27 กุมภาพันธ์ 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘Kick off โครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จัดโดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 10 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่นพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและแก้ไขปัญหาหรือลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ของตนเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงชัย ทองปาน อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วิลาวัณย์ หงษ์นคร นักวิชาการผู้ชำนาญการ วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า อธิบายการดำเนินงานของโครงการวิจัยในครั้งนี้ที่เน้นปฏิบัติการ (action research) ทำงานร่วมกับ อปท. โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีสัดส่วนเด็กเยาวชนยากจนและยากจนพิเศษมากที่สุด ได้แก่ อบต.ตระกาจ และ อบต.ผักแพว จังหวัดศรีสะเกษ อบต.แม่สวด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลตำบลพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เทศบาลตำบลโกตาบารู จังหวัดยะลา เทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลเมืองตาก จังหวัดตาก เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อบจ.ศรีสะเกษ และ อบจ.นครราชสีมา
ความสำคัญของการดำเนินงานร่วมกับ อปท. ในโครงการวิจัยนี้ เนื่องจากท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ จึงสามารถใช้ระบบงบประมาณ บุคลากร และดำเนินการเพื่อจัดการศึกษาได้อย่างมีเอกภาพ มีอิสระ ทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทางการศึกษากับปัญหาอื่นในชุมชนท้องถิ่นได้ เรียกได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาจากวิถีชีวิตจริงของชุมชน
งานวิจัยดังกล่าวสนับสนุนให้เกิดโครงการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา โครงการสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ โครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเนื่องมาจากภาวะการเรียนรู้ถดถอย และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาค โดยจัดสรรให้เหมาะสมกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ ดำเนินการเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 15 กันยายน 2566
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงภาพรวมปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งมีต้นตอมาตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นภายในครัวเรือนไปจนถึงระดับโรงเรียน โดยให้ข้อเสนอว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ตั้งแต่ระดับรากฐาน ผ่านการวิเคราะห์และออกแบบแนวทางตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (กิตติมศักดิ์) และรองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องเริ่มต้นจากนโยบายที่ใกล้ตัวเด็กที่สุดอย่างโรงเรียนและและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดีในการจัดการศึกษาให้มีความเป็นเอกภาพ โดยจะต้องมุ่งเป้าไปที่การทำให้ความแตกต่างทางคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาแต่ละพื้นที่เหลือช่องว่างต่อกันน้อยที่สุด
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ระบุว่า หัวใจสำคัญคือการเชื่อมโยงการศึกษาให้ตอบโจทย์กับท้องถิ่นผ่านตัวกลางอย่างโรงเรียน ประกอบด้วย Education for All คือจัดการศึกษาให้ครอบคลุม และ All for Education คือทำให้ท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียน
โดยสถานศึกษาต้องตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเด็กที่มั่นคง เข้มแข็ง อีกทั้งควรสร้างเกณฑ์วัดคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริงของเด็ก เพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงความเสี่ยงที่เด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน จะหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องเชื่อมโยงการทำงานไปสู่ระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลและจัดสรรงบประมาณให้เด็กเปราะบางได้รับการพัฒนาทั้งในและนอกระบบ รวมไปถึงการจัดการเรียนรู้ที่เข้าถึงตัวผู้เรียน ส่งเสริมการพัฒนาครู และจัดให้มีการเรียนร่วมกันของต่างพื้นที่
ดร.ไกรยส ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้ผลักดันความเสมอภาคด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นซึ่งจะสามารถเข้าถึงปัญหาได้เฉพาะเจาะจงกว่านโยบายการศึกษาจากส่วนกลาง การออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและพาเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขวงจรความจนในท้องถิ่น สามารถผลักดันให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ความต้องการของตลาด และพัฒนาให้เด็กเป็นกำลังสำคัญเพื่อกลับมาดูแลท้องถิ่นของตัวเอง
นอกจากการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วงเสวนายังกล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ในปัจจุบัน โดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ระบุว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยที่สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของเด็ก มีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพราะประชาชนจำเป็นต้องตามให้ทันชุดข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข้อเสนอจากณิชา คือการมุ่งพัฒนาทักษะจำเป็นของโลกสมัยใหม่ ได้แก่ การสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration) การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ผ่านการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยบูรณาการกับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เปิดโอกาสไปสู่การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวควรเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ทุกด้าน