ศธ. ชื่นชมโมเดล Work & Study จากความร่วมมือ KFC กสศ. ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ ปรับการศึกษาให้ยืดหยุ่นตามแนวทาง Thailand Zero Dropout

ศธ. ชื่นชมโมเดล Work & Study จากความร่วมมือ KFC กสศ. ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ ปรับการศึกษาให้ยืดหยุ่นตามแนวทาง Thailand Zero Dropout

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ในงานเปิดตัวห้องเรียนเคเอฟซี สร้างหลักสูตรการศึกษานอกกรอบ หรือ “หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ” เพื่อนำร่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น ให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานและเรียนไปพร้อมกัน โดยความร่วมมือของเคเอฟซี ประเทศไทย กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาบอกเล่าว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังขับเคลื่อนการศึกษาหลายเรื่อง โดยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านการศึกษาร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือของเคเอฟซี ประเทศไทย กสศ. และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ ที่นำร่องสร้างหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่น่ายกย่องและนำเสนอเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการพยายามขับเคลื่อนประเด็นด้านการศึกษาหลายเรื่อง เพื่อผลักดันให้นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พยายามยกระดับการศึกษา หาแนวทางที่ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัยจะเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา หาแนวทางให้เด็กสามารถเรียนรู้ แล้วก็หาประสบการณ์เพื่อที่จะนำไปพัฒนาตัวเอง

“โจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา คุณครูสามารถพัฒนาการสอนได้ทุกที่ทุกเวลา ทำอย่างไรแหล่งความรู้ในเมืองหลวงจะสามารถเผยแพร่ไปในส่วนภูมิภาคได้ ทำอย่างไรรูปแบบการเรียนการสอนที่ กำลังใช้อยู่ในโรงเรียนชั้นนำจะสามารถไปถ่ายทอดในโรงเรียนส่วนภูมิภาค ในโรงเรียนพื้นที่ชายขอบได้

“นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังประกาศใช้ระบบธนาคารหน่วยกิต ธนาคารเครดิต (Cradit Bank) และการรับรองประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายโอนหน่วยกิตหรือเทียบวุฒิการศึกษา และพัฒนา Skill Certificate ด้วยความตระหนักว่า ในปัจจุบันหลายองค์กรและหน่วยงาน ได้ปรับแนวทางในการรับเด็กเข้าทำงาน ไม่ได้รับคนเข้าทำงาน โดยดูจากวุฒิการศึกษาเหมือนในอดีต แต่ดูจากความสามารถในการทำงาน และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง Skill Certificate คือหลักฐานที่ใช้บ่งบอกว่า แต่ละคนมีความสามารถด้านไหนบ้าง และต้องเรียนรู้หรือเพิ่มทักษะด้านใด เพื่อใช้พัฒนาความสามารถในแต่ละสายงาน”

ดร.สิริพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ กำลังร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติอ้างอิงอาเซียนและมาตรฐานสากลของหน่วยผลิตและพัฒนากำลังคน สร้างมาตรวัดความสามารถที่สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศในอนาคต

เช่นเดียวกับความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และภาคเอกชนที่มาร่วมขับเคลื่อนประเด็นด้านการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ โครงการ Thailand Zero Dropout  เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ โดยได้พยายามขยายโครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปในหลายจังหวัด เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่า กระทรวงศึกษาในยุคปัจจุบัน กำลังพยายามสร้างความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เพราะทราบดีว่า การแก้ปัญหาด้วยการปรับหลักสูตรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน การปรับหลักสูตรแต่ละครั้ง ในแง่ของการแก้ไขกฎหมาย เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับปัญหาในหลาย ๆ เรื่องที่เผชิญอยู่

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.

“สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำในวันนี้ คือ คิดนอกกรอบ ทำตัวให้มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้สถานศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนได้ ระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นหนึ่งในกลไกนั้น และพยายามออกแบบ แนวทางความร่วมมือที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่อยากรับนักเรียนเข้าไปทำงานพาร์ตไทม์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้จากการทำงาน เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสร้างรายได้ระหว่างช่วงปิดภาคเรียน หาช่องทางให้สามารถรับนักเรียนสายสามัญที่มีความต้องการด้านนี้ เข้าทำงานได้โดยไม่ผิดกฎหมายแรงงาน

“กระทรวงศึกษายุคใหม่ จะเป็นแซนด์บ็อกซ์ที่ให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มาช่วยกันออกแบบแนวทางและระบบการศึกษาร่วมกัน โดยสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ ต้องไปสร้างความเข้าใจ ด้านนโยบายเรื่องความยืดหยุ่นทางการศึกษาและความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนหลักสูตรนอกกรอบในแนวทางเดียวกับความร่วมมือของเคเอฟซี ในการเปิดตัวห้องเรียนเคเอฟซี และสร้างหลักสูตรนอกกรอบ หรือหลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อปลดล็อกกำแพงต้นทุนชีวิตให้กับเยาวชนไทยในอีกหลาย ๆ พื้นที่หลาย ๆ จังหวัด และขอยืนยันว่า กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะทำงานกับทุกภาคีและเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไปด้วยกัน”