KFC ร่วมมือกับ กสศ. เดินหน้าโครงการ KFC Bucket Search รุ่น 2
เสริมสร้างทักษะชีวิต เติมเต็มศักยภาพให้เด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบ ด้วยหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น

KFC ร่วมมือกับ กสศ. เดินหน้าโครงการ KFC Bucket Search รุ่น 2 เสริมสร้างทักษะชีวิต เติมเต็มศักยภาพให้เด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบ ด้วยหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น

ด้วยความเชื่อของ KFC ที่ว่า “ทุกศักยภาพต้องไม่สูญเปล่า” ตรงกับภารกิจของ กสศ. ที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ “โครงการ KFC Bucket Search” จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนเด็ก ๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านการมอบโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ศิลปะ ไปจนถึงทักษะอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตในสังคมได้

จากโครงการ KFC Bucket Search ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิ KFC ประเทศไทย ที่เข้ามาทำงานร่วมกับ กสศ. ในปี 2566 ด้วยกิจกรรมนำร่อง ‘บักเกตเสิร์จคลับ คลับของเด็กนอกกรอบ’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากกรมพินิจฯ ได้เรียนรู้การพัฒนาศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดชีวิตใหม่ รุ่นที่ 1 ความสำเร็จจากน้อง ๆ รุ่นแรก นำมาสู่การก้าวต่อไปในรุ่นที่ 2 โดยขยายกลุ่มเป้าหมายเด็กนอกระบบเพิ่มเติมในกลุ่มพ่อแม่วัยใสและกลุ่มเปราะบาง

ค้นพบคุณค่ามาสู่การเปลี่ยนแปลง

กิจกรรม ‘Bucket Search Orientation Batch 2  : คลับของเด็กนอกกรอบ รุ่นที่ 2’ ซึ่งทางมูลนิธิ KFC ประเทศไทย  กสศ. กรมพินิจฯ และมูลนิธิปัญญากัลป์ ร่วมกันจัดกิจกรรมปฐมนิเทศและพัฒนาสมรรถนะ สร้างโอกาสการเรียนรู้ และสนับสนุนการศึกษาต่อให้กับเด็กนอกระบบการศึกษาในโครงการ KFC Bucket Search รุ่นที่ 2 ณ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เขตบางนา ระหว่างวันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2567 “ปุ้มปุ้ยและอเล็กซ์” ตัวแทนเยาวชนรุ่นที่ 1 ซึ่งมาช่วยดูแลรุ่นน้องในกิจกรรมนี้ บอกว่า 1 ปีที่ผ่านมาโครงการของเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตพวกเขาเป็นอย่างมาก

ปุ้มปุ้ยเล่าว่า “ครูในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนแนะนำว่า หากเรากลับมาเรียนในโครงการนี้เราจะได้ทำงานเก็บเงินไปด้วย ทาง KFC จะให้ทุนการศึกษาในการพัฒนาทักษะอาชีพ จะได้เอาไปต่อยอดชีวิต พอได้เข้ามาในกิจกรรมก็ได้ความรู้ที่ดี อยากถามอะไรก็ถามได้ โชว์ศักยภาพของเราได้เต็มที่ ได้แสดงความสามารถในการพูดนำเสนอ ได้สังเกตตัวเองว่าชอบอะไร หนูชอบงานบริการ งานบาร์เทนเดอร์”

ปุ้มปุ้ยได้รับทุนการศึกษาระหว่างฝึกงานในร้าน Bellinee’s ที่เชียงใหม่ ซึ่งเธอเคยฝันไว้ว่าอยากทำร้านเบเกอรี่ การเรียนรู้ผ่านการฝึกงานทำให้เธอมั่นใจมากขึ้นว่าจะทำความฝันให้เป็นจริงได้

“หนูให้คุณค่ากับตัวเองน้อยเกินไป หนูต้องมีคุณค่ามากกว่านี้ ความผิดพลาดทำให้เราเติบโต”

