เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ noble PLAY เพลินจิต กรุงเทพฯ – ตัวแทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ร่วมแถลงข่าว ‘33 ปี ซูเปอร์จิ๋ว ส่งต่อความฝันให้น้องได้เรียน’ พร้อมเปิดงานกิจกรรม ‘Super Art Charity’ นิทรรศการและงานประมูลผลงานศิลปะ จากรายการ Super 10 และ Super 100 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมที่รายการ Super 10 อัจฉริยะพันธุ์จิ๋ว และ Super 100 อัจฉริยะเกินร้อย จัดขึ้นเพื่อระดมทุนบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ให้กับ กสศ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤต และเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ หรือ ‘พี่ซุป’ พิธีกรรายการ Super 10 และ Super 100 กล่าวว่า กว่า 3 ทศวรรษของการทำรายการ ตั้งแต่ ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ จนถึงรายการ ‘Super 10 อัจฉริยะพันธุ์จิ๋ว’ และ ‘Super 100 อัจฉริยะเกินร้อย’ ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและสร้างพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจบนเวทีแห่งโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันทุกความฝันให้โลดแล่น และเปี่ยมด้วยพลัง ด้วยความเชื่อว่า ‘เด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ’ โดยตลอดมาทางรายการได้เจอกับน้อง ๆ เป็นจำนวนมาก และเมื่อได้ลงรายละเอียดในเรื่องราวของชีวิต ก็พบว่ามีเด็กเยาวชนไทยส่วนหนึ่ง ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยจากการให้ ‘ทุนความฝัน’ ผ่านการแสดงความสามารถในรายการ ทำให้สามารถส่งต่อน้องๆ ให้ไปต่อทั้งในด้านการศึกษา และเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิตได้ราว 700 คน ในจำนวนนี้มีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว 29 คน
อย่างไรก็ตาม ตลอดการทำงานของรายการ Super 10 และ Super 100 ยังคงมีคำถามที่ว่า “แล้วเด็กอีกมากมายที่เราไม่เจอเขา จะมีทางใดที่จะช่วยน้อง ๆ ได้บ้าง’ จนทางรายการได้มีโอกาสพบกับ กสศ. ที่เป็นหน่วยงานซึ่งดูแลด้านการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มขาดแคลนยากไร้ทั้งที่เสี่ยงหลุดจากระบบ และหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว จึงเป็นต้นทางของความคิดในการระดมทุน เพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานที่ทำงานกับน้อง ๆ กลุ่มนี้โดยตรง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสของการส่งต่ออนาคตเด็ก ๆ ได้มากขึ้น และเป็นที่มาของการจัด 3 กิจกรรมต่อเนื่อง คือ
1.กิจกรรม ‘Super Art Charity’ หรือนิทรรศการและงานประมูลผลงานศิลปะ จากรายการ Super 10 และ Super 100
2.กิจกรรม ‘Super 10 Cup’ มหกรรมฟุตบอลการกุศลของแข้งจิ๋วจาก Super 10 และศิลปินดารานักกีฬาชั้นนำ ซึ่งจะจัดในวันที่ 17 ธันวาคม 2566
และ 3.กิจกรรมวิ่งการกุศล ‘Super 10 run’ ในวันที่ 21 มกราคม 2567
วิวัฒน์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ
ประการแรกคือข้อมูลที่ได้รับจาก กสศ. ระบุว่า เงินทุก 10,000 บาท จะช่วยเหลือน้องๆ ได้ 1 คน ทางรายการจึงตั้งเป้ายอดประมูลงานและยอดบริจาคไว้ที่ 3 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเด็กอย่างน้อย 300 คน
ส่วนประการที่สอง คือทางรายการต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคมรู้จัก กสศ. มากขึ้น เนื่องจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้เรามองว่าเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ของการสนับสนุนและสร้างโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้น้อง ๆ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต และมีอนาคตที่ดีต่อไป โดยหลังจาก 3 กิจกรรมผ่านไป ผู้สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็ยังสามารถสนับสนุนน้อง ๆ โดยตรงผ่าน กสศ. ได้ทุกเวลา โดยพิธีกรรายการ Super 10 และ Super 100 ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ผมเชื่อว่าการส่งเสริมด้านการศึกษาเด็กคือสุดยอดที่สุดแล้ว เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยแค่เปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่ง แต่ยังหมายถึงครอบครัวของเขา และเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้นให้กับประเทศของเรา”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ครอบคลุมถึงเยาวชนในช่วงชั้นอุดมศึกษา และในเส้นทางการเรียนรู้อื่นๆ ตามศักยภาพ โดยมุ่งทำงานกับเด็กเยาวชนจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจนประมาณ 15% ของประเทศ ทั้งนี้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงช่วงวัยสำคัญที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษาระบุว่า ทุกปีจะมีเด็กจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นการสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับ และไม่ได้เรียนต่อราว 30,000 คน ส่วนกลุ่มที่สามารถผ่านไปสู่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ได้ จะไปหลุดจากระบบอีกครั้งตรงรอยต่อช่วงชั้นอุดมศึกษาหรือ ปวส. อีกราว 120,000 คนต่อปี เท่ากับว่าเมื่อรวมจำนวนเด็กเยาวชนทั้งหมดที่ทยอยหลุดออกไปจากการศึกษา ประเทศไทยจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากระบบการศึกษาถึง 150,000 คนในทุก ๆ ปี
“ภารกิจประการหนึ่งที่สำคัญของ กสศ. คือผลักดันให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ มีโอกาสทางการศึกษาทั้งในระบบ และได้พัฒนาตนเองในเส้นทางอื่น ๆ บนพื้นฐานความหลากหลายทางศักยภาพของเด็ก อาทิ ศิลปะ ดนตรี หรือ กีฬา ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สามารถต่อยอดไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนั้นงานสำคัญที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเราต้องร่วมกันสร้างแรงบันดาลให้เด็กเยาวชนทั่วประเทศได้เห็น ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่ทางเดินเพียงทางเดียว แต่คนทุกคนพัฒนาศักยภาพในตัวเองให้สุดทางได้บนเส้นทางที่หลากหลาย และต้องทำให้น้องๆ เชื่อมั่นว่าทุกทางที่เลือกเดินมีปลายทางรองรับ สามารถใช้ปลดล็อคตัวเองออกจากกับดักความยากจน จนกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และเปลี่ยนแปลงครอบครัวตนเองได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางนี้เป็นสิ่งที่รายการซูเปอร์จิ๋วทำต่อเนื่องตลอดมา และเป็นสาเหตุของความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับรายการซูเปอร์จิ๋ว ในวันนี้”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น ในการสร้างและพัฒนาระบบการศึกษาที่มีทางเลือก ซึ่งเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องมุ่งไปยังทางเดียวกัน แต่จะเป็นการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ การค้นหาและค้นพบความสามารถ และนำทักษะที่มีในเด็กแต่ละคนมาขัดเกลาให้เกิดศักยภาพสูงสุด กิจกรรมนี้จึงแฝงนัยยะหนึ่งที่จะส่งไปถึงสังคมไทยว่า มีเส้นทางที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากมาย ในการพาเด็กคนหนึ่งไปสุ่จุดที่เรียกว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ และเป็นการยืนยันถึงความหมายของ ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’ ที่จะนำพาประเทศไทยให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
***ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรม ‘33 ปี ซูเปอร์จิ๋ว ส่งต่อความฝันให้น้องได้เรียน’ ทั้งการประมูลภาพงานศิลปะจากน้อง ๆ กิจกรรมฟุตบอลการกุศล Super 10 Cup และ กิจกรรมวิ่งเพื่อการกุศล Super 10 Run เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ โดยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของทุกกิจกรรมได้ที่ Facebook Fan Page: Super 10 ซุเปอร์จิ๋ว และ ซูเปอร์ 100 คลิก