อุบลราชธานี พร้อมผลักดันการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตเป็นวาระของจังหวัด
มอบวุฒิบัตรสร้างโอกาสชีวิตใหม่แก่เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

อุบลราชธานี พร้อมผลักดันการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตเป็นวาระของจังหวัด มอบวุฒิบัตรสร้างโอกาสชีวิตใหม่แก่เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อที่ 27 พฤศจิกายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดงาน “แสงแห่งโอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่ออนาคตเมืองอุบลฯ” ณ ลานกิจกรรม สุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี  รายงานผลการจัดการศึกษาและมอบวุฒิบัตรให้แก่เด็กเยาวชนในกระบวนยุติธรรมจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากศูนย์การเรียนปัญญากัลป์, สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และหลักสูตรวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี

ภายในงานได้ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนกับการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งจังหวัดอุบลราชธานี มีการผลักดันวาระการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทยชีวิต เวทีเสวนาและนิทรรศการเกี่ยวกับการศึกษาที่มีทางเลือกจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง สโมสรโรตารีศรีอุบล มูลนิธิปัญญากัลป์ เครือข่ายครูโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. เข้าร่วมกว่า 300 คน

ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากการทำงานด้านการศึกษา คือความตั้งใจของคณะทำงาน ที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการและภาคีมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของประเทศ โดยงานครั้งนี้ได้สะท้อนภาพดังกล่าว และเป็นโอกาสสำคัญว่า “ทุกฝ่ายจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้” เพราะไม่ว่าเด็กแต่ละคนจะมีความพร้อมเท่ากันหรือไม่ แต่ในฐานะหน่วยงานจัดการศึกษา เราต้องสามารถสร้างเส้นทางการเรียนรู้ที่หลากหลายรองรับสำหรับเด็กทุกคน ดังนั้นประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทุกฝ่ายนำมานำเสนอในนิทรรศการ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะทำให้เรามีทางออกในการทำให้โอกาสทางการศึกษาไปถึงคนทุกคน ซึ่งนั่นเป็นทั้งหมุดหมายของทั้งคนอุบลราชธานี และคือความหวังของประชากรทุกคนในประเทศ

ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ

จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนโยบาย Thailand Zero Dropout ด้วยเป้าหมายให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ โดยเฉพาะในเด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในนสังคม ด้วยการสร้างโอกาสเรียนรู้ พัฒนาอาชีพ พัฒนาชีวิต และเพิ่มจำนวนแรงงานคุณภาพของประเทศ จึงเกิดการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมผลักดัน ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต’ สำหรับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ

จิตติมา กระสานติ์กุล

“เป้าหมายสำคัญของงานครั้งนี้และการขับเคลื่อนสู่วาระถัดไป คือการระดมทุนและความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา โดย ‘จับคู่ความร่วมมือ’ เพื่อพัฒนาการศึกษา ผ่านเวทีและกิจกรรมต่าง ๆ โดยมี 4 หัวข้อหลักครอบคลุมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต คือ 1.การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วยนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ 2.การสร้างความเจริญงอกงามทางจิตใจผ่านการเรียนรู้วิชาชีวิต และศาสตร์แห่งจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ 3.คลื่นลูกใหม่สร้างสรรค์การเรียนรู้บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น 4.ตอบโจทย์ความต้องการสังคมด้วยพลังชุมชนและท้องถิ่น

“ซึ่งในส่วนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ศูนย์ฝึกและสถานพินิจ ได้ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษา อันเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญของการบำบัดฟื้นฟูปัญญา ทัศนคติ เพื่อนำไปสู่ทักษะการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นฐานรากของการสร้างชีวิตที่มั่นคง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษาและฝึกอาชีพ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภออื่น ๆ ศูนย์การเรียนนปัญญากัลป์ วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยปีการศึกษา 2567 มีเด็กเยาวชนเข้ารับการศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีพทั้งสิ้น 340 คน และมีผู้สำเร็จการศึกษา 234 คน แบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 37 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 12 คน และผู้สำเร็จหลักสูตรวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี 185 คน”

ศุภชัย ไตรไทยธีระ

ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ กล่าวรายงานผลการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม และนำเสนอข้อมูลสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ความตั้งใจของการจัดงานวันนี้ นอกจากมอบวุฒิการศึกษาให้แก่เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาของศูนย์การเรียน สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ และหลักสูตรวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานีแล้ว ยังเป็นการส่งเสียงไปถึงสังคมว่า ณ วันนี้ การศึกษาที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ‘เด็กเยาวชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น’ โดยข้อมูลชี้ว่าอุบลราชธานีเป็นจังหวัดนำร่อง ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน และส่งเสริมผลักดันภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือก

