“ลับแล ไม่แลลับ” ความร่วมมือโอบอุ้มเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์
สร้างโมเดลการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“ลับแล ไม่แลลับ” ความร่วมมือโอบอุ้มเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างโมเดลการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ “ลับแล…ไม่แลลับ” กลไกโอบอุ้มคุ้มคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดอุตรดิตถ์ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้โมเดลพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ และศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จังหวัดอุตรดิตถ์

ที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนในจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างโอกาสทางการศึกษา ต่อยอดงานในพื้นที่ไปสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout อันเป็นนโยบายรัฐบาลในการพาเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา ให้กลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต พร้อมวางแนวทางพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สร้างหลักประกันโอกาสในการเข้าสู่การศึกษา ไม่หลุดซ้ำ มีทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและข้อจำกัดแตกต่างกัน

(กลาง) ดร.เมตตา แสวงลาภ

ดร.เมตตา แสวงลาภ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความตั้งใจที่จะจัดการศึกษาที่ครอบคลุมความต้องการของเด็กในพื้นที่ พร้อมทั้งพยายามหามาตรการมาช่วยทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งยังตกหล่นอยู่ ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นด้วยโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้

“จังหวัดอุตรดิตถ์มีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความต้องการของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัด ตั้งใจที่จะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในปีการศึกษา 2568 ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง“โดยที่ผ่านมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 ได้ติดตามการทำงานของศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งดูแลโดยครูติ๊ก ชัชวาลย์ บุตรทอง เพื่อหาช่องทางในการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมและพัฒนากลไกที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยสร้างโมเดลให้พวกเขากลับมาเรียนได้อย่างมีความสุข และกลับมาสู่สังคมได้ต่อไป” ดร.เมตตา กล่าว

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ. พยายามหาจุดสำคัญของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายในการพยายามค้นหาว่าจะทำอย่างไร ที่จะออกแบบระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นและความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกัน

“กสศ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคมตามมาตรา  12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะสถานประกอบการ ภาคเอกชน นักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และชุมชน ในการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้พวกเขามีโอกาสได้กลับมาเรียนตามความสนใจและความถัด พร้อมทั้งมีวุฒิการศึกษารองรับสำหรับนำไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยเฉพาะชุมชน มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนรูปแบบการศึกษาที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ โดยโมเดลสำคัญที่ได้จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคมจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ ศูนย์นี้ ไม่เพียงแต่สามารถโอกาสทางการเรียนรู้ได้ แต่ยังสามารถตอบโจทย์เรื่องของการสร้างกลไกให้เด็กและเยาวชนที่เข้ามาเรียนกับศูนย์กลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง

“กลไกในเรื่องนี้ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเด็กและเยาวชนที่ต้องไปอยู่นอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่ มักจะเป็นผู้ที่สูญเสียในเรื่องนี้ ซึ่งการสร้างให้กลับมามองเห็นในส่วนนี้ ถือเป็นพลังสำคัญที่ดึงเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กลับมาสู่การเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วีระเทพ กล่าว

ชัชวาลย์ บุตรทอง

นายชัชวาลย์ บุตรทอง หรือ ครูติ๊ก ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม กล่าวว่า ศูนย์การเรียนของเราซึ่งเราเรียกตัวเองว่าโรงเรียน 4 ตารางวา เป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เยาวชนนอกระบบการศึกษาและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่น ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนซึ่งมีความหลากหลายมีความพร้อมและศักยภาพที่แตกต่างกัน

“การจัดการเรียนการสอนของศูนย์ เป็นการพยายามสร้างหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อโอบรับกับเด็กทุกคนที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน เรามองว่า หากเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบได้อีกครั้ง เพราะเด็กกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่กลัวห้องเรียน หากบังคับให้กลับมาเรียนแบบเดิม ก็อาจเสี่ยงหลุดซ้ำซ้อนได้ จึงจำเป็นต้องช่วยพวกเขาหาเส้นทางการศึกษาให้กับตัวเองใหม่ โดยต้องไม่ตีกรอบว่าต้องกลับมาเรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

“การจัดการศึกษาของเรา เป็นการจัดโดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทำงานร่วมกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ ค้นหาตัวและพยายามเข้าให้ถึงตัวเด็ก ๆ ในทุกพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาและสร้างความไว้ใจ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับส่วนราชการในจังหวัด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำงานความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุตรดิตถ์ เครือข่ายผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ ที่ทำหน้าที่ดูแล เด็กเยาวชนตั้งแต่ต้นทางก่อนหลุดจากระบบการศึกษา ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกของพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์”

“ในปี 2564 มีข้อมูลระบุว่า มีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปี ประมาณ 9,069 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่ เด็กกลุ่มนี้มาจากหลายพื้นที่ ทั้งจากชุมชนห่างไกลและชุมชนแออัด ส่วนใหญ่มีปัญหาความยากจน บางครอบครัวมีปัญหาความรุนแรงในเด็กและปัญหายาเสพติด พวกเขาส่วนใหญ่ เป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ปฏิเสธระบบโรงเรียน

“โจทย์การทำงานของเรา คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งชุมชน ครอบครัว มีส่วนช่วยกันสร้างขึ้น ให้กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถช่วยฟื้นฟูให้เด็กยินดีที่จะกลับเข้าสู่ระบบ โดยแต่ละฝ่ายช่วยเขาหาเส้นทางที่ตรงกับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน เราช่วยกันทำให้ท้องถิ่นเป็นพลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ไว้รองรับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน มีภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยกันเสริมแรงหนุนจนเกิดพื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน ช่วยกันพาเยาวชนกลับมาเป็นเป็นกำลังในการดูแลท้องถิ่น” ครูติ๊กกล่าว

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า เมื่อเห็นตัวเลขเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1.02 ล้านคนทั่วประเทศ หลายพื้นที่อาจเกิดความวิตกกังวลว่า จะจัดการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือเด็กจำนวนดังกล่าวได้อย่างไร แต่สิ่งที่เห็น จากโมเดลการทำงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความต้องการของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้มองเห็นโอกาสในการจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งแม้ในภาพรวมจะมีตัวเลขเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

“กสศ. พยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เกิดกลไกดูแลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มาออกแบบแนวทางที่สอดคล้องกับกลไกที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถสร้างพลังของความเชื่อมโยงในการทำงานให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ เกิดเป็นคำตอบระดับชุมชน ที่สามารถนำไปขยายความไปสู่กรอบทำการทำงานในระดับประเทศได้” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว

ภัทระ คำพิทักษ์

นายภัทระ คำพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า โมเดลโอบอุ้มคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์ คือกลไกที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของการทำงานที่สอดคล้องกันของการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ

“พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสร้างบทเรียนในการจัดการเรียนรู้ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประสานการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สอดคล้องกัน เกิดเป็นโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งสมควรที่จะถูกนำมาขยายสเกลให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน ดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่จนเกิดโมเดลที่สามารถผลักดันการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และสามารถถ่ายทอดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดประโยชน์และเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้แก่ชุมชนและพื้นที่อื่น ๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. สนับสนุนมาโดยตลอด” นายภัทระทิ้งท้าย