นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต โดย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….มีทั้งหมด 31 มาตรา อาทิ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 โดยใน มาตรา 24 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้เปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนี้กำหนดให้มีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ, มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้, มีหน่วยจัดการเรียนรู้ คือ หน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้, มีภาคีเครือข่าย, มีสถานศึกษา และมีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น
รมว.ศธ. กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา , เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ, ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ผู้พ้นวัยศึกษาในโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง, มีการยกระดับคุณภาพการศึกษา เกิดการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา และการวัดผลประเมินผลของการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมเข้ามาจัดการเรียนรู้ของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตลอดจนส่งเสริมให้การใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, เกิดกลไกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของประเทศ โดยมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้และหน่วยงานในสังกัดตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนในทุกระดับ, เกิดระบบการเทียบโอนเทียบเคียงผลการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ หรือ เพิ่มคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา และมีการกระจายอำนาจโดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
อ้างอิงข้อมูลจาก : รัฐสภา ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ‘ตรีนุช’ มั่นใจกม.ลูก 13 ฉบับเสร็จทันมีผลบังคับใช้