบบทสนทนา สุกัญญา บอกว่า ถ้าเรียนจบแล้วอาหารเมนูแรกที่อยากทำให้ยายทานคือเมนู ‘สลัดไก่อบ’
เช่นเดียวกับ ปรวิทย์ แซ่จาง หรือ ‘ว่าง’ นักศึกษาชั้น ปวส.1 คหกรรม สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน ฝันอยากเป็นดาราเรียนคณะนิเทศศาสตร์หวังปูทางเข้าสู่วงการบันเทิง สุดท้ายชีวิตพลิกผันด้วยฐานะทางบ้านลำบาก จนต้องเบนเข็มชีวิตตัวเองสู่การเรียนคหกรรมทำอาหาร จนตอนนี้ชื่นชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ กลายเป็นความฝันที่ต้องตะกายชีวิตสู่ ‘เชฟอาหาร’
ปรวิทย์ เป็นนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขทุนทุกอย่าง หลังจากเรียนจบชั้นม.6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน ทำให้ต้องตื่นตัวเรียนรู้การเรียนสายอาชีพมากกว่าเพื่อนที่เรียนสายอาชีพในระดับ ปวช.มาก่อนหน้านี้
“ทำอาหารก็เข้าวงการบันเทิงได้เหมือนกัน หนูเชื่ออย่างนั้น ทุกวันนี้เห็นมีรายการทำงานอาหารที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงหลายอย่างเหมือนกัน ถ้ามีรายการแข่งขันทำอาหารจะลองลงแข่งดู อยากเรียนรู้ประสบการณ์ว่าตื่นเต้นขนาดไหน” นักเรียนทุนฯ กล่าว
ปรวิทย์สารภาพว่า ฝีมือการทำอาหารยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอาหารประเภทต้ม ตุ๋น นึ่ง ที่ต้องตั้งฝึกฝนให้หนักกว่าเดิม ส่วนประเภททอด และผัด อันนี้พอทำได้ การทำอาหารทำแล้วมีความสุข เป็นศิลปะ ทั้งการจัดหน้าตาอาหาร ลีลาการปรุง ทุกอย่างต้องใช้ความตั้งใจ นอกจากอาหารอร่อยแล้วการบริการพูดคุยกับลูกค้าต้องใส่ใจด้วย ทำให้ลูกค้าที่มาทานอาหารรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกับเรา
“ขอขอบคุณทุนนี้ที่เข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษา ตอนแรกคิดว่าคงต้องไปทำงานรับจ้างปลูกผัก ปลูกพริก เหมือนสมัยก่อน ในเมื่อได้รับโอกาสเลยตั้งใจว่าหลังเรียนจบ ปวส. จะเรียนปริญญาตรีต่อทันทีต้องไปถึงให้ได้ โดยใช้เงินออมเงินที่เก็บไว้จากทุนการศึกษาที่ได้รับ” ปรวิทย์แชร์ความรู้สึก