เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาผู้ช่วยทันตแพทย์หลักสูตร 1 ปี ปีการศึกษา 2567 ณ ห้องประชุมสุทธาสิโนบล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหาร คณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสศ. ร่วมแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ผ่านความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่ด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ 1 ปี เป็นรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตั้งแต่ปี 2563 กสศ. ได้ดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุน 1 ปี หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล/ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพ ทั้งนี้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุน 1 ปีหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล/หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ของ โดยได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม.6 ปวช. หรือเทียบเท่า มาแล้ว 6 รุ่น ในสถานศึกษา 21 แห่งใน 15 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ผลที่เกิดขึ้นจากหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถส่งเสริมผู้เรียนให้ประกอบอาชีพได้ทันทีหลังจบการศึกษา ทำให้ กสศ. ร่วมกับภาคีขยายความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและผลิตผู้ช่วยทันตแพทย์รุ่นใหม่เพื่อเข้าไปเติมเต็มในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น โดยในปีแรกนี้มีนักศึกษาจากหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจำนวน 30 คน
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ยินดีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ร่วมกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ยินดีกับนักศึกษาทุกคนที่ได้รับโอกาสเตรียมเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ สาขาผู้ช่วยทันตแพทย์มีความต้องการเป็นจำนวนมากในระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับ กสศ. ในการสร้างเส้นทางการศึกษาเพื่อไปสู่การประกอบอาชีพที่เสมอภาค สำหรับเยาวชนผู้ขาดแคลนโอกาสจากพื้นที่ห่างไกล ไม่เพียงเป็นการยกระดับผู้เรียน 30 คนด้วยหลักสูตรที่ใช้เวลา 1 ปีการศึกษาเท่านั้น หากยังหมายถึงการยกระดับรายได้ครัวเรือนของนักศึกษาทุน และเป็นการมอบบุคลากรคุณภาพคืนสู่ชุมชนสังคม ที่จะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภูมิลำเนาของตนต่อไป
“ในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอขอบคุณ กสศ. ที่ร่วมสนับสนุนหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ขอบคุณโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนโรงพยาบาลและคลินิกทันตกรรมที่ให้ความร่วมมือในฐานะแหล่งเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษา และเป็นส่วนเติมเต็มให้การฝึกอบรมเรียนรู้ของนักศึกษาในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า สามารถดำเนินไปได้ตามหลักสูตร”
ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สาขาวิชาผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2562 จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์กลางของทันตแพทยสภา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้ช่วยทันตแพทย์ สำหรับภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นหลักสูตรทวิภาค แบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษาในระยะเวลา 1 ปี มีการสอนทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติกับคนไข้จริง และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรองคุณวุฒิให้ปฏิบัติงานราชการได้ตามอัตราเงินเดือนที่กำหนด
“หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ มช. เป็นหลักสูตรที่มีคณาจารย์ภาควิชาการและเจ้าหน้าที่จากคลินิกต่าง ๆ ในสังกัดโรงพยาบาลทันตกรรม รวมถึงอาจารย์พิเศษจากภายนอกร่วมจัดการเรียนการสอน ตลอด 5 ปีที่เปิดหลักสูตร มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 157 คน เฉลี่ยปีละ 30 คน ขณะที่ในปีการศึกษา 2567 นี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เพิ่มเติมรูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. จำนวน 30 คน มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยหลักสูตรระยะสั้นที่นำไปใช้ประกอบอาชีพได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา รวมถึงสามารถนำทักษะความรู้และประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ได้รับไปใช้ต่อยอด ทั้งในการศึกษาต่อและการเรียนรู้ศาสตร์ทันตกรรมเฉพาะทางในระดับที่สูงขึ้นต่อไป”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนความตั้งใจในการพัฒนาหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานแก้ไขสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ข้อมูล ณ ปัจจุบันชี้ว่า การก้าวข้ามรอยต่อสู่การศึกษาที่สูงขึ้นหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นเวลา 4-6 ปี หลักสูตรระยะสั้นจะเป็นบันไดไปสู่การประกอบอาชีพและมีรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
