เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ในงานวันคนพิการสากลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นที่โครงการ เจ สเปซ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบและกลไกจังหวัดในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขภาพ และการศึกษาให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ” ระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
โดยการจัดงานปีนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยผ่านคลิปวิดีโอ ชวนทุกฝ่ายรวมพลังเพื่อพัฒนาชีวิตผู้พิการ ระบุว่า วันคนพิการสากลปีนี้ สหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักคือรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับคนพิการ เพื่อคนพิการ โดยคนพิการ ซึ่งรายงานสถานการณ์คนพิการของประเทศไทยจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้ทราบว่าคนพิการของไทยมีอุปสรรคนอกเหนือจากความสามารถในการใช้ชีวิตอิสระแล้ว ยังถูกซ้อนทับด้วยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้นโดยเฉพาะในสภาวะความสูงอายุ ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาความยากจน
ทั้งนี้ คนพิการในประเทศไทยมีจำนวน 2.2 ล้านคน เป็นผู้พิการในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 1.29 ล้านคนหรือเกินครึ่ง และมีคนพิการที่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 1.4 ล้านคนซึ่งเกินครึ่งอีกเช่นกัน ส่วนคนพิการในวัยแรงงาน 860,000 คน ได้รับการจ้างงานที่ 54,000 คนจากสถานประกอบการ 20,000 แห่ง ซึ่งกรณีนี้ต้องขอขอบคุณประชาชน สถานประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ ที่ให้โอกาสคนพิการได้แสดงศักยภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมเป็นพลังสร้างเศรษฐกิจ ผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้าไม่ต่างจากคนทั่วไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีงานมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการรัฐที่จะพยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น คือการจัดสวัสดิการตั้งแต่ต้นตอ เกิดแนวทางการสร้างรายได้ให้คนไทยทุกคนลดรายจ่าย ภาครัฐใช้ทรัพยากรที่จำกัดด้วยแนวคิดยิงศรให้ตรงเป้าให้ได้ผลเท่าทวีคูณ ซึ่งหวังผลสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน ขจัดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ลง สร้างสังคมที่หยิบยื่นโอกาสอย่างเท่าเทียม เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผนึกพลังความร่วมมือขับเคลื่อนกลไกจังหวัดลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการพัฒนาระบบการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการแบบ One Stop Service ตามที่กระทรวง พม. และ กสศ. ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม (พม. Smart) มาแล้ว รวมถึงมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด ส่วนกลาง และระหว่างหน่วยงาน เพื่อสร้างเสริมโอกาสให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวมีความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบกลไกจังหวัดในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขภาพ และการศึกษา ให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะคนพิการ ซึ่งจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน พม. Smart เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยรับรองสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้พิการ เริ่มจากระบบการขอบัตรประจำตัวคนพิการ
ทั้งนี้ การเข้าถึงสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับของผู้พิการ จำเป็นต้องได้รับบัตรประจำตัวคนพิการก่อน แต่การออกบัตรประจำตัวคนพิการมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายที่ผู้พิการและผู้ดูแลจะต้องเดินทางเพื่อเข้ารับการบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ หลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย การเดินทางเพื่อนำใบรับรองความพิการไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด (พมจ.) หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ตามที่ผู้พิการสังกัดอยู่เพื่อลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพคนพิการ หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็จะเป็นอุปสรรคกับผู้พิการเป็นอย่างมาก
กรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการขอมีบัตรคนพิการขึ้น โดยระบบการขอบัตรประจำตัวผู้พิการ ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดขั้นตอนของการขอมีบัตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดแก่ผู้พิการและผู้ดูแล โดยสามารถไปที่โรงพยาบาลเพื่อดำเนินการทำเรื่องขอบัตรประจำตัวคนพิการ ณ จุดเดียวแบบ One Stop Service
ซึ่งการดำเนินการ ผู้พิการจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อทำเรื่องขอมีบัตรประจำตัวคนพิการดังนี้ 1.ใบรับรองความพิการจากโรงพยาบาล ซึ่งขอรับได้จากโรงพยาบาล 2. แบบคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการจาก พมจ. ซึ่งสามารถเข้าไปดูเอกสารดังกล่าวได้ในระบบออนไลน์ 3.สำเนาบัตรประชาชน (ต้องเตรียมมา) 4.สำเนาทะเบียนบ้าน (ต้องเตรียมมา) 5.รูปถ่ายผู้พิการ (สามารถถ่ายได้ทันที) เมื่อมีเอกสารครบทั้ง 5 อย่างแล้วผู้พิการหรือผู้ดูแลสามารถนำเอกสารเข้าสู่ระบบ พม.Smart ได้ทันที
ระบบดังกล่าว ถูกออกแบบให้สามารถเลือกนำเข้าที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านของผู้พิการเองได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ในกรณีที่ผู้พิการนำเอกสารมาไม่ครบ ผู้พิการสามารถรวบรวมเอกสารใหม่เพื่อดำเนินการขอบัตรประจำตัวผู้พิการผ่าน อปท. ที่สังกัดอยู่ได้เช่นเดียวกัน โดยทางเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารและนำส่งให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้พิการจะสามารถรับบัตรประจำตัวคนพิการได้ ณ ที่อยู่ หรือสามารถรับได้ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่สังกัด
ดร.ไกรยส กล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนาระบบการขอบัตรประจำตัวคนพิการที่ได้ถูกออกแบบขึ้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้การออกบัตรประจำตัวคนพิการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ลดภาระในการเดินทางของผู้พิการ ส่งเสริมให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสะดวกและเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกระบวนการส่งเสริม ให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กกลุ่มเปราะปรางได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับวัย
พร้อมทั้งสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา แนวทางการพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ด.ช.วรพจน์ ชื่นแสน นักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า หากมีแอปพลิเคชันหรือระบบการลงทะเบียนออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้พิการได้เป็นจำนวนมาก เพราะการติดต่อราชการในแต่ละครั้ง ต้องมีค่าใช้จ่าย และการดำเนินการหลายขั้นตอน
“ข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องสถานที่ กรณีของผมซึ่งใช้วีลแชร์ก็จะเดินทางลำบาก เช่น หากจะติดต่อโรงพยาบาล คนทั่วไปอาจจะใช้มอเตอร์ไซด์เดินทางไปได้ แต่ผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์ จะเดินทางแต่ละครั้งต้องใช้รถยนต์ รถกระบะ ถ้าไม่มีก็ต้องจ้างแบบจ้างเหมา ซึ่งแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ผมยังโชคดีที่เป็นนักเรียน หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ก็สามารถบอกให้รถโรงเรียนไปส่งได้” ด.ช.วรพจน์ กล่าว
นายปฐมพงษ์ แสงบุญ เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนปฏิบัติงาน อบต.เวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทำงานดูแลผู้พิการใน 20 หมู่บ้านที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่มีผู้พิการมีหลายประเภท กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ บางคนอาจจะอยู่ในพื้นที่สูง การเดินทางยากลำบาก หากมีแอปพลิเคชันหรือระบบการลงทะเบียนออนไลน์ ก็จะช่วยให้การช่วยเหลือไปถึงผู้พิการกลุ่มต่างได้รวดเร็วขึ้น เพราะช่วยเหลือด้านต่างๆ ภายหลังจากการสำรวจพบ ผู้พิการหรือผู้ดูแลจำเป็นต้องลงทะเบียนผู้พิการเพื่อรับความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากภาครัฐก่อน ซึ่งที่ผ่านการลงทะเบียนอาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะติดเรื่องเอกสาร ทำให้เกิดความล่าช้าจนการช่วยเหลือเข้าไปถึงล่าช้าตามไปด้วย
นายสุริยา เดชอินทร์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า การเดินทางไปติดต่อราชการของกลุ่มผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ในแต่ละครั้งต้องมีการเตรียมการหลายด้าน นอกเหนือจากการเดินทางซึ่งต้องใช้รถยนต์ การเดินทางเเต่ละครั้ง จะต้องมีผู้ดูแลติดตามไปคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้วย แม้สถานที่ราชการส่วนใหญ่จะมีการปรับพื้นที่เพื่อรองรับผู้พิการแล้ว แต่บางแห่งก็อาจจะไม่รองรับการเดินทางเข้าไปรับบริการของผู้พิการ ไม่มีทางลาดขึ้นตึก ไม่มีห้องน้ำเฉพาะผู้พิการ
“อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการเดินทาง เพราะบางคนก็ไม่พร้อมทั้งเรื่องทุนทรัพย์และคนดูแล โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย บางคนมีบ้านอยู่ในอำเภอรอบนอกจะติดต่อตัวจังหวัดก็ต้องเหมารถเดินทางเข้ามา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเหมารถเพื่อเดินทางมาติดต่อราชการแต่ละครั้ง อาจจะหมายถึงรายได้ทั้งเดือนของครัวเรือนนั้น ๆ เด็กบางคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงหรือบนดอย ในระยะทางที่ไกลที่สุดที่เคยเจอ อาจจะต้องเสียงค่าเดินทางไปกลับแต่ละครั้งถึง 3,000 บาท หากมีทางเลือกอื่นเพื่อเข้ามาดูแลปัญหานี้ ก็จะช่วยแต่ละคนได้มาก” ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าว