การศึกษา คือ ประตูที่เปิดไปสู่โอกาสการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดเพื่อจะก้าวต่อไปสู่อนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากประตูบานนี้ของเด็กเยาวชนถูกขวางกันด้วยอุปสรรคด้านปัญหาสายตา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Lab ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้จับมือกับหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี สปสช.เขต 12 โรงพยาบาลปัตตานี ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย และอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองจังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรมตรวจวัดสายตาและตัดแว่นฟรีให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนใกล้เคียงในจังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต
นางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต มุ่งหวังที่จะสร้างกลไกสำหรับส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตา เกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียน ให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีแว่นสายตาเพื่อช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น
“โดยปกติแล้วการเข้าถึงแว่นตาที่มีคุณภาพเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานตามสิทธิของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดสรรโดยสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การทำงานในจังหวัดปัตตานีครั้งนี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา นักทัศนมาตรจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าหน้าที่และพยาบาลจากโรงพยาบาล และร้านแว่นตา Dr.Zul ในปัตตานี เข้าร่วมดำเนินการ เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,725 คน ใน 63 โรงเรียน รวมทั้งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดยะลา”
ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวอีกว่า หากเด็กไทยอายุ 3-12 ปี มีจักษุแพทย์ตรวจยืนยันว่ามีภาวะสายตาผิดปกติควรได้รับการแก้ไข ก็จะได้รับแว่นตาฟรีทุกปีจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ข้อมูลจาก กสศ. ชี้ว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสจำนวนหนึ่ง ยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูง เช่น ค่าเดินทาง ปัญหาสุขภาพสายตาจึงกลายเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียนรู้และมีส่วนทำให้เด็กหลุดจากระบบในระยะยาวได้ กสศ. สปสช. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการโครงการ I SEE THE FUTURE ร่วมมือกับ 3 จังหวัด ปัตตานี สุรินทร์ สมุทรสงคราม เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษาในพื้นที่ ช่วยให้เด็กยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยมี สปสช. เป็นแรงสนับสนุนให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ เสนอแผนสุขภาพเพื่อสร้างกลไกการทำงานต่อเนื่องให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนำเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินสายตาเมื่อครบ 6 เดือน
ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนในจังหวัดปัตตานีที่เข้าคัดกรองสายตาเด็กทั้งหมด พบนักเรียนที่จำเป็นต้องตัดแว่น 238 คน นักเรียนสงสัยโรคตาส่งพบจักษุแพทย์ 65 คน โดยนักเรียนเข้ารับการตรวจรักษาและตัดแว่นฟรี ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ทั้งนี้มีนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ต้องตัดแว่น กสศ. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตัดแว่น 29 คน
นางสุรี สะหนิบุตร ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ปัตตานี กล่าวว่า การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านสายตาให้เด็กจำนวนหนึ่งซึ่งประสบปัญหาด้านสายตา โดยถือว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ยังตกหล่นจากการแก้ปัญหานี้ในหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ผู้ปกครองยังไม่ทราบถึงสิทธิที่มีอยู่ จึงกังวลว่าการไปตัดแว่นเองตามร้านจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
“ความร่วมมือครั้งนี้จะมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างการรับรู้แล้วในชุมชน มีส่วนที่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำหนดบทบาทหน้าที่ด้วยความตระหนักว่า นี่คือโอกาสในการสร้างความร่วมมือ สร้างกลไกให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะดำเนินการประสานการทำงาน เกิดเป็นกลไกความยั่งยืน กลไกในการสร้างการรับรู้แล้วก็สร้างบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน”
