เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นสำหรับสถานศึกษานำร่อง ปีการศึกษา 1/2567 ร่วมกับตัวแทนครูในเขตพื้นที่การศึกษา 30 เขต จาก 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจแนวคิดและหลักการดำเนินงานช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อระดับชั้น ม.3 ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้น ม.4 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ซึ่งเป็นความร่วมมือ 4 ภาคส่วน ได้แก่ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น
นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า “ทุนเสมอภาค” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่ช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนมากกว่า 1.8 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา
ตลอดระยะเวลา 5 ปี กสศ. มีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การลงนามความร่วมมือเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ โดยผ่านเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้น รวมจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน
จากการติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษ ชั้นรอยต่อที่จบ ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 ไม่เรียนต่อ ม.4 หรือ ปวช.1 ในปีการศึกษา 2563 จำนวนร้อยละ 20 เมื่อติดตามไปถึงระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2566 พบว่ามีนักเรียนยากจน – ยากจนพิเศษที่จบชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2562 เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือระบบ TCAS เพียงร้อยละ 12.46 เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษาต่อสำหรับน้อง ๆ กสศ. จึงสนับสนุนทุนเสมอภาคโครงการ ม.ปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาชั้น ม.4 และ ปวช.1 เป็นการนำร่องใน 7 จังหวัด
“เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคสำหรับนักเรียนระดับที่สูงกว่าภาคบังคับเป็นเรื่องสำคัญ กสศ. มีการติดตามนักเรียนทุนเสมอภาคทุกคนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 ถึง 2567 โดย กสศ. จะดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Research & Innovation) ร่วมกับ สพฐ. ในพื้นที่นำร่อง โดยหลังจากนี้ กสศ. จะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการหารูปแบบการช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อ ม.4 หรือเทียบเท่าที่เป็นภาพรวมของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป”
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2567 กสศ. ได้เตรียมจัดสรรทุนการศึกษา 6,000 บาทต่อคนต่อปี (ภาคเรียนละ 3,000 บาท) จำนวน 5,000 ทุน คุณสมบัติผู้สมัครขอรับทุน คือเป็นนักเรียนสัญชาติไทยที่ได้รับทุนเสมอภาคชั้น ม.3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 มีรายชื่อในฐานข้อมูลระบบ https://cct.eef.or.th และประสงค์ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง
“ทุนการศึกษา 6,000 บาทนี้ เป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา หมายถึง ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียน ค่ามอบตัวในการเรียน ค่าครองชีพระหว่างเรียน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพื่อการศึกษาอื่น ๆ โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประจำตัวประชาชนของนักเรียน และมีเงื่อนไขว่านักเรียนที่ได้รับเงินทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 จะต้องอยู่ในระบบการศึกษา มีอัตราการมาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และได้ศึกษาต่อระดับ ม. 5 หรือ ปวช.2”
สำหรับปฏิทินการดำเนินงาน กสศ. จะประกาศรายชื่อนักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.3 ที่มีสิทธิ์สมัครขอรับทุนเพื่อให้คุณครูบันทึกแบบขอรับส่งเสริมการศึกษาต่อ ผ่านระบบสารสนเทศ https://cct.eef.or.th ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2567 และมีกำหนดจัดสรรทุนเสมอภาคปีการศึกษา 1/2567 งวดที่ 1 จำนวนเงิน 3,000 บาท ในวันที่ 29–30 เมษายน 2567 และงวดที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2/2567 ต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @cctthailand หรือติดต่อ โทรศัพท์ 02-079-5475 กด 1