เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ สกร.ตำบลโนนสมบูรณ์ จังหวัดบึงกาฬ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ ‘ก.กก บึงกาฬ …ห้องเรียนข้ามขอบของคนบึงกาฬ’ เพื่อนำเสนอแผนการดำเนินงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ที่เป็นภาคีขับเคลื่อนโครงการ Zero Dropout ด้วยการสร้างระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ผ่านการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสอดรับกับคนทุกช่วงวัยในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยมีหน่วยงานระดับนโยบาย อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมด้วย ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยราชการระดับจังหวัด และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะทำงาน กสศ. ร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมเสนอแนะแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะยาว เพื่อการเดินหน้างานที่ขยายขอบเขตไปยัง 52 ตำบลในจังหวัดบึงกาฬภายในปี 2568
โดยตั้งแต่ปี 2562 สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองบึงกาฬ (สกร.เมืองบึงกาฬ) ได้ใช้พื้นที่ตำบลโนนสมบูรณ์เป็นศูนย์กลางของ ‘หน่วยพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุมน้ำโลกกุดทิง’ ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ เพื่อพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. ด้วยเป้าหมายในการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนต่าง ๆ ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยใช้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติอย่าง ‘กก’ และ ‘ผือ’ และด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่ ในช่วงเวลา 3 ปี หน่วยพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุมน้ำโลกกุดทิง ก็สามารถพัฒนาทักษะผู้ร่วมเรียนรู้และยกระดับผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐาน กลายเป็นช่องทางการสร้างรายได้ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งยังก่อตั้งเป็นศูนย์ฝึกฝนอบรมทักษะการทำงานฝีมือและผลิตสินค้าจากกกและผือ ซึ่งขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง และถือเป็นความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายพัฒนาอาชีพในชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ว่าที่ร้อยตรี พูนศักดิ์ พระรัตภูมี ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ณ จุดเริ่มต้นต้องขอบคุณทาง กสศ. ที่นำโครงการฯ เข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จนเราสามารถ ‘สร้างเมือง สร้างคน สร้างรายได้’ ตามแนวคิดการพัฒนาของจังหวัด โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่นำทรัพยากรภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดการ ‘สร้างอาชีพ’ ได้สำเร็จ
ส่วนในด้านการศึกษา บึงกาฬมีเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาราว 70,000 คน และบุคลากรราว 4,000 คนรวมทุกสังกัดการศึกษา อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังเข้าไม่ถึงโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ดังนั้นการได้รับโอกาสจาก กสศ. ที่กำหนดให้บึงกาฬเป็นจังหวัดนำร่อง Zero Dropout โดยมีเป้าหมายให้เด็กเยาวชนทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ตามแนวทางที่เหมาะสม ผ่านการตั้งต้นทำงานโดยใช้ตำบล หรือ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ ถือว่าเป็นแนวทางการทำงานสำคัญ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน และมองเห็นตัวตนของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้ชัดเจน
จากนั้นการวางแผนสนับสนุนเด็กเยาวชนและประชากรทุกกลุ่มให้เข้าถึงโอกาส ก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทำงานที่เริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ยังเอื้อต่อการทำความเข้าใจและดึงกลุ่มผู้ปกครองเข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญเพื่อทำงานร่วมกัน และนี่คือภาพรวมของการขับเคลื่อน ‘บึงกาฬโมเดล’ ที่จะขยายการทำงานเต็มรูปแบบไปยังพื้นที่ทั้ง 52 ตำบลในปี 2568
นายประเวช เหล่าประเสริฐ ผู้อำนวยการกรมส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์คือยกระดับ กศน. ให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกฎหมายได้ระบุถึง ‘การศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ซึ่งครอบคลุมการจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้เกิดนโยบายสำคัญข้อหนึ่งที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจากนี้หน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดการศึกษาจะมุ่งเน้นเรื่องการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของผู้เรียน สกร. จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการจัดการศึกษาที่ต้องทำให้ประชาชนทุกคนมีช่องทางเรียนรู้ตลอดชีวิต
“สำหรับพันธกิจของ สกร. นอกจากการจัดการเรียนรู้ให้กับประชาชนแล้ว เรายังมองไปที่การศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยึดโยงกับต้นทุนในท้องถิ่น สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้และอยู่ในสังคมได้ การจัดการของกลุ่ม ก.กก จึงเป็นตัวอย่างของการทำงานที่ทำให้ชุมชนอื่น ๆ ทราบว่า หากมีการส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ห่างไกลอย่างเป็นระบบ เราจะสามารถเพิ่มโอกาสการสร้างงานที่ยั่งยืนได้ โดยเป้าหมายของการเรียนรู้จะไม่นำไปสู่การทิ้งบ้านทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปทำงานที่อื่น วันนี้เมื่อเรามองไปยังการจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จึงเห็นว่าการออกแบบหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาเดิมและทุนทรัพยากรที่มี จากนั้นนำมาพัฒนาให้สามารถส่งต่อความรู้ขัดเกลาทักษะ จะช่วยให้ผู้เรียนนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง
“ปัจจัยสำคัญคือต้องดึงความร่วมมือจากภายนอก อย่างที่โนนสมบูรณ์ได้มหาวิทยาลัยราชภัฏ แรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน อบจ. รวมถึง กสศ. เข้ามาช่วย ซึ่งตรงนี้คือหัวใจของภารกิจว่าหน่วยงานใดหนึ่งไม่อาจทำงานลำพังได้ ทุกภาคส่วนต้องขยับไปด้วยกัน จนวันนี้เราต่างเห็นร่วมกันแล้วว่า ‘ก.กก’ ได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เป็นแหล่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเติบโตต่อไปได้อีกในระยะยาว”
นางรัศมี อืดผา ครูอาสาสมัคร สกร.เมืองบึงกาฬ และผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุมน้ำโลกกุดทิง กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2562 สกร.เมืองบึงกาฬ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลงสำรวจความต้องการและต้นทุนในพื้นที่ จนได้ออกแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจร ตั้งแต่อบรมกระบวนการปลูก ดูแลรักษา ฝึกฝนทักษะการแปรรูปกกและผือให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่นเสื่อพับ เบาะรองนั่ง หมอนอิง ที่รองจาน จากนั้นจึงเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดจำหน่าย และทักษะการทำบัญชีครัวเรือนหรือการออมเงิน โดยเบื้องต้นกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้จะเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากสองหมู่บ้านในตำบลโนนสมบูรณ์จำนวน 54 คน จนถึงปี 2563 เมื่อดำเนินโครงการไปได้ราวหนึ่งปี โครงการฯ สามารถยกระดับผู้ร่วมเรียนรู้ให้มีอาชีพจากการทอกกและผือ ทั้งยังมีการต่อยอดความสำเร็จโดยมีการติดต่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่มีกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้เพิ่มขึ้นเป็น 83 คน พร้อมได้รับรางวัล ‘บ้านหนังสือชุมชนต้นแบบดีเด่น’ และขยับไปสู่การก่อตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชน’ และ ‘ศูนย์การเรียนรู้’ ที่จะเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ในอนาคต
“จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จนนถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่สาม กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ได้ขยายผลโดยพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยมีครูภูมิปัญญาจากกลุ่มเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ในโรงเรียน (โรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ และ โรงเรียนโนนคาพิทยาคม) ตั้งแต่การปลูกกกจนสามารถเรียนรู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของ ก.กก บึงกาฬยังได้รับโอกาสให้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ good goods เพื่อจำหน่ายในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป รวมถึงทาง สกร. กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรในเรื่องการเทียบโอนความรู้ ให้ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาและรับวุฒิบัตรได้ภายใน 6 เดือน ตลอดจนการต่อยอดในเรื่องของการแปลงประสบกการณ์เป็นเครดิตแบงก์อีกด้วย”
นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ภารกิจหนึ่งของ กสศ. คือทำงานกับเด็กเยาวชนและประชากรกลุ่มเปราะบาง ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เพื่อสนับสนุนผลักดันให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือและตัวแบบต่าง ๆ เช่นที่เกิดขึ้นกับจังหวัดบึงกาฬ โดย กสศ. ได้เข้ามาเริ่มทำงานภายใต้โครงการที่หลากหลาย และด้วยความต่างของพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบหรือวิธีการที่นำมาใช้จึงแตกต่างกันไป ตั้งแต่การดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางในระบบการศึกษาผ่านทุนเสมอภาค การพัฒนาครูและสถานศึกษาใรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กให้มีคุณภาพมาตรฐาน และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ Zero Dropout หรือการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. และ 6 กระทรวงหลักภายใต้การกำกับงานโดยนายกรัฐมนตรี ได้ทำการชนข้อมูลเข้าหากัน เพื่อค้นหาตัวเลขของเด็กเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา และนำกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่มีทางเลือกและเหมาะสมกับบริบทชีวิต ทั้งนี้บึงกาฬเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาลที่จะเริ่มต้นสร้างกระบวนการค้นหาช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของจังหวัดให้ได้ภายในปี 2568
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า งานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไม่สามารถทำด้วยกลุ่มคนจากเพียงหน่วยงานเดียว แต่การดูแลคนคนหนึ่งตลอดชีวิต ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ จนถึงโอกาสทางการศึกษาและการมีงานทำ จำเป็นต้องใช้คน ชุมชน ส่วนราชการ และภาคส่วนอื่น ๆ มาช่วยกัน ภายใต้แนวทางการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันซึ่งกำหนดโดยผู้นำท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่บึงกาฬแสดงให้เห็นว่า การเริ่มต้นจากพื้นที่เล็ก ๆ ที่ตำบลโนนสมบูรณ์นั้น สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ระดับจังหวัด และกำลังจะส่งต่อไปถึงระดับประเทศได้ในที่สุด