กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรับข้อเสนอ “โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567” เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรชุมชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ กิจการเพื่อสังคม สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (หน่วยเสนอโครงการ) ที่มีแนวคิดมุ่งส่งเสริมการศึกษาเพื่อส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมส่งข้อเสนอโครงการผ่านทางเว็บไซต์ของ กสศ. (www.eef.or.th) ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 16 พฤษภาคม 2567
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กำลังพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายสำคัญในการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเป็นไปได้เพื่อเด็กทุกคน และคนทุกกลุ่ม
โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จะร่วมผลักดันการสร้างตัวแบบสำคัญในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยใช้ความรู้ช่วยสร้างคน ยกระดับทักษะแรงงานด้อยโอกาส ครัวเรือนยากจนพิเศษ สร้างอาชีพให้มีรายได้บนฐานชุมชน โดยในปีนี้ โครงการฯ มุ่งเน้นมีให้มีหน่วยรับทุน ร่วมกันสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิตกลุ่มเยาวชนที่ยุติการศึกษาและประชากรวัยแรงงานนอกระบบให้ได้เข้าสู่วงจรการเรียนรู้ สอดรับนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายกรัฐมนตรีประกาศมุ่งเป้าลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 18 ปี หลุดออกจากระบบการศึกษา 1,250,514 คน ประกอบกับความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างผู้มีฐานะรวยที่สุดกับจนที่สุดยังห่างกันกว่า 20 เท่า ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความท้าทาย
“ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับครูและผู้บริหารโรงเรียน ที่อยู่ต้นทางของการเห็นเด็กหลุดจากระบบการศึกษาทุกวัน ทุกโอกาส ทุกเทอม พวกท่านทำงานด้วยจิตใจของความเป็นครู ด้วยความห่วงใย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อช่วยเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อ ก็เลยต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร ที่จะมาช่วยกันอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น และทำให้เด็กที่ทยอยออกจากระบบการศึกษาคนแล้วคนเล่า นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันเตรียมการเพื่อดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จบ ป. 4 จบมัธยม ซึ่งไม่มีทางที่จะ Upskill Reskill ได้ หากยังไม่เปิดเรื่องระบบการศึกษาทางเลือก หรือหาทางยกระดับจิตวิญญาณพวกเขาให้กลับมาเชื่อมั่นในการศึกษา
“และต้องยอมรับว่าชุมชนมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษา แต่การผลักดันให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ต้องทำงานมาอย่างน้อย 4 – 5 ปีเพื่อสร้างให้ชุมชนค่อย ๆ งอกงาม คนในชุมชนมีเงิน มีกิน มีใช้ ด้วยระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เป็นระบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับปัญหาความต้องการ ชีวิตความเป็นอยู่ ป้องกันไม่ให้คนออกจากชุมชน คนหนุ่มคนสาวไม่ต้องไปทำงานในเมือง เป็นลูกจ้างรายได้ต่ำ”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ต้องกระจายความเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด แล้วขยับเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับของประเทศด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพเรื่องการเรียนรู้ที่หลากหลาย เคารพในเรื่องสิทธิของชุมชนที่แตกต่าง ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นต้นแบบจากชุมชนต่าง ๆ ที่สามารถสร้างชุมชนนิเวศเรื่องการเรียนรู้ เกิดโมเดลที่ทำให้ชาวบ้าน กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ทำงานร่วมกับเด็กเยาวชนนอกระบบ และสามารถดึงพลังส่วนของระบบราชการอื่น ๆ เข้ามาช่วย เกิดกลไกที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดจากปัญหาต่างๆ หรือยาเสพติดได้
“ผลพวงจากการทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยโครงการ และนวัตกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ครอบครัวซึ่งเคยเป็นครอบครัวเปราะบาง ครอบครัวแหว่งกลาง กลับมาเป็นครอบครัวเติมเต็ม เป็นครอบครัวสมบูรณ์ อบอุ่น และอยู่รอด มีรายได้ มีความสุข สามารถพึ่งตัวเองได้
“กว่า 5 ปี ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สนับสนุนทุนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมและอยู่รอด เกิดการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำงานโดยใช้ความรู้ เหนี่ยวนำความร่วมมือในทุกระดับ ให้เกิดการผสาน บูรณาการ เชื่อมโยง ส่งต่อความช่วยเหลือ การเปิดรับข้อเสนอโครงการปีนี้ กสศ. หวังว่าจะได้เห็นมิติใหม่ ๆ มิติที่หลากหลาย มิติที่เป็นโจทย์จริงในการทำงานที่จะดำเนินการไปอย่างรอบคอบ ส่งผลให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาดีขึ้นได้ตามลำดับ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวเสริมว่า ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567เปิดรับข้อเสนอโครงการจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีแนวคิดการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน องค์กรเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรชุมชน มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ ฯลฯ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเยาวชนที่ยุติการศึกษา และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ โดยมุ่งมั่นว่า ชุมชนมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตกลุ่มเป้าหมายในแต่ละชุมชนได้ดี
