กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ร่วมกันดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “อพม. Smart” เพื่อพัฒนาระบบช่วยเหลือเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส โดยได้นำต้นแบบความสำเร็จใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พิษณุโลกและสุโขทัย มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และจัดอบรมการใช้ระบบแก่เจ้าหน้าที่ หวังขยายผลทั่วประเทศ
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานของ พม. คือ การมุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน มีความมั่นคงในชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานบนสิทธิพลเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พม. จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคน และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเสริมพลังและให้ความสำคัญกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับหรือขยายหลักประกันด้านการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมและเพียงพอที่จะสามารถให้ทุกคนดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
โดยคณะผู้วิจัยจากมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัยร่วมกันจัดทำโครงการ การพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อพม. Smart เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และสะดวกรวดเร็วต่อประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และยังได้ขยายผลเพิ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ และพิจิตร ซึ่งทีมวิจัย ฯ สามารถขยายผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้งบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และวันนี้ระบบ อพม. Smart สามารถใช้งานได้จริงใน 6 จังหวัด นำร่องแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีจาก อพม. ในฐานะผู้ใช้งาน
“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มเปราะบาง ขอขอบคุณหน่วยงานทั้งสองเป็นอย่างมากที่ได้มอบสิ่งดี ๆ นี้ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และขอขอบคุณ อพม. ที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบ อพม. Smart ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ศาสตราจารย์ นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญในการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สำหรับเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส คือ กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มักประสบปัญหาที่มีลักษณะซ้ำซ้อน และบ่อยครั้งที่ปัญหานั้นมีความรุนแรงต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ จำเป็นต้องมีการประสานงาน ส่งต่อ และความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับโอกาสที่เหมาะสมและเพียงพอ พร้อมทั้งปิดช่องว่างของปัญหาได้อย่างครอบคลุมควรมีการวางแผนการช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และต้องมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการจัดการข้อมูลให้เหมาะสม
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส โดยใช้กรอบแนวคิดของการวิจัยเชิงประจักษ์ในการดำเนินการ ร่วมกับแนวทางการประเมินผลผ่านการพัฒนา เพื่อให้สามารถเข้าใจผู้ใช้งานอย่างแท้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งผลจากการวิจัยระดับพื้นที่ส่งผลให้เกิดเป็นระบบ “พม. พิษณุโลกพร้อมช่วย” และ “อพม. Smart” ที่ใช้งานได้จริง จนปัจจุบันได้ขยายพื้นที่การใช้งานออกไปอีกถึง 4 จังหวัด
โดยกระทรวง พม. ยังได้มีนโยบายที่จะขยายพื้นที่การใช้งานระบบ “อพม. Smart” ให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ อพม. Smart” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการใช้งานระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อพม. Smart และเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อข้อมูลข้ามหน่วยงาน เพื่อเป็นการการลดภาระทางด้านเอกสาร เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงและส่งต่อรายกรณี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อพม. Smart กำลังจะก้าวไปอีกขั้น ด้วยความสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์ ที่กำหนดให้มีการขยายการใช้งานออกไปสู่ทั่วประเทศ และด้วยพลังของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกท่านในวันนี้ ย่อมส่งผลให้ในที่สุดกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
“ในนามของ กสศ. และ ภาคีวิชาการ มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ยังคงมุ่งมั่นและจะร่วมทำงานกับ พม. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาแนวทาง กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้เราสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน และการบูรณาการการทำงานทั้งในเชิงของงานข้อมูล งานวิชาการ และงานกลไกในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วการทำงานในทุกระดับจะต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างไร้รอยต่อ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การป้องกันและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่มีความเสี่ยงหรือประสบปัญหา”