17 จังหวัด พร้อมลุย Thailand Zero Dropout ร่วมกับ กสศ. ตั้งเป้าใช้ ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่น’ รองรับเด็กทุกคน เข้าถึงโอกาสการเรียนรู้

17 จังหวัด พร้อมลุย Thailand Zero Dropout ร่วมกับ กสศ. ตั้งเป้าใช้ ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่น’ รองรับเด็กทุกคน เข้าถึงโอกาสการเรียนรู้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)จัด ‘เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับเด็กและเยาวชนและการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่’ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยเชิญภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 17 จังหวัดนำร่องขับเคลื่อนงาน Thailand Zero Dropout พร้อมหน่วยงานภาคนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นอาทิ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศูนย์การเรียน CYF ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ สมาคมศูนย์การเรียนรู้ ผู้แทนมูลนิธิเคเอฟซีประเทศไทย และหน่วยพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ.

เวทีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับสาเหตุ ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดที่ทำให้เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกรณีที่การศึกษาในระบบอาจไม่ตอบโจทย์กับบริบทของชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และใช้เครือข่ายภาคีทุกระดับในการออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสอดรับกับชีวิตของผู้เรียน

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ระดับชาติ (Thailand Zero Dropout) และ ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ณ วันนี้การทำงานของ กสศ. และภาคีเครือข่าย กำลังเดินหน้าสู่การผลักดันข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อภาคนโยบาย โดยทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วยความร่วมมือจากท้องถิ่น ท้องที่ สื่อมวลชน สมัชชาการศึกษาจังหวัด มหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานและคนตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตามเส้นทางของเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในวันนี้ ต้องมองถึงการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีอาชีพมีงานทำ โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานด้านการศึกษาที่มีอยู่ สามารถทำงานบูรณาการเชื่อมต่อกันได้ โดยเฉพาะหน่วยงานขนาดเล็กที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกของการพาเด็กเยาวชนในพื้นที่ที่ขาดโอกาส ให้เข้าสู่เส้นทางประกอบอาชีพมีงานทำ พร้อมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีบทบาทรองรับการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับเด็กเยาวชนทุกคนทุกกลุ่ม

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร

“โรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ.หลายแห่งกำลังจะปิดลงเพราะมีจำนวนเด็กเข้าเรียนน้อย ดังนั้นถ้าสามารถนำเอาหน่วยจัดองค์ความรู้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อุตสาหกรรมจังหวัด และปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดรับกับบริบทผู้เรียนยิ่งขึ้น ไม่ว่า ‘การเรียนทางไกล’ หรือการสร้าง ‘ระบบโรงเรียนเครือข่าย’ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนับพันแห่งมีบทบาทที่ชัดเจน และเป็นทางเลือกของการเรียนรู้ที่มีนวัตกรรมการจัดการศึกษาใหม่ ๆ รองรับเด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนโอกาส ที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งเอาโจทย์ชีวิตของผู้เรียนเป็นตัวตั้งและให้รูปแบบการศึกษาเป็นตัวตาม จะทำให้การศึกษาสามารถไปสู่ความหมายที่แท้จริง คือเป็นการพาผู้เรียนไปสู่การมีอาชีพ มีงานทำ ดูแลตนเองได้ ในที่สุด” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

คุณนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวถึงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ว่าให้ความสำคัญกับมาตรการ Thailand Zero Dropout โดยเชื่อว่า ‘การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ หรือ Flexible learning จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ โดย สพฐ. มีแนวทางที่จะขยายต้นแบบนวัตกรรมการศึกษา ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ เก็บตกเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุด และกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ให้มีช่องทางเรียนรู้ที่เหมาะสม

คุณนิยม ไผ่โสภา

“จากการศึกษายุคก่อนที่คําว่า ‘เรียน’ มีความหมายเท่ากับ ‘ห้องเรียนสี่เหลี่ยม’ โดยผู้เรียนคือเด็ก คนสอนคือครู ใช้วิธีเขียนตามคำบอก ลอกตามกระดาน ซึ่งครูมีความรู้แค่ไหนก็ให้ศิษย์ได้แค่นั้น แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรามีเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีองค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวได้จากหลากหลายช่องทาง รวมถึงมีนวัตกรรมการศึกษาที่พร้อมรองรับโจทย์ข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้เรียน ซึ่งสำหรับ สพฐ. เราพร้อมจะเดินหน้าผลักดันเรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อให้รูปแบบการศึกษามีความหลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมไปสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout ที่ยั่งยืน” คุณนิยม กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การทำงานกับเยาวชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะที่อยู่นอกระบบการศึกษา ต้องไม่ลืมทำความเข้าใจเรื่องปัญหาที่ซับซ้อนอยู่ในตัวเด็กหนึ่งคน ฉะนั้นเราไม่อาจแก้ปัญหาได้โดยนำเด็กเข้าสู่การเรียนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงนิเวศการเรียนรู้ ทั้งครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และสังคมที่อยู่รอบตัวเด็ก เพราะหากพยายามดันเด็กกลับสู่ระบบโดยไม่ให้ความสำคัญต่อตัวแปรเหล่านี้ ท้ายที่สุดเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาไปแล้ว ก็มีแนวโน้มสูงว่าอาจหลุดซ้ำกลับออกมาได้ตลอดเวลา เนื่องจากปัญหาแท้จริงยังไม่ถูกปลดล็อก

“การศึกษาที่ยืดหยุ่นจึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Zero Dropout ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเวทีครั้งนี้ยิ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการรวมพลังของหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจากทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการ แนวทางการทำงานจากแต่ละตัวแบบ และแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบริบทและโจทย์ที่แตกต่างกัน อันจะเป็นก้าวสำคัญในการนำพาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้กลับสู่เส้นทางเรียนรู้ การมีอาชีพ มีงานทำ และเป็นการเดินหน้างาน Thailand Zero Dropout ที่จะมุ่งลดเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”