เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จังหวัดยะลา จัดกิจกรรม ‘Kick off Project สร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้ในการช่วยเหลือเด็กและเยาวนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนานวัตกรรมและกลไกภาคีเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ‘เด็กปฐมวัย แม่วัยใส เด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา’ ตลอดจนการพัฒนากลไกภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พัฒนาฐานข้อมูล และกระบวนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ
ทั้งนี้ โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนานวัตกรรมและกลไกภาคีเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยขับเคลื่อนงานในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ 9 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมือง ในเขตเทศบาลนครยะลา เขตเทศบาลเมืองสะเตงนอก ตำบลยุโป ตำบลโกตาบารู ตำบลลำพะยา อำเภอรามัน ได้แก่ ตำบลโกตาบารู ตำบลกาลูปัง อำเภอกาบัง ได้แก่ ตำบลกาบัง อำเภอยะหา ได้แก่ ตำบลยะหา และตำบลบาโงยซิแน
โดยการ Kick Off ครั้งนี้ มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 9 ตำบลนำร่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดยะลา ได้แก่ ศึกษาธิการจังหวัดยะลา สาธารณสุขจังหวัดยะลา ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 24 ยะลา สำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา สํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดยะลา และหอการค้าจังหวัดยะลา
คุณมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานโครงการฯ ที่ได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาเป็นแกนกลางบริหารจัดการและประสานความเชื่อมโยง ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางการทำงานร่วมกัน ระหว่างกลไกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของจังหวัดและกลไกภาคีเครือข่ายในแต่ละระดับให้สามารถ ‘เข้าใจ เข้าถึง ขับเคลื่อน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแล’ เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้ด้วยตัวจังหวัดหรือกลไกแต่ละระดับของตัวเอง
ซึ่งปีนี้เป็นการทำงานเฟส 2 ที่ได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นต้นทุนเดิมของพื้นที่ที่มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในกระบวนการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยทางโครงการฯ ได้เพิ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการทำงานที่ลงลึกให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ 9 ตำบล เพื่อให้มีขีดความสามารถในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ด้วยกลไก ต้นทุน และนวัตกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ตลอดจนภาควิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมสหวิชาชีพจากทุกภาคส่วน โดยมีจังหวัดเป็นผู้โค้ชชิ่ง และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ตำบลเกิดความเข้มแข็งและมีความสามารถในการจัดการปัญหาในพื้นที่ และสามารถเป็นตำบลต้นแบบ และขยายผลในตำบลอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ ‘Thailand Zero Dropout’ ของรัฐบาล
คุณธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสร้างการรับรู้ร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสของจังหวัดยะลารวมถึงการพัฒนากลไกภาคีเครือข่ายสร้างความร่วมมือ และการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของภาคส่วนต่าง ๆ ในการ ‘เข้าใจ เข้าถึง ตอบสนองความต้องการที่อยู่บนขีดจำกัดทางโอกาสของเด็กยะลา’
อย่างไรก็ดี หากกล่าวถึงตัวเลขของจังหวัดยะลา ประชากรมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 68,000 บาท ซึ่งเป็นลำดับที่ 70 ของประเทศ เป็นสิ่งที่จังหวัดตระหนักถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของยะลาให้เติบโตขึ้น เพราะปัจจุบันเราต่างต้องการที่จะพัฒนาเด็กแต่กลับไม่มีใครถามผู้ประกอบการในปัจจุบันว่า ต้องการคนที่มีทักษะความรู้ที่สอดคล้องกับทักษะอาชีพนั้น ๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่เราต้องเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันกับภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของศึกษาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมุ่งหวังให้ผู้ร่วมงานในครั้งนี้ที่เป็นภาคีจากทุกภาคส่วนระดมความคิดร่วมกันว่าต้องเตรียมทรัพยากร รูปแบบและกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นแรงงานเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาวิชาการ ‘ทิศทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนานวัตกรรมและกลไกภาคีเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดย นายพัฒนะพงศ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นางสาวรุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา รักษาราชการแทนปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา และ ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ คัมภิรานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทาง กระบวนการ ตลอดจนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลา ที่จะไม่ใช่แค่เพียงการเป็นตัวแบบให้กับจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่มุ่งหวังว่าจะสามารถขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไปทั่วประเทศ