กสศ. เสนอสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเรียนได้ไร้รอยต่อ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงมีงานทำ

กสศ. เสนอสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเรียนได้ไร้รอยต่อ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงมีงานทำ

กสศ. เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำการศึกษา 67 – 68 พบเด็กนอกระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลง แต่เด็กยากจนเรียนต่อมหาวิทยาลัยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 2 เท่า เสนอสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเรียนได้ไร้รอยต่อ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงมีงานทำ ด้านยูเนสโก ระบุว่า หากลงทุนลดเด็กหลุดนอกระบบและเด็กทักษะต่ำกว่าพื้นฐานเพียง 10% เพิ่ม GDP แต่ละปีได้ถึง 1 – 2% 

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้อง Mitrtown Hall 1 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน Equity Forum 2025 “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดย กสศ. เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 โดยมีฝ่ายนโยบาย นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้นำท้องถิ่น นักการศึกษา นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาเข้าร่วม

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2567 ประเทศไทยมีประชากรนักเรียนในช่วงวัยเรียนระดับก่อนประถมศึกษาและการศึกษาภาคบังคับ (อายุ 3 – 14 ปี) จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 8.5 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวมีนักเรียนกว่า 3 ล้านคนที่อยู่ในครัวเรือนภายใต้เส้นความยากจน (Poverty Line) ซึ่งเมื่อประมวลผลจากการคัดกรองโดยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้นในครัวเรือนยากจนที่สุด 15% แรกของประเทศ จำนวน 1,348,735 คน โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด อันดับหนึ่งคือจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันดับสองคือจังหวัดนราธิวาส และที่เหลือพบว่าส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ ปีการศึกษา 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,133 บาท/คน/เดือน หรือเฉลี่ยวันละ 37 บาท เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2566 ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,039 บาท/คน/เดือน หรือเฉลี่ยวันละ 34 บาท และจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านโดยครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศพบสถานการณ์ความเปราะบางของครัวเรือนยากจนพิเศษในหลายมิติ เช่น มีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.77% ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่อพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง หรือครอบครัวแหว่งกลาง และยังพบว่าสมาชิกในครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นผู้มีภาวะพึ่งพิง อาทิ มีผู้สูงอายุในครัวเรือน 44.43% มีคนว่างงานในครัวเรือน 27.3% มีคนพิการเจ็บป่วยเรื้อรังในครัวเรือน 12.41%

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจากครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 1.3 ล้านคนนี้ กสศ. จึงได้จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) หรือทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.3 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา โดย กสศ. และ สถานศึกษาทั้ง 6 สังกัดได้ติดตามอัตราการมาเรียน และพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคลอย่างใกล้ชิด ผลลัพธ์จากการดำเนินงานของโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สะท้อนการป้องกันไม่ให้นักเรียนยากจนพิเศษหลุดออกจากระบบก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยพบว่าอัตราการคงอยู่ในระบบการศึกษาอยู่ที่ 97.88%

แต่ยังมีช่องว่างสำคัญในเส้นทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ เช่น 1.ในปีการศึกษา 2567มีนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ จำนวนเพียง 22,345 คน จากนักเรียนทั้งหมด 165,585 คน หรือคิดเป็น 13.49% เท่านั้น ที่สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของประชากรไทยกว่า 2 เท่า  2.มีนักเรียนที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อีกประมาณ 1.1 ล้านคน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือ  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่หน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยจัดสรรงบประมาณ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ควรร่วมกันพัฒนามาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงวัยสำคัญ 3.นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือในมิติทางเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตที่มีความท้าทายและสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการคงอยู่ในระบบการศึกษา เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าสถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวและสังคมที่เด็กต้องเผชิญมีแนวโน้มที่ซับซ้อน และท้าทายต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กเยาวชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.ไกรยส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เด็กเยาวชนนอกระบบ ในปี 2567 จากการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชนที่อายุ 3-18 ปี ระหว่างระบบสารสนเทศของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กับ สำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่า มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี (เกิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2550 – 31 ธันวาคม 2564 ) ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 982,304 คน ซึ่งลดลงจากปีการศึกษาก่อนหน้าที่มีอยู่จำนวน 1.02 ล้านคน โดยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาต่าง ๆ สามารถพาเด็กเยาวชนมากกว่า 304,082 กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กเยาวชนที่ยังคงไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 จำนวน 590,557 คน และมีเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลุ่มใหม่ จำนวน 391,747 คน ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 387,591 คน คิดเป็น 39.46% ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567) 

จากปฏิบัติการค้นหา ช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่หลุดจากระบบซ้ำ พบว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้และเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เป็นทางออกสำคัญของเรื่องนี้ ทั้งในมิติการป้องกันและช่วยเหลือ   การส่งเสริม สนับสนุนให้ท้องถิ่นทุกระดับเห็นความสำคัญ เป็นแกนนำและทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนโดยมีเด็ก เยาวชนเป็นศูนย์กลาง  มีข้อบัญญัติของท้องถิ่นที่แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน และจัดสรรงบประมาณและกำลังคนรับผิดชอบต่อเนื่อง ไร้รอยต่อทางการเมือง จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การป้องกันและแก้ปัญหาเด็กเยาวชนอกระบบเกิดขึ้นจริงได้

ทั้งนี้ กสศ. ยังได้เสนอนโยบาย 2 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1.การสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ให้เด็กเยาวชนตลอด 20 ปี จากปฐมวัยถึงมีงานทำ ผ่านการบูรณาการข้อมูลรายบุคคลระหว่าง 11 หน่วยงาน ครอบคลุมเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวน 3 ล้านคน และเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 9 แสนคน (3 – 22 ปี) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทุกกระทรวง บูรณาการชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ สังคม ครอบครัว แรงงาน การศึกษา ฯลฯ ที่มีอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับสวัสดิการ การดูแล พัฒนา และส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา นอกจากนี้ ควรเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ 

2.ยกระดับบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กเยาวชนทุกคนให้เป็น Learning Passport สำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตรงไปยังเลข 13 หลักของเด็กเยาวชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่กับครัวเรือนยากจนและเปราะบาง เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเลือกศึกษาต่อและเรียนรู้ผ่านการศึกษาทั้ง 3 ระบบ ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนได้อย่างยืดหยุ่น และหลากหลายตามความถนัดและศักยภาพของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล รวมทั้งสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาทั้ง 3 ระบบเพื่อใช้ในการศึกษาต่อ และการสมัครงานได้ในอนาคตได้

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงงานวิจัยที่ร่วมมือกับ กสศ. และ OECD ที่ประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา หรือ PISA for Schools โดยสำรวจและประเมินสมรรถนะแบบ PISA ในสถานศึกษา 150 แห่ง จาก 16 จังหวัด มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ นักเรียนที่มีระดับคะแนนผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในระดับชั้น ป.6 ที่ดี จะมีแนวโน้มที่จะมีคะแนนสมรรถนะของ PISA สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำในผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พบจากผลการทดสอบ PISA ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่แท้จริงแล้ว เป็นเสมือนการขาดทุนที่สะสมมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาหรือระดับปฐมวัย ดังนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีคะแนน PISA ที่ดีขึ้นในอนาคต จึงควรเริ่มต้นจากมาตรการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เสมอภาคตั้งแต่การศึกษาระดับประถมศึกษา และอาศัยเครื่องมือประเมินผลอย่าง O-NET ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างสถานศึกษาในระยะยาว

จูสตีน ซาส

คุณจูสตีน ซาส หัวหน้าฝ่ายการศึกษาเพื่อความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส เปิดเผยข้อมูล จากรายงานระดับโลก The Price of Inaction: The global private, fiscal and social costs of children not learning. หรือ ต้นทุนของการเพิกเฉย (The Price of Inaction) : ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และภาครัฐจากการที่เด็กไม่ได้รับการศึกษา โดยระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ภายในปี ค.ศ. 2030 ต้นทุนทางสังคมของเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดและเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานจะอยู่ที่ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้คิดเป็นมูลค่ามหาศาล ตัวเลข 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายปีของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรวมกัน 

“การลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นกลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงแค่ลดสัดส่วนของเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดรวมถึงลดสัดส่วนของเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานลงเพียง 10% เราจะสามารถเพิ่ม GDP แต่ละปีได้ถึง 1-2%” 

สามารถอ่านรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568  ได้ที่ คลิก