“ข้อแม้ของการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นคือไม่ใช่ทุกสถาบันที่มีความพร้อม ขณะที่คณะทันตแพทย์ มช. ถือเป็นสถาบันที่มีความพร้อมต่อจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เปิดโอกาสให้ กสศ. เข้ามาทำงาน ในความร่วมมือครั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเปรียบได้กับ ‘ประภาคารแห่งความหวัง’ ของน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้สนใจงานด้านสาธารณสุขและต้องการเรียนรู้ในเวลา 1 ปี เพื่อจะนำทักษะประสบการณ์ไปตอบโจทย์การมีรายได้ได้ทันที อีกทั้งโดยตัวหลักสูตรนี้ยังเอื้อให้ผู้สำเร็จการศึกษาทำได้ทั้งงานประจำ และมีช่องทางหลากหลายในการมีรายได้เสริม”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์มาแล้วหลายรุ่น รวมผู้สำเร็จการศึกษาราว 1,500 คน ซึ่งเกือบ 100% สามารถเข้าสู่เส้นทางอาชีพได้ทันทีหลังจบการศึกษา กสศ. จึงเชื่อว่าด้วยหลักสูตรระยะสั้นที่ออกแบบร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถานประกอบการในครั้งนี้ จะสร้างผลตอบแทนทางสังคม และเป็นต้นแบบให้ กสศ. นำไปพัฒนาต่อยอดในฐานะต้นแบบการทำงานได้ในพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต
“วันนี้น้อง ๆ พบกับความสำเร็จก้าวแรก เมื่อได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ขอให้น้อง ๆ มีความภาคภูมิใจและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ เพิ่มทักษะความสามารถ เป็นบุคลากรสายวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีสมรรถนะสูง พร้อมประกอบอาชีพที่ตนใฝ่ฝัน
“และจากวันนี้ไปอีกประมาณ 1 ปี จะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตของทุกคน ที่จะค้นหา เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง ไขว่ขว้าความฝันของแต่ละคน โดยน้อง ๆ จะมีครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และแหล่งเรียนรู้ที่จะคอยหนุนเสริม ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อเติมเต็มทักษะความสามารถ นอกจากนี้ยังมีพี่ ๆ จาก กสศ. ที่จะคอยสนับสนุนดูแลส่งเสริมในด้านต่าง ๆ รวมถึงรุ่นพี่และเพื่อน ๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจากทุกสถาบัน ที่จะคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กัน เพื่อให้ทุกคนประสบความสำเร็จในเส้นทางการศึกษาและการประกอบอาชีพในวันข้างหน้า”
ผศ.ทพ.ยุทธการ อัศว์ไชยตระกูล ประธานหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุกคนที่ได้เข้ามาเป็นครอบครัวคณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ถือเป็นหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อม พัฒนา และฝึกฝนเฉพาะทางในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อผลิตผู้ช่วยทันตแพทย์ที่มีคุณภาพเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาดแคลนในสายงานสาธารณสุขของประเทศไทย หลักสูตรนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่ภาควิชาการและการฝึกฝนเท่านั้น หากยังต้องการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมด้วยความรู้ ทักษะ จริยธรรม มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดวิชาชีพ และตอบสนองความต้องการของสังคมได้เป็นอย่างดี
“ปีนี้เป็นปีแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มช. รับนักศึกษาสาขาวิชาผู้ช่วยทันตแพทย์มากถึง 59 คนต่อรุ่น เราหวังอย่างยิ่งว่าทุกคนจะผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในเวลา 1 ปี จนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เพราะข้อเท็จจริงหนึ่งของวิชาชีพนี้คือในแต่ละปีเราผลิตคนไม่เคยพอ ขณะที่หากเปรียบเทียบกับแนวโน้มการเติบโตของสายงาน สามารถพูดได้ว่าประเทศไทยมีคลินิกทันตกรรมเกิดขึ้นใหม่ในแทบทุกสัปดาห์ ฉะนั้นผู้ช่วยทันตแพทย์จึงเป็นสายงานที่ตลาดต้องการบุคลากรมากที่สุดสาขาหนึ่ง นอกจากนี้ความพิเศษของหลักสูตรคณะทันตแพทย์ มช. ยังหมายถึงนักศึกษาทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิและการดูแลสวัสดิภาพเช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคน ไม่ว่าบริการด้านสาธารณสุข หรือบริการด้านอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้สำหรับนักศึกษา รวมถึงในภายภาคหน้าทางคณะทันตแพทย์ยังมองถึงการต่อยอดหลักสูตร เพื่อสร้างบุคลากรตอบสนองการเติบโตของคณะทันตแพทย์ ที่จะเปิดสอนในสาขาวิชาใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนและเฉพาะทางยิ่งขึ้น”
คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวเสริมว่า เยาวชนที่เข้าสู่หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนี้ ถือเป็นนักศึกษา 30 คน จาก 2,500 คน ที่ กสศ. จัดสรรทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงในปีการศึกษา 2567 ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มุ่งสนับสนุนเยาวชนที่เรียนจบ ม.3 และ ม.6 ที่ต้องการเรียนรู้ในสายอาชีพชั้นสูง ขณะที่หลักสูตร 1 ปีที่เปิดในสาขาผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นสาขาที่เปิดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อรองรับคนที่ตั้งใจมีอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว
“การได้นักศึกษาทุนทั้ง 30 คน เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามที่จะส่งมอบโอกาสของคณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งดั้นด้นเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อค้นหาน้อง ๆ จนทุกคนได้เข้าสู่การศึกษาในวันนี้ จากวันนี้จึงอยากให้น้อง ๆ ทุ่มเทและตั้งใจพัฒนาตัวเอง เพื่อไปให้ถึงปลายทางที่หวังไว้ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า การที่ทุกคนคือนักศึกษาทุนรุ่นแรกของคณะทันตแพทย์ มช. ยังมีความหมายสำคัญในฐานะต้นแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องในรุ่นต่อไปว่า แม้แต่ละคนจะมีเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ราบเรียบ หรือแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคใดมาก็ตาม แต่ทุกคนสามารถมานะพยายาม และใช้การศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองได้”