เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เรื่องเล่าระหว่างทาง : บนรอยเท้าที่ก้าวเดิน” ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 เพื่อติดตามการทำงานส่งเสริมเยาวชนนอกระบบการศึกษา และร่วมถอดบทเรียนเพื่อพัฒนากลไกการทำงานกับตัวแทนหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ โดยมี 4 กลุ่มประเด็นหลัก ได้แก่
- กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ความเปราะบางที่มากกว่าตาเห็น ว่าด้วยทัศนคติเรื่องเพศ สิทธิเนื้อตัวร่างกาย อนามัยเจริญพันธุ์ ระบบบริการและสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มพื้นที่ชายแดนกับความซับซ้อน ว่าด้วยสถานการณ์ความรุนแรงชายแดน ความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ สิทธิมนุษยชน
- กลุ่มสร้างเสริมซ่อมพื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้ ว่าด้วยพื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพ พื้นที่ปลอดภัยทางใจ ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เครื่องมือและวิธีคิดการทำงาน
- กลุ่มชุมชนเมือง พื้นที่เปราะบางที่เด็กต้องเผชิญ ว่าด้วยความเปราะบางของพื้นที่เมืองใหญ่ กลไกการทำงานควรเป็นอย่างไร วิธีคิด วิธีมองการขับเคลื่อนงานในความเปราะบางดังกล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ร่วมทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 40 โครงการ ปัจจุบันไทยมีเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ประมาณ 1 ล้านคน กสศ. ได้พยายามกำกับทิศทางให้เป็นการทำงานเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถนำไปตอบโจทย์เป้าหมาย Thailand Zero Dropout โดยหวังว่าการทำงานของแต่ละโครงการที่กำลังกระจายการทำงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ จะทำให้ได้รูปแบบ หรือโมเดลที่ตอบโจทย์การทำงานได้ยั่งยืนในอนาคต
“โครงการนี้ คือการทำงานที่จะได้โจทย์เล็กเพื่อนำไปตอบปัญหาใหญ่ ๆ ในอนาคต ทุกโครงการกำลังจะทำงานกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด และทำงานยากที่สุด ยังไม่นับถึงเรื่องปัญหาที่แต่ละหน่วยพบเจอนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีรูปแบบตายตัว ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ทำงานเชิงคุณภาพ ค่อย ๆ หาวิธีในการออกแบบการทำงานของแต่ละกลุ่มแต่ละโจทย์ปัญหา และติดตามความก้าวหน้าที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของเยาวชน ซึ่งวิธีการที่ได้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลปัญหานี้ และนำวิธีการที่ได้ไปพัฒนาให้ใช้งานได้จริง และครอบคลุมกับปัญหาได้มากที่สุด เราจะช่วยกันสร้างคณะทำงานที่มีศักยภาพในการทำงานกับเยาวชนนอกระบบ สร้างกลไกทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
“เรากำลังช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะหาแก่นของการทำงาน เพื่อไปผลักดันเป็นนโยบายที่สามารถหยุดทั้งเด็กที่กำลังจะออกจากการศึกษากลางคัน และหาวิธีที่จะทำให้เขากลับไปเรียนต่อให้จบการศึกษา หรือหารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเด็กแต่ละคน แบบไหนคือการศึกษาที่เหมาะสมกับตัวเด็กหรือสถานการณ์ที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ในแต่ละพื้นที่ แต่ละแห่งจะมีกลไกแบบไหนที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงเด็กได้ ต้องช่วยกันหาโมเดล ปรับวิธีคิด หลักการ แนวทางหาเครือข่ายที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ปรับหลักสูตรให้หลากหลาย มีพื้นที่เรื่องของการ Reskill Upskill และการเทียบโอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาสามารถสร้างทางเลือกให้เด็กที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ที่ยั่งยืนที่สุด และต้องไม่ใช่นโยบายที่มาจากการเมืองและไปกับการเมือง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า 40 โครงการที่ลงไปทำงานกับเยาวชนกลุ่มนี้ เป็นการทำงานที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กลุ่มที่มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางกายภาพหรือผู้พิการ กลุ่มคุณแม่วัยใส กลุ่มเด็กชาติพันธุ์
“นวัตกรรมหรือโมเดลที่จะได้จากการทำงานของโครงการนี้ มีประมาณ 3 เรื่อง คือ 1.พยายามที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่การเรียนรู้ในระดับชุมชน พื้นที่ใกล้ตัว ที่เพียงพอที่จะช่วยให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงระบบการเรียนรู้ หากทั้ง 40 หน่วยสร้างขึ้นได้ เราก็จะมีโมเดลพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ 40 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
2.คือการพยายามหาโมเดลหรือองค์ความรู้ในการค้นหาตัวเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด และนำมาพัฒนาเป็นฐานข้อมูล ว่าเยาวชนกลุ่มนี้กำลังเผชิญปัญหารูปแบบใดบ้าง แต่ละพื้นที่มีมิติปัญหากี่ด้านที่พวกเขากำลังต้องเผชิญ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงเพื่อหาทางออก
3.จะทำให้ได้หลักสูตรหรือโมดูลการเรียนรู้ของเยาวชนกลุ่มนี้ ว่าน่าจะมีกี่หลักสูตร ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาได้ ซึ่งจากที่ได้สัมผัสกับสภาพปัญหาของเยาวชนกลุ่มนี้ โมดูลที่สร้างขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาการหรือวิชาชีพเท่านั้น โมดูลที่ได้อาจจะต้องไปเริ่มต้นกับชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ และให้ความสำคัญกับเป้าหมายในชีวิตของตัวเด็กเอง ไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของครูหรือของพ่อแม่ เป็นโมดูลที่ทำให้เขาเห็นแรงบันดาลใจ เกิดความภาคภูมิใจกับตัวเอง” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว
รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับทราบมาจากการทำงานของหน่วยต่าง ๆ คือ การปรับแผนการทำงานให้ยืดหยุ่นกับสภาพปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงตัวเยาวชน เช่น บางหน่วยที่ทำงานกับเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก็จะประสบปัญหาเรื่องการทำงานกับเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง บางหน่วยจึงต้องปรับวิธีที่จะเข้าถึงตัวเยาวชนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและคลาดเคลื่อนในการหาตัวเยาวชนในพื้นที่ตามมา
“หลายหน่วยต้องปรับการทำงานเพื่อหาช่องทางเข้าถึงตัวเด็กอยู่ตลอดเวลา และพบว่าเรื่องนี้ไม่มีสูตรตายตัว บางพื้นที่อาจจะเข้าถึงตัวเด็กได้โดยอาศัยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกลไกต่าง ๆ ที่ชุมชนแต่ละแห่งมีไม่เหมือนกัน เช่น บางแห่งมีพระภิกษุสงฆ์ที่คุ้นเคยกับเยาวชนในชุมชน บางแห่งใช้รูปแบบการรวมตัวกันของคนในชุมชนค้นหาตัวเด็กได้ และก็ต้องยอมรับว่า การเข้าถึงตัวเด็กกับการเข้าถึงจิตใจของเด็ก เป็นการทำงานคนละส่วน อาจจะเจอตัวเด็กแล้ว แต่ก็ต้องหาวิธีการที่สร้างความไว้ใจ ความเชื่อใจ จนเกิดความร่วมมือร่วมมือตามมา เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างค่อนข้างละเอียดอ่อน หัวใจสำคัญในการทำงานส่วนนี้ที่พูดคุยกันคือต้องใช้ความเป็นมนุษย์ในการเข้าไปพูดคุย จนสามารถสร้างความไว้ใจจากเยาวชนกลุ่มนี้ จนยอมพูดคุย ให้ข้อมูลและยอมรับการช่วยเหลือได้” รศ.ดร.วีระเทพ กล่าว
นเรศ สงเคราะห์สุข รองผู้จัดการครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา และทีมหนุนเสริม กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คือการย้ำว่าหน่วยต่าง ๆ ทั้ง 40 หน่วย กำลังทำงานอยู่กับกลุ่มคนที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและประณีต การทำงานกับเด็กนอกระบบเป็นงานที่ทำอย่างหยาบ ๆ ไม่ได้ และเป็นงานที่แต่ละพื้นที่มีรูปแบบความแตกต่างกันสูง เมื่อเข้าถึงตัวเด็กได้แล้ว ก็จะพบว่าพวกเขามีปัญหาหลากหลายมิติ ข้อมูลจากตัวเด็กจะถูกนำมาช่วยกันคิดว่า จะทำให้เขาอยู่กับเราอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบวิธีแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับแต่ละคน โดยความประณีตในการทำงานนั้น เปรียบเทียบกับการพยายามตัดเสื้อผ้าให้เข้ากับตัวเด็กแต่ละคนจริง ๆ ซึ่งจะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรูปแบบของสังคม ชุมชน และรูปแบบปัญหาในหลายพื้นที่นั้นแตกต่างจากในอดีตและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จหรือสูตรในการแก้ปัญหาเพียงแค่สูตรใดสูตรหนึ่งได้
