วันนี้ (5 พฤษภาคม 2565) – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมพิธีแสดงเจตนารมณ์ “โครงการลมหายใจเพื่อน้อง” เพื่อคืนโอกาสให้แก่เด็กนักเรียนและเยาวชนในช่วงชั้นรอยต่อ ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2565 ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานในพิธี

และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ปตท. ได้ช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระภาครัฐจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้นในปี 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ระบบสาธารณสุขในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ดี โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ของหลายครัวเรือนลดลง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมาก มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ปตท. จึงจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเพื่อน้อง” ขึ้น โดยตั้งเป้าหมายมอบทุนการศึกษากว่า 150 ล้านบาท ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ให้แก่น้อง ๆ เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จำนวนกว่า 60,000 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้จากความตั้งใจของ ปตท. ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในการลดช่องว่างทางการศึกษาดังกล่าว จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในกิจกรรม PTT Virtual Run เพื่อแปลงกิจกรรมการเดินหรือวิ่งให้เป็นทุนการศึกษา โดยกิจกรรมจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 15 พฤษภาคม ศกนี้

“ทุกลมหายใจของเราจะมีคุณค่ายิ่ง หากสามารถช่วยสนับสนุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ กว่า 60,000 ชีวิต ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ปตท. จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรม PTT Virtual Run เดินหรือวิ่งสะสมระยะทาง ทุก 1 กิโลเมตร มีมูลค่าเท่ากับ 250 บาท โดย 10 กิโลเมตร จะมีมูลค่าเป็นทุนการศึกษาจำนวน 2,500 บาท ซึ่งสามารถพาน้องกลับโรงเรียนได้ 1 คน” นายอรรถพล กล่าว
ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องด้วยเชื่อว่า การศึกษาคือหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมีโรงเรียนภายใต้ PTT Group School Model ที่สนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. อีกกว่า 200 แห่ง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการเรียนฟรี 15 ปีที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานให้แก่โรงเรียนในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า แต่มีเยาวชนจำนวนที่หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ข้อมูลขององค์การ UNESCO และข้อมูลของ กสศ. ชี้ตรงกันว่าประเทศไทยมีเด็กเยาวชนจากครอบครัวฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศเพียงร้อยละ 8-12 เท่านั้นที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมากกว่า 4-5 เท่า แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรที่จำเป็นต่อเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อที่ต้องมีการย้ายสถานศึกษา และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

จากการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และ 5 หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาหลักของประเทศตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า รอยต่อระหว่างปีการศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี คือช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดชะตาชีวิตการเรียนต่อของนักเรียนในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในช่วงชั้นรอยต่อของระบบการศึกษา ซึ่งก่อนปิดภาคเรียนที่ผ่านมา กสศ. สำรวจพบว่ามีนักเรียนในครัวเรือนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อจำนวนราว 60,000 คน ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ ซึ่งการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควรจะทำให้พวกเขาติดอยู่ในกับดักความยากจน และมีโอกาสสูงมากที่ความยากจนจากรุ่นพ่อแม่จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน (Intergenerational Poverty) ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน

โครงการพาน้องกลับมาเรียน ถือเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าในระดับเดียวกันกับโครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ โดยจากผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่าการลงทุนแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมแล้วประมาณ 20,000-110,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงอายุการทำงานของพวกเขา วงเงินดังกล่าวเมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแล้ว (IRR) จะอยู่ที่ประมาณ 9.3% ซึ่งยังไม่นับรวมผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศในระยะยาว

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และขนาดประชากรกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ซึ่งมีอยู่มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงมีนโยบายให้สำนักงาน กสศ. มุ่งใช้ ฐานข้อมูล ผลงานวิจัย และผลการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเหนี่ยวนำทรัพยากรและความร่วมแรงร่วมใจหน่วยงานภาคีจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ All for Education กสศ. จึงขอขอบคุณบริษัท ปตท. ที่ให้ความไว้วางใจ กสศ. ในการนำเงินบริจาคจำนวน 150 ล้านนี้ไปช่วยต่อลมหายใจให้แก่น้อง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ปตท. และ กสศ. เชื่อมั่นว่าหากเด็กและเยาวชนได้รับโอกาส และสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
สำนักสื่อสารสาธารณะและระดมความร่วมมือ กสศ. โทรศัพท์ 08-7563-5845
ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 08-6567-3397