วานนี้ (2 พ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร จัดประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 เรื่อง “ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำสร้างคุณภาพประชาธิปไตย (Bridging the Inequality Gap and Nurturing Quality of Democracy)” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อให้ได้ข้อเสนอสำหรับขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประชาธิปไตยไทยที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการเป็นวิทยากรห้องย่อยที่ 4 ในหัวข้อเรื่อง “เพิ่มคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาสังคมเสมอภาค” ว่า เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย เปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน โดยปฏิญญาจอมเทียน (Jomtian Declaration) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ประเทศอาเซียนเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน อีกด้านหนึ่งคือความเสมอภาคทางการศึกษากับคุณภาพประชาธิปไตย ซึ่งผู้ใช้กลไกประชาธิปไตย ทั้งการเลือกตั้ง การแสดงออกทางความคิด การแก้ไขปัญหาด้วยกลไกประชาธิปไตย โดยเกิดจากการนำความรู้ ทักษะ มุมมอง เกิดจากกระบวนการทางการศึกษาทั้งสิ้น ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีโอกาสทางการศึกษา การใช้สิทธิและประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคได้อย่างไร ดังนั้น ทิศทางการเพิ่มคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาสังคมเสมอภาคจะดีขึ้นได้ การศึกษาก็ต้องมีความเสมอภาคก่อน
ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า นโยบายหลักประกันเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้เกิดการผลักดันให้มี กสศ.เป็นกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังที่กล่าวในปี 1990 ปฏิญญาจอมเทียนเป็นจุดเริ่มต้น กว่า 30 ปีที่การศึกษาเพื่อปวงชนเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่ โดยในปี 2020 ประเทศไทยจะจัดงานครบรอบ 30 ปี และใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย SDG 4 หรือไม่ ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนรายงานสรุปผลงานเด่นของโลกในรอบ 5 ปีแรก ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการศึกษา (SDG4) พบบทเรียนที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใน 6 ด้าน ได้แก่ 1)มากกว่าโอกาสทางการศึกษา คือการไปให้ถึงการเรียนรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Beyond Access) 2)มากกว่าการเรียนรู้ทั่วไป คือการไปให้ถึงการเป็นพลเมืองโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Beyond Basics) 3)มากกว่าการศึกษาในโรงเรียน จะต้องไปให้ถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาปรับทักษะให้เท่าทันโลก (Beyond Schooling) 4)มากกว่าระบบการศึกษา คือการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคี นอกระบบการศึกษาเพื่อการพัฒนากําลังคนที่ยั่งยืน (Beyond Education) 5)มากกว่าประเทศ จะต้องไปให้ถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติ (Beyond Countries) 6)มากกว่าค่าเฉลี่ย จะต้องไปให้ถึงความเสมอภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Beyond Averages) ฉะนั้น ความเสมอภาคทางการศึกษา ในกลุ่มเด็กที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยากที่สุด จึงแก้ด้วยวิธีการเดิมไม่ได้ ต้องใช้วิธีการทำงานใหม่ที่ใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“ทุกมิติของความเสมอภาค หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อเราได้ข้อมูลที่เป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย โดย กสศ.มีเป้าหมายใน 10 ปี ข้างหน้าที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในกลุ่มเด็กนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ รวมถึงเด็ก เยาวชนที่ออกนอกระบบการศึกษา ทุกช่วงวัย จำนวน 4.3 ล้านคน ซึ่งจากการที่ กสศ.ได้สร้างนวัตกรรมการคัดกรองเด็กยากจน ยากจนพิเศษผ่านสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า isee โดยได้ติดตามนักเรียน จำนวน 600,000 คน พบผลลัพธ์ความสำเร็จ ร้อยละ 98 เด็กกลับมาเรียนในระบบ ซึ่งสิ่งที่ค้นพบมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาอย่างไม่มีเหตุผล เด็กบางคนไม่มาเรียนเพราะขาดปัจจัยในเรื่องเสื้อผ้า อาหาร เงิน อื่นๆ โดย กสศ.ได้นำข้อมูลที่ได้ติดตามมาจัดทำเป็นแผนที่ประเทศไทย จะเห็นการกจายตัวของกลุ่มเด็กที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากนักการเมืองได้นำข้อมูลเหล่านี้ มาเป็นนโยบายในการหาเสียง จะถือเป็นการช่วยกันขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น ถ้าประชาชนได้รับการศึกษาที่ดีและทั่วถึง ก็จะเป็นประชาชนที่มีความสามารถในการเสียภาษีเพื่อนำมาเป็นปัจจัยในการพัฒนาประชาธิปไตย สู่ความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว