เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมวุฒิสภาในวาระพิจารณาเรื่องด่วน รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการรายงานในรอบ 3 เดือน ระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ
โดย นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย
1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10
2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่า ร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40
3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50 – 75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36
4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14
ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวถึงการปฏิรูปด้านการศึกษาไว้อย่างมีนัยสำคัญว่า “ได้มีการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียน กสศ. ทุนเสมอภาคเพิ่มเติม ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19 ) รวมถึงโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในภาคเรียนที่ 1 /2563
นอกจากทุนเสมอภาค กสศ. ยังจัดสรรทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงให้แก่เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น สำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและไม่อาจจะควบรวมเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ ตามความถนัด และพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้
รวมถึงทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ให้แก่กลุ่มนักเรียนช้างเผือกที่มีฐานะยากจนกลุ่มล่างให้มีโอกาสเรียนต่อและได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับคือ ผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้เรียนต่อ ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ตลอดจนการพัฒนาทักษะอาชีพในสาขาที่เป็นความต้องกาารของตลาด
สำหรับความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ได้แก่ 1. ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ 2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal 3. ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว 4. ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
5. ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map) 6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล 7. ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว) 8. ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม 9. ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม
10. ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม 11. ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ 12. ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)