เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” 4 ภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สู่การผลักดันนโยบายและวางทิศทางการดำเนินงานของ กสศ. ในปีงบประมาณ 2568 – 2570 ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่เวทีภาคใต้ ณ โรงแรมแก้วสมุยรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายนักขับเคลื่อนด้านการเรียนรู้จากภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน และภาคสื่อมวลชน จาก 14 จังหวัดเข้าร่วมกว่า 130 คน นับเป็นการระดมพลังครั้งสำคัญของการประกาศวาระความร่วมมือเพื่อนำเสนอโจทย์ปัญหาจากพื้นที่ สู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานและโมเดลต้นแบบเพื่อผลักดันให้เกิดแผนกลยุทธ์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ไปสู่ระดับประเทศ
นันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเสนอบริบทภาพรวมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของพื้นที่ภาคใต้ ที่ผ่านมาจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับ กสศ. มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามข้อมูลจากฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE กสศ. ระบุว่าปีการศึกษา 2565 สุราษฎร์ธานีมีนักเรียนยากจนจำนวน 8,457 คน และมีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนมากถึง 10,713 คน ซึ่งทั้งนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีแนวโน้มอย่างมากที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ ได้อาศัยอาศัยความร่วมมือจากภาคีหลายฝ่าย เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพ รวมถึงออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้คงอยู่ในระบบการศึกษาได้จนจบการศึกษาภาคบังคับและการมีงานทำในอนาคต เป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ที่ทำงานร่วมกับ กสศ. บนฐานการทำงาน 4 ประการ คือ 1.การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยค้นหาเด็กเยาวชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และวางแผนการดูแลเป็นรายบุคคล 2.พัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนทุกระดับและทุกสังกัด ให้สามารถจัดการศึกษาที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ 3.จัดการศึกษาที่มีทางเลือก บนฐานความแตกต่างหลากหลายสำหรับเด็กเยาวชนและประชากรทุกช่วงวัย และ 4.มุ่งไปสู่การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการส่งต่อข้อมูลและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน
“นโยบายเร่งด่วนคือพาเด็กที่หลุดจากระบบกลับเข้าสู่เส้นทางพัฒนาตนเอง ซึ่งเรามีหลายหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน ทั้งการค้นหา แนะแนวทาง และออกแบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตของผู้เรียนแต่ละคน โดย กศน. เป็นกำลังหลักที่สามารถพบตัวเด็กได้เกือบ 100% แล้ว แนวทางหลักที่นำมาส่งเสริมน้อง ๆ กลุ่มนี้คือเรื่องการฝึกอาชีพ ด้วยความร่วมมือของสถาบันฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคนิค และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีหลักสูตรระยะสั้น และเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพได้จริง
“นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียม เพื่อลดปัญหาเด็กกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความแออัด และเป็นการลดทอนคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยสิ่งที่เดินหน้าไปแล้วคือการเชื่อมโยงเครือข่ายโรงเรียนในทุกอำเภอ เพื่อหารือกันถึงการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมมาตรฐานเดียวกันได้ทั้งจังหวัด”
รองผู้ว่า ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่อไปว่า เป็นโอกาสดีและเป็นประโยชน์ยิ่ง ที่เครือข่ายด้านการศึกษาภาคใต้ได้มาร่วมกันเสนอความคิดเห็นในเวทีนี้ เพราะแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคใต้เหมือนกัน หากแต่ละจังหวัดเองก็มีรูปแบบปัญหา ข้อจำกัด และลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่หลากหลาย การได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดนวัตกรรมระหว่างกัน จึงหมายถึงว่าแต่ละจังหวัดจะมี ‘ทางเลือก’ และ ‘ต้นแบบ’ การทำงานเพิ่มขึ้น ในการเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จในการจัดการศึกษาที่เสมอภาคสำหรับเด็กทุกคนในภูมิภาค และสะท้อนให้ กสศ. ได้เข้ามาสนับสนุนอย่างตรงจุด
