ครม.รับทราบรายงานประจำปี 2566 กสศ.เด็กและเยาวชน 2.9 ล้านคน เข้าถึงการศึกษา พัฒนาทักษะที่มีคุณภาพ

ครม.รับทราบรายงานประจำปี 2566 กสศ.เด็กและเยาวชน 2.9 ล้านคน เข้าถึงการศึกษา พัฒนาทักษะที่มีคุณภาพ

วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปี 2566 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่ง กสศ. ได้ดำเนินภารกิจโดยมุ่งเน้นการ “ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเป็นเจ้าของ” กับภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 และแผนกลยุทธ์ของ กสศ. (ปี 2565 – 2567) โดยมีกลุ่มผู้รับประโยชน์สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาทักษะตนเองตามศักยภาพ รวม 2,909,960 คน-ครั้ง มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ภารกิจ ดังนี้

1.ภารกิจสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นการค้นหาแนวทางจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาหรือการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ดังนี้

กลุ่มผู้รับประโยชน์ ได้แก่

1) เด็กปฐมวัยและเด็กในช่วงชั้นการศึกษา ภาคบังคับ (อายุ 3 – 14 ปี) การดำเนินงาน กสศ. ร่วมกับ 6 หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษา ประกอบด้วย (1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (3) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) (4) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (5) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ (6) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงและคงอยู่ในระบบการศึกษาทั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมเด็กและเยาวชนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยจัดสรรเงินอุดหนุน ให้แก่นักเรียน จำนวน 2,839,253 คน – ครั้ง ทั้งนี้ ในภาคเรียนที่ 2/2565 พบว่า เด็กร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษานอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนำร่องใน 28 เขตพื้นที่การศึกษา

2) เยาวชนในระบบการศึกษาระดับชั้นสูงกว่าภาคบังคับ (อายุ 15 – 24 ปี) การดำเนินงาน มีการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับและส่งเสริมการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยเป็นการให้ทุนการศึกษา 3 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนที่เรียนดีมีฝีมือได้ศึกษาต่อและมีงานทำทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (2) ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพหรือทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนที่เรียนดีระดับประเทศได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ (3) ทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น ระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในเขตพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยมีผู้ได้รับทุนสะสมรวมทั้ง 3 ประเภท 9,991 คน นอกจากนี้ มีการพัฒนาต้นแบบสถาบันอาชีวศึกษา 105 แห่ง ใน 50 จังหวัด การเตรียมความพร้อมโรงเรียนปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์) ถิ่นจะไปบรรจุเป็นครู 1,269 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด และการพัฒนาต้นแบบสถาบันผลิตและพัฒนาครู 19 แห่ง ให้ตรงตามความต้องการของบริบทพื้นที่

3) เยาวชนนอกระบบการศึกษาและประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส (อายุ 15 – 64 ปี)การดำเนินงาน มีการยกระดับทักษะให้แก่กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ และมีการขยายผลการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ขยายการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จำนวน 21 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบดูแลเยาวชนนอกระบบการศึกษากรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการได้พัฒนารูปแบบการสร้างทักษะเรียนรู้สำหรับกลุ่มคนพิการ

2.ภารกิจมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง เป็นการพัฒนาตัวแบบหรือต้นแบบในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งรูปแบบกลไกการทำงานในระดับพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อลดความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้

1) การพัฒนาครู โรงเรียน และสถานศึกษา มีการดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองและการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยได้พัฒนาครู นักจัดการเรียนรู้และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 19,050 คน จากโรงเรียน 1,270 แห่ง และมีนักเรียนในโรงเรียนได้รับประโยชน์ 127,000 คน นอกจากนี้ ได้ขยายผลการดำเนินงานโดยภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต้นสังกัด ส่งผลให้มีเขตพื้นที่ต้นแบบทางการศึกษาจำนวน 21 เขต และต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเองใน 10 จังหวัด อีกทั้งได้พัฒนาสมรรถนะครู 685 คน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกับ บช.ตชด. เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ

2) การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีการพัฒนาตัวแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อให้การจัดการศึกษามีความสอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ดำเนินการมาแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย นครพนม และยะลา รวมทั้งได้พัฒนาตัวแบบระดับเทศบาล 5 แห่ง ได้แก่ (1) เทศบาลนครยะลา (2) เทศบาลนครตรัง (3) เทศบาลนครอุดรธานี (4) เทศบาลเมืองลำพูน และ (5) กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

3) การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีการจัดทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 22 ชิ้นงาน เพื่อตอบโจทย์เขิงนโยบายที่สำคัญของประเทศและมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น (1) การฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนจากภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 (2) “ห้องเรียนผู้ประกอบการ” นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทักษะอาชีพร่วมกันระหว่างเครือข่ายโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนนานาชาติ (3) ข้อเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคของการจัดสรรทรัพยากรไปยังโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน

4) การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา รวมทั้งร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนทุนการศึกษาหรือการช่วยเหลืออื่น ๆ แก่นักศึกษา จำนวน 1,780 คน และร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแบบและพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุทางสังคม ESS Help Me (Emergency Social Services) เพื่อส่งต่อข้อมูลและความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด