เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมลากูน่าแกรนด์ แอนด์ สปา จังหวัดสงขลา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเองสู่แกนนำขยายผล 7 จังหวัดภาคใต้’ (นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, ภูเก็ต, ยะลา, สงขลา และสุราษฎร์ธานี) ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teachers and School Quality Program (TSQP) รุ่นที่ 2 ปี 2565 ของ กสศ. โดยมีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาของโรงเรียนที่มีศักยภาพ และเพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถขยายผลต่อไปได้ในอนาคต มีผู้เข้าร่วมจำนวน 274 คน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ อาทิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.), สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.), สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียน 3 เครือข่าย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.ภูเก็ต) และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของเครือข่าย มอ. มีเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผลการดำเนินโครงการในระยะเวลา 3 ปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของเครื่องมือสนับสนุน 6 มาตรการ ได้แก่ 1) การกำหนดเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพ 2) ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ 3) การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการ Professional Learning Community (PLC) 4) จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning 5) ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและมีความต้องการพิเศษ และ 6) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน โดยนับเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้พัฒนาโรงเรียนในประเทศไทยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ระดับล่าง
รศ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองนั้นต้องมี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยครูและผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์และโครงงานฐานวิจัย มีการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และต้องนำกระบวนการ PLC มาใช้ในการเรียนการสอน สิ่งสำคัญคือครูต้องมีการวิจัยชั้นเรียน ต้องศึกษาบทเรียน ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องมีความสามารถในการใช้แผนกลยุทธ์ระยะสั้น และการนำระบบสารสนเทศ Q-Info เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน ให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้และช่วยเหลือโรงเรียน
รศ.ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การที่โรงเรียนแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ทีม คือ 1) ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาโดยครูวิชาการและครูแกนนำ 2) ทีมพัฒนาการสอนโดยครูแต่ละระดับชั้น และ 3) ทีมหนุนเสริมโดยผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษา ซึ่งการทำงานอย่างเป็นระบบเช่นนี้ทำให้หลายโรงเรียนพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
“เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ได้ผลจนน่าประทับใจ คือการจัดการสอนด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพราะถือเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกการสังเกต คาดคะเน ทดลอง และสรุปผลได้จากการเรียนรู้ จนกลายเป็นนิสัยและทำให้เกิดทักษะวิจัย สามารถนำปัญหาในชุมชนมาแยกแยะและวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาอะไรที่ควรจะศึกษา และรู้ว่าปัญหานั้นจะแก้ได้สำเร็จหรือไม่ แล้วนำมาประกอบเป็นความรู้ใหม่ เล่าสู่กันฟังได้ ซึ่งถือเป็นทักษะขั้นสูง”
รศ.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า หากโรงเรียนนำเครื่องมือและกระบวนการดังกล่าวมาปรับใช้จะช่วยให้พัฒนาได้รวดเร็ว และจากการวัดผลสัมฤทธิ์ของตัวผู้เรียน พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถคิดและหาคำตอบจากการแก้ปัญหาได้ เพราะการเรียนที่แท้จริงไม่ใช่การจำ แต่คือการมีทักษะในการแก้ปัญหา และรู้ว่าตัวเองควรจะเลือกเรียนรู้เรื่องอะไร
“ขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้ และพร้อมจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาฐานกายของนักเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยอนุบาลหรือประถมต้น” สุดท้าย รศ.ไพโรจน์ กล่าวถึงความยั่งยืนของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองว่า ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของ 3 เครือข่าย ได้แก่ 1) ต้นสังกัดกับมหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ให้ความรู้ 2) ชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกหนุนเสริม และ 3) โรงเรียน ที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 สุดท้ายเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาตนเองด้วย 6 มาตรการ หากทำได้ โรงเรียนจะพัฒนาได้ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น