สำหรับอเล็กซ์ ซึ่งได้ออกไปใช้ชีวิตการทำงาน มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ นำประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรก มาช่วยดูแลน้อง ๆ ในกิจกรรมรุ่น 2 ด้วยความเชื่อมั่นว่าน้อง ๆ จะได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตนเองเช่นเดียวกัน

“การเปลี่ยนแปลง เราต้องสู้กับตัวเอง ต้องห้ามตัวเอง ต้องพิสูจน์ตัวเอง ห้ามตัวเองก็คือห้ามเป็นแบบเดิม ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ห้ามคบเพื่อนที่ไม่ดี เปลี่ยนแปลงตัวเองคือต้องพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็จะไม่มีความสุข อาจกลับเข้าไปอยู่ที่เดิม การที่ได้อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ทำให้ได้ทบทวนตัวเองว่าพลาดอะไรบ้าง พลาดที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พลาดที่ไม่ตั้งใจเรียน คบเพื่อนไม่ดี ผมคิดว่าการที่เราจะอยู่ได้อย่างมั่นคงคือหน้าที่การงาน การสนับสนุน กำลังใจ”

ทุกศักยภาพต้องไม่ถูกทอดทิ้ง

โครงการ KFC Bucket Search เกิดจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของคน จากแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งให้ความสำคัญในการสร้างความยั่งยืน 3 ประเด็นหลักคือ People, Planet และ Food โดยเฉพาะในเรื่องของคน (People) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ่น บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศต่าง ๆ ได้หยิบปัญหาเรื่องคนมาทำโครงการ เช่น ที่แคนาดา กลุ่มเป้าหมายคือผู้อพยพ อินเดียจะเป็นกลุ่มผู้พิการ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย KFC ประเทศไทยมองปัญหาด้านการศึกษาเป็นปัญหาหลักในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์

คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและแนวทางการทำงานของโครงการว่า

คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล

“จุดเริ่มต้นคือช่วงโควิด เห็นปัญหาน้องในร้าน ไม่ได้เรียนต่อเยอะมาก เราหาข้อมูลและพบว่า กสศ. มีวิชั่นเดียวกัน คือเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและตั้งใจจะช่วยจริง ๆ  ไม่ใช่แค่ให้ทุนแล้วจบ กลุ่มเด็กที่เราเลือกไม่มีใครมองเห็นด้วยซ้ำ เป็นที่มาของชื่อ Bucket Search คือหาเด็กที่ไม่มีใครมองเห็น ให้กลับมาสู่สังคม หาอาชีพ หาความถนัด หาฝันตัวเอง”

“กสศ. มีฐานข้อมูล ส่วนทางเรารู้ว่า ตลาดต้องการทักษะแบบไหน อาชีพอะไรที่จะรองรับหรือโอกาสที่เปิดอยู่ ต่อไปเราจะไปหา partner มาเพิ่มให้น้องได้ไปเรียนรู้ในอาชีพที่สนใจ เช่น อาชีพทำผม แต่งหน้า เราจะช่วยให้น้องทำอาชีพที่สนใจได้จริง กิจกรรมในงานปฐมนิเทศคือให้รู้ว่ามีอาชีพที่หลากหลาย ให้มีทางเลือกในชีวิตมากมาย ทุนที่ให้ในช่วงแรกเป็นน้องสถานพินิจฯ ก็มีเกณฑ์พิจารณาว่าโทษเหลือ พฤติกรรม อายุ 15-24 ไม่มีปัญหาทางจิตใจ มีความพร้อม ต้องเขียน Life Plan มาให้เรา ปีนี้เพิ่มเป็น 300 คน 150 เป็นสถานพินิจ 50 จะเป็นคุณพ่อ คุณแม่วัยใสทางภาคเหนือ (ร่วมกับศูนย์การเรียนปัญญากัลป์) อีก 50 จะเป็นกลุ่มเปราะบางในชุมชนกับทาง อปท. ที่ กสศ. มีการทำงานร่วมด้วยอยู่ โดยเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละกลุ่มแล้วขยายออกไป”

โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อน

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาการด้านกฎหมาย กสศ. กล่าวว่า โครงการ KFC Bucket Search เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นกระบวนการ

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์

“ความโดดเด่นของโครงการนี้คือ หนึ่ง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเอกชนกับภาครัฐ ที่ตอบโจทย์เขาด้วย เมื่อก่อนนี้อาจมองว่าเอกชนมีหน้าที่บริจาคอย่างเดียว ทำให้ไม่เกิดความเป็นหุ้นส่วนในการร่วมกันพัฒนาสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาครัฐไม่ต้องคิดอยู่คนเดียวว่ารู้ดีที่สุด อย่าง KFC ก็มีมุมมองของอาชีพที่หลากหลาย  รู้ว่ามีทักษะอะไรที่ผู้ประกอบการต้องการ ไม่ใช่มุมมองราชการที่ให้สอนเด็กให้เติบโตแบบนี้ แบบนี้  โครงการนี้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาในจุดที่ตนเองสนใจ เป็นการ Co-create   สอง คือเป็นโมเดลในการพัฒนาเด็กเฉพาะกลุ่ม แบบไม่ใช่ว่ามีตัวเลือกจำกัด มีกระบวนการทำให้เด็กค้นหาความสนใจ ซึ่งจะดีกว่าที่รัฐบอกว่ามีทางเลือกที่กำหนดให้ ระยะยาวเป็นทางเลือกตามความสนใจของเขาจริง ๆ โอกาสที่จะเลือกตามความสนใจมีมากกว่า”

“สำหรับโครงการนี้ กสศ. มองว่าจะต้องไปสู่ outcome ในระยะยาวให้ได้ KFC เข้ามาปีแรก 130 คน กสศ. ไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะติดตามว่าหลังจากได้งานแล้ว ยังนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้อีกหรือไม่ เราไม่ต้องการให้จบโครงการแล้วจบ เพราะสิ่งที่สำคัญคือการที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้และไม่กลับมากระทำผิดอีก ซึ่งถ้าสามารถดำรงชีวิตได้ดีก็จะไม่กลับมาทำความผิดอีก ชดเชยสิ่งที่สูญหายไป ช่วงเวลาที่ต้อง Dropout ออกจากระบบการศึกษา โครงการที่ 2 เพิ่มจำนวนจาก 130 อีก 300 สิ่งที่เราต้องการคือคุณภาพของเด็ก อนาคตของเขามากกว่าปริมาณ”

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่จะช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กและเยาวชนที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องมาอยู่ที่สถานพินิจฯ นั้น ต้องอาศัยเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกัน

“จากสถิติเด็กที่พ้นโทษออกไปได้เรียนต่อและทำงานด้วย มีร้อยละ 50 เราก็มาดูว่ามีปัญหาอะไรที่ผ่านมา ก็พบว่าเป็นเรื่องวุฒิการศึกษา คือต้องจบ ม.3 ก่อนจึงเรียนต่อได้ จึงแก้ปัญหาโดยไปคุยกับหน่วยงานฝึกวิชาชีพ เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เทคโนโลยีปทุมวัน หรืออาชีวะ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการ จิ๊กซอว์ต่อมาคือหางานให้เขา โดยประสานกับหน่วยงานที่สำคัญ เช่น เราเพิ่งคุยกับหอการค้าไทย – จีน เพราะจะมีนักลงทุนมาทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีนำสมัย เราต้องไปถามว่าต้องการคนแบบไหน เพื่อจะนำเด็กของเราไปสู่ตลาดแรงงานได้ สิ่งที่เขากังวลคือพฤติกรรม ซึ่งอยากให้เราคัดกรอง ถ้าเรารับรองได้ เขาก็ยินดีจะส่งไปสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งมีหลายประเภทกิจกรรมมาก” 

อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวถึงโครงการ KFC Bucket Search ที่มาร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมในวันปฐมนิเทศว่า “เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะออกไปใช้ชีวิตในการทำงาน และเป็นแนวทางที่กรมพินิจฯ ดำเนินการอยู่คือหาความร่วมมือกับเอกชน ที่มีความรู้ดีกว่าเราในเรื่องสายอาชีพ”