สมพงษ์ หลีเคราะห์ คณะหนุนเสริมทางวิชาการ ติดตามและถอดบทเรียนระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กโดยตรง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือค่าเครื่องแบบ กระเป๋า รองเท้า โดยทุกปีการศึกษาผู้ปกครองต้องใช้เงินหลักพันต่อเด็กนักเรียนหนึ่งคน คำถามคือครอบครัวที่ดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำจะหาจากที่ไหนมาจ่าย นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคุยกับโรงเรียนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ในส่วนของรูปแบบการทำงานที่ดำเนินไปแล้ว และพร้อมขยายผลความสำเร็จต่อไปยังโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีการนำนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ทันสมัยมาทดลองกับโรงเรียนในระบบ โดยร่วมกับโรงเรียนนำร่อง 20 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox) จังหวัดสตูล ด้วย ‘นวัตกรรมโครงงานฐานวิจัย’ ที่เปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นโค้ช ผ่านหลักสูตร Problem-based Learning: PBL วิธีการนี้เด็กจะได้เรียนผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งผู้เรียนจะไม่ได้แค่องค์ความรู้ แต่เป็นการสร้างกระบวนการคิด ที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในบทเรียนที่ลึกซึ้ง ทั้งนี้การนำการจัดการศึกษาในรูปแบบ Active Learning เข้ามาใช้ เชื่อว่าจะเป็นการช่วยลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับพื้นที่ห่างไกล และเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก
“สำหรับเป้าหมายระยะสั้นใน 3-5 ปีข้างหน้า มีสองประการที่เราต้องไปให้ถึง คือหนึ่งเราต้องหาคำตอบของการออกแบบการศึกษาเชิงพื้นที่ว่า คนในบริบทที่แตกต่างเขาต้องการให้ลูกหลานเดินไปในเส้นทางแบบไหน เพราะหากยึดหลักสูตรแกนกลาง เราจะมีถนนเพียงเส้นเดียว แล้วการศึกษาจะไม่สามารถพาเด็กทุกคนไปสู่ความฝันของตัวเองได้ สองคือ ‘ครู’ หรือ ‘ผู้จัดการเรียนรู้’ จะต้องไม่ยึดโยงอยู่กับโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดึงพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อทำให้เป็นการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยมีบ้าน ชุมชน และโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งหมด หมายถึง 8,760 ชั่วโมงที่ผ่านไปในแต่ละปี ต้องเป็นชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ ทั้งการเล่น การกิน หรือการนอน ที่เด็กสามารถเพิ่มพูนองค์ความรู้ได้ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่ง ณ วันนี้เรายังให้ค่าเวลาการเรียนของเด็กแค่ปีละราว 1,000 ชั่วโมง ฉะนั้นการศึกษาต้องขยายขอบเขตออกไป และมีระบบการวัดประเมินคุณค่าการเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมงของเด็กได้”
ส่วนการทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษา สมพงษ์กล่าวว่าต้องตั้งอยู่บนแนวทางที่ว่าเมื่อค้นหาเด็กจนพบแล้ว เด็กต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและได้รับโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อนำชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งการสร้างเครือข่ายคณะทำงานจากหลายพื้นที่ที่เกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่นอาจเป็นคำตอบ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำเชิงนโยบายไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือสถานศึกษาก็ตาม กลายเป็นว่างานที่เดินไปแล้วต้องชะงัก หรือหลายโครงการก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ดังนั้นถ้ามีเครือข่ายที่เข้มแข็งซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่อยู่กับปัญหาและทำงานมาเป็นเวลานานสามารถต่อกันติดและทำงานได้เต็มที่ โอกาสที่งานจะเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน และแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้มากขึ้น