ดร.ปวีณา จันทร์สุข ภาคีเครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต กล่าวว่า ความสำเร็จของโรงเรียนพัฒนาตนเองคือ การที่คนหนึ่งคนจะสามารถพัฒนาตนเองได้ ขอความช่วยเหลือจากโค้ชหรือคนอื่นน้อยลง ช่วยเหลือตนเองมากขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนและครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับโรงเรียนรอบข้าง เป็นเพื่อนช่วยเพื่อน หากทำได้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าโรงเรียนเริ่มพัฒนาตนเองได้
ที่สำคัญคือ โรงเรียนต้องมีความสามารถในการประเมิน มองภาพรวมบริบทของโรงเรียนตนเอง สามารถตั้งเป้าหมาย วางแผนดำเนินการที่ชัดเจน ประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง และมีความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหาได้ โดยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองไม่ได้เน้นให้เด็กคิดนวัตกรรมอย่างเดียว ครู ผู้บริหาร ก็ต้องคิดนวัตกรรมที่จะนำมาใช้สำหรับการเรียนการสอน การบริหารจัดการ สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คุณครูและเด็กได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
“จากที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ PLC กับครูหลายครั้ง ครูค้นพบตัวเองจากปกติที่สอนให้เด็กจำ พบว่ามีเด็กประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จำได้ ซึ่งครูก็จะคิดว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเก่ง ส่วนเด็กคนอื่นไม่เก่ง เพราะว่าใช้เกณฑ์ในรูปแบบนี้มาตัดสินเด็ก แต่ที่จริงแล้วการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะฟังแล้วจำได้ บางคนอาจจะเรียนรู้และเชื่อมโยงได้ แต่บางคนต้องใช้การสอนรูปแบบอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ผิดที่เด็ก แต่ผิดที่ครูถนัดสอนในรูปแบบเดียว ดังนั้น ครูต้องพยายามหารูปแบบการสอนที่หลากหลายให้เข้ากับสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก”
ดร.ปวีณา กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้แล้ว หลังจากนี้มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนครูอยู่ข้างหลัง และจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้ครูมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยร่วมมือกับ กสศ. และกระทรวงศึกษาธิการในการคิดต้นแบบระบบนิเวศทางการเรียนรู้ให้กับครู หากถอดบทเรียนและกลไกนี้ได้จะสามารถสร้างกลุ่มคนที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (change agent) ได้ต่อไป
ด้าน นางภูรี ทองย่อน ศึกษานิเทศก์ สพป.ภูเก็ต ในฐานะโค้ชของภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า กระบวนการ PLC เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในโครงการ TSQP ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนกับโรงเรียนและครู ต้องนำสุนทรียสนทนา (PLC Dialog) มาใช้กับครูด้วยกันเอง
กระบวนการ PLC Dialog จะนำไปสู่การออกแบบหน่วยการเรียน ปรับการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จต้องใช้หลัก 4 จ + 1 จ คือ 1) เปิดใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ดึงศักยภาพในตัวตน ค้นพบปมที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและตัวครู 2) ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับทุกสิ่ง 3) ตั้งใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4) ประสานใจ ทำให้ครูทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกัน เรียนรู้จากประสบการณ์กันและกัน และ จ สุดท้ายคือ เสริมสร้างกำลังใจ ผู้บริหารต้องให้กำลังใจทั้งกับครูและเด็ก เพราะเด็กก็ต้องการให้ครูเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังทำ และต้องการเพียงให้ครูรักเขาเช่นกัน
นางภูรี กล่าวว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ศึกษานิเทศก์หลายคนรู้สึกประทับใจ เพราะมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน และเห็นกระบวนการพัฒนาของแต่ละโรงเรียน ซึ่งศึกษานิเทศก์เองต้องเริ่มเปลี่ยนบทบาทไปเป็นโค้ช ต้องรับฟังครูให้มากขึ้น จากเดิมที่ครูเป็นผู้รับคำสั่งมาโดยตลอด การปรับมุมมองในการเป็นผู้ให้ สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างความสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้ระบบการนิเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง จากการไปนิเทศติดตาม ก็จะเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้คำแนะนำ และได้ความรู้กลับมาด้วย
นางภูรี กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองไปสู่ความยั่งยืนได้ต้องมีหลัก 3 ร. คือ 1) รับฟัง เขตพื้นที่การศึกษาต้องรับฟังโรงเรียน โรงเรียนรับฟังครู ครูรับฟังนักเรียน และศึกษานิเทศก์ต้องรับฟังทุกคน 2) รับรู้ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง และ 3) รับรอง PA (Performance Agreement หรือข้อตกลงในการพัฒนางาน) อันเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานของครูและผู้บริหาร โดยผู้ปกครองไว้ใจให้ลูกมาอยู่โรงเรียน ผู้บริหารรับรองว่าครูให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อเด็ก เขตพื้นที่การศึกษารับรองผู้อำนวยการโรงเรียนให้มีความก้าวหน้า ศึกษานิเทศก์รับรองทั้งหมด รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม และสุดท้ายต้องรับรองได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี
ขณะที่ นายณัทกร แก้วประชุม ผู้อำนวยการ สพป.ปัตตานี เขต 2 กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง คือการได้เห็นนักเรียนเปลี่ยนวิธีคิด มีภาวะผู้นำมากขึ้น กล้าที่จะแสดงทัศนะของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้โครงการไปต่อได้คือ นอกจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงแล้ว บุคลากรในองค์กรคือ ผู้บริหารและครูต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไปได้ และเข้าใจเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน รวมถึงกระบวนการคิดต้องเป็นเอกภาพ
“บุคลากรในโรงเรียนต้องมีความเข้มแข็ง มีภาวะผู้นำ ไม่ใช่เฉพาะผู้บริหารเท่านั้น ครูเองก็ต้องเข้มแข็ง เพื่อเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนต่อไป เพราะหากเมื่อไรก็ตามที่ผู้บริหารไม่รู้ ไม่เข้าใจ การเดินไปสู่เป้าหมายก็จะยาก
“ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนไปไม่ถึงเป้าหมาย คือ 1) โรงเรียนไม่สามารถเลือกผู้บริหารเองได้ ทำให้ไม่สามารถสืบทอดกระบวนการที่ทำมาก่อนหน้านี้ได้ 2) โรงเรียนเลือกครูไม่ได้ คือไม่สามารถเลือกครูที่มีวิธีคิดใกล้เคียงกันหรือเห็นด้วยในทิศทางเดียวกัน 3) ทรัพยากร การขับเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่อง ยังจำเป็นต้องอาศัยงบประมาณ” ผู้อำนวยการ สพป.ปัตตานี เขต 2 กล่าว
ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า จากที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้แทนของ สพฐ. ในคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. ได้เรียนรู้ประโยชน์และคุณค่าของโครงการ TSQP ใน 3 ระดับ คือ
- ระดับโรงเรียน เห็นชัดเจนว่าโรงเรียนพัฒนาตนเองได้นำผลการปฏิบัติมาเรียนรู้ แก้ไขปัญหา และพัฒนา จนเกิดนวัตกรรม 11 เครือข่ายที่เน้นทักษะและกระบวนการแบบ Active Learning ทำให้เด็กสามารถคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง นำเสนอได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงงานฐานวิจัยหรือบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และนวัตกรรมอื่น ๆ
- ระดับพื้นที่ แม้พี่เลี้ยงจะถอนออกไปแล้ว แต่ยังเข้ามาหนุนเสริมให้กำลังใจ และมีเครื่องมือในการเติมเต็ม จึงอยากจะสื่อสารไปยังศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีการประสานหน่วยอื่นมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน เป็นการทำงานแนวราบ ในรูปแบบของเครือข่าย มีระบบกลไกการติดตาม สะท้อนผล ดูแลใกล้ชิดต่อเนื่อง
- ระดับประเทศ คณะอนุกรรมการจะช่วยกำกับทิศทาง ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมี กสศ. ทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายการทำงาน เน้นเป้าหมายที่ชัดเจน มีการใช้ข้อมูลและเปิดประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ เช่น learning loss, เด็กหลุดจากระบบการศึกษา, DE, effect size, การจัดมหกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การขยายผลโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองสามารถทำได้ใน 3 ระดับ คือ 1) ระดับโรงเรียน สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งการ ทั้งเรื่อง PLC, Active Learning และการทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของครูและนักเรียน ดังนั้น ผู้อำนวยการทำได้ทันที ทำได้อย่างสร้างสรรค์ และสามารถใช้ได้กับเกณฑ์ PA ของศึกษานิเทศก์ 2) ระดับพื้นที่ หน่วยงานต้นสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. ได้รับรู้ร่วมกันตั้งแต่แรก และเห็นความสำคัญของการพัฒนาโรงเรียน เช่นเดียวกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หากภาคีเครือข่ายต้องการทำงานต่อยอดก็เอาโจทย์มาทำงานด้วยกัน 3) ระดับประเทศ ด้วยความที่ สพฐ. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ หากมีการรับฟัง มีกระบวนการ PLC Dialog ก็จะช่วยให้เกิดการริเริ่มใหม่ ๆ ได้
“ขอชื่นชมทุกคนที่ร่วมเดินทางกันมา 3-4 ปี ด้วยความเสียสละทุ่มเทของโรงเรียน ผู้บริหาร ครู เขตพื้นที่การศึกษา และเครือข่ายเกิด Growth mindset ที่ชัดเจน ก็ขอให้ทำต่อไป โดยขอเสนอแนวทางการขับเคลื่อนต่อไปด้วย 3 ป. ได้แก่ 1) ป.ปลื้ม ให้ค้นพบความภูมิใจ ต้องทำความปลื้มให้ปรากฏ 2) ป.เป้าหมาย ตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าเดิม 3) ป.ปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง นำกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยน เติมเต็ม และสะท้อนผลร่วมกัน” ดร.พิทักษ์ กล่าว