“การสร้างพื้นที่การศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนในทุกพื้นที่และทุกสถานะ คือวาระขับเคลื่อนของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นำมาสู่การเกิดขึ้นของ ‘Innovative Education Forum’ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในการสร้างแสงแห่งโอกาส เพื่ออนาคตของเมืองอุบลฯ ทั้งนี้นับแต่อดีตจนปัจจุบัน สภาวการณ์ของเด็กเยาวชนในจังหวัดอุบลฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคน/เดือน ที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้าสู่ภาคแรงงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตามได้มีการนำนวัตกรรมการศึกษาเข้ามาช่วยให้เยาวชนเหล่านี้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น เช่นการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีโดยอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ และยังมีความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ มารองรับ

“กสศ. ได้สำรวจข้อมูลผ่านโครงการ Thailand Zero Dropout พบว่า ในจำนวนเด็กเยาวชนเมืองอุบลฯ ราว 560,000 คน มี 19,513 คนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ใจความสำคัญคือเราจะนำเด็กเยาวชนกลุ่มนี้กลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้อย่างไร โดยนอกจากปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ ยังมีมิติของโภชนาการ สุขภาพกาย สุขภาพจิต และยาเสพติด ที่ล้วนเป็นปัจจัยให้เด็กหลุดไปจากระบบทั้งสิ้น ดังนั้น ‘จุดแข็ง’ ของการทำงานภายใต้โจทย์นี้ จึงเป็นเรื่องของความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ที่จะทำให้การศึกษาไปถึงตัวเด็ก โดย ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ ถือเป็น ‘ผู้เล่นหลัก’ และมี ‘ศูนย์การเรียน’ ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 12 ที่จะเป็นเหมือน ‘ตะแกรง’ กรองไว้อีกชั้น เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับคนที่หลุดรอดไป”

ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์การเรียนปัญญากัลป์มีหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมด 3 แผนการเรียน ได้แก่ 1.แผนสังคม-อาชีพ 2.แผนทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ (ร่วมกับมูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย) และแผนการเรียนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมคือ 3.แผนห้องเรียนหมอลำ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่ประกอบอาชีพในวงหมอลำโดยเฉพาะ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนนครพนม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

สำหรับการจัดการศึกษาโดยศูนย์การเรียนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้ที่คิดค้นขึ้นในเชิงนวัตกรรมนั้นมีความยืดหยุ่น สอดรับกับบริบทของผู้เรียน อีกทั้งตัวกฎหมายของประเทศไทยยังทันสมัย พร้อมเปิดช่องให้นักจัดการศึกษามีโอกาสนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์กับตัวเด็กจำนนวนไม่น้อยด้วยการได้รับวุฒิการศึกษา และมีช่องทางในการประกอบอาชีพ รวมถึงการเปิดไปสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ในชีวิต

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ถ้าการศึกษาไม่ปรับตัวเพื่อรองรับเด็กเยาวชนทุกคน ทุกปีเราจะยิ่งเห็นเด็กจำนวนมากทยอยหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น ‘ห้องเรียนแห่งโอกาส’ ที่มีหลักสูตรซึ่งตอบโจทย์ชีวิต เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน โดยหนึ่งปีที่ผ่านมา หลายจังหวัดที่ขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout ได้แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นผ่านนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย ช่วยลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบลงได้มาก ขณะที่ประเด็นสำคัญของการทำงานกับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา นอกจากการค้นหาตัวเด็กให้พบ คือ ‘จะทำอย่างไร’ เพื่อให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้และได้รับการส่งต่อไปในเส้นทางที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สังเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล

“ข้อเท็จจริงหนึ่งคือเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่หลุดออกมาจากระบบ จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย มีการออกแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย และสำคัญที่สุดคือต้องเป็นการเรียนรู้บนพื้นฐานความสนใจ ความถนัด และตรงกับบริบทชีวิต โดยเน้นการสั่งสมประสบการณ์ผ่านการลงมือปฏิบัติ เพื่อสุดท้ายแล้วการเรียนรู้นั้นจะพาไปสู่เส้นทางการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนได้ สามารถเติบโตและก้าวหน้าได้ และนี่คือการแก้ที่ต้นทาง ว่าถ้าเราทำให้สถาบันการศึกษาเปิดกว้าง ทำให้ศูนย์ฝึกและสถานพินิจเปิดกว้าง กำแพงต่าง ๆ ที่เคยขวางเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งไว้จากการเรียนรู้ก็จะทลายลง”