นางสาวรอฮานี เจ๊ะโซะ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนเจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาด้านสายตาของเด็กในชุมชน มักจะมีจุดเริ่มต้นจากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน บางคนเล่นในห้องที่ปิดไฟ โดยไม่ทราบถึงผลเสียหรือผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าว
“เด็กบางคนมีปัญหาทางสายตาหรือว่าโรคทางสายตาที่สูงจนน่าตกใจ บางคนมีปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตาเอียง จนถึงกับเรียนหนังสือไม่ได้ เพราะสายตามองไม่ชัด ก็มองตัวหนังสือไม่ชัดตามไปด้วย บางคนเล่นโทรศัพท์ขาดการดูเเลเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งหากพบเจอก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม ก็สามารถที่จะช่วยหรือประสานการทำงานเพื่อเด็กให้กับเครือข่ายที่ดูแลหรือมีความเชี่ยวชาญเรื่องปัญหาสายต่อไป
“อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ลงไปสำรวจเด็กแต่ละบ้าน สมมติว่าพบเจอกลุ่มเป้าหมายของเรา พบเจอเด็กที่เสี่ยงต่อปัญหาด้านสายตาก็จะส่งไปคัดกรอง พาเขาไปโรงพยาบาล แนะนำให้เข้าไปอนามัยหรือไปที่ไหนก็ได้ประสานที่ใกล้ ๆ ชุมชน อยากให้ช่วยเหลือแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี และอยากให้มีกระบวนการแนะนำด้านสุขภาวะสายตา ให้ความรู้กับผู้ปกครองว่าการเล่นโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเล่นอย่างจำกัดเวลา และต้องระมัดระวังเรื่องการเล่นโทรศัพท์ในที่มืด ซึ่งจะส่งผลต่อสายตา รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจว่า การใส่แว่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพื่อน ๆ และคนรอบข้างเองก็ต้องระมัดระวังเรื่องการล้อเด็กที่สวมแว่น เพราะการสวมแว่นจะช่วยให้เด็กเรียนหนังสือได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่นและเรียนอย่างมั่นใจในตัวเอง”
นายซุลกีฟลี วาเซ็ง นักทัศนมาตร เครือข่ายสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ภาคใต้ และเจ้าของร้านแว่นตา Dr.Zul จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพสายตาและการมองเห็นของเด็ก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการมองเห็นในเด็ก จะส่งผลในเรื่องของการเรียน ส่งผลเรื่องของการเรียนรู้ในห้องเรียนและส่งผลไปถึงเรื่องของพฤติกรรมของเด็ก เพราะหากมีปัญหาด้านสายตาก็จะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ตามไปด้วย
“จากประสบการณ์ที่เคยออกหน่วยไปคัดกรองในหลายพื้นที่ของ จ.ปัตตานี พบว่า สถานการณ์ปัญหาสายตาเด็ก โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีปัญหาสายตาที่ค่อนข้างรุนแรงอยู่ประมาณ 10-15% จากจำนวนนักเรียนที่เคยคัดกรอง หากเป็นภาวะตาขี้เกียจ และโรคตาเหล่ ตาเข จะพบในเด็กอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัญหาค่าสายตาสั้น จะพบในเด็กอายุ 6-9 ขวบ และพบอีกว่า มีเด็กอายุ 9 ขวบ ที่เจอปัญหาสายตาครั้งแรก เป็นเด็กยังไม่เคยเข้ารับบริการสุขภาพสายตาหรือเข้าร้านแว่นมาก่อน”
นักทัศนมาตรในเครือข่ายสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ภาคใต้ ระบุว่า เรื่องสายตา คือเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก เพราะถ้าเด็กมองไม่เห็น ก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ ทำให้ผลการเรียนไม่ดี พอผลการเรียนไม่ดี ก็ส่งผลไปถึงการเรียนต่อในอนาคต ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กตามไปด้วย อย่าลืมว่า 80% ของการมองเห็น 80% ของข้อมูลที่เข้าสู่ร่างกายเรามาจากตา ถ้าตามีปัญหา ตาเบลอมองไม่เห็น แปลว่าข้อมูลทั้ง 80% จะถูกลดทอนลงไป ดังนั้น หากสายตามีปัญหา ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่สมองจากการเรียน หรือจากประสบการณ์ข้างนอกห้องเรียนข้างในห้องเรียน ก็เหมือนถูกบล็อกเกือบหมด ทักษะชีวิตที่จะกลายเป็นองค์ความรู้ในการใช้ชีวิตในอนาคตจะโดนบล็อกตามคุณภาพสายตาที่เด็กมี
“เด็ก โดยเฉพาะช่วงอนุบาลหรือว่าประถม เป็นวัยที่ยังไม่รู้ ยังไม่ทราบว่าความชัด ความมัวคืออะไร เพราะว่าเขาเกิดมาก็เห็นแบบนั้น สิ่งที่จะช่วยพวกเขาได้ คือต้องเริ่มต้นที่ผู้ปกครองและคุณครูในการสังเกตพฤติกรรมของเด็กพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาสายตา
“ผู้ปกครองและครูมีบทบาทอย่างมากในการช่วยสังเกตปัญหาสายตาในเด็ก โดยเริ่มต้นที่การสังเกตพฤติกรรมเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่ทราบอาการหรือลักษณะความผิดปกติ และยังไม่สามารถสื่อสารได้ พฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาสายตาจะแตกต่างจากเด็กปกติ เช่น จะมีการหรี่ตา จะมองชิดมากกว่าปกติ เอียงคอมอง เดินไปแล้วจะชนสิ่งของ แพ้แสง หรือในห้องเรียน คุณครูต้องสังเกตว่าทำไมเด็กชอบนั่งข้างหน้า หรือชอบถามเพื่อนด้านข้าง ซึ่งพฤติกรรมที่กล่าวมาอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านสายตาได้” นายซุลกีฟลีกล่าว