เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ดร.จักรพรรดิ วะทา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และ ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้จัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เข้าพบ พล.ต.ต.ยงเกียรติ มนปราณีต รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) พล.ต.ต.กัญชล อินทราราม ผู้บังคับการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปี 2563-2566 และหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ขยายผลการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของโรงเรียนต้นแบบไปสู่โรงเรียนเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่องในปี 2567
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าการทำงานระหว่างกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) กับ กสศ. เริ่มความร่วมมือ MOU มาตั้งแต่ปี 2562 ในการสนับสนุนครู นักเรียน และโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีการทำงานที่สำคัญดังนี้
- สนับสนุนทุนเสมอภาค จากโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ConditionalCashTransfer:CCT) ให้แก่นักเรียนโรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ 220 แห่ง มีนักเรียนโรงเรียน ตชด. กว่า 80% ได้รับทุนเสมอภาค
- การพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กสศ. ทำงานบนฐานแนวคิดเรื่องการรับฟังและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับครูและผู้บริหารโรงเรียน ตชด. ผ่านงานวิจัยการพัฒนาสมรรถนะครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะครูจากหน้างานจริงโดยใช้เทคนิค On the Job Training ปัจจุบันมีโรงเรียน 68 แห่งเข้าร่วม การพัฒนาศักยภาพครู ตชด. ให้มีโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาประถมศึกษา เพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพ ต่อยอดการ Upskill และ Reskill ในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ จำนวน 143 นาย
- ติดตั้งเครื่องมือและกลไกหนุนเสริมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ สนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศคุณภาพ หรือ Q-Info ให้โรงเรียน ตชด. 68 แห่งมีระบบบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว ใช้เทคโนโลยีลดความซ้ำซ้อนของงานเอกสารและการประเมิน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้บูรณาการเชิงรุก (Active Learning) เพิ่มทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียน
“กสศ. ให้ความสำคัญกับการทำงานสนับสนุนโรงเรียน ตชด. เพราะเราเชื่อว่าโรงเรียน ตชด. จัดการศึกษาให้กับกลุ่มประชากรที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ที่ผ่านมา กสศ. ได้สนับสนุนโรงเรียน ตชด. หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องทุนการศึกษา และการพัฒนาสถานศึกษาด้วยเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนทรัพยากร เช่น คอมพิวเตอร์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้ครูโรงเรียน ตชด. มีความพร้อมทำงานในมิติลดความเหลื่อมล้ำ
“แม้ในเชิงอุดมการณ์ครูโรงเรียน ตชด. จะทำงานด้วยความเสียสละในพื้นที่ห่างไกล แต่ด้วยความเป็นตำรวจมาทำหน้าที่ครู ทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีคุณวุฒิวิชาชีพครู เลยอาจขาดทักษะหรือองค์ความรู้ที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียน” ดร.ไกรยส กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงานพัฒนาครูและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปี 2567 กสศ. จะยังคงสนับสนุนทุนเสมอภาคตามโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ConditionalCashTransfer:CCT) ให้แก่นักเรียนโรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ สนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้แก่ครูโรงเรียน ตชด. เพิ่มอีก 120 ทุน ขยายผลการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบไปยังโรงเรียนเครือข่ายที่มีครู ตชด. กำลังศึกษาต่อ 51 แห่ง และต้องการสนับสนุนการใช้งานระบบสารสนเทศคุณภาพ หรือ Q-Info ให้กับโรงเรียน ตชด. ครบทั้ง 220 แห่ง ซึ่งการผลักดันเหล่านี้ต้องการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริหาร บช.ตชด. และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงระบบ
พล.ต.ต.ยงเกียรติ มนปราณีต รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) กล่าวว่า บช.ตชด. มีความยินดีที่จะร่วมสนับสนุนทำงานกับ กสศ. เนื่องด้วยทั้งสององค์กรมีเป้าหมายเรื่องการจัดการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสอดคล้องกัน โดยมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน ตชด. ทุกแห่ง เพื่อให้เห็นความพร้อมและความขาดแคลนสำหรับสนับสนุนการใช้งานระบบ Q-Info ซึ่งเสนอให้ กสศ. พัฒนาโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และจัดอบรมการใช้งานระบบกับโรงเรียน ตชด. ทุกแห่งที่ยังไม่ได้เข้าร่วมต่อไป