กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. พร้อมด้วย นายสิทธิพล พหลทัพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี นางสุทิสา สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา
จ.ราชบุรี ผู้แทนอาสาสมัคร 3 พลัง (อพม./อสม.อำเภอโพธาราม) และคุณสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาเยี่ยมชมกลไกกระบวนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน ผ่านกรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากการทำงานมาหลายปีในจังหวัดราชบุรี เริ่มเห็นว่าหน่วยงานในพื้นที่เริ่มมีความเข้าใจที่ชัดเจนเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยยึดปรัชญาการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้เด็กเป็นตัวตั้ง หมายถึงการนำการศึกษาเข้าไปถึงเด็ก ไม่รอให้เด็กฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อมาเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งนี่คือโอกาสสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าสู่การศึกษาได้ เป็นตัวอย่างที่ดีว่าโครงการ Thailand Zero dropout จะสำเร็จระดับชาติได้ ต้องเริ่มจากโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาที่ตั้งใจและเข้าใจแบบนี้ เพราะถ้าขาดส่วนนี้ คนทำงานส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าครู ผู้ปกครอง หรืออาสาสมัครต่าง ๆ ก็ย่อมไม่ได้รับแรงสนับสนุน และเข็มทิศนำทางในการนำเด็กกลับมา
สำหรับภาพใหญ่ในส่วนของจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ ตัวเลขที่พบช่วงปลายปี 2566 คือ 1.02 ล้านคน ซึ่งด้วยการทำงานกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มต้นในจังหวัดราชบุรี ทำให้วันนี้การทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นนโยบายระดับชาติ ตรงนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าภาคเอกชนขยับเข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐ มาทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จะเป็นการจุดประกายไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ เริ่มจากจังหวัดหนึ่งแล้วกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ
“ตอนนี้เรามีข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศเป็นรายบุคคล ทำให้เห็นว่าแต่ละจังหวัดมีเด็กราว 1% จากฐานจำนวนประชากรอยู่นอกระบบการศึกษา ทั้งนี้ถ้าซูมเข้าไปดูเป็นรายอำเภอของจังหวัดราชบุรี จะเห็นว่าอำเภอโพธารามแห่งเดียวมีเด็กกลุ่มนี้ถึง 1,183 คน ซึ่งจำนวนนี้น่าจะใช้เวลาราว 1-2 ปีทำให้เป็นศูนย์ได้ แล้วถ้าไปดูบางอำเภอจะเห็นว่ามีไม่ถึง 100 คน ส่วนในอำเภอเมืองหรืออำเภอสวนผึ้งที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรแฝงและกลไกอื่น ๆ ที่ซับซ้อนกว่า ก็อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่เราเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการทำงานลงพื้นที่เพื่อค้นหาเด็กและพากลับมาสู่การเรียนรู้นั้น จะทำให้ภารกิจ Zero Dropout นั้นเป็นไปได้ โดยการใช้คนทั้งหมู่บ้านพาเด็กกลับมาเรียนคือเครื่องมือสำคัญ ซึ่งถ้า Mindset นี้ส่งต่อไปในพื้นที่อื่นได้ เป้าหมายที่ กสศ. ตั้งใจจะทำงานกับแสนสิริตามช่วงเวลาใน MOU ที่เหลืออยู่ คือจะสแกนเด็กให้พบแล้วพากลับมาให้ได้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อกลับมาได้แล้ว เด็กแต่ละคนก็จะใช้เวลาต่างกันไปในการกลับสู่การเรียนรู้” ดร.ไกรยส กล่าว
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีครั้งนี้ คณะทำงานได้ลงสำรวจจนพบสองกรณีของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จึงอยากชวนมองว่าปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดออกไปไม่ได้มีแค่เรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ยังมีมิติทับซ้อนอื่น ๆ เช่นปัญหาสุขภาพ ครอบครัว ดังนั้นคำว่า Zero Dropout ของเรา Zero ขั้นแรกเลยต้องเป็นการ ‘พบตัว’ ค้นหาให้เจอแล้วพากลับมาก่อน ส่วนจะมีการเรียนรู้แบบใดไว้รองรับ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมต่าง ๆ ซึ่งเรามีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเช่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หรือโรงเรียนมือถือไว้รองรับ
“เด็กในพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่พบในเทอม 1/2567 จำนวนประมาณ 10,000 คน มีตัวเลข 13 หลักที่ยืนยันได้ว่าสามารถกลับเข้าเรียนได้แล้ว 2,384 คน แต่ในเทอมถัดไปเราจะมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาอีก เช่นเด็กที่อายุจาก 2 เป็น 3 ขวบถึงวัยเข้าเรียนแต่ยังไม่ได้เรียน หรือมีเด็กที่จบช่วงชั้นหนึ่งแล้วไม่ได้เรียนต่อ ตรงนี้เรามีระบบที่จะเช็กได้แล้วว่าในทุกรอบเทอมหรือรอบปี มีเด็กจำนวนนี้เท่าไหร่ จะเห็นว่าเราสามารถใช้พลังคนในพื้นที่เพื่อค้นหาป้องกันและช่วยส่งต่อเด็กไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้นได้ ตรงนี้ถือเป็นตัวอย่างว่ากระบวนการทำงานของเราเป็นระบบมากขึ้น แล้วไม่ใช่แค่ที่ราชบุรีอย่างเดียว แต่นโยบายนี้โมเดลนี้กำลังกระจายไปที่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย” ดร.ไกรยส กล่าว
นายสิทธิพล พหลทัพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี กล่าวว่า ระดับชั้นมัธยมศึกษาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสูงที่สุด โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ 1.สภาพความพร้อมของครอบครัว และ 2.พฤติกรรมการเรียน และจากข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีเด็กช่วงชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีปัญหาอ่านออกเขียนไม่ได้กว่า 1,800 คน นับเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่ส่งผลกระทบระยาวต่อเด็กที่นำไปสู่การติด 0 ,ร,มส, เหมือนกันทั่วประเทศ เด็กบางคนติด 0 ,ร,มส, สะสม จนหนีออกจากโรงเรียนและไม่กล้ามาโรงเรียน สุดท้ายหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาดังกล่าวทาง สพม. ได้ให้นโยบายชัดเจนกับโรงเรียนในสังกัดว่า เมื่อเด็กไม่สามารถอยู่ในห้องเรียนได้จะทำอย่างไร ?