“เราไม่อยากให้เอาหลักสูตรเป็นตัวตั้ง เพราะเชื่อว่าหลาย ๆ หน่วยงานมีหลักสูตรที่ดี แต่อยากให้ทุกท่านมองย้อนกลับ อยากให้เอาโจทย์เยาวชนที่ยุติการศึกษากับประชากรวัยแรงงานเป็นตัวตั้ง เอาความต้องการ ความสนใจ ศักยภาพของพวกเขาเป็นตัวตั้ง บวกกับชุมชน ท้องถิ่น ศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย มองหาแนวทางที่สามารถดึงศักยภาพของชุมชน ท้องถิ่น มาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ได้อย่างไร เอาหลักสูตรของท่านวางไว้ก่อนแล้วลองมองสองจุดนี้ก่อน แล้วก็ตีโจทย์นี้ด้วยกันเพื่อให้การทำงานเรื่องนี้สามารถตอบโจทย์ทั้งสองเรื่อง”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเยาวชนที่ยุติการศึกษา และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ให้กลายเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ที่มีความเข้มแข็ง โดยให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ต้องการยกระดับเรื่องการพัฒนากำลังคน
“กสศ. มีฐานข้อมูลว่าไทยมีประชากรกลุ่ม NEET (Youth not in education , employment , or training) หรือกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุ 15 -24 ปี ที่ไม่เรียน ไม่ทำงาน แต่อยู่บ้านเฉย ๆ มากถึง 1.3 ล้านคน เราไม่อยากให้ประเทศสูญเสียกำลังคนรุ่นใหม่ อยากให้พวกเขาเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม หรือประเทศด้วยกัน และอยากให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานได้ทำงานกับกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ยังตกรางอยู่ ทำอย่างไรให้เขาได้รับโอกาสมีงานทำ เพราะหากสามารถทำให้พวกเขามีทักษะที่สูงขึ้น ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการเรียนรู้ ก็จะทำให้การทำงานถึงอายุเฉลี่ย 60 ปีหรือมากกว่า กลายเป็นกำลังสำคัญ จึงอยากให้ช่วยกันคิดว่าจะพัฒนากลุ่มนี้ได้อย่างไร
“เราอยากให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ มีทักษะพื้นฐานชีวิตที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีทักษะในการอ่านศึกษาหาความรู้ได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มีทักษะดิจิทัลเพื่อจะค้นหาเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ และตีความได้ มีทักษะด้านอารมณ์และสังคม การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่ไม่ใช่แค่ทางเทคนิคอาชีพแต่ว่าทำให้นำไปต่อยอดประกอบการได้ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมาช่วยกันสร้างพื้นที่เพื่อรองรับการศึกษาตลอดชีวิตที่ไม่ใช่การเรียนรู้ไปเพื่อรู้ แต่ว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ แล้วก็นำไปสู่เรื่องการสร้างโอกาสที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ซึ่งหวังว่าจะเข้ามาร่วมในโครงการนี้ประมาณ 20,000 คนต่อปี”
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า ทุนนี้พยายามสร้างนิเวศการเรียนรู้ใหม่ อันเป็นการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มาร่วมมือกันโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วก็คิดแผนงานหนุนเสริมซึ่งกันและกันผ่านการเรียนรู้ร่วมเป็นธงใหญ่ ทำงานโดยการออกแบบการเรียนรู้ที่ดูทั้งรายละเอียดของบุคคล ครอบครัว และชุมชนนั้น ๆ ว่า มีทุกข์อะไรและมีทุนเดิมอะไร นำมาวางระบบการบริหารจัดการอย่างไร
“การทำงานต้องไม่ทำอย่างโดดเดี่ยว หรือทำในระดับชุมชนอย่างเดียว อาจจะออกแบบการทำงานให้ยึดโยงโครงข่ายในหลายระดับ บางพื้นที่ก็ยึดโยงโครงข่ายในระดับตำบล อำเภอ แล้วก็ภูมิภาค การทำงานมีลักษณะของประเด็นรวม เช่น ถ้างานไหนที่ยึดโยงกับผู้พิการ ก็จะมีการสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนกันในหมู่ของ ชุมชนหรือหน่วยจัดการเกี่ยวกับผู้พิการร่วมกัน นอกจากนั้นก็จะมีประเด็นเรื่องของอาชีพก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับในเชิงระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ต้องวิเคราะห์ผู้ร่วมเรียนรู้ในพื้นที่วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมว่ามีทุนเดิมอะไรอยู่ มีทุกข์อะไร แล้วถ้าจะแก้ทุกข์อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มองหาศักยภาพของพื้นที่ มาแก้โจทย์ใหญ่ ๆ จัดระบบการเรียนรู้เพื่อเพื่อให้ เกิดความสามารถเรียนรู้และปรับตัวของคนบนเงื่อนไขปัจจุบัน เท่าทันโลกที่เปลี่ยนเร็ว เท่าทันวิกฤตการณ์รอบด้าน”
ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศสนับสนุนทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2567 ได้ ที่นี่