“การเยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลและติดตามดูแลช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคล คือประตูบานแรกที่ทำให้โรงเรียนเข้าใจปัญหาและเห็นข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำมาใช้พิจารณางดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาของเด็กเป็นรายคนได้”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงปัญหาเด็กเรียนจบแต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา เพราะติดหนี้ค่าบำรุงการศึกษา ว่า
ข้อมูลสำคัญคือประเทศไทยมีสถิติเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการศึกษา ตั้งแต่ช่วงชั้นอนุบาลขึ้นประถมศึกษา 1% ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อยู่ที่ 18% และเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 อันเป็นการสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับ จะมีจำนวนเด็กเยาวชนที่ไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเทียบเท่าได้เพียง 54% และหากมองไปที่ระดับสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน คืออุดมศึกษา จะมีเด็กเยาวชนที่สามารถพาตัวเองไปถึงแค่ 10% จากทั้งเจเนอเรชั่นเท่านั้น
โดยเงื่อนไขการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนเหล่านี้ คือความยากจน แม้รัฐจะมีนโยบาย ‘เรียนฟรี 15 ปี’ แต่หากมองในเชิงปฏิบัติแล้ว ต้องนิยามว่าเป็นการ ‘เรียนฟรีทิพย์’ หมายถึงเมื่อไปสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมา โดยเฉพาะในช่วงชั้นที่มีเด็กเยาวชนหลุดมากที่สุด คือหลังจบชั้น ม.3 เนื่องจากไม่อาจแบกรับค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเองทั้งหมดในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งตกราว 30,000-70,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่สังคมต้องหยิบยกมาพูดถึงกันทุกปลายปีการศึกษา คือกรณีของนักเรียนชั้น ม.3 ที่ต่อสู้ฝ่าฟันจนเรียนจบ แต่โรงเรียนออกวุฒิการศึกษาให้ไม่ได้ เพราะยังติดค้างค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือค่าบำรุงที่แต่ละโรงเรียนเรียกเก็บในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าห้องเรียนคอมพิวเตอร์ หรือค่าจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีเด็กเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เสียโอกาสในการศึกษาต่อ ด้วยครอบครัวไม่มีทุนทรัพย์พอจ่ายเพื่อรับวุฒิการศึกษา โดยแม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เมื่อรวม 5-6 เทอม ก็นับว่าไม่ใช่ตัวเลขที่ทุกครอบครัวสามารถแบกรับไหว
“เงินที่เด็กต้องจ่ายให้กับโรงเรียนส่วนนี้ เรียกได้ว่าเป็นค่าไถ่วุฒิการศึกษา และนี่เองคือบ่อเกิดของการเรียนฟรีทิพย์จากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และยิ่งแสดงถึงความย้อนแย้งเมื่อเรานึกถึงว่าโรงเรียน ควรมีสถานะเป็นที่พึ่งหรือมีหน้าที่สร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงและไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนข้อเท็จจริงที่กำลังบอกเราว่า ในทุกปีมีเด็กเกิดใหม่ลดลงในอัตราที่น่ากังวล แต่ดันกลายเป็นว่าระเบียบกฎเกณฑ์ของการจะได้รับวุฒิการศึกษากลับสวนทางกัน”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า กับกรณีนี้ ‘รัฐ’ หรือ ‘โรงเรียนต้นทาง’ ต้องพิจารณาทบทวนเพื่อมองด้วยสายตาที่เข้าใจประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความหมายโดยตรงต่อการพัฒนาชาติมากขึ้น ประการสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะช่วยไม่ให้มีเด็กเยาวชนหลุดจากการศึกษากลางทาง หรือสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อช่วงชั้นทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยเด็กเยาวชนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีช่องทางเข้าถึง ‘ทุนการศึกษา’ ผ่านการผลักดันของโรงเรียน หรือมีการชี้แหล่งกู้เงินเพื่อการศึกษาที่สนับสนุนโดยรัฐ รวมถึงปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาของการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้เรียน นอกจากนี้ยังต้องสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายทางการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพาตนเองและครอบครัวพ้นจาก ‘การส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น’ ซึ่งมีผลการศึกษาที่ยืนยันแล้วว่า การจบการศึกษาในระดับ ปวส. จะช่วยให้เด็กเยาวชนสามารถตัดวงจรความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้
“สำหรับโรงเรียน การงดเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงการศึกษา หลายโรงเรียนพิสูจน์แล้วว่าทำได้ โดยการหยิบยื่นโอกาสนั้นมาพร้อมกับระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งครูจะเก็บข้อมูลเด็กในทุกมิติผ่านการเยี่ยมบ้าน มีการติดตามสถานการณ์ทั้งด้านการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงสวัสดิภาพชีวิต พร้อมนำเข้าสู่กระบวนการดูแลช่วยเหลือเป็นรายคน ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้คือความเป็นไปได้ที่จะช่วยสนับสนุนเด็กที่ขาดความพร้อม ไปจนถึงพิจารณางดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับเด็กบางคนได้
“สำคัญคือโรงเรียนต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล ชี้แหล่งทุน เสริมกำลังใจ เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยทำความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน และหาทางออกให้กับเด็ก ส่วนภาครัฐเองก็ต้องมีกระบวนการจัดการเรื่องหนี้การศึกษาที่มาจากค่าใช้จ่ายซึ่งนอกเหนือจากการเรียน และควรมีช่องทางให้ผู้ปกครองกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำไปจ่ายค่าไถ่วุฒิการศึกษาในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้เด็กที่เรียนจบแล้วนำวุฒิไปใช้ศึกษาต่อได้”