“ดังนั้นเมื่อเด็กมาหาเราไม่ได้ เราก็ต้องไปหาเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรูปแบบใดก็ตาม เช่น เด็กป่วยต้องรักษาตัว โรงเรียนก็นำใบงานไปให้ทำโรงพยาบาลได้ ฯลฯ อย่างน้อยให้จบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเป็นใบประกอบวิชาชีพ หรือเรียนต่อ เช่น ตัวอย่างของโรงเรียนเนกขัมวิทยา ที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพราะเด็กหลายคนมีปัญหาหลากหลาย ดังนั้นเมื่อโรงเรียนทราบปัญหาแล้วจะทำอย่างไรต่อ แนวทางการแก้ปัญหาที่ให้ทุกโรงเรียนดำเนินการคือ การใช้การศึกษาที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตเด็ก เช่น นำประสบการณ์การทำงาน การใช้ชีวิตของเด็กมาผนวกกับการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อเทียบเคียงกับหน่วยกิตและจบการศึกษาได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้ดำเนินการขยายผลทำกับทุกโรงเรียนในสังกัด สพม.ราชบุรี เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน การเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน หรือ “It takes a village to raise a child” นายสิทธิพล กล่าว
คุณสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากจุดแรกเริ่มเราจับมือกับ กสศ. ทำโครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน เราคุยกันว่าเป็นเรื่องของการสร้างกลไกจังหวัดในพื้นที่หนึ่ง เพื่อเป็นต้นแบบ ซึ่งเรายังนึกไม่ออกว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่สามปีผ่านไป ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ได้อัปเดตข้อมูลและการทำงาน เรามีความเข้าใจมากขึ้นว่ากลไกที่เราได้พูดกันไว้ตั้งแต่ต้นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่จับต้องได้ มีอาสาสมัครที่คอยติดตามเด็ก ซึ่งเราทราบดีว่าแต่ละเคสไม่ง่าย วันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมว่านอกจากเรามีกลไกที่ดีแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการสร้างรูปแบบการค้นหาดูแลเด็ก รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ มารองรับ คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจคือความ ‘เข้าใจ’ บริบทปัญหา ว่าการทำงานด้านการศึกษา ต้องมีการลงลึกไปถึงครอบครัว สังคม ชีวิต และเป็นการบอกเล่ากับสังคมว่ากว่าจะทำให้เด็กหนึ่งคนกลับสู่การเรียนรู้ได้ เราต้องบูรณาการทุกฝ่ายมาทำงานไปด้วยกัน สุดท้ายขอแสดงความชื่นชมคณะทำงาน ที่ช่วยกันสร้างกลไกขึ้นมา จนเป็นพื้นฐานให้เกิดการขยายผล และหวังว่าภาคเอกชนอื่น ๆ จะเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ และพร้อมขยับตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน Zero Dropout
“คิดว่าเมื่อโครงการระหว่าง กสศ. กับแสนสิริ จบลงตามระยะเวลาแล้ว จะบรรลุตามเป้าประสงค์ที่วางไว้แต่แรก คือเด็กนอกระบบในจังหวัดราชบุรีลดลงเป็นศูนย์ และโครงการนี้จะเป็น Sandbox ที่ทุกภาคส่วนเห็นว่าการทำงานอย่างมีรูปแบบและมีข้อมูลมาช่วยผลักดัน ทุกฝ่ายที่ทำงานจะเห็นโจทย์งานบนพื้นฐานเดียวกัน ทำให้งานง่ายขึ้น และทำให้คนภายนอกโดยเฉพาะภาคเอกชนเห็นว่ามีหลักฐานความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง อธิบายได้ และจะเป็นแรงจูงใจให้หลายฝ่ายอยากเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไปด้วยกัน” คุณสมัชชา กล่าว