ทั้งนี้ จากการแบ่งกลุ่มสะท้อนข้อมูลจากประสบการณ์จริงของแต่ละหน่วย มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานโดยสังเขป ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้ร่วมกันสะท้อนหัวข้อ “พ่อแม่วัยรุ่น ความเปราะบางที่มากกว่าตาเห็น” เรื่องเล่าจากการทำงานของกลุ่มนี้ ทำให้ทราบว่าปัญหานี้ เป็นเรื่อง Sensitive การทำงานกับแม่วัยใส จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตัวลูก วิธีการดูแลที่ต้องถูกออกแบบขึ้นจะต้องสามารถดูแลทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกาย รวมไปถึงมิติด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของเด็ก ประเด็นที่ถูกนำเสนอมากที่สุด ในกลุ่มนี้ คือ เรื่องสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น นม หนังสือนิทานสำหรับเด็ก อาหารเสริม และปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถดูแลแม่วัยใสและเด็กได้อย่างครอบคลุม และพบว่าสวัสดิการด้าน ๆ นั้น รัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีรองรับอยู่แล้ว แต่แม่วัยใสส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงวิธีที่จะเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้นออกแบบกลไกที่จะช่วยดูแลด้านนี้ให้พ่อแม่วัยรุ่นเข้าถึงง่ายขึ้น
กลุ่มที่ 2 สะท้อนหัวข้อ “พื้นที่ชายแดนกับความซับซ้อน” พบว่าเรื่องเล่าที่สะท้อนมาจากการทำงานของกลุ่มนี้ ทำให้พบว่าปัญหาสถานการณ์การดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาบริเวณชายแดน จำเป็นที่จะต้องนำความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ สิทธิมนุษยชน การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาและปัญหายาเสพติด มาเป็นโจทย์ในการออกแบบแนวทางในการดูแลและแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะการพยายามปรับเปลี่ยน “ทัศนะแม่บท” (Paradigm) หรือทัศนะที่เป็นต้นตอบ่อเกิดของทัศนะอื่นที่ตามมา ซึ่งในกรณีนี้ คือการมองว่าพื้นที่ชายแดนคือพื้นที่ที่เป็นจุดรวมปัญหา จึงต้องช่วยกันหาแนวทางที่ทำให้สามารถสลัดภาพนี้ออกไป และมองใหม่ว่าสามารถปรับให้เป็นพื้นที่ที่กลายเป็นระบบนิเวศที่สร้างสรรค์ได้
กลุ่มที่ 3 สะท้อนหัวข้อ การสร้าง เสริม ซ่อม “พื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้” ประเด็นนี้ตั้งต้นจากมองเห็นร่วมกันว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือสำหรับดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาที่มีความจำเป็นอันดับแรก หากไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้ขึ้นมาได้ก็ไม่สามารถชักชวนเด็กกลุ่มนี้ เพื่อเข้ามาสู่กระบวนการแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้พบว่า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเริ่มหายไปจากชุมชนหลายแห่ง บางแห่งถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่สาธารณะเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือมีความเป็นเจ้าของที่เอื้อให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม ประกอบกับพื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้ซึ่งเคยมีอยู่ในบ้านของแต่ละครอบครัวเริ่มเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง จนกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของการสร้างพื้นที่นี้ไปด้วย การแก้ปัญหานี้ได้มีการเสนอว่า จำเป็นต้องฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ในชุมชน ให้กลับมาด้วยการสร้างทัศนคติความเป็นเจ้าของร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน ภายใต้กติกาการดูแลพื้นที่ที่คนในชุมชนร่วมกันออกแบบขึ้นและเห็นความเชื่อมโยงและความสำคัญของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและระบบนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
กลุ่มที่ 4 สะท้อนหัวข้อปัญหา “ชุมชนเมือง พื้นที่เปราะบางที่เด็กต้องเผชิญ” หน่วยต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ มองเห็นร่วมกันว่าพื้นที่ชุมชนเมืองของทุกจังหวัดทั่วประเทศจะขยายออกไป จนในอนาคตอาจจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชุมชนเมืองและชนบทอีกต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือมีคนจนเมืองมากขึ้น และเด็กนอกระบบการศึกษาในชุมชนเมืองก็มักจะมาจากพื้นที่นี้ โจทย์สำคัญที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะสร้างกลไกให้คนที่อยู่ในพื้นที่นี้สามารถส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่จริง เพื่อรวบรวมปัญหามาออกแบบแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหา ดูแลพวกเขาได้อย่างตรงจุด