ศุภชัย ทองเสน สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สะท้อนว่า แม้สุราษฎร์ธานีจะมีต้นทุนด้านทรัพยากร มีรายได้สูงเป็นอันดับ 1 จากภาคการท่องเที่ยว แต่ในด้านการศึกษายังพบปัญหาการเข้าถึงโอกาสที่เสมอภาค เนื่องจากโรงเรียนคุณภาพกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ขณะที่โรงเรียนในชุมชนยังคงขาดแคลนงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพ สืบเนื่องมาจากปัญหาของสูตรจัดสรรงบประมาณที่ยังเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็ก
“สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ คนที่มีรายได้สูงก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแล้วแต่บางพื้นที่ อย่างที่บ้านผมอยู่ที่ ต.คลองศก อ.พนม ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก ยังขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาที่สำคัญคือคุณครู ผมเห็นครูบางคนเป็นครูภาษาไทย แต่ต้องสอนวิชาคณิตศาสตร์ สอนสังคมศึกษาด้วย เพราะครูไม่พอ อีกเรื่องคือปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เราต้องดูด้วยว่าเด็กเขายากจนแค่ไหน ถึงโรงเรียนจะมีเด็ก 10-20 คน แต่เป็นเด็กยากจนทั้งหมดจะให้ไปเรียนในตัวอำเภอก็ต้องเดินทางเป็น 50-60 กม. ไปเรียนในตัวจังหวัดเดินทางมากกว่า 100 กม. จะให้เขาไปเรียนที่โรงเรียนที่อื่นได้อย่างไร”
ศุภชัย เสนอภาพฝันความเสมอภาคทางการศึกษาว่า การมีระบบหลักประกันเรียนฟรีที่ฟรีจริงถึงระดับปริญญาตรีจะช่วยให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงห้องเรียนที่มีคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พยายามปิดช่องว่างเรื่องนี้ด้วยการเข้าไปทำกิจกรรมสอนเสริมให้รุ่นน้องและกิจกรรมพัฒนาสภาพแวดล้อมโรงเรียน โดยพร้อมจะเป็นอีกหนึ่งแกนหลักในการทำให้สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดเสมอภาคทางการศึกษา
สุรางค์ อาจณรงค์ ศึกษานิเทศก์ สพป. ปัตตานี เขต 1 กล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน โดยข้อมูลระบุว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวที่มีพี่น้อง 4-5 คนโดยเฉลี่ย หมายถึงเราต้องทำงานกับเด็กเป็นรายคนและต้องทำงานเป็นรายครอบครัวด้วย ซึ่งจากปัญหาต้นทางที่ว่าผู้ปกครองจากครอบครัวเหล่านี้เกือบทั้งหมดยังไม่มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ ทำให้หลายครอบครัวมีลักษณะแหว่งกลาง เด็กต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นหลัก ส่งผลต่อการเรียนหนังสือและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ภาพที่เราเห็นจนชินตาคือพ่อแม่วัยรุ่นจำนวนมากเลือกไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย โดยทิ้งเด็กไว้กับผู้สูงอายุซึ่งมีรายได้ทางเดียวคือเบี้ยคนชรา จึงไม่มีศักยภาพพอจะดูแลให้ได้รับอาหารครบมื้อและมีสารอาหารที่เพียงพอ การลงพื้นที่สำรวจพบว่าในหลายโรงเรียนมีเด็กมากกว่าครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า จะได้กินคือมื้อกลางวันที่โรงเรียนจัดไว้ บางโรงเรียนจึงต้องยอมทำผิดระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการงบอาหารกลางวัน โดยเจียดไปทำอาหารเช้าสำหรับเด็กกลุ่มนี้ หรือในครอบครัวเด็กที่ขาดแคลนระดับวิกฤต ครูก็ต้องแบ่งอาหารกลางวันจากโรงเรียนให้เด็กเอากลับไปแบ่งปันกับผู้สูงอายุที่บ้านด้วย
“ข้อมูลนี้สะท้อนให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการจัดสรรนโยบายรายหัว และแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เด็กจำนวนมากยังต้องมาโรงเรียนภายใต้ความไม่พร้อม เนื่องจากนโยบายที่มีอยู่ไม่อาจตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้จริง ดังนั้นก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ และร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเชื่อมั่นได้ว่าเด็ก ๆ ของเราจะได้กินข้าวครบมื้อ ได้รับสารอาหารเพียงพอ นี่คือสิ่งที่เราต้องเริ่มต้น แล้วถึงจะมองไปที่ภาพความสำเร็จที่เด็กทุกคนจะเรียนดี เรียนจบ และมีอาชีพได้
“อีกประการหนึ่งคือโรงเรียนนั้นไม่ใช่สถานที่ แต่หมายถึงผู้คนและกระบวนการ ฉะนั้นถ้าถามว่าเรื่องไหนควรรีบทำเร็วที่สุด คิดว่าต้องนับหนึ่งที่การสร้างคนคือครูที่มีจิตวิญญาน มีศักยภาพ มีหัวใจของความเป็นครู หมายถึงก่อนจะว่ากันเรื่องระบบเราต้องมีคนทำงานที่พร้อมก่อน เพราะนอกจากให้ความรู้ ครูต้องให้ความรักความเมตาเอื้ออาทร มีการดูแลเอาใจใส่ลงไปถึงเด็กทุกคนได้จริง ๆ จากนั้นเราถึงจะไปที่ข้อสองคือการสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกได้ แล้วครูเหล่านี้จะเป็นคนพบว่าเด็กแต่ละคนขาดตรงไหน แล้วเขาจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นฐานการทำงานแกนกลางที่ส่งต่อระหว่างหน่วยงานได้โดยไม่สะดุด ดังนั้นในกระบวนการทำงานจากนี้ จึงต้องสร้างครูที่มีหัวใจของการเป็นครูให้ได้โดยเร็วและเพิ่มจำนวนได้มากที่สุด แล้วเราจะเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงว่าในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่มาก แต่ถ้าเป็นครูที่พร้อมทุ่มแรงกายแรงใจลงไปที่ตัวเด็ก ด้วยความรัก ไม่ใช่การจับผิด ทำให้เด็กมาโรงเรียนด้วยความสุข อยากมาโรงเรียน อย่างน้อยที่สุดโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กก็ลดลงได้มาก”
อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในสังกัด สพป.ปัตตานีเขต 1
หัสนะ ตาเยะ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในสังกัด สพป.ปัตตานีเขต 1 เล่าถึงสถานการณ์ของครูจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านประสบการณ์การเป็นครูและผู้บริหารโรงเรียนว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายโรงเรียนมีบริบทของความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา มีเด็กส่วนหนึ่งที่ติดตามผู้ปกครองจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน หรือมีเด็กจากสถานสงเคราะห์เข้ามาเรียนด้วย ดังนั้นปัญหาที่พบของเด็กกลุ่มที่ขาดแคลนที่สุดคือไม่มีพ่อแม่ ทำให้เด็กต้องถูกเอาไปฝากเลี้ยงไว้กับญาติในครอบครัวขนาดใหญ่ จึงไม่ได้รับการดูแลทั่วถึง
“เด็กเหล่านี้มีความเปราะบางด้วยปัญหาต่าง ๆ การจะดูแลเด็กบนความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ ครูต้องมีเวลาเอาใจใส่เพียงพอ ขณะที่งานครูส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ในทุกวันนี้กลับต้องแบ่งไปรับใช้นโยบายต่าง ๆ จนครูไม่มีเวลาอยู่ในห้องเรียน เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วนที่สุด
“เราได้ยินกันมานานแล้วเรื่องการคืนครูให้กับนักเรียน แต่ถามว่าในการปฏิบัติจริงทำได้แค่ไหน ในเมื่อยังมีนโยบายการประกวดแข่งขันมากมายไหลบ่าเข้ามาเติมอยู่ในภารกิจของครูไม่หยุดหย่อน สุดท้ายครูก็ต้องทิ้งเด็กไว้ก่อน เพื่อไปทำงานตอบสนองนโยบายจากส่วนกลาง ฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับไป เราจะมีเด็กราว 30 คนถูกทิ้งเอาไว้ในห้องเรียนห้องหนึ่ง หากรวมหลายห้องหลายโรงเรียน ก็กลายเป็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่เหมือนถูกทอดทิ้งเอาไว้ ปัญหาจึงไม่ได้รับการจัดการแก้ไข แล้วเวลาผ่านไปก็ยิ่งบานปลาย ขณะที่ในท้ายที่สุดทุกความคาดหวังในการแก้ปัญหาจะถูกโยนมาที่ครูหรือโรงเรียน ว่าเป็นต้นเหตุของการที่เด็กมีปัญหา หรือหลุดไปจากระบบ”
รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสะบารัง กล่าวว่า อยากฝากข้อเสนอถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เพื่อหาทางคืนครูให้กับเด็กได้จริง โดยเฉพาะในวาระสำคัญของการร่วมระดมความร่วมมือครั้งนี้ รวมถึงในวาระการเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับประเทศด้วย เพื่อให้ในวันหนึ่งครูทุกคนจะได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนและดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่จริง ๆ
ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ระดมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน” 4 ภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สู่การผลักดันนโยบายและวางทิศทางการดำเนินงานของ กสศ. ในปีงบประมาณ 2568-2570 จะจัดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เวทีภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา